วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นอนหลับตาแต่เหมือนยังเห็นภาพอยู่ สภาวะแบบนี้เรียกว่า?


ดังตฤณ : เป็นอาการที่จิตเริ่มใส ใจเริ่มเบา แล้วก็มีความส่องสว่างออกมา

คือปกติคนเราเวลาหลับตา จะมีม่านหมอกความฟุ้งซ่านเข้ามาบดบังทัศนวิสัยนะ ทำให้รู้สึกเหมือนมันฟุ้ง มันยุ่ง เคยชินมาแบบนี้ตั้งแต่อ้อนแต่ออก ก็ไม่รู้สึกผิดปกติ ไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอะไร

แต่วันหนึ่ง พอทำสมาธิแล้วได้ผลขึ้นมา จิตเริ่มใส ใจเริ่มเบา มีความรู้สึกเหมือนกับว่า ความฟุ้งซ่านมันหายไป ที่เป็นม่านหมอกนี่ เปิดทัศนวิสัยนะครับ ให้กว้างกระจ่างขึ้น เหมือนกับออกที่โล่งนะ
เดิมเราอยู่ในป่ารกมานาน แล้วก็เผชิญกับขวากหนาม หรือว่าพงหญ้า หรือเถาวัลย์อะไรต่างๆ จนกระทั่งเรานึกว่ามันไม่มีทุ่งโล่งในโลกนี้ จนวันหนึ่ง เราบรรลุถึงทุ่งโล่งได้ เราก็โอ้ ดีกว่าตอนอยู่ในป่ารกเยอะเลย แล้วเหมือนกับว่า ถึงเราจะหลับตาอยู่ ก็ประดุจว่าลืมตาเห็นอะไรรางๆ ข้างนอก

บางคนนี่นะ ถ้าไม่คิดอะไรมาก ไม่สงสัย แต่อยู่กับความใสๆ ความนิ่งๆ ของจิตแบบนั้นนี่ ก็จะคล้ายๆ กับม่านเปิดออก แล้วก็เห็นจริงๆ ทีนี้เห็นจริงนี่ก็มีทั้งเห็นข้าวของที่วางอยู่ตรงหน้า ซึ่งเรารู้ว่ามันมีข้าวของแบบนั้นอยู่จริงๆ หันไปหันซ้ายหันขวา ก็จะยังสามารถเห็นได้อยู่

แต่บางคนเห็นเฉพาะตรงหน้ารางๆ พอหันซ้ายหันขวานิดเดียว ภาพหายไปแล้ว หรือบางคนแทนที่จะเห็นภาพตรงหน้าซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีอยู่จริง กลายเป็นเห็นภูติผี หรือว่าเทวดานางฟ้าอะไรต่างๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะพิสูจน์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเริ่มมีประสบการณ์ใหม่ๆ จะเห็นเลยนะว่าจิตที่เป็นสมาธิแบบอ่อนๆ เห็นภาพอะไรวูบๆ วาบๆ มันพิสูจน์ไม่ได้นะว่าจริงหรือไม่จริง
แต่ถ้าเรารู้อยู่ว่า เรากำลังหลับตาอยู่ เปลือกตากำลังปิดอยู่ แล้วหันซ้ายหันขวาไป ภาพในห้องยังปรากฎ มีวัตถุแบบเดิมที่เรารู้ตำแหน่ง รู้ที่ตั้งนะครับ แล้วก็เห็นว่า นี่อันนี้แม่นยำ ลืมตาขึ้นมาก็ตั้งอยู่อย่างนั้นจริงๆ นี้คือเห็นแท้ๆ ไม่ได้คิดไปเอง

ตัวคำถามยังไม่จบนะ บอกว่า ไม่แน่ใจว่าลืมตาอยู่หรือเปล่า เลยเอามือจับที่ตา ก็พบว่าหลับอยู่ แต่ก็ยังคงเหมือนเรามองเห็นภาพข้างหน้า แบบมองในที่มืด สภาวะแบบนี้เรียกว่าอะไร เป็นอยู่สองสามครั้ง

