ดังตฤณ : การเจริญสติกับการคิดเขียน
หรือว่าการคิดงานเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันโดยตัวเองอยู่แล้วนะครับ
เพราะว่าการเจริญสติจริงๆแล้ว .. ผมให้ดูง่ายๆนะ (ขึ้นแอนิเมชั่นฝึกรู้ลมหายใจ)
เวลาที่เราเห็นภาวะทางกายทางใจ
ที่จะเรียกว่าเป็นการเจริญสติได้จริงๆมันต้องเห็นชัด แล้วก็เห็นอยู่อย่างนั้น
อย่างเช่นถ้าเริ่มขึ้นมา เราพิจารณาลมหายใจว่า เดี๋ยวเข้าแล้วก็ต้องออกเป็นธรรมดา
เดี๋ยวยาวแล้วก็ต้องสั้น
อันนี้ถ้าหากว่าเราไม่เห็นต่อเนื่อง
โอกาสที่สติมันจะเจริญขึ้น อยู่บนเส้นทางสู่การบรรลุมรรคผลมันจะต่ำมาก หรือไม่เกิดเลย
เป็นไปไม่ได้เลยนะครับ
แต่ขณะที่ถ้าเรามาคิดเขียน
คุณดูเนี่ยเวลาคุณอ่าน เอาแค่อ่านนะยังไม่ต้องเขียน
เห็นมั้ยภาพในใจมันต่างกันคนละโลกเลยนะครับ แล้วยิ่งเวลาที่คุณต้องคิดจินตนาการเขียนโน่นเขียนนี่
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิยาย หรือว่าเรื่องเชิงวิชาการก็ตาม
ภาพในหัวของคุณมันจะต้องออกไปจากภาวะทางกายทางใจ
ยกเว้นคุณมีสติที่ตั้งมั่นอยู่ในกายใจเป็นอัตโนมัติ
อย่างบางคนฝึกหายใจได้เก่ง
จนกระทั่งมันเกิดความชำนาญ เวลาหายใจแล้วรู้ขึ้นมาเอง แล้วเสร็จแล้วก็ไปทำกิจอย่างอื่น
แม้กระทั่งการเขียน การพิมพ์อะไรต่างๆ ภาพของลมหายใจมันก็ยังอยู่เป็นแบคกราวด์ (background) มันไม่ได้หายไปร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกับคนธรรมดาทั่วไป อันนี้ก็กลายเป็นพวกทำงานไปด้วยแล้วรู้สึกถึงความไม่เที่ยงในกายใจไปได้ด้วย
แต่สำหรับคนที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญชำนาญพอ
จิตยังไม่มีความสามารถที่จะเกาะอยู่กับภาวะทางกายทางใจได้เป็นอัตโนมัติ
ก็ต้องทำงานในแบบที่เขาทำๆกันนั่นแหละ คือคิดเต็มที่นะ คิดอย่างมีสมาธิ
อย่างเวลาคุณคิดพล็อต(plot) คุณสังเกตตัวเองว่าคุณคิดพล็อตได้อย่างมีระเบียบมั้ย
ถ้าหากคิดได้อย่างมีระเบียบอยู่ตัวนะครับ มันจะเหมือนกับใช้ความคิดนิดเดียว
เล็งเลยว่าภาพใหญ่จะให้เป็นภาพอะไร แล้วก็มีภาพย่อยๆที่จะทยอยดิ่งเข้าสู่ภาพใหญ่ เดินทางเข้าสู่ภาพใหญ่เนี่ย
จะทำยังไงมันเห็นเป็นบล็อกๆ(block)เลย
แต่ถ้าหากว่าวิธีการทำงานของคุณยังเป็นแบบจับฉ่าย
ยังเป็นแบบเขาเรียกว่าเหมือนกับเส้นสปาเก็ตตี้ ที่พันกันไปพันกันมาแบบมั่วๆเนี่ยนะ
อย่างนี้จิตจะฟุ้งซ่าน คือพอเวลาคิดพล็อตขึ้นมา หรือเวลาตั้งใจทำงานอื่นใดก็ตาม
มันจะนึกไม่ออก หรือนึกออกไม่ชัดว่าเป้าหมายที่ต้องการให้ไปถึงเนี่ย
