วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน บุญกรรมใดช่วยให้บรรลุมรรคผลในชาตินี้


ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์ คืนนี้เราพูดเรื่องที่หลายคนถามไถ่กันมาเยอะเลยนะ

คือจะต้องทำบุญหรือว่าทำกรรมแบบไหน ถึงจะมีสิทธิ์บรรลุมรรคผลในชาติปัจจุบัน ในชาตินี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า

ขอบอกให้ทราบตั้งแต่เริ่มรายการเลยนะว่า มันไม่มีคำตอบสั้นๆ ไม่มีอะไรง่ายๆ ถ้าเราจะศึกษากันจริงๆ ว่าบุญกรรมแบบไหนนะ ที่จะทำให้ได้บรรลุมรรคผลในชาติปัจจุบัน ในอัตภาพนี้ ใช้ร่างกายนี้ เหมือนกับที่ พระอรหันต์ท่านเคยพูดไว้ ร่างกายนี้ อัตภาพนี้ จะเป็นอัตภาพสุดท้ายของเธอ ถ้าหาก ...
เอาล่ะ ตรง จุด จุด จุด นี่ พูดให้มันสั้น พูดให้ฟังดูง่าย แต่เดี๋ยวอาจขยายความยาวนิดหนึ่ง

เริ่มต้นขึ้นมา เราต้องเห็นก่อน มีมุมมองว่า ที่จะปฏิบัติธรรม หรือว่าที่จะทำกรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง จนบรรลุมรรคผลได้ในชาตินี้นี่ ในใจของคน มันมีอยู่ 2 โหมด (mode) โหมดความเชื่อ กับโหมดความเข้าใจ

โหมดความเชื่อนี่ มันง่าย แล้วคนส่วนใหญ่ชอบ แล้วก็อย่างเช่น เชื่อว่าถ้าไปปฏิบัติที่นั่นที่นี่ แล้วจะมีสิทธิ์บรรลุมรรคผล หรือเชื่อว่าไปพบใครคนใดคนหนึ่ง แล้วเขาจะมีอำนาจ มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากพอ ที่จะดลบันดาลให้คนไปพบนี่ได้เป็นพระอรหันต์ ได้หมดกิเลส นี่เรียกว่าความเชื่อ

ส่วนความเข้าใจ อันนี้ไม่ใช่ว่าเราจะไปที่ใดที่หนึ่ง หรือจะไปพบใครแล้วถึงจะมีสิทธิ์ได้มรรคผลขึ้นมา แต่ต้องมีการศึกษา มีการรับรู้ว่า กายใจนี้เป็นที่ตั้ง เป็นอุปกรณ์ เป็นทางเดียวที่เราจะอาศัยใช้เป็นเครื่องมือ ในการบรรลุมรรคผลให้ได้ในชาติปัจจุบัน

นี่คือข้อแตกต่างอย่างยิ่งเลย
ความเชื่อ ไม่ต้องเข้าใจอะไรเลย ไม่ต้องศึกษาอะไรเลยนะ แค่ตั้งความเชื่อไว้ว่าไปที่ไหน หรือไปเจอใคร ก็มีสิทธิ์บรรลุมรรคผลแล้ว ซึ่งปัจจุบันนี่จะมีกันเยอะ ผมก็ไม่อยากจะไปพูดเหมือนกับทับถมใคร หรือว่าทำให้ใครเสียหายนะ ก็สุดแล้วแต่จะเชื่อกันไป

แต่ความเข้าใจนี่ มันยาก และน้อยคนที่พยายาม ที่จะทำความเข้าใจ เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นคนประสบความสำเร็จกันค่อนข้างจะน้อย

เหมือนอย่างเอาง่ายๆ นะ ถ้าตั้งความเชื่อไว้ว่า เกิดชาติหน้าจะได้พบพระพุทธเจ้า แล้วก็ได้บรรลุมรรคผล ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระองค์ง่ายๆ เราก็จะทำกรรมแบบใดแบบหนึ่ง เช่น อธิษฐานขอให้ไปพบพระพุทธเจ้า ได้บรรลุธรรม ต่อหน้าพระองค์ หรือศึกษาแนวทางอะไรบางอย่างตามความเชื่อสืบๆ กันมาว่า ถ้าศึกษาแบบนั้นแล้ว ทำอะไรยากๆ แบบนั้นแล้วนี่  ต่อไปก็จะเป็นผู้มีปัญญา แล้วก็ได้พบพระพุทธเจ้า บรรลุธรรมต่อเบื้องพระพักตร์ของพระองค์ง่ายๆ เช่นกัน

