วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563

(เกริ่นนำ) ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ภาวนาพุทโธถึงมรรคผลได้อย่างไร?


ดังตฤณ :  สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม

คืนนี้เป็นคำถามที่สะสมมานานนะครับ หลายท่านก็เกิดความรู้สึกสงสัย สงสัยไปแล้วก็ทำไปด้วย

อย่างการปฏิบัติภาวนาพุทโธ ที่ทำๆอยู่มีความเคยชิน เพราะว่าตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่สอนมาว่า ให้ภาวนาพุทโธไป ภาวนาแล้วมีสิทธิ์ได้ถึงมรรคผลมั้ยนะครับ

เอาเป็นว่าคนส่วนใหญ่นะ ไม่สงสัยหรอก รู้แต่ว่าท่านว่ามาแบบนี้ เราก็เอาแบบนี้ ทีนี้จริงๆคือ เราจะสามารถเห็นได้จากจุดเล็กๆน้อยๆ ไม่ใช่จุดเล็กจุดใหญ่เลยแหละ แต่ว่าเป็นเรื่องที่คนมองว่าเป็นอะไรเล็กน่ะนะครับ

การภาวนามีอยู่สองแบบนะครับ คือ ภาวนาตามๆกัน กับภาวนาอย่างรู้ว่าจะเอาอะไร อย่างถ้าแค่รู้สึกว่าโลกมันวุ่นวายนัก ชีวิตการงานประจำวัน มันทำให้ฟุ้งซ่าน แล้วเกิดความอยากจะมาสงบ มาภาวนาพุทโธ หรือมาสวดมนต์เนี่ย ก็จะไม่คิดอะไรมาก เอาแค่รู้สึกสบายใจที่ได้ทำ รู้สบายใจว่า เราได้ภาวนาอยู่บนเส้นทางที่เขาว่ากันว่า เป็นวิธีภาวนาแบบพุทธนะครับ

ขณะที่อีกกลุ่มนึงเนี่ย ไม่พอใจแค่เรื่องภาวนาตามๆพ่อแม่ หรือว่าครูบาอาจารย์สอนมา คือไม่มีความรู้สึกว่าอิ่มใจ ถ้าไม่ได้รู้ว่า ที่บอกให้ภาวนาพุทโธ ภาวนาไปแล้วได้อะไร ภาวนาแล้วได้ .. เป้าหมายของพุทธศาสนาคือมรรคผลมั้ยนะครับ

อันนี้จริงๆแล้วเนี่ย ถ้าเราเริ่มฉุกคิดว่า เหมือนกับภาวนาพุทโธไป พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วถึงจุดหนึ่ง ถามตัวเองขึ้นมาว่า ภาวนาพุทโธแล้วได้อะไร ทำไมถึงเลือกภาวนาพุทโธ ถ้าใจตัวเองคือถ้ามันถึงจุดนึงที่เริ่มเหมือนกับทำได้แล้ว แล้วก็มีคำว่า “พุทโธ” อยู่ในใจคงเส้นคงวาแล้ว

ทีนี้พอเริ่มเหมือนกับเป็นสมาธิ มันก็จะเริ่มเป็นตัวของตัวเองขึ้นมา พอเริ่มเป็นตัวของตัวเองแล้วถาม กล้าถามนะว่า ทำไมถึงเลือกภาวนาพุทโธคือถามตัวเองนะครับ ไม่ใช่ถามพ่อแม่หรือครูบาอาจารย์นะว่า ทำไมถึงให้ภาวนาพุทโธ แต่ถามตัวเองว่า ทำไมถึงภาวนาพุทโธ

ส่วนใหญ่ก็จะมาถึงคำตอบว่า เพราะครูบาอาจารย์บอกมา หรือตัวเองโดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่า ถูกจริต รู้สึกว่าภาวนาพุทโธแล้วใจมันเงียบลงได้ ใจมันหายฟุ้งซ่านได้ หรือบางคนมาถึงจุดที่ถามตัวเองว่า กี่ปีกี่ปีภาวนาพุทโธไป ก็ยังไม่เกิดความสงบ ยังไม่เกิดความรู้สึกว่า ตัวเองรู้เห็นอะไรหรือว่ากิเลสลดลงได้บ้างเลยนะครับ ตรงนี้แหละ ที่มันจะมาถึงทางแยก มาถึงจุดตัด

บางคนถามต่อไปอีก ถามตัวเองนะว่า พุทโธเนี่ย ทำให้เราภาวนาก้าวหน้ามั้ย หรือพุทโธดีๆแบบมีคุณภาพเนี่ย พาเราไปเห็นอะไรได้บ้าง แค่ทำตามครูบาอาจารย์ คือศาสนาพุทธเรานะ ศาสดาของเราเนี่ย ไม่ปลื้มนะครับ คือท่านบอกเลยบอกว่า ถ้าอยากรู้นะว่า ภาวนาไปเจริญก้าวหน้าแค่ไหน ให้สำรวจดูว่า กิเลสลดลงบ้างหรือเปล่า ราคะ โทสะ โมหะ โลภะ โทสะ โมหะ ลดลงบ้างหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวที่เป็นแก่นหลัก หรือว่าตัวชูโรงของศาสนาเรานะ คือตัวโมหะเนี่ย