หน้าตาเป็นยังไง เพราะฉะนั้นลำดับที่จะก้าวเป็นสเต็ปๆไปทีละก้าว ทีละก้าว มันก็ไม่ชัดเจนตามไปด้วย
การที่จิตยังมีความไม่ชัดเจน
แล้วต้องหมกมุ่นครุ่นคิด อยู่กับงานที่ทำ มันจะทำให้เกิดความปั่นป่วน
เกิดความรู้สึกฟุ้งซ่าน เกิดความรู้สึกว่าไม่สามารถเจริญสติได้
ตรงกันข้ามกับคนที่ทำงานแบบคิดนิดเดียว
มีความเคยชินมากพอที่จะเห็นเลยว่าจะเอาอะไร แล้วจะทำอย่างไรทีละก้าว ทีละก้าว ไปถึงสิ่งที่อยากเอานั้นนะครับ
ตรงนี้เนี่ยจะคิดแค่นิดเดียว ใช้เวลาสองสามวินาที มันอยู่ในหัวหมดเลย
พวกนี้จะเจริญสติในระหว่างการทำงานได้เป็นพักๆ คือไม่ใช่ตลอดเวลานะครับ
มันเป็นไปไม่ได้
อย่างที่ผมยกตัวอย่างให้ดูเนี่ย
การเจริญสติเราเห็นกายใจ เนี่ยเห็นอย่างนี้ (ขึ้นแอนิเมชั่นฝึกรู้ลมหายใจ)
มันจะไปเห็นภาพงานพร้อมกันไปด้วยได้อย่างไร แต่มันเป็นไปได้ที่ถ้าเราทำจนชำนาญ
แล้วภาพสภาวะทางกายทางใจ มันจะอยู่แบบเป็นแบล็คกราวน์ (background) ครึ่งๆ หรืออยู่สัก ๒๕ เปอร์เซ็นต์
เสร็จแล้วก็มีความสามารถจะคิดงานคิดการได้ เพราะว่าเราใช้ความคิดในงานแค่นิดเดียว
จิตของเราวิธีคิดของเราเป็นเส้นตรงอยู่แล้ว อย่างนี้ถึงจะมีสิทธิ์
เพราะฉะนั้นมาพูดรวบรัดเลยว่า
ทำยังไงวิธีการทำงานของคุณถึงจะเป็นไปในแบบคิดนิดเดียว ไม่คิดมากไม่วกวน การฝึกคิดสำคัญที่สุดคือการเล็งที่เป้าหมาย
คนส่วนใหญ่ไม่ว่าสาขาอาชีพไหนก็ตามไม่ค่อยแม่นนะ
ยกเว้นแต่คนที่ปฏิบัติแบบที่เป็นเส้นทางประจำ อย่างพวกหมอหรือว่าพวกช่างเครื่อง
หรือว่าพวกที่ไม่ต้องใช้ความคิดทั้งหลาย มันเป็นออโต้ไพลอต (autopilot) มันมีจุดประสงค์เลย
สมมติว่าหมอจะผ่าตัดรู้เลยว่าขั้นตอนมันมีอะไรบ้าง
มันต้องเป๊ะ มันไม่ใช่มานึกเอาว่า เอ๊ะจะทำยังไงดี
เอ๊ะควรจะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาอะไรยังไง ไม่ใช่นะครับ คือมันต้องมีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน
คือคิดวางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว อันนี้ผมยกตัวอย่างว่า คนที่ทำงานแบบแน่นอน มีเส้นทางแน่นอน
เขาจะคิดแบบเล็งเป้าหมาย แล้วก็ไปสู่เป้าหมายนั้นตามลำดับ เนี่ยมันจะคิดนิดเดียว
แต่ถ้าคิดเยอะ
อย่างคุณบอกว่ากำลังคิดพล็อตใหม่ แล้วยังคิดไม่ออก ทำยังไงจะให้มันสนุก
ประเภทที่มาคิดเอาวันต่อวันเนี่ย แบบไม่มีแผนไว้ล่วงหน้าเนี่ย
อย่างนี้แหละที่จะฟุ้งซ่าน
ทีนี้เอาใหม่มั้ย
อย่างตัวโจทย์เป็นนักเขียน เราจดช็อตโน๊ตไว้ จดไว้เยอะๆเลย
เวลาที่อยู่ระหว่างวันไม่ว่านึกอะไรได้ มีไอเดียอะไรดีๆ มีภาพอะไรเด็ดๆขึ้นมาในหัว