อันนี้คือความเชื่อ ซึ่งถ้าพิจารณาง่ายๆ นะ ถ้าหากว่าศึกษาดูในประวัติ ประวัติศาสตร์ทางพุทธศาสนา บอกไว้บันทึกไว้ในพระไตรปิฎกนะ แม้แต่พระราหุล ซึ่งเป็นโอรสของพระพุทธเจ้า ท่านน่าจะมีพระทัย มีพระหฤทัยแก่กล้าที่จะโปรดพระโอรสของพระองค์เองให้บรรลุธรรมก่อนใคร น่าจะแบบเสกปิ๊งเดียว แล้วพระราหุลได้เป็นพระอรหันต์เลย ถ้าพระองค์ทำได้

พระพุทธเจ้านี่ คือมีบุญมากที่สุดในอนันตจักรวาลในชั่วเวลาหนึ่งๆ แล้ว ถ้าหากว่าพระองค์ทำไม่ได้ แปลว่าไม่มีใคร ที่จะมีสิทธิ์ มีอำนาจ มีอภิสิทธิ์ ขนาดที่จะดลบันดาลให้ใครเป็นพระอรหันต์ได้ง่ายๆ นะ ตามอำเภอใจ

ทีนี้เราลองมองว่า แม้แต่พระราหุลนี่ ท่านก็ต้องฝึกสติปัฏฐาน 4 คือเจริญสติเอา แล้วแถมนะ พระพุทธเจ้ายังเหมือนกับไหว้วาน ให้พระสารีบุตรเป็นพี่เลี้ยงด้วย คือเหมือนกับให้สอนน่ะ ว่าวันนี้จะให้ทำอะไร เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งบันทึกไว้ พระสารีบุตรให้ดูอย่างเดียว ดูเหมือนจะ ผมจำไม่ถนัดนะ ถ้าผิดขออภัย ลองไปหาเอาเอง เหมือนกับพระสารีบุตรสอนไว้ก่อนว่า ให้ดูใจ มันง่ายดี ดูใจอย่างเดียว พระสารีบุตรชำนาญมาก เรื่องจิตตานุปัสสนา

เสร็จแล้วพอพระราหุลแยกจากพระสารีบุตร มาพบพระพุทธเจ้า คือก็เหมือนกับกราบทูลว่า เมื่อกี้พระสารีบุตรสอนมาให้ดูใจอย่างเดียว พระพุทธเจ้าบอก ดูลมหายใจด้วย ดูเวทนาด้วย ดูให้ครบ ซึ่งอันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ในสมัยพุทธกาลนะ บุคคลประเภทที่มีบุญสูงสุด ได้พบพระพุทธเจ้า ได้เกิดเป็นพระโอรสของพระองค์ด้วย ก่อนที่พระองค์จะผนวช ยังไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมง่ายๆ นะ

คือคนที่บรรลุธรรมได้ง่ายๆ ต่อเบื้องพระพักตร์น่ะมี แต่นั่นเขาสะสมเหตุ สะสมปัจจัยมา จนกระทั่งชาติปัจจุบันนี่ มีโครงสร้างจิตใจ มีโครงสร้างความรู้สึกนึกคิดหรือสติปัญญา พร้อมพอที่จะฟังธรรมขั้นสูงในทันทีทันใดที่ได้พบพระพุทธเจ้า อย่างที่มีสำนวนว่า มีธุลีในดวงตาน้อย แค่ฟังธรรมไม่เท่าไหร่ ก็สามารถจะเข้ามามีสติ รู้สึกถึงความเป็นกายใจนี้ว่า มันของหลอก มันแค่เหยื่อล่อให้ยึด ไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เหมือนกับอยู่ในหนังเรื่องเดอะ เมทริกซ์ (The Matrix) รู้ตัวว่าตัวเองเป็นแค่เหมือนกับภาพมายา หรือว่าเป็นโฮโลแกรม (Hologram) เป็นแค่ภาพสามมิติ ที่เอาไว้หลอกให้ยึด หลอกให้หลงว่านี่เป็นตัวเป็นตน พอรู้ตัวว่านี่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเราจริงๆ ก็ปล่อย ก็หลุดออกจากการยึดติด ก็เป็นอิสระไป

ทำนองเดียวกัน คือคนที่จะบรรลุธรรมได้เร็ว หรือว่ามีสิทธิ์บรรลุธรรมในชาติปัจจุบัน เป็นผู้มีธุลีในดวงตาน้อย แล้วผู้มีธุลีในดวงตาน้อย จะไม่อาศัยความเชื่อง่ายๆ ว่า ไปที่นั่นที่นี่ ไปแค่เจอใครแล้วจะได้บรรลุมรรคผล

