วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ทำอย่างไรก้าวหน้าแล้วจะไม่ถอยหลังอีก?

ดังตฤณ  :   สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม คืนนี้หัวข้อก็ยอดฮิตเลยนะครับ ถามกันเรียกว่าตลอดตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

แล้วก็คาดว่า ในอนาคตก็คงจะไม่มีการเว้นวรรคความสงสัยคาใจข้อเรื่องนี้ นั่นก็คือว่า ถ้าก้าวหน้าไปแล้ว ทำยังไงจะไม่ถอยหลังกลับมาอีก

แล้วคำถามนี้ มักจะเกิดขึ้นกับคนที่ไปปลีกวิเวก หรือบางวันเนี่ยปฏิบัติได้ดี นั่งสมาธิได้นิ่ง แล้วก็บางคน เห็นกายใจเป็นรูปนามได้ ก็จะเข้าใจว่าน่าจะมาถึงจุดตัดทางแยกที่กำลังจะเขยิบเข้าใกล้เป้าหมายจุดหมายปลายทางเข้าไปทุกที

อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา อันนี้เป็นเรื่องของมนุษย์คนนึงที่ปฏิบัติธรรม หรือนั่งสมาธิแล้ว จะต้องไปเจอจุดที่มันดี จุดที่มันได้ จุดที่มันใช่ จุดที่มันรู้สึกว่าน่าภูมิใจในตัวเอง

ทีนี้คือ ถ้าหากว่าเราปฏิบัติธรรมหวังมรรคหวังผล เอาความสิ้นทุกข์แบบที่พระพุทธเจ้าท่านประสงค์นะครับ มีจุดมุ่งหมายปลายทางของพุทธศาสนาคือ การสิ้นทุกข์ เราต้องตั้งโจทย์ให้เป็น แล้วก็ทำความเข้าใจความอยากของตัวเองให้ได้ อย่างเช่นกรณีนี้แหละ เนี่ยเคยได้สมาธิถึงฌาน เคยปฏิบัติวิปัสสนาได้ญาณขั้นโน้นขั้นนี้อะไรต่างๆ แล้วเกิดคำถามขึ้นมาในใจ เกิดโจทย์ขึ้นมาในใจว่า ทำยังไงขึ้นแล้วขึ้นเลย ไม่ต้องถอยกลับลงมาอีก

อันนี้นะครับสำคัญเลย ถ้ามาถึงตรงนี้ได้ อย่างน้อยที่สุดคุณเกิดกำลังใจ และเห็นทางรำไรแล้วว่า เส้นทางนี้มันคือ การใช้จิตเดิน มันคือความก้าวหน้า พูดง่ายๆว่า จิตวิญญาณยกระดับขึ้นมา

ถ้าหากว่า จะเอาแบบศาสนาอื่นเช่น ศาสนาพราหมณ์ที่เขาเล่นสมาธิกัน แน่นอนว่าโจทย์คือ ทำยังไงถึงจะทิ้งได้มากกว่านี้ เครื่องของรุงรังแบบโลกๆ เพื่อที่ยกจิตยกใจให้เข้าใกล้เขยิบเข้าใกล้ความเป็นพรหมหรือว่า ได้ไปอยู่กับอัตตาเดิมแท้ที่มีความสูงส่ง ใครยิ่งทำได้แอดวานซ์ (Advance) ขึ้นเท่าไหร่ ก้าวหน้าขึ้นเท่าไหร่แล้วมีความคงเส้นคงวา มีความเสถียรมากขึ้นเท่าไหร่ แปลว่าเก่ง แปลว่ายิ่งมีชั้นวรรณะของจิตวิญญาณที่สูงเหนือคนอื่นดังใจสมประสงค์

แต่ว่าแบบพุทธเนี่ยนะครับ เราไปตั้งโจทย์แบบนั้น ถือว่าผิด ผิดตามกิเลสน่ะมันถูกตามกิเลสน่ะนะ แต่ว่ามันผิดทางแบบพุทธ ทางแบบพุทธเนี่ย เราต้องทำความเข้าใจแบบที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนะครับ อย่างในจิตตานุปัสสนาเนี่ย พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้อย่างหนึ่งคือ จิตสงบรู้ จิตมีราคะก็รู้ จิตมีโทสะก็รู้ จิตมีโมหะก็รู้ จิตเป็นสมาธิ จิตใหญ่ พูดง่ายๆจิตเป็นฌานก็ให้รู้ว่า จิตแบบนี้หน้าตาเป็นแบบนี้ แล้วเคลื่อนออกมาจากความเป็นอย่างนั้น หรือเสื่อมจากความเป็นอย่างนั้น ก็รู้ตามจริงว่า จิตเนี่ยไปถึงไหนแล้ว นี่ท่าทีแบบพุทธเป็นอย่างนี้นะครับ