คือ เพื่อที่จะให้เป็นประโยชน์ในทางการเจริญสตินะ ขอให้ทำความเข้าใจว่า นี่คือจิตชนิดหนึ่งที่เริ่มเป็นสมาธิ จิตเริ่มใส ใจเริ่มเบานะครับ มันไม่มีชื่อเรียกหรอก ไม่มีบัญญัติหรอกว่าเป็นจิตนิมิตมงคล จิตสว่างใส หรืออะไร เอาเป็นว่าจิตของเราอยู่ในภาวะที่ใส จิตของเรามีภาวะที่เบา ไม่หนัก ไม่ทึบ ไม่มีอะไรปิดกั้น การที่เรามีจิตแบบนี้ เป็นประโยชน์ในแง่ของการเจริญสติก็คือ เราสามารถรู้ได้ว่า ณ ขณะนั้น จิตของเราไม่ถูกห่อหุ้ม ไม่ถูกปิดบังด้วยม่านหมอกความฟุ้งซ่านอยู่ เราสามารถเห็นภาวะนั้นเป็นจิตชนิดหนึ่ง อันนี้เริ่มเข้าทางแล้วนะ ถ้าเรามองว่า นั่นเป็นจิตชนิดหนึ่ง เริ่มเข้าทางเลยนะ

แต่ถ้าเรามองว่านี่คือความสามารถพิเศษ มองว่านี่คือการประสบความสำเร็จทางการทำสมาธิ เราเริ่มเก่ง เราเริ่มเจ๋ง อันนี้ผิดทางการเจริญสติแล้ว
คืออาจถูกทางในการที่เราพัฒนาให้จิตมีคุณวิเศษ มีความสามารถที่จะรู้เห็นอะไร ที่ตาเนื้อไม่สามารถเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน จะไปเพิ่มความหลงตัว
คือเดิมนี่มนุษย์ไม่เชื่อ เรื่องจิต เรื่องสมาธิ เรื่องการเห็นด้วยสัมผัสนะ แต่พอมาเริ่มทำได้ คราวนี้ก็จะเริ่มงมงายไปอีกแบบ ความงมงายนี่ก็คือ ด่วนทึกทักแบบไม่รู้จริง

อย่างบางคน เห็นพระพุทธเจ้ามาสอน ครูบาอาจารย์มาสอน ก็ทึกทักทันที ยึดทันทีตามที่เป็นพื้นฐานของจิตใจมนุษย์น่ะ ว่าอยากเป็นคนสำคัญ อยากได้รับการดูแล หรือว่าคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ชั้นสูง ยิ่งถ้าออกมาจากนิพพานได้ยิ่งแจ๋วเลย มาโปรดเราโดยเฉพาะ ก็มีแนวโน้มที่จะหลงเชื่อสิ่งที่ตัวเองเห็น พอเห็นก็หลงยึด พอยึดก็กลายเป็นไม่ใช่เจริญสติแล้ว เป็นเจริญโมหะอีกแบบหนึ่งขึ้นมา เป็นโมหะแบบละเอียดที่เรารู้สึกว่า ตัวเองเหนือกว่าคนธรรมดาทั่วไป สูงส่งกว่าคนธรรมดาทั่วไป ระดับพระพุทธเจ้ามาโปรดเราโดยเฉพาะ แล้วมักจะพูดเหมือนๆ กันหมดว่า ไม่มีใครเข้าใจตัวเอง ไม่มีคนในโลกรู้หรอกว่าฉันนี่เห็นอะไร ประเสริฐแล้วขนาดไหน

เสร็จแล้ว พอนิมิตสอนอะไรมา เชื่อหมด โดยไม่รู้ตัวว่านั่นคือการปรุงแต่งของจิตตัวเอง เสร็จแล้วบางคนทำตามที่นิมิตบอกเป๊ะๆ เลย แล้วก็เข้ารกเข้าพงไป

ทีนี้ ถ้าเราเริ่มต้นขึ้นมา เรานิยามไว้ชัดเจนว่า ภาวะแบบนั้นคือจิตชนิดหนึ่งที่มีความใส ที่มีความเบา ที่โมหะมันเบาบางลง เราก็จะมองได้ว่าจิตแบบนั้น ตั้งอยู่ได้นานแค่ไหน กี่ลมหายใจ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นจิตดวงใหญ่ขึ้น หรือว่าใสกว่าเดิม มีความสว่างกว่าเดิม สว่างราวกับเป็นดวงอาทิตย์ขึ้นมาดวงใหม่เลย เป็นดวงอาทิตย์ที่ผุดขึ้นมาจากใจกลางความเป็นเรา