ถ้าหากว่า โมหะ หรือความหลงยึด หลงอุปาทานไปว่า หลงอุปาทานอะไรไปเพี้ยนๆ ยังลดลงไม่ได้เนี่ยนะครับ ถือว่าการภาวนายังไม่เจริญก้าวหน้า

ยกตัวอย่างเช่น ตัวเองนี่เป็นคนที่เหนือกว่าคนอื่นเขาทั้งโลก เพราะว่าภาวนาพุทโธได้ แบบนี้เนี่ยนะครับ คือถือว่า การภาวนาแบบพุทธยังไม่เจริญก้าวหน้าขึ้น

แต่ถ้าภาวนาพุทโธแล้ว เกิดความรู้สึกว่าใจเบา มีความรู้สึกว่ายึดมั่นถือมั่นน้อยลง นี่ตัวนี้แหละเริ่มบอกได้ว่า คือเหมือนกับเป็นสัญญาณบอกได้จากจิตตัวเองว่า เริ่มมาถูกทาง เริ่มมาตามทางแห่งความเจริญก้าวหน้า

คราวนี้เรามาดู สำรวจดู ถ้าหากว่าใครเคยภาวนาพุทโธ จนกระทั้งเกิดความสงบจิตสงบใจได้ จะเห็นว่า จุดประสงค์ของพุทโธเนี่ยนะ มันเปลี่ยนจากความคิดแบบสุ่ม ให้กลายเป็นความคิดที่แน่นอนนะครับ

จากคิดอะไรก็ไม่รู้ มีภาพอะไรเต็มหัว แล้วก็มีคำอะไรก็ไม่ทราบมาพัน มาฟุ้งมั่วอยู่ในกลางกะโหลกของเรา เปลี่ยนมาเป็นคำแค่สองคำ ที่มีความแน่นอนคือ “พุทโธ” สองพยางค์เท่านี้ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วก็เปลี่ยนจาก อาการคิดแบบวกวน อย่างบางคนเนี่ย ถ้าปล่อยให้นั่งอยู่เฉยๆตาลอยเนี่ยนะครับ มันจะวนไปวนมาเรื่องเดิมได้เป็นร้อยรอบ

บางคนนะครับ คิดว่าตัวเองกำลังกลุ่มใจ กำลังคิดหาทางแก้ปัญหา แต่แท้ที่จริงแล้วเนี่ย มันวนรอบว่า ตกลงใจว่าจะทำอย่างนี้ เสร็จแล้วอีกหนึ่งนาทีต่อมา ถ้ายังนั่งอยู่ถ้าเดิม ลืมไปแล้วว่าเคยตกลงใจกับตัวเองยังไง กลับมาคิดใหม่ จะเอายังไงดี มีคำว่า จะเอายังไงดีทุกหนึ่งนาทีสองนาที วนรอบไป วนรอบมา

แต่ถ้าหากว่าเป็น พุทโธ วิธีคิดของเราจะเป็นเส้นตรง พุทโธ พุทโธ พุทโธ มีอยู่แค่คำเดียว ที่มันพาเราไปสู่อะไรนะครับ เส้นตรงเนี่ยพาไปสู่เป้าหมาย คือจิตของเราเอง ที่มันมีความสงบลง คือการเดินทางภายนอกเนี่ย มันคือการเดินทางพุ่งไปข้างหน้า แต่การเดินทางภายใน อย่างคำบริกรรมพุทโธเนี่ย จุดมุ่งหมายจริงๆคือ ให้พุ่งเข้ามาข้างใน หาจิตหาใจที่มีความสงบเรียบร้อยของตัวเอง อันนี้คือข้อแตกต่างอย่างชัดเจนนะครับว่า การคิดแบบสุ่มปล่อยจิตปล่อยใจไปเฉยๆกับการมานั่งภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธ มันมีความต่างกันยังไงนะครับ

เปลี่ยนจากความคิดแบบสุ่มไม่แน่นอน เป็นความแน่นอน เปลี่ยนจากอาการคิดแบบวกวน วกไปวนมาเป็นวงกลม กลายเป็นเส้นตรงนะครับ เพราะฉะนั้นอันนี้เนี่ย เราก็จะได้เห็น ถ้าหากว่าเราภาวนาพุทโธจริงๆนะครับ มันจะพอไปถึงสมาธิได้

