ถาม : หนูเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมปีละ๒-๓ ครั้งนะคะ
แต่ว่ามีปัญหาว่า พอกลับมาที่บ้าน ปฏิบัติได้ไม่สม่ำเสมอค่ะ ตอนเช้าก็ขี้เกียจ
ตอนเย็นก็เหนื่อย พยายามที่จะรู้ลมในชีวิตประจำวันค่ะ แต่ว่าไม่แน่ใจว่า วิธีที่ทำมานี่ถูกหรือเปล่า
แล้วก็จะมีวิธีแก้ไขให้ปฏิบัติได้สม่ำเสมอได้อย่างไรค่ะ
รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/_oyit0V-ETI
ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการพระประธานทั่วหล้า
ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการพระประธานทั่วหล้า
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙
ดังตฤณ:
ของน้องนะ
คือน้องสังเกตตัวเองนะ ตอนที่เข้าคอร์สปฏิบัติ กับตอนที่ออกมาอยู่ในชีวิตประจำวัน
ความคิดไม่เหมือนเดิม ความคิดในชีวิตประจำวันของเรา บางทีอาจจะขี้หงุดหงิด
เราก็จะปล่อยใจ ตามใจตัวเองให้หงุดหงิดง่าย แต่ว่าตอนเข้าคอร์สปฏิบัตินี่ บางทีมันมีสิ่งแวดล้อมมาบีบเราอยู่ว่าอย่าหงุดหงิดง่าย
อย่าแสดงออกง่ายๆ มันก็เลยเหมือนกับว่า การปรุงแต่งทางจิตมันไม่เหมือนกัน เราจะไปคาดหวังว่าอยู่ที่บ้าน
บ้านจะสามารถบีบให้เรามีวินัยได้เท่ากับที่ปฏิบัตินี่ เป็นไปไม่ได้
เราต้องเข้าใจเหตุปัจจัยพวกนี้
แยกออกมาเป็นองค์ประกอบง่ายๆที่จะทำความเข้าใจได้ชัดเจน อยู่ในที่ปฏิบัติธรรม มันมีกรอบที่ปรุงแต่งจิตของเรา
ให้เกิดความขยัน อยากจะปฏิบัติ แม้กระทั่งเกิดความหงุดหงิดขึ้นมา เกิดอาการคิดมากขึ้นมา
เกิดอาการเหมือนกับว่าจะคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เราก็จะปัดมันทิ้ง
เพราะว่าจิตถูกปรุงแต่งไปนี่ ว่าขณะนี้เราอยู่ในสถานที่ปฏิบัติ
แต่พอเรากลับมาบ้าน
มันไม่มีกรอบแบบนั้น มันไม่มีใครว่า
ถึงแม้เราจะมีความอยากจะให้มันเหมือนกับที่ปฏิบัติตลอดไป มันก็ไม่ได้ เพราะว่าแค่ตัววินัย
ที่เราจะรับรู้เข้ามาภายในกายใจนี้ มันก็ไม่เหมือนกันแล้ว ในที่ปฏิบัติ เราไปที่ไหนก็มีแต่คนเตือน
มีแต่ป้ายบอก หรือมีแต่ผู้ควบคุมว่า จงมีสติอยู่กับปัจจุบัน แต่ว่าอยู่ที่บ้าน เราต้องเตือนตัวเอง
ถ้าไม่เตือนตัวเองมันไม่มีใครเตือน นี่แค่นี้การปรุงแต่งจิตเห็นๆเลย
ว่ามันต่างกันขนาดไหน เอาล่ะ เอาเป็นว่า ถ้าหากเราเข้าไปในที่ปฏิบัติแล้วออกมาอยู่ที่บ้านอย่าคาดหวัง ความปีติในที่ปฏิบัติ
ความรู้สึกว่าเราปฏิบัติได้ดีในที่ปฏิบัติ ให้วางทิ้งไว้ในที่ปฏิบัติ
ไม่ต้องไปอยากที่จะลากมันกลับมาอยู่ที่บ้านเราด้วย
ให้ตั้งความคาดหวังว่า
เราจะอาศัยความสุขหรือปีติ
ในช่วงของการเข้าคอร์สปฏิบัติ
เป็นจุดตั้งต้นให้สังเกตใจตัวเองว่า
เมื่อมีเหตุปรุงแต่งจิตอย่างนี้
มันก็จะทำให้ใจเบา
มันจะทำให้กายมีการตอบสนอง
พร้อมที่จะเจริญสติ
แต่เมื่อกลับมาที่บ้าน
เรามาเห็นทีวี
เรามาเห็นมือถือ
เรามาเห็นเพื่อนบ้าน
เรามาเห็นแฟน
เรามาเห็นอะไรต่อมิอะไร
ที่เป็นความคุ้นเคยแบบเก่าๆที่จะเร้ากิเลสของเรา
กิเลสมันก็กลับมา
พอเราเห็นเป็นเหตุเป็นปัจจัยแบบนี้
เราจะไม่ตั้งโจทย์ผิดๆ ไม่ตั้งความคาดหวังไว้ผิดๆ
ไม่คิดว่าไปอยู่ที่ปฏิบัติธรรมมาแล้ว จะต้องทำให้ดีเท่านั้นตลอดไปนะครับ
พูดสรุปก็คือว่า
เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับใจของเราเอง
ตอนที่เราตามใจตัวเองกับตอนที่เรามีวินัยนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น