วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำไมยิ่งทำสมาธิยิ่งขี้โมโห?


ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม

สำหรับคืนนี้ ก็เป็นหัวข้อของคนที่พยายามภาวนา พยายามทำสมาธิ มาทุกยุคทุกสมัย มีปัญหาแบบเดียวกันหมดเลยคือ พอทำสมาธิแล้ว แทนที่จะแผ่เมตตาออก กลายเป็นเมตตาหด หดหาย แล้วก็กลายเป็นว่ามีความรู้สึกคล้ายๆกับในอกนี่ อัดอยู่ด้วยดินระเบิด พร้อมที่จะโป้งป้างออกไป

หรือหนักกว่านั้น เดิมอาจเป็นคนที่ใจเย็น ใจดี แต่พอทำสมาธิ กลายเป็นคนใจร้าย กลายเป็นคนโมโหร้าย โกรธง่ายหายช้าไป ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น คืนนี้เรามาสำรวจกันนะครับ

สำรวจกันที่ไหน สำรวจกันที่จิตนั่นแหละ ถ้าเราไปสำรวจกันตามทฤษฎีมาก จะกลายเป็นเหมือนกับทำความเข้าใจกับทฤษฎีในกระดาษนะครับ

แต่ถ้าหากว่าเราสำรวจจิตสำรวจใจของตัวเอง ระหว่างฟังไปด้วย หรือว่า ทบทวนว่า ที่ผ่านมาการทำสมาธิของเราเป็นรูปแบบไหนนะครับ ก็จะค่อยๆ เกิดความกระจ่างขึ้นมาที่นี่นะ เกิดความกระจ่างขึ้นมาที่ใจของตัวเอง

อันดับแรกเลย เราต้องทำความเข้าใจนะครับว่า โทสะ คืออะไร เอาตรงนี้ก่อนเลย
โทสะ คืออาการของจิตชนิดหนึ่ง ที่เป็นฟืนเป็นไฟขึ้นมา มันเดือดมันร้อน มีสภาพที่กระสับกระส่ายยุ่งเหยิงขึ้นมา มีสภาพที่ปั่นป่วน มีสภาพที่พร้อมจะเป็นพายุบุแคม พร้อมที่จะเหมือนกับน้ำเดือดที่ล้นทะลักมาปุดๆ นะครับ

ถ้าเราสังเกตว่าลักษณะของโทสะ มีได้สองแบบหลักๆ คือ เดี๋ยวจะไปแยกแยะอะไรทีหลังนี่ ก็ว่ากัน แต่เอาสองแบบหลักๆ เลยคือ

หนึ่ง ถูกกระตุ้นเฉพาะหน้า เช่น ได้ยินเสียงที่น่าขัดเคือง คนที่เราไม่ชอบหน้าอยู่แล้วนี่ พูดอะไรก็ขัดเคืองไปหมด เห็นหน้านี่ เดินเข้าประตูมา รู้สึกขัดเคืองแล้ว นี่เรียกว่าเป็นโทสะที่ถูกกระตุ้นนะ จากตัวบุคคล จากสิ่งของ แล้วก็จากใจเราเอง ที่เป็นปฏิกิริยาที่มีความทรงจำในด้านไม่ดี เกี่ยวกับเขา เธอ หรือว่า มัน นะครับ

พอโดนกระทบ จะทางหู ทางตา หรือด้วยความนึกคิดก็ตาม จะมีอาการสวนออกไป เป็นความขัดเคืองคล้ายๆ กับควันขึ้น อาการควันขึ้นทางจิต ปรากฏราวกับว่า มีนิมิตควันดำๆ ที่มีกลิ่นไหม้ จะผุดๆ ขึ้นมาในจิตของเรา นี่เรียกว่าแค่โดนกระทบด้วยรูปทางตา หรือว่าโดนกระทบด้วยเสียงทางหู เกิดโทสะขึ้นมาได้อย่างนี้

