วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ภาวนาแล้วรู้สึกอึดอัด ท้อแท้

ถาม : ในการเจริญสติในชีวิตประจำวัน บางครั้งมันก็เห็น แต่บางครั้งก็เหมือนจะอึดอัดอยู่ที่กลางอกนะคะ อันนี้ประเด็นหนึ่ง แล้วก็กลางคืนจะสวดมนต์นั่งสมาธิ แต่เหมือนกับมันท้อ แล้วก็มีเหมือนอะไรครอบหัว แล้วก็ปวดหัว  

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/SPsbGbllLJA
ดังตฤณวิสัชนา หลังพิธีบรรจุพระบรมธาตุครั้งที่ ๓
ในโครงการ
พระประธานทั่วหล้า
อาทิตย์ที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๙

ดังตฤณ: 
มีสองประเด็นนะ ประเด็นแรกคือว่า ทำไปแล้วรู้สึกมันอึดอัดแน่นอก แล้วก็อีกประเด็นหนึ่ง คือเรื่องของความท้อ 

เรื่องของความอึดอัดแน่นอก บางทีเราหายใจผิดปกติโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เราตั้งใจทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นการเจริญสติ อย่างเวลาเราจะต้องพูดในห้องประชุม โดนเพ่งเล็งปุ๊บ รู้สึกเครียดที่ท้องทันที เหมือนกรดไหลย้อนทันที มีสายตาหลายๆคู่จ้องจับผิดมา ว่าเราจะพูดอย่างไร ตัวนี้แหละ มันเกิดความกดดันขึ้นมา แล้วก็เกิดความรู้สึกเกร็ง เกิดความรู้สึกแน่น เกิดความรู้สึกเครียด แม้จะหายใจก็หายใจไม่ถนัด เหมือนกับต้องฝืนต้องบังคับ แล้วก็เกิดความอึดอัดแน่นอกขึ้นมา

อันนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าหากเรามีความเครียด หรือว่าตั้งใจมากเกินไป หรือว่ามีอาการไม่รู้เนื้อรู้ตัว ในการขยับเขยื้อน ในการอยู่ในชีวิตประจำวันปกตินี่ ก็สามารถที่จะเครียด สามารถที่จะเกิดอาการแน่นขึ้นมาได้

อย่างเวลาที่เรามาเจริญสติ หลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่พยายามจะทำความสงบ ด้วยการระลึกรู้ถึงลมหายใจ หรือว่าจะภาวนาพุทโธก็ตาม มันมีอาการโดยไม่รู้ตัว ถึงแม้ว่าจะพยายามทำมาหลายปีแล้วก็ตาม เหมือนกับ.. พอมันไม่สงบแล้วมีอาการอัตโนมัติแบบหนึ่งขึ้นมา คือตั้งใจเกินเหตุ คือมีความรู้สึกว่า เราต้องพยายามเอาชนะความฟุ้งซ่าน หรือตัวความกวัดแกว่งให้ได้ มันก็เลยมีอัตโนมัติขึ้นมา หลายๆจังหวะที่เราไม่รู้ตัวว่าเราตั้งใจเกินเหตุ หรือว่าเกิดอาการต่อต้านความฟุ้งซ่านมากเกินไป ทำนองเดียวกับตอนที่เราจะพูดในห้องประชุม หรือว่าพูดในที่ชุมชน แล้วเกิดความเครียดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว บอกว่าไม่ได้เครียด แต่ท้องมันเกร็งอยู่ ไม่ได้ประหม่าเลย แต่สั่นพั่บๆๆๆ เราไม่รู้ตัว 

แต่จริงๆแล้วร่างกายกับจิตใจมันไม่หลอกตัวเองนะ เมื่อเกิดความเครียดอยู่ข้างใน มันเครียด มันก็เครียดนั่นแหละ ถ้าหากว่าเราสามารถสังเกตโดยไม่ไปรีบร้อน ไม่ไปเร่งรัด ว่าจงหายเครียด จงหายอึดอัด แต่เอาความเครียด เอาความอึดอัดที่มันเกิดขึ้นตามจริงนั่นแหละ เป็นตัวตั้งในการสังเกต พิจารณาว่า ณ ลมหายใจนี้ มันมีความเครียดอยู่ประมาณนี้ ถ้าเกิดความอึดอัดแน่นอกขึ้นมา อย่าไปว่าตัวเอง อย่าไปพยายามทำ อย่าไปพยายามที่จะอยากหายเครียดทันที 

ให้รู้ขึ้นมาว่า 
ลมหายใจนี้มันเครียดอยู่จริงๆ 
พอเกิดความรู้ขึ้นมาจริงๆว่า
ลมหายใจนี้มันเครียดๆ เกร็งๆ 
มันจะเกิดการสังเกตในลมหายใจต่อมาว่า 
ความเครียด ความเกร็ง ความฝืนนี่
มันเหมือนกับจะคลายตัวลง