แล้วก็จะไม่ใช่ผู้ที่อธิษฐานทุกวันว่า เกิดชาติหน้าขอให้พบพระพุทธศาสนา ขอให้พบพระพุทธเจ้า ขอให้ได้บรรลุมรรคผลง่ายๆ

เพราะคนที่อธิษฐานแบบนี้ เกิดใหม่ก็มักจะเกิดในที่ๆ หล่อหลอมความเชื่อมา เพื่อที่จะไปอธิษฐานแบบนี้อีก เกิดชาติหน้าขอให้ได้พบพระศรีอาริย์ เสร็จแล้วพอในชาติของพระศรีอาริย์ มีคนร่ำลืออีกว่า มีพระทีปังกร มีพระวิปัสสี มีพระกัสสปะ อะไรแบบนี้ในอนาคตกาล ก็จะไป คือมีกำลังใจอ่อนน่ะ ไม่อยากบำเพ็ญเพียรในชาตินั้น แล้วก็อธิษฐานอีก ขอให้ไปพบพระวิปัสสี ขอให้ไปพบพระทีปังกรอะไรแบบนี้

ซึ่งมันก็วนไปเวียนมา ไม่ได้บรรลุสักทีนะ คนส่วนใหญ่ที่อธิษฐานไปขอไปเกิดในพุทธกาลหน้า แล้วขอให้ได้บรรลุมรรคผลในชาตินั้น ส่วนใหญ่มีกำลังใจอ่อน แล้วไม่ค่อยมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้า

หรือถึงแม้พบพระพุทธเจ้า ก็จะออกแนว ไม่ค่อยอยากบำเพ็ญเพียรเพื่อหลุดพ้นในชาตินั้น แต่จะออกแนวพบพระพุทธเจ้า แล้วทำบุญขออธิษฐานอย่างนั้นอย่างนี้ จะมีใจ มีแรงผลักดันไปถึงที่สุดทุกข์ในชาติต่อๆ ไป จะไม่มีแก่ใจที่จะบำเพ็ญเพียรในชาตินั้น

ฉะนั้น เรามาทำความเข้าใจว่า อะไร กรรมแบบไหน เป็นกลจักรสำคัญที่สุดที่ทำให้เรามีสิทธิ์บรรลุมรรคผลในชาติปัจจุบัน

อันดับแรกนะ เรื่องความเชื่อ ต้องสำรวจให้ดีว่า ณ ขณะนี้เรามีความเชื่อ หรือว่ามีความเข้าใจกันแน่ เกี่ยวกับเรื่องของการบรรลุมรรคผล ถ้าไม่สำรวจ ถ้าไม่เอะใจ บางทีมันไหลไปเรื่อยๆ จนถึงวันใกล้ตายเลยนะ กว่าจะรู้ตัวว่าที่ผ่านมา มีแต่ความเชื่อ ไม่มีความเข้าใจเลย

อย่างเชื่อว่าตัวเองไม่มีสิทธิ์บรรลุมรรคผล คือพอเชื่อไปแบบนี้ จะด้วยเพราะว่าถูกใครกล่อมมา หรือว่าเชื่อสืบๆ ตามใครมาก็ตาม จะดูน่าเชื่อถือขนาดไหนก็ตาม หรือว่าทึกทักเอาเองก็ตาม ว่าตัวเองไม่มีสิทธิ์บรรลุมรรคผล ตัวเองมีกิเลสเกินไป ตัวเองไม่มีปัญญามากพอ เกิดในยุคนี้หมดสิทธิ์ที่จะบรรลุมรรคผล
ถ้าเชื่ออย่างนี้ คือคงไม่จำเป็นต้องพูดกันต่อนะ คือไม่มีประโยชน์เลยนะ มันจะล็อค มันจะปิด ใจนี่จะปิดกั้นทันทีเลยนะว่า ไม่มีสิทธิ์ ฉะนั้นจะไม่มีความพยายามใดๆ เกิดขึ้น อย่างที่เขาเรียกว่าขาดศรัทธา

คำว่าขาดศรัทธา มีสองแบบนะ ขาดศรัทธาในพระพุทธเจ้า กับ ขาดศรัทธาในตัวเอง ถึงแม้ว่าเราจะมีศรัทธาแก่กล้าในพระพุทธองค์แค่ไหนก็ตาม แต่หากขาดศรัทธาในตัวเอง ไม่เชื่อว่าตัวเองจะบรรลุได้ จะไม่มีความพยายาม จะมีการเก็บเนื้อเก็บตัว แล้วก็อธิษฐานท่าเดียวเลยว่า เกิดชาติหน้าฉันใดขอให้ได้พบพระพุทธศาสนา แล้วก็ไปบรรลุมรรคผลเอาในพุทธกาลหน้า

