วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ใช้ความสุขจากการทำบุญใหญ่ไปเจริญสติได้ไหม?

ถาม : จากที่ทำบุญวันนี้นะคะ ก็เกิดความปลื้มปีติน่ะค่ะ แล้วจะนำอารมณ์นี้ไปเจริญกรรมฐาน อยากจะนำอารมณ์ที่เราปลื้มปิติไปต่อยอดน่ะค่ะ ไม่ทราบว่าควรจะทำอย่างไรคะ?

รับฟังทางยูทูบ :   https://youtu.be/2164bjkexuc
ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการ
พระประธานทั่วหล้า
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
อย่างเมื่อกี้ที่ผมพูดไปเรื่องการต่อยอดความสุขอันเกิดจากบุญใหญ่นี่นะ จริงๆแล้วนี่ มันเป็นความสุข ณ จุดเกิดเหตุ การที่เรามีความสุขด้วยกันวันนี้นี่ มันเป็นของปรุงแต่งทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้เหตุการณ์พิเศษ เป็นผัสสะกระทบชนิดหนึ่ง ผัสสะกระทบที่ว่านี้ คืองานทั้งงานนี้ ไม่ใช่แค่รูปกระทบตา ไม่ใช่แค่เสียงกระทบหูอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นงานทั้งงานนี้ ถือว่าเป็นผัสสะกระทบแล้วจิตเกิดความชื่นบาน เกิดความสุข เกิดความปลอดโปร่งขึ้นมา

คำถามของผู้ถามเมื่อครู่นี้ก็คือว่า ทำอย่างไรจะเอาจิตแบบนี้ไปใช้ได้ตลอดไป คือความคาดหวังมันประมาณนี้ เวลาที่เราคาดหวังว่าเกิดความสุข แล้วอยากรักษาความสุข เกิดความปลื้มปีติ แล้วอยากให้ความปลื้มปีตินี้มันเกิดขึ้นตลอดไป เป็นการตั้งโจทย์ที่ผิดแล้วตั้งแต่แรก

เริ่มต้นขึ้นมา ถ้าหากว่าเรามีความเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยความเข้าใจอย่างถูกต้องถ่องแท้นะ เราจะเข้าใจว่า อะไรๆนี่มันไม่เที่ยง รวมทั้งความสุข ความก้าวหน้าทางจิต หรือว่าความชื่นบาน ความมีความพร้อมที่จะเจริญเป็นสติขั้นสูง แต่ละวันมันไม่เท่ากัน เพราะว่าผัสสะกระทบไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะเอาติดกลับไปได้ก็คือ ความจำ ว่าอะไรๆนี่มันไม่เที่ยง เมื่อมีเหตุปัจจัยที่ยิ่งใหญ่พอ มันก็มีความสุขที่ยิ่งใหญ่ได้ แต่เมื่อใดไม่ได้มีเหตุปัจจัยที่ยิ่งใหญ่พอ มันก็มีความสุขแบบธรรมดา หรือว่าความสุขแบบอ่อนๆ หรือไม่มีความสุขเลย นี่แหละสิ่งที่เราจะเอาไปใช้ได้จริง

แต่ถ้าหากว่า เมื่อไรเราเกิดความรู้สึกท้อ หรือว่าเกิดอยากได้กำลังใจขึ้นมา อาจจะระลึกถึงองค์พระปฏิมาที่เราร่วมกันทำนี้ก็ได้ ถ้านึกอยู่ในใจแล้วเกิดความรู้สึกปลื้ม เกิดความรู้สึกอิ่มเอมขึ้นมา นั่นแหละมันเป็นจุดเริ่มต้น มันจุดชนวนให้จิตมีความพร้อมจะเกิดกำลังขึ้นมาได้ใหม่อีกครั้งหนึ่งแล้ว แต่อย่าคาดหวังว่าจะมีความปลื้มปีติ หรือระดับความสุขแบบนี้เท่านี้ตลอดไป แล้วจะได้เอาไปใช้ได้เรื่อยๆนะ

ความสุข ในวันนี้ ขอให้มันเป็น ความไม่เที่ยงในวันนี้ ที่ให้เราเห็นได้ในวันพรุ่งนี้ ถ้าหากว่าเราจะเอาความสุขในวันนี้ ไปใช้รักษาใจให้เท่าเดิมคงที่เป๊ะตลอดไป นั่นคือความเข้าใจผิด และนั่นคือการตั้งโจทย์ที่ผิดตั้งแต่เริ่มต้นเลย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น