อันนี้รับประกันว่า ถ้าเราไม่ไปใส่อาการเร่งรัด ไม่ใจร้อน ไม่ไปเร่งให้อาการเครียดมันหายไป มันจะแสดงในลมหายใจต่อมาว่า อาการแน่นๆ ที่หน้าอกมันผ่อนคลายลง แต่หลายๆคน มีปัญหาเรื่องการหายใจ คนกรุงเทพฯ สมัยนี้ พอหายใจเข้าไปมากๆแล้ว มันเกิดความรู้สึกว่า มีความผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินลมหายใจ หรือว่า เกี่ยวกับกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นนี่ เราก็ต้องอาศัยความใจเย็นนิดหนึ่ง บางทีถึงแม้ว่าเราจะเป็นภูมิแพ้ หรือว่ามีความติดขัดในเรื่องการหายใจก็ตาม ก็สามารถเอาหลักการนี้มาประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน

คือลมหายใจหนึ่งมีความอึดอัด อีกลมหายใจหนึ่งอาจจะผ่อนคลายลง ผ่อนสั้นผ่อนยาวให้ เหมือนเราจะกลั้นปัสสาวะอย่างนี้ มันก็มีความรู้สึกปวดจี๊ดบ้าง แล้วก็เบาลงบ้าง อะไรแบบนี้ นี่คือธรรมชาติทางกาย ถ้าหากว่าเราสามารถเห็นได้ แต่ละลมหายใจนี่มีความเครียด มีความตึงไม่เท่ากัน แล้วเราใจเย็นพอที่จะเห็นไปเรื่อยๆ ในที่สุดมันจะคลายออกมา แล้วถ้ามันจะมีจังหวะที่เกิดอัตโนมัติ เครียดโดยไม่รู้ตัวขึ้นมาอีก ก็จะสามารถมีสติเท่าทันได้ง่ายขึ้น

นั่นเพราะว่าความใจเย็นที่เป็นตัวอย่าง มันเกิดขึ้น แล้วมันก็จะเห็นหน้าตาของความเครียด ความเกร็งหรืออาการอึดอัดแน่นอกนั้น จนกระทั่ง ณ จุดเกิดเหตุที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆนี่ สติก็จะทัน ทันพอที่จะเห็นว่า มันเกิดขึ้น ณ ลมหายใจนี้ แล้วลมหายใจต่อมามันคลายให้ดู เราก็จะยอมรับตามจริง โดยไม่ไปยินดียินร้าย

ปกติพอเครียดขึ้นมาเราจะยินร้าย พอผ่อนคลายขึ้นมาเราจะยินดี แต่ถ้าหากว่าเรามีสติจริง แล้วเห็นมันบ่อยๆ เป็นร้อยเป็นพันครั้งนะครับ มันจะไม่มีความยินดียินร้าย จะมีแต่ความรู้สึกว่าพอเครียดขึ้นมา เดี๋ยวก็คลาย พอคลายลงไป เดี๋ยวก็เครียดกลับมาได้ใหม่ มันจะเห็นเป็นอนิจจังอย่างนี้ ความเห็นเป็นอนิจจังนี่แหละ ที่จะบอกเราว่า ไม่ต้องไปดีใจ ไม่ต้องไปเสียใจ

ส่วนความรู้สึกท้อ ในตอนกลางคืน บางทีอาจจะหมดแรงก็ได้ ร่างกายมีส่วนนะ คือบางทีคนมีกำลังใจในตอนกลางวัน แต่ตอนกลางคืนมันหมดแรง เกิดความรู้สึกเหมือนอ่อนเปลี้ย ความรู้สึกอ่อนเปลี้ย มันก็ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดความรู้สึกท้อได้เหมือนกัน
ถ้าหากว่าเราสะสมความเครียด หรือว่าความกังวล หรือว่าความไม่อยากทำงาน ความไม่อยากจะเผชิญกับปัญหาแบบเดิม ๆ ในที่สุดมันไปฟ้องที่ร่างกายตอนกลางคืน มีความอ่อนเปลี้ย มีความรู้สึกเหมือนจะขยับแขนขยับขาไม่ได้ มีความรู้สึกราวกับว่า พรุ่งนี้ตื่นมา เราก็คงไม่มีกำลังใจลุกจากที่นอนแล้วล่ะ แต่เอาเข้าจริง ตามธรรมชาติของร่างกายและจิตใจ พอเรานอนหลับลงไป ตื่นใหม่ มันมีความสดชื่นขึ้นมาอีก

นี่คืออนิจจัง!  นี่คือความไม่เที่ยงที่เราสังเกตเป็นช่วงใหญ่ๆ ได้ ถ้าหากว่าตอนเช้าเรามีความสดชื่น ตอนกลางคืนเรามีความรู้สึกท้อถอย ท้อแท้ แล้วตอนเช้าขึ้นมา มีความสดชื่นขึ้นมาใหม่ เราเห็นเป็นช่วงๆเลย นี่แหละ เค้าเรียกอนิจจัง คำว่าการเห็นอนิจจังหรือที่จะให้เกิด อนิจสัญญา ไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นเป็นขณะๆ ไม่จำเป็นต้องเห็นเกิดดับๆ แบบที่พิสดารอย่างที่เขาเล่าลือกันเสมอไป แม้แต่ความรู้สึกถึงความไม่เที่ยง ของภาวะในชีวิตประจำวัน มันก็เป็นอะไรที่จะก่อให้เกิดความรู้สึกว่า นี่ไม่เที่ยง นี่ไม่ใช่ตัวเรา ได้เหมือนกัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น