นี่จะทำกรรมแบบนี้ซ้ำๆ แล้วก็ไปเผยแพร่ความเชื่อแบบเดียวกันนี้ ในครั้งต่อไปอีก เช่น บอกว่า ลูกอย่าพยายามเลย เพื่อนเอ๋ย อย่าพยายามให้มันเปล่าประโยชน์เลย ยุคนี้ไม่มีแล้วมรรคผล จะพูดแบบนี้ จะเชื่อแบบนี้ สืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ แล้วก็ไปตั้งเป็นแกงค์ เป็นขบวนการด้วยนะ เผยแพร่ความเชื่อแบบนี้

ทีนี้ ถ้าเชื่อว่า เชื่อตามพระพุทธเจ้านะ ไม่ใช่เชื่อเอาเองนะ เชื่อตามพระพุทธเจ้าจากหลักฐานที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน ไปค้นดูได้เลยในพระไตรปิฎกนะ ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า ใครก็ตามเจริญสติปัฏฐานอย่างที่พระองค์ประทานแนวทางไว้ อย่างช้าที่สุดเจ็ดปี เป็นพระอนาคามี ถ้าเร็วที่สุดนะ มีอินทรีย์แก่กล้า คือหมายถึงว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการ สั่งสมในเรื่องของการเจริญสติมาแล้วก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะมาเกิดครั้งนี้นี่ เร็วที่สุดเจ็ดวัน ถ้าทำตามที่พระองค์บอกนะ คือไม่ใช่อาศัยทางลัดว่าพบพระพุทธองค์ แล้วพระองค์ไปสะกิดด้วยเข็มแหลมๆ ให้ลูกโป่งแตกนะ

คือปฏิบัติเอาเองโดยไม่ต้องพบพระพุทธองค์นะ อย่างเร็วเจ็ดวัน ทำตามวิธีอย่างถูกต้อง เจ็ดวันอย่างต่อเนื่องนะ ไม่ใช่เจ็ดวันแบบว่า ทำวันแรก แล้วอีกทีวันที่เจ็ดนะ ทำอย่างต่อเนื่องเจ็ดวัน รับประกันว่ามีสิทธิ์ ไม่ว่าใครก็ตาม
ขอแค่ว่าไม่ไปทำอนันตริยกรรมไว้ คือไม่ฆ่าแม่ ไม่ฆ่าพ่อ ไม่ฆ่าพระอรหันต์นะครับ ไม่ทำสงฆ์แตกแยก แล้วก็ไม่ทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงขั้นห้อเลือด ห้าอย่างนี้ ถ้าไม่ได้ทำไป ไม่ได้ก่อกรรม คือกรรมอื่นๆ บาปอื่นๆ นี่ ไม่เป็นไร ยังมีสิทธิ์บรรลุมรรคผลได้ในชาติปัจจุบันนั้น ขอแค่พบแนวทาง วิธี คือการเจริญสติปัฏฐานที่ถูกต้อง แบบที่พระพุทธเจ้าประทานไว้

ถ้าตั้งความเชื่อไว้อย่างนี้ มันจะต่อยอดไปสู่ความเข้าใจในขั้นต่อมา เข้าใจว่าอะไร เข้าใจว่าการบรรลุธรรม คือการทิ้งไป ไม่ใช่การได้มา ลองสำรวจความเข้าใจของคุณเองตอนนี้เลย คุณเข้าใจว่าอะไร เข้าใจว่าการบรรลุมรรคผลนี่ คือการได้อะไรมาให้ตัวตน หรือว่าการทิ้งความสำคัญผิดว่ามีตัวตนออกไป ลองถามตัวเองตอนนี้เลย

ถ้าเข้าใจผิด เข้าใจไม่ถูก นี่คือกรรมในแบบที่จะทำให้หมดสิทธิ์ ได้มรรคผลในชาตินี้เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะว่าคนที่คิดว่า การได้มรรคผลคือการได้อะไรอย่างหนึ่งให้ตัวเอง มันคือการรักษาความเข้าใจผิดว่ามีตัวตนเอาไว้ พอเริ่มแบบนี้ปุ๊บ ไม่ว่าจะปฏิบัติไปอีกกี่ปี กี่เดือน จะปฏิบัติเพื่อที่จะยึดเอาตัวตนนี้ไว้ ไม่ใช่ทิ้งอุปาทานว่ามีตัวตนออกไป นี้คือความเข้าใจข้อแรกที่เราจะต้องทำความเข้าใจกัน

ความเข้าใจข้อที่สอง คือว่า กรรมอันเป็นบุญให้มีอภิสิทธิ์เหนือใคร กับ กรรมอันเป็นบุญให้มีสิทธิ์ ที่จะสว่างพร้อมรู้ กับเอาใจออกห่างพร้อมที่จะทิ้ง