อย่างที่สอง คือ อาการที่เก็บกด อัดอั้นไว้ มันถูกอัดไว้กับอกเรา เป็นของสะสมได้นะโทสะนี่ คือบางทีเราไม่ได้ถูกกระตุ้นด้วยหนามแหลมคม ที่ทิ่มตาทิ่มหู แต่เราเองเป็นคนเก็บอัดไว้
ยกตัวอย่างเช่น บางทีเราไม่พอใจพฤติกรรม หรือว่าคำพูดบางคำของคนใกล้ตัว เสร็จแล้วเราไม่บอกเขาดีๆ ว่า อันนี้ไม่พอใจนะ ก็เก็บอัดๆๆ เข้ามา สะสม สะสมมากขึ้นๆ ตอนที่ได้ยินได้ฟัง จะรู้สึกไม่พอใจ แต่ไม่ได้มีปฏิกิริยา ไม่ได้มีลักษณะของความโกรธแบบเดือด ที่สวนออกไปทันที แต่มาในลักษณะค่อยๆ เก็บ ค่อยๆ อัด ค่อยๆ กดไว้ จนกระทั่งวันหนึ่ง มีแรงอัดถึงขนาดที่ระเบิดปุ้งออกมาได้ พูดอะไรออกมาแบบที่คนฟังอ้าปากค้างเลย โอ้โห คิดแบบนี้มานานแล้วเหรอ

จริงๆ ถ้าเราได้สังเกตนะครับว่า อาการเก็บอัดแบบนี้นี่ เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญหน้า อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หรือว่า เป็นสิ่งที่บางทีเราคิดน้อยใจ หรือว่าคิดเล็กคิดน้อยหยุมหยิมอะไรต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีภาวะที่ค่อยๆ สะสม ค่อยๆ เพิ่ม ค่อยๆ พอกพูน ขึ้นมาในอกในใจเราได้ ราวกับว่า มันเป็นของหนัก นึกออกใช่ไหม

นี่เหมือนกัน คือการทำสมาธิ ถ้าหากว่าคุณทำในทิศทางที่ผิดพลาด มันมีลักษณะของการพอกพูน มีลักษณะของการสะสมในแบบเดียวกันอย่างนี้แหละ

ตอนแรกๆ ที่ยังไม่สังเกต เพิ่งเริ่มต้นฝึกใหม่ๆ ก็ไม่มีอะไร ก็แค่รู้สึก แหม ทำสมาธินี่ยากนะ จะบ่นแค่นี้ ... ยาก เพราะอะไร สำรวจเข้าไป มันฝืนน่ะ ฝืนใจ เพราะอะไร มันรู้สึกว่า ต้องบังคับ ต้องควบคุมตัวเอง

แล้วพอบังคับ คุณทบทวนดูนะ พอบังคับ พอควบคุมตัวเอง มันมีอาการหนักๆ เนื้อ หนักๆ ตัว มีอาการเกร็งๆ มีอาการกำ มีอาการเหมือนกับไม่เป็นสุข บางที บางคน นั่งสมาธิเสร็จ เมื่อยคอจัง เพราะนั่งก้มอยู่อย่างนี้ แล้วกดต้นคอ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า คอไปแบกกระสอบ แบกข้าวสารอยู่

หรือบางทีเรางอหลังไม่รู้ตัว แล้วก็สภาพของขาถูกกดทับไว้ ด้วยอาการหลังงอนี่ หลังงอแล้วก็นั่งขัดสมาธิ ฝืนทนไป สรุปแล้วนั่งสมาธิ กลายเป็นว่าเราค่อยๆ สะสม ค่อยๆ พอกพูนอาการเก็บกดอัดอั้น เลยไม่น่าแปลกใจ
บางคนตั้งธงไว้ ต้องนั่งสมาธิให้ได้หนึ่งชั่วโมง นั่งสมาธิได้หนึ่งชั่วโมงถือว่าเก่ง ไปตั้งธงไว้อย่างนี้แล้วไม่ได้ดูรายละเอียด ไม่ได้ดูเนื้อหาของการนั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมงนั้นว่าเกิดอะไรขึ้นกับภาวะทางกาย ภาวะทางใจบ้าง