หรือความไม่เที่ยง มาในรูปของความเสื่อมของแสงสว่าง เสื่อมของความเบา เสื่อมของอาการเห็นชัด กลายเป็นความทึบ กลายเป็นความหลง กลายเป็นเป็นความฟุ้งซ่านขึ้นมา แบบที่เป็นปกติ ที่เราเคยคุ้นมาแต่อ้อนแต่ออก

เมื่อเห็นอยู่อย่างนั้นว่า บางทีจิตก็ใส บางทีจิตก็เบา บางทีจิตก็ขุ่นขึ้นมา บางทีจิตก็มีความกระเพื่อมฟุ้งขึ้นมา บางทีจิตก็ใหญ่ขึ้น ใสขึ้น เบาลงกว่าเดิม สว่างแบบราวกับเป็นดวงอาทิตย์
เห็นแล้วๆ เล่าๆ ซ้ำๆ จนกระทั่งการเห็นนั้น ทำให้เกิดข้อสรุปที่กลางใจเราจริงๆ รู้สึกขึ้นมาจริงๆ ว่า สภาวะจิตไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา เป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าทำสมาธิมาถูกทางที่จะเบา มันก็เบา ถ้าเหตุของความเบานั้นหายไป มันลดลง มันก็กลายเป็นความหนัก

คือพอเห็นจนชินนี่ จะไม่มีความยินดี แล้วก็ไม่มีความยินร้าย มีแต่ความพอใจที่ได้เห็นความจริงของจิต แล้วก็ไม่ยึดว่าจิตเป็นเรา ไม่ยึดว่าจิตเป็นสมบัติของเรา ไม่ว่าจะจิตนั้นจะอยู่ในรูปของสมาธิ หรืออยู่ในรูปของความฟุ้งซ่านก็ตาม

อย่างพอต่อไปเรานั่งสมาธิในความมืด แล้วเกิดความรู้สึกว่ารอบด้านยังสว่างไสวอยู่ ราวกับมีการเปิดไฟไว้ แทนที่จะมีความกระหยิ่มยิ้มย่อง หรือมีความยินดีปรีดาว่าเราทำได้อีกแล้ว เรามีสติ เห็นว่าจิตของเราเข้าจุดแล้ว มาถึงจุดนี้คืออะไร เหตุนี่ มีความพร้อมให้จิตใสใจเบา ก็เกิดสมาธิขึ้นมาเป็นธรรมดา
พอเราดูต่อไปว่า เออนี่ เหมือนเห็นอะไรตรงหน้าได้ อยากเห็นก็เห็นไป แต่ไม่ได้พยายามที่จะเห็นให้ได้ ถ้าจะเห็น เห็นไป ไม่เป็นไร ดี เรายิ่งได้รู้ด้วยว่าใจของเรา ใสเบามาถึงขนาดนี้แล้ว กระจ่างมาถึงขนาดนี้แล้ว แต่พอดูๆ ไปว่า ที่เห็น ที่สามารถรู้อะไรนอกเปลือกตาได้ มันตั้งอยู่ได้นานแค่ไหน ตอนที่จะเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปเป็นเห็นทะลุไปยิ่งกว่านั้นอีก เห็นทะลุบ้าน เห็นทะลุฝาผนังออกไป เห็นเมือง เห็นท้องฟ้า เห็นเองนะ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจนะ หรือว่ามันกลับขุ่น มองไม่เห็นอะไรเลย นี่ก็คือสภาวะของจิต

ถ้ายิ่งเห็นมากขึ้นๆ จนกระทั่งเห็นแต่จิตที่ใส ใจที่มันเบา ราวกับว่าอยู่กลางจักรวาล นี่ก็คือลักษณะของจิต ที่แสดงความไม่เที่ยงในขาขึ้น เป็นอนิจจังขาขึ้น เราก็รู้ไปว่า นี่สภาวะของจิตเรานี่นะ กำลังแสดงความไม่เที่ยงในทางขึ้น เป็นอนิจจังขาขึ้น