ฟังใหม่นะ ฟังดีๆ คือคนโดยสัญชาติญาณนะ จะมีความเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าทำบุญไป เพื่อที่จะมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ดีกว่าคนอื่น เด่นกว่าคนอื่น คือเพราะว่า พอเราเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อเรื่องบุญบาปปุ๊บนี่ เราจะเล็งเลยว่า หนนี้ เป็นราชามหากษัตริย์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นนายอำเภอ เป็นแค่เศรษฐี เป็นชาวบ้านธรรมดา อะไรแบบนี้นี่ ด้วยบุญกรรมในแต่ละชั้น แต่ละวรรณะ มีวรรณะของบุญกรรม

พอเราไปผูกใจไว้ว่าเราทำบุญไปนี่ เพื่อความมีวรรณะ เพื่อการแบ่งชั้นวรรณะ ใจลึกๆ ที่มีสัญชาติญาณความเชื่อแบบนี้อยู่ ก็จะทำบุญด้วยอาการคาดหวังว่า บุญจะทำให้เรากลายเป็นอะไรอย่างหนึ่ง ที่เหนือกว่าคนอื่น ไม่น้อยหน้า ไม่ด้อยกว่าคนอื่น นี่เป็นความเข้าใจนะ ลักษณะความเข้าใจ เป็นความเข้าใจที่ผิดนะ

คือจริงๆ บุญ มีชั้นวรรณะจริง แล้วก็ให้ผลอย่างนั้นจริงๆ แต่ถ้าหากว่าเรากำลังมุ่งหวังมรรคผล แต่ไปยึดเอาบุญในแบบที่แบ่งชั้นวรรณะ ทำให้เราเหนือกว่าใคร ทำให้เราไม่ต้องน้อยหน้าใคร อย่างนี้เป็นทางผิดทางไปนิพพาน คือมันถูกทางที่จะไปสวรรค์ ถูกทางที่จะไปเป็นราชามหากษัตริย์ ไปเป็นจักรพรรดิ ไปเป็นนายกฯ ไปเป็นนายอำเภอ ไปเป็นโน่นนี่นั่น แต่ผิดทางไปนิพพาน

เพราะถ้าหากว่า เราจะทำความเข้าใจให้ถูกต้องว่า เราปฏิบัติ เราเจริญสติไปเพื่อที่จะทิ้งอุปาทาน บุญ อันเป็นเหตุให้เกิดการทิ้งอุปาทานนี่ ต้องเป็นบุญในแบบที่สว่าง พร้อมรู้เข้ามาในปัจจุบัน ไม่ใช่หวังไปในอนาคต แล้วก็เป็นบุญในแบบที่จะทำให้เกิดเอาใจออกห่าง ไม่ยึดติดกายใจนี้ ไม่ยึดติดในยศฐาบรรดาศักดิ์ หรือว่าลาภ ยศ สรรเสริญใดๆ

บุญแบบนั้นเป็นอย่างไร บุญแบบนั้น ขึ้นต้นเอาง่ายๆ เลย ลองสำรวจดูนะ นี่คือการสำรวจเข้ามาในความเข้าใจของคุณเอง ผ่านประสบการณ์ตรงที่มันเกิดขึ้น คุณเองเท่านั้นที่ตอบตัวเองได้ ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องให้ใครชี้นะ
เวลาทำบุญ คุณอธิษฐานอย่างไร อธิษฐานอยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ หรือว่าอธิษฐานว่า ขอให้บุญนี้ จงมีส่วนเป็นพลวปัจจัย เป็นกำลังหนุน ให้ใจของเรามีกำลังที่จะทิ้งอุปาทาน ที่จะสละความตระหนี่ที่จะสละความหวงแหน ต้นเหตุของทุกข์

เคยอธิษฐานแบบนี้ไหม ถ้าไม่เคยอธิษฐาน ลองดูคืนนี้เลย เอาแค่ว่าสวดมนต์ ตั้งใจถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา สรรเสริญพระรัตนตรัย อิติปิโส ภควาฯ พอมีใจผ่องแผ้ว พอมีใจที่รู้สึกถึงความสว่าง เป็นบุญเป็นกุศล ลองอธิษฐานดู ขอให้ความสว่างนี้ ขอให้การสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยนี้ เป็นเหตุปัจจัย ให้เรามีใจแผ่ออก สละออก พร้อมจะสละคืนความหลงผิด ความเข้าใจพลาดทั้งปวง

