วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ภาวนาแล้วกลัวผี

ถาม : จะรบกวนถามว่า ช่วงปฏิบ้ติแรกๆก็รู้สึกว่าสงบดี ทีนี้พอช่วงหลังค่ะ ย้ายบ้านมาอยู่ต่างหากแล้วเราก็ทำห้องพระให้เรียบร้อย จะมีความรู้สึกว่ากลัวสิ่งที่มองไม่เห็น หรือนั่งๆไปก็รู้สึกว่ากลัวผีน่ะค่ะ มีวิธีกำจัดความกลัว บางครั้งความกลัวมันก็เกิดขึ้นมาเอง เราพยายามจะระงับ มันก็ยิ่งรู้สึกกลัวมากขึ้นน่ะค่ะ

รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/9cOSpJb5RNw
ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการ
พระประธานทั่วหล้า
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
ในเรื่องของความกลัวผีเนี่ย อย่าอายเลยที่จะถาม  เพราะเรามีเพื่อนร่วมโลกที่กลัวแบบเดียวกันอีก ๙๙% นะครับ คือเกินกว่า ๙๙% เนี่ย ไม่บอกไม่พูดไม่ยอมรับก็จริง แต่ว่ามันกลัวอยู่นะ แอบกลัวอยู่ เพราะฉะนั้นไม่ต้องอายไม่ต้องเขินนะครับเวลาถาม

ตอนที่เราระงับความกลัวเนี่ย ขอให้สังเกตว่า เราไปพยายามที่จะบีบบังคับใจตัวเองให้เลิกกลัวให้หายกลัว ที่แท้แล้วมันเป็นการเพิ่มความกลัวต่างหาก เพราะอะไร เราดูอาการของจิตนะ ที่มันกลัวมันมีอาการหดตัว มันมีอะไรเหมือนกับมืดๆมาบล็อค ให้จิตของเราเนี่ยมองไม่เห็น เต็มไปด้วยความไม่รู้ เต็มไปด้วยความสับสน เต็มไปด้วยความทุรนทุราย ความมืดแบบนั้นมันถูกเพิ่มมากขึ้น เมื่อเราไปพยายามต่อสู้กับมัน เพราะอะไร?

เพราะว่าเวลาที่เราพยายามต่อสู้กับมัน มันมีความอยาก มีความอยากที่เป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นมา นี่คือคีย์เวิร์ดนะ มีความอยากที่เป็นไปไม่ได้เกิดขึ้นในจิต

เมื่อมีความอยากจิตมีอาการอย่างไรครับ มันมีอาการทุรนทุราย มันมีอาการดิ้น หรือบางทีมันมีอาการโมโหตัวเอง หรือบางที มีอาการหด มีอาการแน่น มีอาการเกร็งขึ้นไปอีกนะ

ตัวโทสะนี่ มันคือมูลเหตุของความกลัวอยู่แล้ว
พอเรามีความอยากแล้วไม่ได้อย่างใจ
มันยิ่งเกิดโทสะแรงขึ้นอีก

ความกลัวนั้นสรุปแล้วไม่ได้ไปไหนนะ เมื่อได้เพื่อนเมื่อได้รากฐาน คือตัวโทสะมาเพิ่ม เหมือนกับเติมฟืนเข้าไปสู่กองไฟเนี่ย มันก็ยิ่งลุกโพลงขึ้นอีก ความกลัวมันยิ่งหนักขึ้น ความมืดมันยิ่งมืดขึ้น

สิ่งที่เราสามารถจะจัดการได้ในขณะที่กลัว
ก็คือ อันนี้มันต้องใช้ความใจถึงนะ
เวลาที่กลัวนี่ ต้องเห็นความกลัว

พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้นะ
เวลาที่เรากลัวจริงๆ ท่านสอนไว้ว่า
ให้อยู่ในที่ที่กลัวจนกว่าจะหายกลัว
โดยคำสั่งของพระองค์ก็คือว่า
ให้เห็นความกลัวนั่นเอง
คือถ้าไม่เห็นความกลัว
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า
ความกลัวมันหายไปตอนไหน

คือท่านให้ตั้งธงไว้ก่อนเลย
อยู่ในที่ที่มันเกิดความกลัวจนกว่าจะหายกลัว
ตั้งธงไว้ก่อนว่า
ในที่สุดเราจะเห็นความกลัวหายไป

ถ้าหากว่ายังไม่เข้าใจ ก็ต้องดูว่าพระพุทธองค์สอนอะไรโดยมาก ท่านสอนอานาปานสติ ถ้าหากว่าเราทำอานาปานสติแล้วระลึกถึงลมหายใจเข้าออกอยู่ มนสิการถึงลมหายใจเข้าออกอยู่ ว่าขณะนี้มันมีความกลัวขึ้นมาหนาแน่นมาก มันมีความมืด มันมีความทึบ มันมีความหนักในจิต แล้วยอมรับตามจริงว่า นาทีนี้ วินาทีนี้ ลมหายใจนี้ มันเกิดความกลัวขึ้นมาเป็นอันมาก มันจะมีโอกาส เป็นโอกาสของสติ ที่จะได้เห็นในขั้นต่อไปว่า ลมหายใจต่อๆมา สำรวจสังเกตเปรียบเทียบกันแล้วเนี่ย มันยังมีความกลัวอยู่เท่าเดิมไหม ถ้าหากว่าลมหายใจต่อมามันกลัวเท่าเดิม ก็รู้ไปว่ามันกลัวเท่าเดิม ถ้าหากว่ามันกลัวหนักขึ้น ก็ให้รู้ว่ามันกลัวหนักขึ้น

สาระสำคัญคือ
เราได้เห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ
เราได้สังเกตถึงความไม่เที่ยงของลม
พร้อมๆไปกับความไม่เที่ยงของความกลัวนะครับ

คือในแต่ละลมหายใจที่ผ่านไป ความกลัวมันจะมีระดับไม่เท่าเดิม บางทีมันอาจจะมากขึ้น บางทีมันอาจจะเท่าเดิมและบางทีมันอาจจะลดระดับลง การลดระดับลงโดยไม่ได้แกล้ง ไม่ได้ฝืน ไม่ได้ไปบังคับให้มันลดระดับลงนี่แหละ ที่จะทำให้จิตฉลาดขึ้น คือมันเห็นไงว่า ความกลัวหน้าตาเป็นอย่างไรชัดๆ และความกลัวนั้น มันเกิดการลดระดับลงได้หรือเพิ่มระดับขึ้นได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าสติเห็นตามจริง สติเห็นตามจริงในแบบของพุทธมีอย่างเดียวคือเห็นว่ามันไม่เที่ยง เห็นว่ามันไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สติแค่รู้ว่ากลัวๆๆ ที่นึกว่าตัวเองมีสติแล้วกลัวๆๆนี่ ยิ่งไปเร่งความกลัวขึ้นมาหนักขึ้นนะ แต่ถ้าหากว่าเราสังเกตว่าแต่ละลมหายใจ ความกลัวมันไม่เท่าเดิม นี่แหละจะเกิดสติเห็นความไม่เที่ยงขึ้นมาแน่นอนนะ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น