วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

คุณดังตฤณสอนแผ่เมตตา พร้อมนำสวดมนต์


ดังตฤณการแผ่เมตตา การแผ่เมตตานั้นเป็นไปเพื่อละความพยาบาท เพื่อให้จิตคลายจากอาการผูกใจ ทำให้เกิดความแผ่ผาย เปิดกว้าง สว่าง เย็น อันเป็นลักษณะของสมาธิจิต ไม่กระจุกตัว อัดอั้น ปิดแคบ เร่าร้อน อันเป็นลักษณะของจิตที่ฟุ้งซ่าน

ผลของการแผ่เมตตาอย่างถูกต้อง จึงเกื้อกูลทั้งการนั่งสมาธิ และการเดินจงกรม ตลอดจนการเจริญสติให้มีคุณภาพดียิ่งๆขึ้นไป

เพื่อเริ่มฝึกแผ่เมตตา อาจทำหลังฝึกอานาปานสติ หรือจะก่อนอานาปานสติก็ได้ เพราะทั้งสองเป็นแบบฝึกจิตที่เกื้อกูลกันอยู่ กล่าวคือ อานาปานสติเป็นหลักของการฝึกรู้ตามจริง ยอมรับสภาพอันเป็นธรรมดาตามจริง ส่วนการแผ่เมตตา คือตัวอย่างของจิตที่เปิดกว้าง เบิกบานพร้อมรู้ สงบสว่างปราศจากความฝืนใจ

เริ่มต้นให้ทบทวนว่าขณะนี้เรายังผูกใจเจ็บอยู่กับใครมากที่สุด อาจจะหลับตานึกถึงคนๆนั้น ชั่วขณะที่มโนภาพของเขาปรากฏขึ้นต่อใจของเรา ปฏิกิริยาทางใจที่เกิดขึ้นทันที อาจเป็นความเกลียด ความชัง ความระคาย ความขุ่น หรือความรู้สึกเป็นลบในแบบใดๆ ให้ยอมรับตามจริง อย่าฝืนคิดให้เป็นอื่น จากนั้นพิจารณาว่า ความผูกใจเจ็บเป็นอาการจุกอก เหมือนกับจิตยังหิวน้ำ กระหายความชุ่มชื่น

หรืออีกทีก็เหมือนจิตมีอาการป่วยไม่เป็นปกติ จึงได้เกิดอาการอันเป็นทุกข์ทางใจขึ้นมาไม่เลิก ลองคิดดูธรรมดาถ้าเกิดความผิดปกติทางกาย เช่น รู้สึกจุกแน่นเสียดในอก เราจะลากลมหายใจเข้ายาวๆ ช้าๆ เพราะอยากหายจุกอก

หรือเมื่อหิวน้ำ เราจะหาน้ำดื่ม เพราะอยากแก้กระหาย หรือเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย เราจะหายากิน เพราะอยากฟื้นไข้ อยากจะได้กลับมามีกำลังวังชากระชุ่มกระชวยได้อีก แต่พอมีความผิดปกติทางใจ เกิดอาการเจ็บ อาการช้ำ อาการยอกอก เรากลับไม่หาทางแก้ ตรงข้ามบางทีจะเหมือนหวงไว้ อยากเลี้ยงความพยาบาทไว้ ด้วยความคิดว่า จะเอาไว้ระเบิดใส่ศัตรูคู่อาฆาตแก้แค้นให้สมอยากให้ได้เสียก่อน นั่นแหละจึงค่อยหายเจ็บ

ความจริงไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น ตามธรรมชาติของจิตแค่ไม่คิดก็ไม่ทุกข์ พระพุทธเจ้าให้พิจารณาอาการผูกใจพยาบาทว่าเหมือนโรค พอเรานึกถึงความเป็นโรคทางใจ ซึ่งกำลังเกิดขึ้นจริง มโนภาพของศัตรูคู่แค้นก็จะหายไป กลายเป็นการเห็นทุกข์เห็นภัยภายในตัวเองแทน ที่ตรงนั้น เราจึงพอจะมีแก่ใจอยากหายป่วยเสียได้

หรือเมื่อพิจารณาว่าจิตกำลังหิวน้ำ หิวน้ำใจ หิวความมีเมตตาจากตนเอง ก็ค่อยสามารถรินน้ำใจให้อภัยศัตรู ซึ่งเท่ากับปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการเสียได้

เมื่อใจเป็นอิสระจากความผู้พยาบาท เราจะรู้สึกถึงความโล่งหัวอก ปากยิ้มได้แล้ว สีหน้าคลายได้แล้ว ก็ให้ทำความรู้สึกถึงความโล่งหัวอกนั้นว่าเป็นสุข ให้เข้าใจว่านั่นเองคือทุนที่จะแผ่เมตตาได้