มันจะรู้สึกถึงความผ่องแผ้ว จะรู้สึกถึงความว่าง วาง แล้วก็สบาย แต่ถ้าหากว่า คืนไหน สวดมนต์แล้วเกิดความรู้สึก ปีติ บางทีมีตัวตนที่ใหญ่โตขึ้นมา มีปีติน่ะ ปีตินี่ทำให้เกิดภาวะใหญ่โตทางใจขึ้นมา แล้วก็อธิษฐานขอให้หมดหนี้ ขอให้ได้คนนั้นคนนี้มาเป็นแฟน หรือว่าขอให้ถูกหวย งวดหน้า หรืออะไรก็แล้วแต่นี่ แล้วสำรวจใจตัวเองดู หลังจากอธิษฐานนี่ ใจมันเป็นอย่างไร ใจมันเกิดอาการรู้สึกผยอง เกิดความรู้สึกมีตัวมีตน เกิดความรู้สึกมีหน้ามีตา เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่าเรานี่ยิ่งใหญ่

พอมีตัวเรายิ่งใหญ่ พออธิษฐานแบบที่จะทำให้เกิดความรู้สึกในอัตตาขึ้นมา อันนี้คนละทางกับทางไปนิพพานแล้วนะ สวนทางกันแล้วนะ

เอาล่ะ ทีนี้ถ้าหากว่า เรามีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องของบุญ เกี่ยวกับเรื่องของการทำทานที่ถูกตรง เราจะเข้าใจขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือ พอดูใจตัวเองหลังทำทานนี่ เออ มันเป็นไปเพื่อการทำลายความตระหนี่ไหม ถ้ายังตระหนี่อยู่ คือยังยึดอยู่ คือไม่มีการทิ้ง ไม่มีการเอาความเข้าใจผิด ออกจากภาวะความเป็นกายใจนี้ ยังมีของกู ยังมีของฉัน ยังมีเธอที่เป็นของฉัน ยังมีเธอที่อย่ามาเจอหน้ากัน มันตัวตนทั้งนั้นน่ะ

แต่ถ้าหากว่าเราให้ทาน เพื่อทำลายความตระหนี่ ให้อภัยเป็นทาน เพื่อที่จะเลิกผูกเวร ตัดสายโซ่แห่งการจองเวรกัน นี่อย่างนี้เริ่มเข้าเค้า คือมันเริ่มเอาใจออกห่างจากกายใจนี้  แล้วก็ไม่มีการอธิษฐานไปขอบรรลุธรรมในชาติหน้า แต่ขออธิษฐานว่า ความสามารถที่สละทรัพย์สินเป็นทานได้ ความสามารถที่สละพยาบาทเป็นทานได้ ขอจงเป็นพลวปัจจัย ให้ทิ้งอุปาทานในตัวตน ในกายใจนี้ ให้ได้เถิด

พออธิษฐานแบบนี้หลายๆ ครั้ง แล้วเกิดความรู้สึกว่า ใจเบาลงแปลกๆ ใจมีความรู้สึกไม่อยากยึด ไม่อยากเกาะเกี่ยวอะไรไว้ นี่เริ่มเข้าเค้านะ เริ่มมีหวังกับเขาแล้วว่า จะอาศัยกายใจนี้แหละ อาศัยชาตินี้แหละเป็นเครื่องมือในการบรรลุมรรคผล

เอาล่ะทีนี้ ลองสำรวจอีก เคยรักษาศีลไหม เคยตั้งใจที่จะห้ามใจตัวเองไม่ให้ทำผิดศีลไหม นี้คือเราต้องสำรวจด้วยนะ ทำความเข้าใจด้วยว่าที่รักษาศีลไปนี่ รักษาไปด้วยความเข้าใจว่า ศีลเป็นเครื่องสกัดกั้นความสกปรก แล้วทำให้ใจที่สะอาดนี่มีความพร้อมเป็นสมาธิหรือเปล่า ถ้าเข้าใจแบบนี้ โอเค ถูก ดี แล้วตรง

แต่ถ้าเข้าใจ คือจะมีความรู้สึก คนที่รักษาศีลอะนะ ว่า ตัวเองนี่ต้องลงทุนลงแรง ตัวเองต้องเหมือนกับออกแรงห้ามใจตัวเอง แล้วก็สู้กับกิเลสของตัวเอง มันก็อยากได้อะไรเป็นผลตอบแทนทันทีทันใดบ้าง ซึ่งผลตอบแทนทันทีทันใดทางธรรมชาติ คือภาพในใจที่มันสูงส่ง

