วันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2562

เครียดจากการทำมาหากิน จะหาทางออกอย่างไรโดยมีสติ


ดังตฤณ : คือถ้าในทางพุทธ ท่านก็ให้หาต้นทุนในระหว่างวัน

แม้แต่พระภิกษุ ภิกษุณีในสมัยพุทธกาล ท่านก็ไม่ได้เจริญสติในแบบที่ว่า อยู่ๆมานั่งจ้องเอาจ้องเอาว่า กายใจมีสภาพความไม่เที่ยงอย่างไร ไม่ใช่ตัวเดิมอย่างไร ไม่ใช่ตัวตนอย่างไร
อันนั้นน่ะยากเกินไป เพราะว่าความฟุ้งซ่านของคนเราเอาไปกินหมด มันรบกวนจิตใจ เป็นคลื่นแทรกอยู่ตลอดเวลา

เพราะฉะนั้น ก็เลยต้องมีการนั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง นั่นเป็นอุบายเท่าที่จะมีอยู่ในสมัยพุทธกาล แต่จริงๆน่ะทุกศาสนานะครับจะมีเครื่องช่วยเสมอ อย่างเช่น บางทีก็เคาะระฆัง บางทีก็ใช้ singing bowl บางศาสนาบางลัทธิถึงขั้นสร้างถ้ำ สร้างวิหารอะไรขึ้นมา เพื่อให้ไปสวดมนต์กัน

แล้วก็จะมีเทคโนโลยีทางเสียง ซึ่งมีมาห้าพันปีแล้วนะครับ สะท้อนกลับมามีคลื่นเสียง 111 เฮิรตซ์เป๊ะ แล้วทำให้เกิดประสบการณ์ทางจิตที่แตกต่างๆไป ความรู้สึกทางกายแตกต่างไปนะครับ

อย่างยุคเราก็มี Binaural beats แล้วอย่างเสียงสติก็เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาจาก Binaural beats อีกทีนะครับ

จริงๆแล้ว หลายคนที่มีความเชี่ยวชาญหรือว่าคุ้นเคยกับ Binaural beats มา ก็บอกนะครับว่า มันต่างนะ ต่างจาก Binaural beats ที่เคยฟังๆมา อันนี้ก็มีรายละเอียดทางเทคนิคที่ไม่เหมือนกันนะครับ

จริงๆไม่อยากจะบอกว่า เสียงสติเป็น Binaural beats ด้วยซ้ำ แต่ว่าโดยเบส(Base)โดยตัวที่เป็นมูลฐานเลย มันสร้างขึ้นมาจาก Binaural beats แล้วผมเอามาบอกว่าเป็น Binaural beats เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ลิงค์(Link)กันกับความเข้าใจทั่วไปที่เคยใช้ Binaural beats กันมา

จะสรุปว่า เพื่อแก้ไขปัญหาเนี่ย บางทีเราไปคิดเฉยๆไม่ได้ บอกว่ามีสติเฉยๆไม่ได้ คุณควรมาสวดมนต์ มานั่งสมาธิ ถ้าเดินจงกรมได้ยิ่งดี แต่ถ้าสวดมนต์แล้วฟุ้งซ่าน นั่งสมาธิแล้วไปไม่ไหวหนึ่งนาทีต้องลืมตา ยิ่งเดินจงกรมนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย เดินยังไงก็ไม่ทราบนะครับ อันนี้ที่เราคุยกันมานานพอสมควรร่วมครึ่งปีกว่าเนี่ยนะครับ ก็เอาเทคโนโลยีทางเสียงเข้ามามีส่วนช่วยในการสวดมนต์แล้วก็นั่งสมาธิ เพื่อให้คุณมีทุนที่จะไปรบกับสภาพชีวิตที่มันกำลังหนักหนาสาหัสไปทั่ว สาหัสทั่วหล้านั่นแหละไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยนะครับ

ปัจจุบันนี้ ทั้งโลกเราเดินกันมาผิดทางมานาน จนกระทั่งนึกว่าอะไรๆจะเหมือนเดิม แต่จริงๆสภาพการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศก็ตาม  หรือว่านโยบายในประเทศของแต่ละประเทศก็ตาม ที่ทำๆกันนี่ มีกลุ่มรวยกระจุกแค่กลุ่มเดียว เนี่ยมาผิดทางนะ หรือแม้แต่รวยกระจุกนี่ก็จะต้องไปร่วมจนกระจายอาจจะถึงขั้นนั้นนะ

เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีอุปกรณ์มีเครื่องทุ่นแรงบ้าง ก็น่าลองนะครับไม่เสียหลาย แล้วถ้าใครลองแล้วไม่คลิ๊กก็ไม่เป็นไร ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะคลิ๊กหมดนะครับ เสียงสติไม่ใช่เพื่อทุกคนนะครับ

อันนี้เดี๋ยวเผื่อถ้ายังไม่เคยเห็นมาก่อนนะครับ อันนี้คือลิงค์ http://dungtrin.com/BB ไปเสียงสตินะครับ

ก็สรุปว่าใช้ต้นทุนคือ ทำให้จิตใจรู้จักว่าง รู้จักพักจากอาการฟุ้งซ่านบ้าง ถ้าฟุ้งซ่านตลอดแล้วคุณคิดว่า จะไปหาอุบายอะไรมารบกับความเครียดได้ คิดผิดนะครับ

อุบายอะไรก็แล้วแต่ คืออันนี้ไม่ต้องเชื่อกันก็ได้ แต่หลักเหมือนกันนะ ถ้าหากว่ามีความเครียดกับสภาพชีวิต มีความรู้สึกหนักอึ้ง มีความรู้สึกหดหู่ มีความรู้สึกว่าท้อแท้มองไม่เห็นอนาคต แล้วคุณใช้อุบายอะไรก็แล้วแต่ ที่ไม่ได้ช่วยให้จิตของคุณเว้นวรรคจากความฟุ้งซ่าน อันนั้นผิดทางเสมอ

แต่ถ้าอุบายอะไรก็แล้วแต่ ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงสติก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิก็ได้นะครับ ช่วยให้คุณมีความรู้สึกเบา มีความรู้สึกสบายใจ มีความรู้สึกเหมือนได้ชาร์จแบตทุกวัน อันนั้นใช่เสมอสำหรับโจทย์ข้อนี้นะครับ

อย่างบางคน นึกว่าไปเที่ยว ไปเปิดหัว ไปชาร์จแบตที่ไหนได้ ไปเที่ยวก็ยังคิดมากอยู่ดี รู้สึกหนักอกหนักใจอยู่ดี แบกความหนักอกหนักใจ แบกภาระทางเศรษฐกิจข้ามจังหวัดไปกับตัวเอง พกติดกระเป๋าไปด้วย เอาขึ้นเครื่องบินไปด้วย อุตส่าห์ไปถึงมัลดีฟส์ อุตส่าห์ไปถึงไนแองการ่า อุตส่าห์ไปถึงปารีสอะไรต่างๆ ที่นึกว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยว นึกว่าเป็นที่โรแมนติก นึกว่าจิตใจเนี่ยจะสงบพักได้  ตอนนี้ยากนะครับเพราะว่า มือถือของเราตามตัวเราไปด้วย แล้วความฟุ้งซ่าน ก็เป็นความฟุ้งซ่านแบบเดียวกันกับอยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงานนั่นแหละนะครับ

ถ้าหากว่าความฟุ้งซ่านของคุณยังไม่หยุด ไม่มีอาการเว้นวรรค ไม่มีความเบาลงเลย ขอให้จำไว้ว่า ไม่มีทางแก้เครียด ไม่มีทางแก้ปัญหาทางจิตทางใจในชีวิตประจำวันได้อย่างแน่นอนนะครับ อันนี้รับประกันครับ!
_______________

ผู้ถอดคำ: แพร์รีส แพร์รีส

คำถามเต็ม: ภาวะความเครียดการทำมาหากินกับเศรษฐกิจ เราจะหาทางออกอย่างไรโดยมีสติ?

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิทยาศาสตร์ของความสงบแบบตื่นรู้
10 พฤศจิกายน 2562
 วันที่ไลฟ์   ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
รับฟังทางยูทูป    https://www.youtube.com/watch?v=EtO7Ice8fCM&t=73s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น