วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราปฏิบัติธรรมในแต่ละวัน มากพอแล้ว?


ดังตฤณ :  ถามตัวเองว่าก่อนนอนมันฟุ้งซ่านหรือว่าสงบ ก่อนจะเอนตัวลงนอน แล้วในขณะที่เราตื่นขึ้นมา เราตื่นขึ้นมาพร้อมกับความรู้สึกสดชื่นมากพอที่จะรู้สึกเข้ามาในกายใจเป็นอัตโนมัติรึเปล่า

คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้นะครับ ตื่นขึ้นมาอย่างสดชื่นแล้วก็มีความเป็นอัตโนมัติที่จะเข้ามารู้ในขอบเขตของกายของใจ เห็นมั้ยอันนี้ผมไม่พูดถึงเลยนะว่า คุณจะต้องนั่งสมาธิได้กี่ชั่วโมง เดินจงกรมไปกี่รอบกี่พันกี่หมื่นรอบนะครับ ผมพูดถึงข้อสังเกตว่าสติของเราเข้ามาอยู่ในกายในใจเป็นอัตโนมัติได้แค่ไหน ตัวนี้ที่มันเป็นมาตรวัดที่สำคัญที่สุด

คนส่วนใหญ่พอไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าให้มุ่งหมายให้เอาตรงนี้เนี่ยนะ ก็ไปกะเกณฑ์เรื่องจำนวนชั่วโมง หรือว่าไปกะเกณฑ์ในเรื่องของว่า คนโน้นเขาทำได้แค่นี้ เราทำได้แค่ไหน เราทำได้ประมาณนี้ คนอื่นเขาทำได้ยิ่งกว่ารึเปล่า เนี่ยไปเทียบเขาเทียบเรา เสร็จแล้วมันก็ไม่ได้คำตอบที่ถูกต้องนะครับ

คำตอบที่ถูกต้องนะครับจำไว้เลย ง่ายๆให้สังเกตแค่นี้ก่อน ก่อนนอนสงบหรือฟุ้งซ่าน ถ้ามันมีความสงบ ถ้ามันมีความรู้สึกว่าพร้อมจะนอนได้ในแบบที่ ถึงแม้หัวจะปั่นป่วนมีความเคร่งเครียดอะไร มันก็เป็นความปั่นป่วนแบบเบาบาง ไม่ใช่ว่าปั่นป่วนแบบหนักยุ่งฟุ้งมีตัวตนพรึ่บไปหมดเลย

แต่ถ้าหากว่า คุณมีความฟุ้งซ่านแค่เบาบาง แล้วก็ตัวตนเบาบางเนี่ย ส่วนใหญ่แล้วคุณจะหลับสบาย แล้วพอตื่นขึ้นมามีความสดชื่นเป็นอัตโนมัติที่จะเข้ามารู้กายรู้ใจได้ อย่างนี้มันเป็นเครื่องวัดนะว่าคุณปฏิบัติมามากพอแล้ว เพราะอะไร เพราะว่าหลังจากที่ตื่นนอนขึ้นมาด้วยความสดชื่นมากพอที่จะรู้เข้ามาในกายใจเป็นอัตโนมัติ คุณจะพบว่าตัวเองมีกำลังใจ มีแก่ใจ มีฉันทะ มีความพึงพอใจที่จะรู้ต่อ

คนส่วนใหญ่นะครับตื่นขึ้นมามัวๆมั่วๆ แล้วก็รู้สึกว่าไม่มีแก่จิตแก่ใจไม่มีความสดชื่นอะไรเท่าไหร่ มันก็จะมีความเคยชินต่อยอดไปเรื่อยๆนะครับว่า ฉันขอฟุ้งของฉันอย่างนี้แหละ มันไม่มีแก่ใจเข้ามาดูกายใจ

พอไม่มีแก่ใจเข้ามาดูกายใจนะ ใจมันจะสร้างความเคยชินขึ้นมาว่า ปล่อยไปเถอะ อยากคิดอะไรก็คิด นี่ตัวนี้นะต่อให้คุณไปควบคุมตัวเองไปนั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมง หรือไปเดินจงกรมสักพันรอบ มันก็เอาชนะความเคยชินระหว่างวันแบบนี้แบบไม่ได้ ความเคยชินที่จะปล่อยใจ

ทีนี้พอเมื่อไหร่ที่คุณรู้สึกว่า เออเริ่มเป็น ลืมตาอ้าปากได้ในการเจริญสติเนี่ย คุณจะพบว่าคุณจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป จะสังเกตลมหายใจก็ตาม จะอิริยาบถปัจจุบันก็ตาม จะความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ก็ตาม จะความฟุ้งซ่านหนาแน่นบ้าง เบาบางบ้างก็ตามเนี่ย คุณจะไม่เกี่ยง คุณจะเห็นไปเรื่อยๆในระหว่างวันอย่างมีความพึงพอใจที่จะเห็น ความพึงพอใจที่จะเห็นไปเรื่อยๆแบบไม่เกี่ยงภาวะ ไม่เกี่ยงอิริยาบถ ไม่เกี่ยงสถานที่นั่นแหละ ตัวนี้ก็เป็นอีกจุดสังเกตนึงที่บอกคุณได้ว่า คุณทำมาเพียงพอสมแก่อัตภาพ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเพศฆราวาส หรือบรรพชิตก็ตามนะครับ

-----------------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม                         เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราปฏิบัติธรรมในแต่ละวัน มากพอแล้ว?                   
ระยะเวลาคลิป           ๔.๒๗ นาที
รับชมทางยูทูบ                https://www.youtube.com/watch?v=jp4523HH_7E&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=9&t=0s


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น