วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ขาดความมั่นใจในตัวเอง ให้ฝึกสวดมนต์ออกเสียง

ถาม : สอบถามเรื่องปฏิบัติธรรมค่ะ ตอนกลางคืนก่อนนอนกับก่อนตื่นน่ะค่ะ จะมีการสวดมนต์นั่งสมาธิ แต่ว่าจะไม่ค่อยกล้าเปล่งเสียงออกมา จะสวดอยู่ข้างในใจตลอดเวลา จนถึงนั่งสมาธิค่ะ

รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/kV_UnKcEjyU
ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการ
พระประธานทั่วหล้า
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
นี่เป็นคำถามที่ผมอยากจะให้ทุกๆท่านนะ มันไม่เคยมีใครชี้ให้สังเกตนะ ขอให้สังเกตดูว่า ถ้าหากว่าเราสวดมนต์แบบงึมงำๆ สวดแบบแผ่วๆ ไม่กล้าสวดดังๆ มันมีผลให้เราเป็นคนเก็บเข้าในนะ คือมีโลกส่วนตัว นึกออกไหม เวลาเราจะไปพูดกับคนอื่น บางทีเราไม่อยากพูด..

ถาม : ไม่ค่อยกล้า จะขาดความมั่นใจ

ดังตฤณ: 
อันนี้เขาใช้คำว่าไม่กล้าพูด แต่ถ้าหากว่าเรากล้าสวดมนต์เต็มปากเต็มคำ มันจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น บางคนมาถาม บอกว่า ทำอย่างไรจะเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ผมบอกเลย ง่ายๆ หัดเปล่งเสียงสวดมนต์ เต็มปากเต็มคำสักอาทิตย์หนึ่ง มันจะเกิดความรู้สึกว่าใจเราเข้มแข็งขึ้นไปเอง ขอให้มองอย่างนี้ ของเรานี่นะ บางทีพอเรารู้สึกว่า เราอยากจะเปล่งเสียงออกมาเต็มปากเต็มคำเนี่ย เรารู้สึกว่ามันหาความพอดีไม่เจอ นึกออกไหม พอสวดดัง มันเหมือนกับแกล้งตะโกน มันเหมือนกับตะเบ็ง เหมือนกับแผดๆอย่างไรบอกไม่ถูก รู้สึกว่าอายที่จะไปทำอะไรเกินๆ หรือว่าโอเวอร์ (over) แบบนั้น

ให้มองอย่างนี้ ให้ปรับจิตปรับใจลงมาแบบนี้ว่า เวลาที่เราจะสวดเต็มปากเต็มคำ มันเป็นคนละอันกันกับที่เราจะตะโกน ตะเบ็งให้ใครได้ยิน ลองซ้อมดูตอนนี้ก็ได้ ลองพูดคำว่า “อิติปิโส ภะคะวา” แบบเต็มปากเต็มคำ ..ลองเลย

ถาม : อิติปิโส ภะคะวา

ดังตฤณ: 
เนี่ย แค่นี้ เราพูดต่อหน้าคนมากมาย และอันนี้มันไม่เวอร์ (over) มันไม่ได้ตะเบ็ง แต่ถ้าหากว่าเราอยู่คนเดียวนี่ มันจะเกิดความรู้สึกอายๆขึ้นมา แปลกไหม?

สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นกลของจิต เป็นการเล่นกลของจิต เราต้องเข้าใจ ตอนเด็กๆ บางทีเราอยากจะแสดงออกหรืออะไรแบบนี้ บางทีมันถูกกดมา หรือบางทีนะ ของเราเนี่ย ถ้าไม่ถือสามันก็เงียบๆติ๋มๆไปเลย แต่พอสติขาดขึ้นมาเนี่ย มันกลายเป็นแผดเสียง เหมือนกับผีสิงอะไรแบบนั้น ไม่ใช่ผีสิงหรอก ผีข้างในของเรานี่แหละ มันรออยู่ มันรอเวลาแสดงตัวอยู่

การสวดมนต์อย่างถูกต้องนี่ช่วยได้หมดเลย แก้ได้หมดเลย ทั้งในเรื่องของความเชื่อมั่นในตนเอง และในแง่ของการที่ไม่ต้องเก็บกด เราเก็บกดมากเลย เวลาที่มีเรื่องอะไรเข้ามานี่ มันเหมือนกับติ๋มๆ ไม่ค่อยอยากจะสู้รบปรบมือ แต่ใจจริงๆของเราอยากจะสวนนะ แต่มันขี้เกียจมีเรื่อง ขี้เกียจมานานจนกระทั่งเหมือนกับไม่กล้า ทีนี้ถ้าเราจะเริ่มต้น เราเริ่มต้นอย่างไร?