แต่ถ้าหากว่าจิตนั้นคงที่อยู่เป็นชั่วโมงๆ ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่มีอะไรให้ดูนะ ก็ดูไปว่านี่อยู่ตั้งชั่วโมงหนึ่ง ก่อนที่มันจะค่อยๆ เสื่อมลงมา ค่อยๆ มีฝ้าหมอก ค่อยๆ มีภาวะความไม่รู้ไม่เห็น ไม่เห็นว่ามีอะไรอยู่ตรงหน้า มีแต่ความรู้สึกขุ่นๆ มัวๆ ขึ้นมาแทน นี่ก็คืออนิจจังขาลง

เราดูอยู่โดยความเป็นอย่างนี้ จะไม่มีทางหลงทางเลย นับวันจะยิ่งฉลาดขึ้นว่า จิตไม่ใช่เราจริงๆ ด้วย จิตเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถูกปรุงแต่งขึ้นมาให้ใสเบา มันก็ใสเบา แล้วพอเหตุของความใสเบาหายไป ก็กลายเป็นความขุ่น ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน ที่มีหน้าตาของใครที่อยู่ในจิตแบบนั้นๆ หรือว่าจิตหนึ่งๆ เลย

ยิ่งทำไปมากขึ้นเท่าไหร่ ใจคุณจะยิ่งใส แล้วก็เบา แล้วก็มีความสว่างอีกแบบหนึ่งปรากฎขึ้นมา ไม่ใช่ความสว่างจากการได้ถึงสมาธิ แต่เป็นความสว่าง อันเกิดจากการที่มีสติ แล้วก็มีพุทธิปัญญาผ่องแผ้วสว่างประกอบจิต

ความเป็นพุทธิปัญญานี่นะ จะมีลักษณะของความรู้ มีลักษณะของความตื่นขึ้นมา ตื่นขึ้นมาแบบปราศจากหน้าตา ตื่นขึ้นมาแบบรู้ว่า นี่ไม่ใช่เรา เป็นความวางเฉยในแบบที่ไม่ใช่ดูดาย ไม่ใช่แบบที่เฉยชา แต่เป็นความวางเฉยในแบบที่มีความตื่น มีความเบิกบาน มีความสุขอีกแบบหนึ่ง ที่มันเกินกว่าที่จะมีอะไรมาเป็นรางวัลแทนได้นะครับ เราจะรู้ว่าการทำความเข้าใจอย่างเป็นสัมมาทิฏฐิไว้แม่นๆ ตั้งแต่ต้นทาง มีคุณค่ามหาศาลแค่ไหน ก็เมื่อมันผลิดอกออกผลนะครับ จิตนี่เข้ามารู้ตัวมากขึ้นทุกทีว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อัตตา อัตตาเป็นแค่อุปาทานชนิดหนึ่ง

ของจริงนี่คือ ผลที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยแบบหนึ่งๆ แล้วผลนั้นนี่ มันแปรปรวน แตกต่างไปได้เรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัยที่เข้ามาใหม่ ไม่มีหยุด ไม่มีหย่อนนะครับ!
_______________

คำถามเต็ม : ปกติก็สวดมนต์ นั่งสมาธิอยู่ทุกวัน วันละนิดละหน่อย แต่ไม่นานมานี้เวลาปิดไฟนอนและหลับตา ก็ยังเหมือนเราเห็นภาพตรงหน้าอยู่ จนไม่แน่ใจว่าลืมตาอยู่หรือเปล่า จึงเอามือมาจับที่ตาก็พบว่าหลับอยู่ แต่ก็ยังคงเหมือนเรามองเห็นภาพข้างหน้าอยู่ เห็นแบบมองในที่มืด สภาวะแบบนี้เรียกว่าอะไรคะ เพิ่งเป็นได้สองสามครั้งค่ะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำไมยิ่งทำสมาธิยิ่งขี้โมโห?
วันที่ 4 กรกฎาคม 2563

ถอดความ : เอ้

รับชมคลิป :  https://www.youtube.com/watch?v=vJR0NeOlOIo


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น