ถ้าสังเกตสักนิด จะเห็นนะ ทิศทางของการเหมือนกับ ข่มขี่ตัวเองให้อยู่ในท่านั่งนิ่งๆ เป็นเวลานานๆ นี่ ก็ทำนองเดียวกันกับ เราต้องไปนั่งฟังเจ้านายสวด ฟังเจ้านายด่า เป็นชั่วโมง มีแต่อาการที่พยายามคุมให้นิ่ง ไม่พยายามโต้ตอบ ไม่พยายามที่จะแสดงอาการไม่พอใจออกนอกหน้านะ แล้วพอเราเก็บกดมากๆ หลายๆ วันเข้านี่ บางทีถึงจุดเดือดสุดขึ้นมา เราก็โป้งป้าง ไม่สนแล้วหน้าอินทร์หน้าพรหม บางคนนี่ทนมานานเป็นปีๆ กับเจ้านาย ก็บ๊งเบ๊ง เหมือนกับเป็นรุ่นเดียวกัน เป็นอะไรที่เป็นศัตรูกันมานาน อะไรแบบนี้ บางทีทำท่า บางคนนี่ถึงขั้นทำท่าทำทาง เหมือนกับไปทำร้ายเจ้านายก็มีนะ

เหมือนกัน การนั่งสมาธิที่เต็มไปด้วยความอึดอัด เต็มไปด้วยความกดดันตัวเอง ภาวะนั้น พอถึงจุดหนึ่งขึ้นมานะ กลายเป็นว่าเรางงกับตัวเองว่าทำไมนั่งสมาธิแล้วบางทีก็รู้สึกว่านิ่งได้ แต่ความนิ่งนั้น เป็นความนิ่งชนิดที่เหมือนกับก่อความขุ่นเคือง ก่อโทสะ พอกพูนแรงอัดอั้น กดดันไว้ จนกระทั่งเราพร้อมจะหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา เราพร้อมที่จะระเบิดโทสะใส่ใครก็ตาม
แล้วสังเกตง่ายๆ เถอะ สมาธิที่เต็มไปด้วยความอึดอัด หรือด้วยความกดดันนี่นะ จะนั่งหลับตานึกว่าเดินจงกรมก็แล้วแต่นี่ ถ้านั่งผิด ยิ่งนั่ง แล้วยิ่งเก็บกด จะแผ่เมตตาไม่ออก

สรุปง่ายๆ เลยนะว่า สมาธินะครับ ถ้าแบบเก็บกดนะ กดแล้วยึด กดแล้วก็ยึดไว้กับตัว จะเพิ่มโทสะ ส่วนสมาธิอีกแบบหนึ่งที่เป็นตรงกันข้าม คือรู้ แล้วปล่อย อย่างนี้จะเพิ่มเมตตา เพราะอะไร มันเป็นไปในทางที่จิตพร้อมแผ่ พร้อมเบา แล้วเมตตานี่ ถ้าใครมีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าทำสมาธิแล้วเป็นไปในทิศทางเดียวกับเมตตา จะนำไปสู่ สติ เพราะว่า สตินี่ ในที่นี้มาจากอะไร มาจากการที่จิตรู้ภาวะที่ขัดแย้งกับเมตตา
อย่างเวลาเราขัดเคือง เวลาเราอยากจะหวงความโกรธไว้นี่ จะมีความอัดแน่นเข้ามา มีความอึดอัด มีอาการเกาะกุมเข้ามา ซึ่งเราสามารถรู้ได้ว่า มันแตกต่าง มีความขัดกันอย่างชัดเจนกับกระแสเมตตาที่เบา ที่แผ่ออกไป