ถ้าตั้งโจทย์ขึ้นมาว่า ทำยังไงได้สมาธิแล้วจะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ อันนี้ไม่ใช่คติแบบพุทธ อันนี้ไม่ใช่โจทย์ที่จะทำให้เราถึงเป้าหมาย คือมรรคผลนิพาน

โจทย์ที่จะทำให้เราเขยิบเข้าใกล้มรรคผลนิพพานได้ มีข้อเดียวครับ คือ ทำอย่างไร จึงจะมีสติเห็นตามจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับกายกับใจนี้

อย่างถ้าหากว่า เห็นปัจจัยดี เป็นไปได้ที่ทำสมาธิแล้วเกิดความนิ่ง เกิดความสงบ เกิดความชุ่มชื่นเบิกบาน ถ้าเป็นคนธรรมดาทั่วไปนอกขอบเขตการปฏิบัติแบบพุทธก็จะบอกว่า เออเนี่ยฉันได้ดีแล้ว ฉันมีความชุ่มชื่น ฉันมีความสุข ฉันจงมีความก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป หรือถ้าเป็นครูบาอาจารย์ในศาสนาอื่นเนี่ยก็จะบอกว่า จงทำให้ดียิ่งๆขึ้นไปเถิด

แต่ในพุทธเรา พระพุทธเจ้าท่านสอนต่างกันเลยนะครับ บอกว่า ได้ดีอย่าดีใจ แต่ให้มีใจรู้ มีใจยอมรับตามจริง ว่าตอนนี้มันขาขึ้น แล้วพอขาลง พอสมาธิเสื่อม หรือว่าไม่สามารถเข้าโฟกัสที่จะเห็นกายใจโดยความเป็นรูปนามได้ กลับมามีกิเลส

บางคนบอกว่ากิเลสหนากว่าเดิมอีก เพราะว่ามันมีช่วงได้ใจ มันมีช่วงที่เกิดความปลื้มกับผลงานของตัวเองว่า เนี่ยทำได้ดีแล้ว ก็เลยเกิดความชะล่าใจ แล้วไอ้ช่วงชะล่าใจนี่แหละ ที่ทำให้กิเลสมันค่อยๆพรั่งพรูเข้ามา

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนะว่า เมื่อใดความประมาทเมื่อนั้นเป็นหนทาง คือเป็นประตูที่จะเปิดให้อกุศลธรรมทั้งหลายวิ่งเข้าใส่แบบไม่จำกัดทิศทางนะครับ เราสามารถที่จะไปไหนก็ได้ที่มันต่ำกว่าเดิม ถ้าหากว่าได้ตัวเดียวคือความประมาทมาฉุดมาลากมาดึงลง

ทีนี้คือถ้าเราตั้งโจทย์ไว้ถูกต้องแล้วเกิดอะไรขึ้น มันจะเกิดการเห็นจิตตามจริง คือศาสนาอื่นเนี่ยบางทีไม่สามารถที่จะเห็นจิตเห็นใจตัวเองได้ตามจริง เพราะอะไร?เพราะว่าเขาคาดหมาย เขามีการมุ่งหวังว่า จิตของเขาจะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็จะไม่ยอมรับจิตที่มันเสื่อมลง คือถ้าไม่ยอมรับความจริง ถ้ามีแต่ความอยาก มีแต่ความกระวนกระวาย มีความทะยานอยากจะเอาให้มันดียิ่งๆขึ้นไป ผลก็คือตัวกิเลสมันมานำหน้ามาก่อนมันล้ำสติไป

เวลาที่ปฏิบัติเนี่ยแทนที่จะดูเข้ามาตามจริงว่า กำลังเกิดอะไรขึ้น มันมีแต่ถามตัวเองว่า เมื่อไหร่จะได้ก้าวหน้าขึ้นกว่านี้ เมื่อไหร่ที่สมาธิเนี่ยมันจะพัฒนาขึ้นไปถึงฌาน

