วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2562

พูดให้บุพการีเสียใจโดยไม่ตั้งใจ บาปหรือไม่


ดังตฤณ: คุณต้องแยกให้ออกนะ เผลอก็ส่วนหนึ่ง แต่ที่ทำไปแล้ว ณ เวลานั้นมีเจตนาอย่างไร ก็เป็นไปตามนั้น ไม่มีข้ออ้างใดๆ ทั้งสิ้นว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ

คือบอกว่าไม่ตั้งใจ (แต่)โดยพฤติกรรมของจิต ไม่ใช่ไม่ตั้งใจนะ แต่เผลอ ขาดสติ แล้วก็ชั่วขณะนั้น เกิดเจตนา มีความตั้งใจที่จะทิ่มแทง มีความตั้งใจที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง หรือคนฟัง เจ็บปวด

บางทีคนเราเหมือนกับมีสองภาค ที่คอยแย่งชิงพื้นที่จิตใจของเราอยู่
ภาคที่ดีแสนดี อยากจะเป็นคนดี ก็จะคอยมามีส่วนในการทำให้ตัวเองได้เกิดสำนึกผิดชอบชั่วดี แต่ขณะที่อีกฝ่าย ซึ่งมีอำนาจมากกว่า ด้วยความเคยชิน ด้วยอำนาจความเคยชินที่เหนือกว่า ก็เอาความมืดมาบดบัง มาปิดกั้นแสงสว่างอะไรทั้งหมดได้ โดยที่เราไม่มีโอกาสตั้งตัว ไม่มีความสามารถที่จะไปสู้รบปรบมืออะไร

ตรงนี้ ขอให้สังเกตดูดีๆ นะครับ มีอยู่สิ่งเดียวที่มีอำนาจอยู่ในตัวเราจริงๆ ภาคใดภาคหนึ่ง คือความเคยชิน

ความเคยชินกับสถานการณ์หนึ่งๆ กับบุคคลประเภทหนึ่งๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้สังเกตเถอะว่า บุคคลที่ใกล้ชิด บุคคลที่เราคุ้นเคย บุคคลที่เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเกรงใจ ตรงนี้เป็นแหล่งสะสมความเคยชินในแบบที่ปล่อยใจเลยตามเลยได้มากที่สุด

ในขณะที่ถ้าเป็นคนแปลกหน้า เป็นคนอื่นคนไกล อย่างนี้เรามีความเกรงใจได้ อย่างนี้เรามีความรู้สึกว่า อยากจะตั้งสติ ว่าก่อนจะพูดอะไรคิดให้ดีก่อน

ถ้าความเคยชินของเรา มีอยู่แต่ว่าคนแปลกหน้าเท่านั้นที่จะเป็นที่ตั้งของสติให้คิดก่อนพูด เราก็จะพูดหลังจากคิดทุกครั้งกับคนแปลกหน้า
แต่ถ้าเราสั่งสมความเคยชินไว้ว่า พ่อแม่หรือคนสนิทในบ้าน ... กันเอง ... พูดไปไม่เป็นไร เดี๋ยวไปปรับความเข้าใจกันใหม่ ตรงนี้ก็จะกลายเป็นการสั่งสมความเคยชินในการพูดก่อนคิด เสร็จแล้วพอมาคิดทีหลัง ก็ถึงเกิดความเสียใจ

ตัวนี้แหละที่จะบอกว่า คำตอบง่ายๆ ก็คือ บาป นะครับ แต่ถ้ามีความรู้สึกเสียอกเสียใจในภายหลัง อันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งว่า ใจเราจริงๆ ไม่ได้ตั้งไว้ในทิศทางที่จะทำบาปทำกรรมกับพ่อแม่นะ แต่เป็นความเคยชินที่มีอำนาจเหนือความตั้งใจดีของเรา

ฉะนั้นก็ต้องมีการตกลงกับตัวเองให้ชัดเจนว่า เรามาสร้างความเคยชินใหม่ ความเคยชินในแบบที่จะคิดก่อนพูดทุกครั้ง เหมือนกับที่เราเกรงใจคนแปลกหน้า เหมือนกับที่เราพูดดีๆ ทำดีๆ กับคนที่ไม่ได้คุ้นเคยเป็นกันเองกันมากนะ

ความเป็นกันเองนั่นแหละ เป็นที่มาของการที่คนคนหนึ่ง จะทำบาปทำกรรมกับคนอีกคนหนึ่ง ได้มากกว่าใครอื่นในโลก

อย่างที่ฆ่าๆกัน ลองสืบดู ก็คนคุ้นกันทั้งนั้นแหละ ไม่ค่อยมีหรอก คนแปลกหน้ามาฆ่ากัน คนแปลกหน้ามาฆ่ากันมักอยู่ในสนามรบเท่านั้น แต่คนที่คุ้นเคยจะทำบาปทำกรรมกัน ทั้งๆที่ไม่มีสนามรบเกิดขึ้น!

______________



คำถามเต็ม: การกระทำ คำพูดที่ทำให้บุพการีเสียใจ โดยไม่ได้ตั้งใจ ถือเป็นบาปหรือไม่? เสียใจภายหลังทุกครั้ง


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สติต่างจากสมาธิอย่างไร?
▶▶ คำถามช่วง ถามตอบ ◀◀
21 กันยายน 2562

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น