จดๆไว้สั้นๆ เสร็จแล้วเอาตัวนั้นแหละเป็นเป้าหมาย
เวลาจะลงมือทำงานจริงๆค่อยมาแตกเป็นรายละเอียด
แล้วถ้าคุณมีวิธีการทำงานแบบนี้
แบบที่ชัดเจนนะ คือไม่มาคิด ไม่ได้มานั่งเค้นความคิดเอาตอนแปดโมงเช้า
หรือว่าเก้าโมงเช้าค่อยมาเค้น แต่ว่าอยู่ระหว่างวันเนี่ย มันผุดความคิดอะไรขึ้นมาคุณจดทันที
เสร็จแล้วมีเวลาที่แน่นอนที่จะมาแตกออกเป็นรายละเอียด
อย่างอันนี้ผมพูดถึงการทำงานผมเองเลยนะ
ไม่เคยหรอกมาคิดเอา .. แต่ละเช้าเนี่ยไม่มานั่งคิดนะว่าวันนี้จะเขียนเรื่องอะไรดี
คือมีไอเดียที่ผุดขึ้นระหว่างวันอยู่แล้ว แล้วจดไว้อยู่แล้วว่าจะเขียนพรุ่งนี้ หรือมะรืนนี้
หรืออาทิตย์หน้า เสร็จแล้วพอถึงเวลาก็ค่อยเอาช็อตโน๊ตที่จดไว้มาเป็นเป้าหมายว่า
เราจะแตกรายละเอียด ช็อตโน๊ตตรงนั้นออกมาเป็นโครงสร้าง เป็นเรื่องเป็นบทความได้ยังไง
อันนี้มันจะใช้ความคิดนิดเดียว อย่างบางวันถ้ามีข้อย่อยที่มันชัดเจนอยู่ในหัวนะครับ
แตกออกมาสองสามข้อย่อยเนี่ย มันมาสามารถมาไล่เรียงได้แบบง่ายๆเลย เขียนพรวดๆๆ
เหมือนกันไม่ว่าคุณจะทำงานเกี่ยวกับฟิคชั่น
(fiction) หรือนอนฟิคชั่น (non fiction)ก็ตามนะครับ
เป็นเรื่องแต่งหรือว่าเรื่องวิชาการ ถ้าในหัวของคุณไม่มามัวสับสนว่าจะเขียนอะไรดี
แต่มีช็อตโน๊ตไว้แล้วเป็นเป้าหมายหลัก แล้วก็มาฝึกนิสัยในการแตกรายละเอียด
อย่างนี้คุณจะมีความสามารถที่จะเขียนอย่างเป็นสมาธิได้ในเวลารวดเร็ว
แล้วก็พอจิตเริ่มเป็นสมาธิกับการทำงาน
เราก็สามารถมาต่อยอดเป็นการเห็นว่า อิริยาบถที่มันเป็นปัจจุบันในการทำงานเสร็จ
หรือระหว่างการทำงานก็ตาม มันอยู่ในอิริยาบถที่นิ่งหลังตรง หรือว่าหลังงอ
เกร็งหรือว่าผ่อนคลาย สบายหรือว่าอึดอัด แล้วลมหายใจที่เข้าออก ณ
ขณะอิริยาบถนั้นๆเนี่ย มันยาวหรือว่ามันสั้น
นี่แหละตัวนี้ที่คุณจะเข้าสู่การเจริญสติได้ทั้งๆที่กำลังทำงานอยู่
----------------------------------------------
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์ ๒๕
กรกฎาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
คำถาม รบกวนขอคำแนะนำเรื่องการเจริญสติที่เหมาะสมกับนักเขียนครับ?
ช่วงหลังๆมานี้รู้สึกเหมือนความคิดผุดขึ้นมาในหัวถี่มาก
จนทำให้ลืมการเจริญสติอยู่บ่อยๆ เพราะต้องคิดพล็อตทั้งที่ใช้
เขียนงานแทบทั้งวัน
ระยะเวลาคลิป ๑๐.๔๗ นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=oMzfPt_5xgQ&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=10&t=0s
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น