จิตตอนเมตตา จะเบาฟ่องเลยนะ แล้วก็ลักษณะยิ่งมีเมตตามากขึ้นเท่าไหร่ จะยิ่งมีความสุข ที่แผ่เป็นวงกว้างออกไปมากขึ้นเท่านั้น ราวกับว่าเราอยู่บนท้องฟ้า เราสัมผัสกับความนุ่มนวลของเมฆที่ขาว แล้วก็กว้างออกไปไม่มีที่สิ้นสุดแบบนั้นนะ ซึ่งพอมีไฟร้อนขึ้นมา หรือมีแรงพยายามบีบเข้ามาให้จิตหด หรือว่ามีความมืด ก็จะเกิดสติรู้ขึ้นมา แล้วก็ไม่อยากหวงอาการบีบ อาการร้อน อาการที่มีความมืดครึ้มแบบนั้นไว้นะครับ

นี่เป็นประโยชน์ของการแผ่เมตตา เป็นประโยชน์ของการทำสมาธิที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเมตตานะ แต่ถ้าหากว่าเราทำสมาธิอยู่ แล้วมีความอึดอัด มีความกดดัน มีแรงที่กระทำต่อจิตหนักขึ้นๆ เรื่อยๆ นี่ อันนี้นะครับ พอแผ่เมตตาไม่ออกแล้ว จะสังเกตได้ด้วยว่า ระหว่างวัน เราจะมีสติรู้เท่าทันความโกรธ หรือความพยาบาทได้ยาก เพราะอะไร เพราะว่ามันพร้อมที่จะยึดไว้ ที่จะกดไว้ ที่จะหวงไว้อยู่แล้ว

ถ้าคุณกำลังทำสมาธิแบบไหนอยู่ก็ตามนี่ สามารถสำรวจเข้ามาตามเกณฑ์นี้ได้หมดนะครับ ถ้าทำสมาธิแล้วมีอาการเก็บกด อึดอัด นั่นคือเพิ่มโทสะ แต่ถ้าหากว่า ทำสมาธิแล้วเกิดความรู้สึกว่า สุขนี่ล้นเหลือเกิน อยากจะแผ่ออก อยากจะเบิกบาน อยากจะแชร์ให้กับคนอื่น ความสุขแบบเดียวกัน หรือว่ายิ่งกว่านี้ ให้ต่อยอดยิ่งๆ ขึ้นไป อันนั้นแหละ ขอให้ทราบว่าเป็นสมาธิในแบบที่จะก่อให้เกิดสติ ทั้งในทางโลกและในทางธรรม

ในทางโลกคือ เราจะเป็นคนใจเย็นขึ้น แล้วพูดจารู้เรื่องมากขึ้น ในทางธรรม สติของเราจะมีความคมชัดขึ้น จิตใจนุ่มนวลลง แล้วเวลาที่โทสะก่อตัวขึ้นมา จะมีความเร็ว ไหวทันได้ง่าย เพราะอะไร เพราะว่าต้นทุนมันขัดแย้งกับกระแสโทสะชัดเจนนะครับ

ทีนี้อย่างบางคนถามว่า แล้วจะแก้อย่างไร อย่างตอนท้ายรายการนี่นะ เรามักจะมี ไม่ใช่มักจะมี แต่ทุกครั้งนะครับ ท้ายรายการเราจะมีการสวดมนต์นะ สวดในแบบที่ตั้งใจถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา สวดในแบบที่เราจะไม่ตั้งใจ ไม่ปรารถนาอะไรทั้งสิ้น นอกจากจะเอาแก้วเสียงนี้ ไปสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ไม่ได้ตั้งใจขอพร ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดอะไรขึ้นทั้งสิ้น นอกจากขอมีความสุขในการได้เปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำ

สวดอิติปิโสฯ นี่นะ ลักษณะที่ใจถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชาอย่างเดียว ด้วยจิตที่นอบน้อมเคารพนะครับ หวังจะสดุดีอย่างเดียว คุณสังเกตเถอะ จิตจะแผ่ออกไป ตามเสียงที่เปล่งประกายเต็ม ออกมาจากความเคารพ  ออกมาจากความรู้สึกศรัทธา ออกมาจากความรู้สึกว่า นี่เรากำลังส่งจิตนอบน้อมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งจิตของเราเหมือนกับว่า มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประดิษฐาน จิตของเรากลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปเสียเอง
ลักษณะนี้ คือตัวอย่างที่เราจะได้เข้าใจนะครับว่า สมาธิแบบที่มีอาการแผ่ออก มีความเบา มีความรู้ตื่นมากขึ้นๆ หน้าตาเป็นอย่างไรนะครับ

คือพูดง่ายๆว่า ผมแนะนำให้ฝึกสวดมนต์ เพื่อที่จะได้ตัวอย่างของจิต เพราะคนที่ปฏิบัติผิดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ทำมาแล้วนานๆ หลายปี แล้วไม่รู้ตัวนี่นะครับ คือถ้าแนะนำว่าให้ไปสังเกตอย่างนั้น ให้ไปสังเกตอย่างนี้นี่ บางทียาก เพราะว่าไม่รู้จะตั้งต้นจากตรงไหน ไม่รู้ว่าจะเอาอาการแบบใดมาเป็นตัวกำหนดทิศทางใหม่ ให้ถูกต้อง
ทีนี้ก็เลยเปลี่ยนมุมมองไปเลยนะ คือไม่ใช่ให้ทำสมาธิแบบเดิม เพราะส่วนใหญ่ ถ้าทำสมาธิแบบเดิม ก็เข้าสู่ความเก็บกดเคยชินแบบเดิมนั่นแหละ

แต่ทีนี้ถ้าเราหันมาสวดมนต์เสียเลย แล้วก็ฝึกที่จะเปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำ ไม่ใช่งึมงำ ไม่ใช่ก้มคอ แต่นั่งคอตั้งหลังตรงนะครับ แล้วรู้สึกถึงอาการพนมมือ รู้สึกถึงแก้วเสียง ที่เปล่งออกไปด้วยความรู้สึกนอบน้อม เคารพจริงๆ จิตจะค่อยๆ แผ่ออก

แล้วจิตที่แผ่ออกอย่างต่อเนื่อง มีความสม่ำเสมอนะครับ ยิ่งสวดมากรอบขึ้นเท่าไหร่ จิตจะยิ่งแผ่เป็นวงกว้าง แล้วก็มีความเบา มีความสุขมากขึ้นเท่านั้น เราสามารถที่จะอาศัยจิตที่มีความแผ่กว้าง แล้วก็เบานั้น มาทำสมาธิต่อได้ทันที แล้วพอทำสมาธิเสร็จ เรารู้สึกถึงความคงเส้นคงวาของอาการแผ่ออกกว้างของจิต นั่นแหละ เราก็แผ่เมตตาเป็นขั้นสุดท้ายนะ

ถ้าเราแผ่เมตตาได้เป็นปกติ แล้วเกิดความรู้สึกว่าความสุขไม่ใช่ของหลอก  มันตั้งต้นออกมาจากของจริงภายในของเราก่อน แล้วแผ่ออกไปให้เกิดความรู้สึกว่า โลกทั้งใบพร้อมจะมีความสุขตามเราได้นี่ อันนี้แหละ ที่จะแก้อาการ ยิ่งนั่งสมาธิ ยิ่งเกิดโทสะได้อย่างหายขาดเป็นปลิดทิ้งนะครับ!

______________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำไมยิ่งทำสมาธิยิ่งขี้โมโห?
วันที่ 4 กรกฎาคม 2563

ถอดความ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=zNypGUicRK8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น