คือบางทีนี่อาจเอาชื่อเสียง เอาความชื่นชมจากคนอื่น เสียงชื่นชม เสียงสรรเสริญว่า คนนี้รักษาศีลแปดได้เก่ง หรือบางทีถึงแม้จะไม่สนใจคำใคร  แต่อาจสนใจภาวะที่เกิดขึ้นนี่ มันสว่างมากนะ เวลาที่รักษาศีลได้สะอาดบริสุทธิ์ ไม่แม้แต่จะคิด มันจะมีความสูงส่งขึ้นมาแบบหนึ่ง รู้สึกสว่างเจิดจ้า เหมือนกับเป็นสมาธิอ่อนๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะมีสติที่แหลมคม มีความตรง มีความชัดเจนว่าจะไม่เอาสิ่งผิด จะไม่เอามลทิน มันเลยสะอาดขึ้นเรื่อยๆ สว่างขึ้นเรื่อยๆ เป็นหลอดไฟแบบดวงใหญ่เลยนะ

ตัวนี้ถ้าเผลอนิดเดียวมันกลายเป็นติดดี รักษาศีลไปเพื่อที่จะติดดี อย่างนี้ก็ไม่มีสิทธิ์ไปนิพพานเหมือนกัน

แต่ถ้ามองเห็นว่า ที่รักษาศีลไป จะผ่องแผ้วขนาดไหนก็ตาม จะสว่างขนาดไหนก็ตาม จะบรรเจิดโลกขนาดไหนก็ตาม เป็นไปเพื่อที่จะได้มีสมาธิ อ่อนควร ง่ายแก่การเกิดสมาธิ เมื่อเกิดสมาธิแล้วก็มีความพร้อมที่จะเห็นตามจริงว่า นี่มันไม่เที่ยง ไม่มีการเห็นผิด เห็นเพี้ยนแม้แต่นิดเดียว เพราะใจไม่ได้ผิดไม่ได้เพี้ยน ไปกับการโกหกมุสา ไปกับการฆ่าสัตว์ ฉ้อฉล คดโกงคนอื่นเขา ก็เลยง่ายที่จะเห็นอะไรอย่างเดียว

เห็นอย่างเดียวแบบแม่นๆ เลย เห็นอย่างเดียวแบบชัดๆ คมๆ เลยนะ นี่แหละ อันนี้เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสว่า ศีลเป็นเครื่องอำนวยความพร้อมให้เกิดสมาธิ

ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เข้าใจเข้ามาที่ตัวเองนะ ไม่ใช่เข้าใจแค่คำพูด หรือว่าคำในกระดาษนะ เราเข้าใจมาที่จิตตัวเองเลยว่า ที่มีศีล ที่มันตรง ที่มันสว่างนี่ มันพร้อมที่จะรู้ตามจริง มีสมาธิมากพอที่จะเห็น บางสิ่งเกิดขึ้น แล้วสิ่งนั้นค่อยๆ หายไป เลือนไป หรือดับไปให้ดู

นี่ตัวนี้ ตัวความเข้าใจอย่างนี้แหละ ที่จะพาให้พร้อมบรรลุมรรคผลในชาติปัจจุบัน

เอ้า ทีนี้ ความเข้าใจในขั้นสุดท้ายคือจะบอกว่า ที่ทำทานมา หรือถือศีลมา จะดีแค่ไหนก็ตาม ต่อให้นั่งสมาธิด้วยเอ้า นั่งสมาธิได้ฌานขั้นไหนก็ตาม เป็นโมฆะหมดเลย ไม่ได้ไปนิพพาน ถ้าหากปราศจากการเจริญสติในปัจจุบัน

แล้วมาดูความเข้าใจของตัวเอง สำรวจเลยนะ ที่เป็นความเข้าใจจริงๆ นี่ เราเจริญสติ เรานั่งสมาธิ เราเดินจงกรมไป เพื่ออะไร เอาจริงๆนะ คืออย่าหลอกตัวเอง เราเอาท่าเอาทาง เอาจำนวนชั่วโมง เอาเสียงชม หรือว่าจะเอาความเห็นว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง

อันนี้ต้องตอบตัวเองนะ ไม่ใช่ให้คนอื่นตอบให้ ถ้าหากว่า ตอบตัวเองได้อย่างชัดเจนว่า ที่ผ่านมาทำมานานแค่ไหน เราเจริญสติไปเพื่อที่จะเห็นความไม่เที่ยงนับตั้งแต่ลมหายใจ ความสุข ความทุกข์ สภาวะจิตสงบบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง ความคิดดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เราเห็นให้หมดหรือเปล่า

ถ้าคนที่ติดดีนะ จะยอมเห็นก็ต่อเมื่อมีสภาวะดีๆ บางอย่างปรากฏขึ้นมา แต่ภาวะเสียๆ ไม่เอา กำลังฟุ้งซ่าน บอกว่าอันนี้ไม่พร้อม อย่างคนที่ไปปฏิบัติธรรมมานี่ กลับมาถึงก็ แหม ทำอย่างไรนะ ถึงจะได้สงบเหมือนกับตอนที่ปลีกวิเวก พอตั้งเงื่อนไขแบบนี้ขึ้นมาปุ๊บนะ จะดูเฉพาะคืนที่นั่งสมาธิได้ผล หรือว่าเดินจงกรมนี่ได้นาน แต่ตอนที่มาทำงานงกๆ นี่ ตอนที่ฟุ้งซ่าน ตอนที่อยากอาละวาดกับคนนี่ ไม่ดู บอกว่าอันนี้ ไม่พร้อม