สังเกตระดับเสียงของตัวเอง
คือบอกตัวเองไว้ว่า
เรายังไม่มีระดับเสียงในการสวดมนต์ที่มันพอดี
เพราะฉะนั้นมันจะมีอย่างใดอย่างหนึ่ง
ไม่แผ่วไป ก็แรงไป

นี่คือการยอมรับความจริงขั้นแรกเลย ขั้นพื้นฐานเลย สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ ไม่เวอร์ (over) ไปก็น้อยไป ถามว่ามันจะมาอยู่ตรงกลางได้อย่างไร มันไม่มีใครหรอกที่อยู่ๆนี่จะสามารถรู้ได้ขึ้นมาแต่แรกเลยนะว่า ตรงกลางมันต้องประมาณอย่างนี้ แต่มันจะสามารถรู้ได้ว่า ตรงกลางอยู่ตรงไหน ก็เมื่อเวลาที่เรารู้ตัวว่านี่มันเว่อร์ (over) ไปแล้ว มันแผดเสียงอยู่ “อิติปิโส ภะคะวา” เอ๊ะ มันอายๆ รู้สึกเหมือนกับแผดๆออกมาเกินๆ เราก็แค่ยอมรับตามจริง คือไม่ใช่ไปหยุดมัน แต่ว่าลองยอมรับตามจริงว่า นี่แผดเกินไปนะ จิตเขาจะเข้าใจเองว่าจะลดระดับลงมาให้ไม่เวอร์ (over) ได้อย่างไร จะรู้ขึ้นมาเอง โดยที่เราไม่ต้องไปบังคับหรือว่าไม่ต้องไปกะเกณฑ์

เพราะอะไร เพราะว่าถ้ามันยังเวอร์ (over) อยู่ สติของเราก็จะรู้อีก ว่านี่ก็ยังเวอร์ (over) อยู่ดี หรือพอแผ่วลงเกินไป มันก็รู้แล้ว นี่ยังไม่ถึง เนี่ย ปรับไปปรับมา ไม่กี่ครั้งนะ มันจะมาอยู่ตรงที่พอดี ที่เราเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า นี่แหละที่เราชอบ นี่แหละที่ทำให้เราเกิดความสุข นี่แหละที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าสวดมนต์เนี่ยเราได้ถวายแก้วเสียงของเราเป็นพุทธบูชา

เอาคีย์เวิร์ด (keyword) นี้ไปนะ รู้ ว่าเวอร์ (over) ไปหรือว่าแผ่วไป แล้วจากนั้นพอรู้สึกพอดีขึ้นมา เราตั้งใจ ณ จุดนั้นเลย ณ จุดที่เกิดความรู้สึกพอดี ว่าเราจะเอาแก้วเสียงที่พอดีนี้ ที่ไพเราะนี้ ถวายเป็นพุทธบูชา ใจมันจะเกิดการปรุงแต่งเป็นมหากุศลขึ้นมา แล้วใจที่เป็นมหากุศลนั่นแหละ มันจะรู้เอง มันจะมีสัญชาตญาณทราบว่าจะสวดให้เพราะได้อย่างไร เปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำได้อย่างไร

แต่ก่อนผมก็สวดไม่เต็มปากเต็มคำ จนกระทั่ง คือเคยบวช แล้วก็ต้องไปสวดกับกลุ่มพระ ถึงได้เข้าใจ อ๋อ...เวลาสวดนี่มันต้องสวดให้เต็มปากเต็มคำนะ ลองไปสวดกับพระที่วัดก็ได้ แล้วจะรู้สึกว่าถ้าเสียงของเรากลมกลืนกับพระที่วัด แสดงว่าตรงนั้นพอดีแล้ว ต้องวัดดีๆนิดหนึ่งนะ ไม่ใช่วัดเร่งไปนอน

ถาม : ทีนี้ถ้าเกิดทำตรงนี้เสร็จแล้ว ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะการทำงานคือก็จะเป็นปกติใช่ไหมคะ

ดังตฤณ: 
เหมือนกันคือจะรู้สึกว่า การปรุงแต่งทางใจของเราแตกต่างออกมาจากข้างใน มันจะมีความเข้มแข็งขึ้น มันจะมีความเปิดมากขึ้น มันจะมีความสามารถในการคอนเน็ค (connect) มากขึ้น สังเกตไหมใจของเราตอนนี้มันคล้ายๆขาดความสามารถในการคอนเน็ค(connect) คือมันจะกลัวคน กลัวที่จะต้องแสดงความเห็น กลัวที่จะโดนใครตัดสินว่าผิดหรือถูก ทั้งๆที่จริงๆในหัวเรา บางทีมีความคิดล้ำหน้ากว่าคนฟังไปเยอะเลย แต่รู้สึกว่าถ้าเขาไม่เข้าใจเดี๋ยวเขาจะว่าเรา

เนี่ย กลัวการต่อว่า แต่ถ้าเมื่อไรที่จิตของเราเป็นมหากุศล และสามารถสวดได้เต็มปากเต็มคำ มันจะมีความกล้าแข็งขึ้นมา ไม่ใช่แข็งกร้าวนะ มันจะมีความเข้มแข็งขึ้นมาแบบหนึ่ง ที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า เราสามารถพูดได้ จะฟังอย่างไรแล้วรู้สึกอย่างไรก็ช่างปะไร เดี๋ยวถ้าหากว่ายังไม่เข้าใจ เราไปแก้ไขให้เข้าใจได้ หรือถ้าหากว่าเขาอยากจะไม่เข้าใจจริงๆ เราจะพูดหรือไม่พูด เขาก็จะไม่เข้าใจอยู่ดี มันไม่เห็นต้องไปแคร์ (care) ไม่เห็นต้องเอามาเป็นตัวบีบให้จิตของเราลีบลงหรือว่าดังแบบเวอร์ๆ (over)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น