ขอให้สังเกตว่า ความสุขอันเกิดจากการอภัยได้อย่างไม่มีเงื่อนไขนั้น พร้อมจะขยายตัวออกมาจากความว่างภายใน และแผ่ผายกว้างออกไปทุกทิศทุกทางได้เองโดยไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องฝืนบังคับให้เป็นเช่นนั้น เราแค่ทำความรู้สึกถึงรัศมีสุขที่แผ่ออกไป และเห็นว่าด้วยรัศมีสุขนั้น เราไม่อยากเบียดเบียนใครเลย จิตของเราจะไม่จำเอาเสียเลยว่า ใครเคยทำร้ายเราบ้าง มีแต่อยากให้กระแสสุขเช่นนี้แผ่ลามออกไปไม่มีที่สิ้นสุด และได้สุขแบบเดียวกันกับเราเสมอกันไม่เลือกหน้า

ยิ่งเกิดปีติตื้นตันในรสของจิตอันเปี่ยมเมตตามากขึ้นเท่าไหร่ ใจก็จะยิ่งตั้งมั่นในลักษณะแผ่เมตตานานขึ้นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องออกแรงพยุงก็เหมือนทรงอยู่ได้เองชั่วขณะ

แต่ถ้าไม่มีปีติ ไม่มีความอิ่มใจ ก็ไม่จำเป็นต้องไปรีดออกมาให้เปลืองแรงเปล่า เพราะความสุขและเมตตาเป็นสิ่งที่เค้นกันไม่ได้ ยิ่งเค้นจะยิ่งทุกข์เสียมากกว่า

กรณีที่รู้สึกว่าหลักการแผ่เมตตาแบบมาตรฐานยังยากอยู่ ก็อาจอาศัยตัวช่วยจุดชนวนให้คือ เปล่งเสียงสวดอิติปิโสอย่างมีความสุข คลื่นเสียงที่ออกมาสรรเสริญพระรัตนตรัยนั้น จะช่วยปรับคลื่นจิตให้ตรงกัน เสียงสว่างจิตก็สว่าง เสียงศักดิ์สิทธิ์จิตก็ศักดิ์สิทธิ์ เสียงสุขจิตก็สุข เราจะเปล่งเสียงอย่างมีความสุขได้ก็ต้องมีความตั้งใจที่ประณีต เช่น คิดใช้แก้วเสียงแทนเครื่องบูชาชั้นสูง กล่าวแต่ละคำออกมาเต็มปากเต็มคำ เต็มอกเต็มใจ ด้วยอาการเช่นนั้น ยิ่งสวดนานก็จะยิ่งบังเกิดความรู้สึกอบอุ่นปรีดามากขึ้นทุกที กระทั่งสุขล้นเอ่อพอจะแผ่ออกเป็นเมตตาชั้นดีได้

(คุณดังตฤณนำสวดมนต์)

เมื่อสวดอย่างสบายใจถึงจุดหนึ่ง ขอให้สังเกตว่า การเปล่งเสียงสรรเสริญพระรัตนตรัยอย่างมีความสุขนั้น จะช่วยลดความฟุ้งซ่านลงไปเรื่อยๆ ยิ่งสวดนานหลายรอบก็ยิ่งตกแต่งจิตให้เกิดความชุ่มชื่นเบิกบาน เหมือนพร้อมจะตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ทันที

เมื่อรู้ได้ถึงความสุขที่ทรงตัวอยู่เองแล้ว ก็ให้หยุดสวดแล้วทำความรู้สึกถึงท่านั่งหลังตรงสบายๆ จะพบว่ารัศมีสุขแผ่ผายออกไปได้เองโดยไม่ต้องจงใจ เราเพียงทำความรู้สึกถึงรัศมีสุขนั้น ด้วยจิตคิดว่า อยากให้รสสุขนี้แก่ เทวดา มนุษย์ และสัตว์ทั่วทั้งฟ้าดิน ไม่ต้องเบียดเบียนกันอีก เพียงเท่านี้ก็จัดเป็นการแผ่เมตตาอย่างดีแล้ว

หากสวดอิติปิโสจนจิตเยือกเย็น และมีอาการแผ่กว้างได้ทุกครั้ง ก็อาจช่วยเป็นตัวช่วยนำสมาธิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าวันไหนเกิดความรู้สึกว่า ตัวเองฟุ้งซ่านจัดจิตเป็นสมาธิได้ยากกล่าวคือ ก่อนนั่งสมาธิฝึกอานาปานสติก็สวดอิติปิโสเสียก่อน อาจหลายรอบจนกว่าจะสังเกตได้ว่าจิตเข้าสู่ภาวะอ่อนโยน นุ่มนวล และมีความสว่างขึ้นที่ภายใน

ถ้าสวดอิติปิโสได้ขึ้นใจ ก็นำไปใช้ได้ทุกสถานการณ์ รู้สึกแย่เมื่อใดก็สวดอิติปิโส นอนไม่หลับก็สวดอิติปิโส ขึ้เกียจอ่านหนังสือก็สวดอิติปิโส อกหักก็สวดอิติปิโส เพื่อปรับจิตให้แผ่กระแสเมตตาออกมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาวะปกติในเรา ไม่เศร้าหมอง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่สับสน และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่พยาบาทใครเลย

-----------------------------------------

คุณดังตฤณสอนแผ่เมตตา พร้อมนำสวดมนต์
ผู้ถอดคำ                       แพร์รีส แพร์รีส
ระยะเวลาคลิป           ๙.๓๓ นาที
รับชมทางยูทูบ                https://www.youtube.com/watch?v=HqlvqwVV-3I

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น