วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

เรายังต้องทำงานพบปะผู้คนมากมาย บางทีมีกระทบกระทั่งกันบ้าง เราจะดึงจิตเราให้นิ่งควรทำอย่างไรดีคะ?


ดังตฤณ :  ตัวคำถามสะท้อนถึงมุมมองว่า เราอยากจะนิ่งท่าเดียวเลย บอกว่า (ทวนคำถาม)  “ถ้าต้องทำงานพบปะผู้คนมีกระทบกระทั่งบ้าง ทำยังไงจะให้จิตนิ่ง”

มันนิ่งไม่ได้นะครับเวลาถูกกระทบกระทั่งเนี่ย ถ้ายังไม่ใช่พระอรหันต์ จิตยังไม่หลุดพ้น มันนิ่งอยู่ตลอดเวลาไม่ได้นะครับ ต้องตั้งมุมมองใหม่นะครับ ตั้งโจทย์ใหม่เลยคือ เมื่อเกิดความทุกข์ เมื่อเกิดความฟุ้งซ่าน เมื่อเกิดปฏิกิริยาทางใจในทางที่มันไม่ดี ในทางที่มันเกิดอกุศล เราจะรู้มันอย่างไรให้ถูกต้องตามจริงว่า มันเกิดขึ้นแบบนั้น นี่ตัวนี้นะครับสำคัญมาก

คำว่า “สติ” คือการรู้ตามจริงในสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า คำว่าสติเจริญขึ้นคือ มีความสามารถที่จะเห็นสภาวะนั้น โดยไม่ไปติดกับสภาวะนั้น เพื่อที่จะให้สภาวะนั้นแสดงตัวความไม่เที่ยงออกมาตามที่มันเป็น

แต่ทีนี้ถ้าขึ้นต้นมาเราตั้งมุมมองไว้ว่า เจอผู้คนแค่ไหนปะทะคารมเพียงใด หรือว่าจะต้องเผชิญกับการหาทางออกร่วมกันแบบไม่ค่อยออมชอมอะไรแบบนี้ แล้วไปตั้งโจทย์ว่า ทำยังไงจะให้จิตไม่กระเพื่อมขึ้นมาเลย นี่ตัวนี้ไม่ใช่สติแล้วนะครับ ตัวนี้เป็นความอยากที่จะให้ใจของตัวเองมีสภาวะนิ่งๆอยู่ตลอดเวลา อยากให้ใจของตัวเองดีอยู่ตลอดเวลา ไม่แสดงความทุกข์ ไม่แสดงอะไรออกมาเลย ซึ่งไม่ใช่หลักการที่พระพุทธเจ้าให้มองแล้ว

อย่างในจิตตานุปัสสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อไหร่ที่จิตมีโทสะ ให้รู้ตามจริงว่าจิตมีโทสะ เมื่อไหร่ที่โทสะหายไปจากจิตแล้ว ก็ให้รู้ตามจริงว่าจิตไม่มีโทสะแล้ว นี่หลักการเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นเราตั้งโจทย์ว่า ทำอย่างไรถึงจะมีสติเปรียบเทียบได้ว่า ณ ขณะที่มีปฏิกิริยาทางใจในแบบที่เป็นฟืนเป็นไฟ เรารู้แบบยอมรับว่า ณ ขณะนั้นมีโทสะอยู่ เมื่อสามารถรู้ได้ก็จะสามารถเห็นได้เช่นกันว่า โทสะหายไป โทสะผ่านไป แล้วมันต่างกันอย่างไร นี่ตัวนี้ตัวที่ยาก

เวลาเรามีโทสะ เวลาเราเกิดความขัดเคือง เวลาใจเรากระเพื่อม หรือว่ามีความฟุ้งซ่านไปต่างๆนานา ตอนนั้นสติมันไม่มีทางเกิดขึ้น

แต่ถ้าหากว่าเรามีสติอยู่ก่อน เช่นรู้ลมหายใจอยู่เรื่อยๆ รู้อย่างถูกต้องนะว่า หายใจยาวมีความสุขอย่างไร มีความสบายกาย มีความสบายใจ สบายเนื้อสบายตัวอย่างไรเนี่ยนะครับ แล้วตอนที่มีการกระทบกระทั่งปะทะคารมกันแล้วเกิดความเป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา ความสบายเนี่ยมันต่างๆอย่างไร หายไปยังไง ตั้งแต่เมื่อไหร่ เนี่ยตัวนี้แหละที่จะทำให้คุณเกิดสติขึ้นมาทัน ณ จุดเกิดเหตุ ณ เวลาที่โทสะมันเริ่มก่อตัวขึ้นมา มีความสามารถที่จะกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว แล้วค่อยๆบรรเทา ค่อยๆทุเลา ค่อยๆเบาบาง จนกระทั่งมันจางหายไป นี่ตรงนี้ที่เป็นความสำคัญว่า ทำไมกายานุปัสสนา ถึงมาก่อนจิตตานุปัสสนา ก็เพราะว่า เพื่อที่จะปูพื้นให้สติของเรามีที่เกาะ มีเครื่องอยู่ มีวิหารธรรม ถ้าไม่มีวิหารธรรมแล้วบอกว่า ฉันจะไปเจริญสติเฉพาะ ณ ขณะที่กำลังโกรธ แบบนี้มันไม่ทันกิน สู้ไม่ได้มันไม่มีกำลังไปสู้เขา

กิเลสเนี่ย เหมือนยักษ์เหมือนมาร แต่ตัวเราเหมือนเด็กตัวน้อยที่ริจะไปต่อสู้กับยักษ์มาร เราต้องทำให้ตัวเองใหญ่ขึ้นมาทัดเทียมกับยักษ์มารเสียก่อนนะครับ ซึ่งนั่นก็คือจิตที่ใหญ่ขึ้น มีความสุขมากขึ้น มีสติมากขึ้นจากการฝึกกายานุปัสสนามา

แล้วถ้าไม่ข้ามขั้นนะ จะฝึกเวทนานุปัสสนาด้วยก็ดี อย่างพิจารณาว่าหายใจยาวเป็นสุข หายใจสั้นเป็นทุกข์ อย่างนี้นะครับเวลาที่เราเกิดโทสะขึ้นมา เราก็จะได้รู้แล้วว่า ณ เวลาที่เราเกิดโทสะคือเวลาที่เราหายในสั้นอย่างเป็นทุกข์เสมอ เนี่ยเห็นมั้ยมันมีความต่อเนื่องกัน มันมีความสำคัญของเบสิก (basic) ที่เราต้องรู้ให้ได้ก่อน เราต้องฝึกให้ได้ก่อนนะครับ

ซึ่งถ้าใครประสบความสำเร็จแบบเป็นขั้นเป็นตอนตามที่พระพุทธเจ้าแนะนำไว้เนี่ย ภายในสามวันเจ็ดวันนะมันจะได้ผล มีความก้าวหน้ามีความคืบหน้ายิ่งกว่าคนที่ฝึกมาเป็นสิบปีแบบผิดทางเสียอีก

-----------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                         เรายังต้องทำงานพบปะผู้คนมากมาย บางทีมีกระทบกระทั่งกันบ้าง 
                              เราจะดึงจิตเราให้นิ่งควรทำอย่างไรดีคะ?
ระยะเวลาคลิป           ๕.๑๕ นาที
รับชมทางยูทูบ                https://www.youtube.com/watch?v=zCWJ4Ro4j4Y&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=14

** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น