บางคนเนี่ย .. เนี่ยเล่าของผมเองก็ได้ไม่ต้องเอาคนอื่นคนไกลนะครับ คือพอได้สมาธิขึ้นมานิดๆหน่อยๆ ไอ้ช่วงเริ่มๆเนี่ยนะครับ คำถามแรกหรือว่าไอ้ความกระหยิ่มใจที่มันเกิดขึ้นนะครับ ก็คือบอกตัวเองว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้จะเอาให้ได้ถึงฌานเลย เดี๋ยวสัปดาห์หน้าเนี่ย เราคงจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมได้ขั้นโน้นขั้นนี้ คือมันเป็นธรรมดา ที่เวลาเราอยู่บนเส้นทางการเจริญสติแล้วมีความสว่างมีความก้าวหน้า มีพัฒนาการอะไรขึ้นมาบางอย่างเนี่ย แล้วจะเกิดความคาดหวังตามกิเลสมันคอยชักนำชักจูงนะครับ

ทีนี้กว่าที่จะเหมือนกับเข้าใจจริงๆเข้ามาที่ข้างในนะไม่ใช่เข้าใจข้างนอกนะ เข้าใจข้างนอกเนี่ยผมเข้าใจตั้งแต่แรกเลย คืออ่านหนังสือเนี่ยโชคดีเป็นคนที่มีวาสนา เริ่มต้นขึ้นมาเนี่ยได้ศึกษาจากพุทธพจน์ก่อน ครูบาอาจารย์ที่นำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือเกี่ยวกับสติปัฏฐานสี่มา ท่านยกพุทธพจน์เป็นตัวตั้ง เพราะฉะนั้น ความเข้าใจเริ่มๆ แรกๆมันจะไม่เคลือบอยู่ด้วยความเห็นของครูบาอาจารย์ร่วมสมัย หรือว่าสัทธรรมปฏิรูปอะไรต่างๆเนี่ยนะครับ เราจะมีความเข้าใจนำมาจุดหนึ่ง นั่นคือว่า ให้เห็นความจริง ที่มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เกี่ยวกับตัวของเราเอง

ทีนี้พอเอาเข้าจริง มันไม่ง่ายแบบนั้นมันนึกไม่ออก ตอนที่ได้สมาธิขึ้นมา ตอนที่เกิดความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีจู่โจมเข้ามาทันทีก็คือว่า วันนี้เก่ง วันนี้ทำได้ วันนี้เจ๋ง วันนี้รู้สึกว่า มันเหมือนกับอยู่เหนือโลกแล้วน่ะนะ โดยเฉพาะตอนที่จิตมันสว่างๆ สว่างผ่องๆ แล้วก็เหมือนกับหลุดจากความมีใจพิศวาสเกี่ยวกับร่างกาย หรือว่าผัสสะภายนอกอะไรทั้งหลายเนี่ยนะครับ

มันจะมีความรู้สึกหนึ่งว่า เราเนี่ยพ้นขึ้นมาจากน้ำ มันจะมีความรู้สึกว่า เราเนี่ยเหมือนกับขึ้นมาอยู่จุดที่เซฟ (Save) จุดนึงแล้ว โลกภายนอกทั่วไปที่เห็นหยาบๆเนี่ยมันของกระจอก เราผ่านตรงนั้นมาแล้ว เราผ่านจุดนั้นมาแล้วเลยจุดนั้นมาแล้ว เนี่ยมันจะคิดแบบนี้โดยอัตโนมัติ ที่อ่านคำสอนของพระพุทธเจ้ามา พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้พิจารณาความไม่เที่ยงของสภาพจิตอะไรต่างๆ ลืมหมดจำได้อย่างเดียวคือ ความรู้สึกปลื้มตัวเอง แล้วก็ภูมิใจในสภาพจิตที่เกิดขึ้น เสร็จแล้วพอวันต่อมา เข้าที่ปฏิบัติปุ๊บ มันก็จะเกิดโจทย์ที่สอดคล้องกับกิเลสนั่นแหละ นั่นคือนั่งแล้วทำยังไงถึงจะได้ภาวะแบบเดิม เนี่ยแบบนี้มันไม่ใช่สติ มันกิเลส

คือถ้าสตินะครับ สติของจริงต้องในแบบที่วันต่อวันเนี่ย เห็นว่ากำลังเจริญขึ้น หรือว่าเสื่อมลง กำลังมีอาการที่คล้อยตามความรู้สึกในอัตตาตัวตน หรือว่าเห็นสภาพที่มันเจริญแล้วเสื่อมเป็นอนัตตา