นี่ ตัวที่มันติดดี แล้วไม่ยอมรับตอนที่ไม่ดี ตัวนี้แหละที่จะไม่ได้บรรลุมรรคผลนะ เพราะอะไร เพราะเราจะมีเวลาปฏิบัติในชีวิตหนึ่ง แค่ไม่กี่ครั้ง ตอนที่ลางานได้ ตอนที่ปลีกวิเวกได้ คือบางคนนี่ลางานต้องลาเจ้านาย บางคนต้องลาลูกน้อง คือถ้าลาไม่ได้ ปลีกวิเวกไม่ได้ แปลว่า ไม่ได้ปฏิบัติธรรม แล้วนับแล้วนี่ โอ้โห พอใกล้จะตายนะ เอ๊ะปฏิบัติธรรมมากี่ครั้งนะชีวิตนี้ โอ้ สามครั้งเอง โอ้โหจะเอาอะไรไปบรรลุธรรม

ทั้งชีวิตปฏิบัติธรรมสามครั้ง หมดสิทธิ์ แต่ถ้าทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง การปฏิบัติธรรม คือการเจริญสติอยู่กับความจริงในปัจจุบัน จะเป็นอกุศล หรือกุศล พระพุทธเจ้าให้รู้หมด ในจิตตานุปัสสนา ไม่เชื่อไปเปิดดูได้เลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ เมื่อราคะหายไปจากจิต ก็ให้รู้ ว่าตอนนี้จิตไม่มีราคะแล้ว เมื่อจิตมีโทสะ ให้รู้ว่าจิตมีโทสะ พอโทสะมันคลาย มันหายไปจากจิต ก็ให้รู้ว่าจิตตอนไม่มีโทสะ หน้าตาเป็นอย่างไร

พอรู้แบบนั้น ก็จะได้เห็นว่าจิตมีหลายแบบ ไม่ได้มีแบบเดียว ไม่ได้มีแต่ดี นี่พระพุทธเจ้าสอนพระนะ เรื่องจิตตานุปัสสนานี่ แสดงว่าพระนี่ยังไม่สามารถดีได้ตลอด จิตนี่บางทีก็เป็นอกุศล สำคัญคือว่า เป็นอกุศลแล้วไม่ได้ไปฝ่าฝืนกฎ คือสามารถห้ามใจตัวเองได้ สะกดใจตัวเองได้ นี่คือลักษณะของผู้มีธรรมะจริงๆ คือเริ่มต้นขึ้นมาสามารถห้ามใจได้ แล้วต่อมา สามารถใช้ใจที่สะอาด ใช้ใจที่ควบคุม เอาอยู่นี่ มาเจริญสติต่อได้

เอาล่ะ สรุปก็คือ บุญ หรือกรรม ที่ทำให้มีสิทธิ์บรรลุมรรคผลในชาติปัจจุบัน ไม่ใช่ความเชื่อนะ ไม่ใช่เอาแต่เชื่อ แต่ต้องอาศัยความเข้าใจ คือมีมโนกรรม มีบุญมากพอที่จะทำความเข้าใจ ไม่ใช่เอาแต่เชื่อ

ความเข้าใจมีอะไรบ้าง ความเข้าใจว่า กายใจนี้ ต้องทิ้ง บรรลุมรรคผลไป ไม่มีใครได้นะ มรรคผล มีแต่เสีย สูญเสียอุปาทานว่ามีตัวตนไป แล้วจิตก็เป็นอิสระ

จิตเกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่มีใครที่ได้อะไรไปจากชาตินี้อยู่แล้ว  จะบรรลุหรือไม่บรรลุก็ตาม แล้ววิธีที่จะบรรลุ ต้องดูเข้ามาที่กายใจ ดูเข้ามาอย่างถูก อย่างตรงนะ
แล้วก่อนที่จะมีสิทธิ์ที่ใจนี่จะเปิด จะสว่าง มีความเป็นสัมมาทิฏฐิได้ ต้องทำทานอย่างถูกต้อง แล้วก็รักษาศีลอย่างถูกต้อง!
____________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน บุญกรรมใดช่วยให้บรรลุมรรคผลในชาตินี้
วันที่ 21 เมษายน 2561

ถอดความ : เอ้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น