ถ้าเห็นได้ตามจริงนี่แปลว่าโจทย์ของเราเริ่มแม่น แล้วก็ทิศทางเนี่ยมันเริ่มถอดถอนอุปาทาน เริ่มทิ้งความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนได้ อันนั้นแหละที่มันจะใกล้กับมรรคผลนิพพานขึ้นมาจริงๆ

แต่ตราบใด เรายังตั้งโจทย์อยู่ว่า ทำอย่างไรเราจะก้าวหน้าแล้วไม่ถอยหลังอีก ไม่กลับถอยไม่กลับเปลี่ยนไม่กลับเสื่อมอีก นี่อันนี้รู้ตัวได้เลยนะครับว่า โจทย์ของเรายังไม่แม่น ในใจเรายังเคลือบแฝงอยู่ด้วยการเอา ไม่ใช่การทิ้ง

ขอให้จำไว้ว่า แม้แต่ในศาสนาที่สอนให้เอาสมาธิ เขาก็สอนให้ทิ้ง แต่ว่าทิ้งเปลือกภายนอก ไม่ได้ทิ้งแก่นข้างใน ของเราเนี่ยทิ้งทั้งเปลือกทิ้งทั้งแก่นเลย

ทิ้งเปลือกคืออะไร “เปลือก” คือความหลง มายาภายนอก ยึดมั่นถือมั่นว่าของเราแน่ๆ เป็นทรัพย์ของเราตลอดไปชัวร์ๆ เนี่ยอันนี้เปลือก

ส่วนแก่นก็คือจิตนี่แหละ นึกว่าจิตเป็นเรา นึกว่าจิตเป็นของเรา นึกว่าจิตบังคับได้ดังใจ เนี่ยมันติดตามติดเรามาชั่วกัปชั่วกัลป์ ก่อนเกิดก่อนตายมาเป็นอนันตชาติ แล้วมันจะยังคงสืบเนื่องต่อไป ตราบเท่าที่ยังไม่มีปัญญาพิจารณาเห็นความจริงนะครับ

จำไว้ว่า ครั้งต่อไป หากจะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรม หรือกระทั่งระหว่างวันจะเจริญสติ แล้วมีโจทย์ข้อนึงขึ้นมาแม่นๆว่า ขณะนี้ลมหายใจนี้ จิตของเราเป็นอย่างไรอยู่ ธรรมะของเราไปถึงไหนแล้ว แล้วเห็นเข้ามาในสภาพธรรมตามจริง ถ้าหม่นหมองยอมรับว่าหม่นหมอง ถ้าเสื่อมยอมรับว่าเสื่อม นี่ตัวนี้เริ่มเข้าท่านะครับ ตัวนี้เนี่ยเริ่มตรงทาง ตรงนี้เริ่มจะเห็นพัฒนาการได้

“พัฒนาการ” คืออะไร พัฒนาการ คือความสามารถที่จะเห็นความจริง ตัวความสามารถที่จะเห็นความจริง ที่กำลังปรากฎอยู่ตรงหน้านี่แหละ ตัวนี้แหละคือสติ

แต่ความสามารถที่จะเอาได้ดั่งใจว่า จิตของเราจงก้าวหน้า จงพัฒนา จงนิ่ง จงตั้งมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็มีข้อดีนะ คือ ถ้าจิตตั้งมั่นเนี่ยดีไม่ใช่ไม่ดี แต่ถ้าโจทย์ของเราคือ ทำยังไง ทำยังไง ทำยังไง มันถึงจะก้าวหน้าแล้วไม่ถอยหลัง อันนี้คือโจทย์ที่ผิดนะครับ ก็เป็นข้อสรุป

สรุปคือ มันไม่มีนะครับ ไอ้ที่มีแต่ดีกับดีเนี่ย แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านยังตรัสเลย สมัยที่ท่านยังไม่บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ท่านทำสมาธิเจริญขึ้นไปแล้ว ก็เสื่อมลงได้เหมือนกันนะครับ

ท่านคือคนมีบุญที่สุดในอนันตจักรวาลนะครับ ท่านยังบอกเลยว่า อยู่บนเส้นทางนี้เนี่ย มีการเจริญขึ้นแล้วก็เสื่อมลง แล้วเราเป็นใครที่จะทำให้มีแต่ดีกับดีแล้วก็เจริญกับเจริญ

-----------------------------------------------------------------

ผู้ถอดคำ               แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์            ๗ ธันวาคม ๒๕๖๒ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
หัวข้อ                ทำอย่างไรก้าวหน้าแล้วจะไม่ถอยหลังอีก?
ระยะเวลาคลิป    ๑๗.๑๘ นาที

*** IG ***

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น