ทีนี้การที่แต่ละคนภาวนาไม่กี่ครั้งนะครับ ภาวนาพุทโธแล้วเกิดสมาธิขึ้นมาได้ กับอีกคนภาวนาเป็นสิบปีไม่เคยได้ความสงบเลย มันแตกต่างกันตรงไหน

ถ้าหากว่าคุณได้ยินเสียงพุทโธของแต่ละคนนะครับ ที่อยู่ในหัวของแต่ละคน คุณจะรู้เลยว่า ดังเบาไม่เท่ากัน ช้าเร็วไม่เท่ากัน แล้วก็มีความสม่ำเสมอไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับโครงสร้างจิต แล้วก็วิธีคิดของแต่ละคนว่า มีทุนอะไรมานะครับ

ถ้าคนที่ภาวนาพุทโธไปแล้วมีความสงบได้ จะเป็นพุทโธ พุทโธ พุทโธ มีความสม่ำเสมอ มีความคงเส้นคงวา เสียงไม่ดังเกินไป แล้วก็ไม่เบาเกินไป ขณะที่คนที่ภาวนาพุทโธแล้วประสบความล้มเหลวตลอดเนี่ย ก็เพราะว่า เป็นพุทโธแบบเดียวกันกับที่มีความคิดฟุ้งซ่านปกตินั่นแหละ ไม่ไดแตกต่างกันเลยนะครับ พุทโธเป็นแค่เสียงของความฟุ้งซ่านเสียงหนึ่งเท่านั้น

เพื่อที่จะให้เกิดความเข้าใจโดยง่าย เดี๋ยวเรามาดูพร้อมๆกัน (ขึ้นคำภาวนา)
                                  พุทโธ พุทโธ พุทโธ
 พุทโธ พุทโธ พุทโธ
 พุทโธ พุทโธ พุทโธ
ถ้าคุณอ่านเหมือนอ่านปกติเลยนะเหมือนอ่านตัวหนังสือปกติ
 พุทโธ พุทโธ พุทโธ
 พุทโธ พุทโธ พุทโธ
 พุทโธ พุทโธ พุทโธ  
ลองฟังเสียงในหัวของตัวเองว่า เวลาที่เราอ่านหนังสือตามปกติเนี่ย
 พุทโธ พุทโธ พุทโธ
 พุทโธ พุทโธ พุทโธ
 พุทโธ พุทโธ พุทโธ 
เสียงในหัวมันเป็นเสียงกระซิบดัง หรือเบาแค่ไหน แล้วก็มีจังหวะสม่ำเสมอเพียงใด

ถ้าหากว่าเราไล่สายตาไปได้นะ จากซ้ายไปขวา จากบนลงล่าง เหมือนกับอ่านหนังสือปกติ แล้วเราสามารถจำได้ว่าเสียงพุทโธ พุทโธ พุทโธ ตอนเราอ่านหนังสือเป็นอย่างไร จำเอาเสียงพุทโธนั้นไปใช้ ก็จะเกิดความเป็นสมาธิขึ้นมา อันนี้ให้ดูแบบง่ายที่สุดเลยนะ

คุณจะไปเขียนเอาเองก็ได้ ใส่กระดาษไว้ แล้วก่อนที่จะภาวนาพุทโธ ลองมาอ่านแล้วจำให้ได้ว่า เสียงกระซิบที่มันมาดังขึ้นมาในหัวคำว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ ที่ทำให้รู้สึกว่านิ่งๆสบายๆได้เนี่ย มันดังประมาณไหน แล้วมีความสม่ำเสมอเพียงใด อันนี้ก็เป็นอุบายเป็นเครื่องช่วยให้เสียงพุทโธในหัวสม่ำเสมอนะครับ

ทีนี้มาถึงตรงนี้ หลายคนก็อาจจะสงสัย หรืออยากถามว่า แล้วผม(คุณดังตฤณ)ภาวนาพุทโธรึเปล่า แต่ก่อนเคยภาวนาพุทโธ ผมทำมาหมดแหละ ตามที่มีสอนอยู่ในประเทศไทย หรือแม้แต่ในฝั่งตะวันตก สมาธิแบบที่เขาว่ากันว่าดีที่สุด เลิศที่สุดอะไรต่างๆลองมาหมดแล้ว แต่คือโดยส่วนตัวนะครับก็พบว่า ถ้าใครได้เจออานาปานสติของพระพุทธเจ้าก่อน แล้วทำอย่างมีความเข้าใจจริงๆนะ ทำอย่างถูกต้องจริงๆนะ มันจะมีข้อเปรียบเทียบกับวิธีภาวนา หรืออุบายภาวนาต่างๆนะครับ

ถ้าเป็นพุทโธอย่างที่ครูบาอาจารย์สอนจริงๆ เอาแบบถูกทางจริงๆนะครับ ท่านจะสอนนะว่า เมื่อภาวนาพุทโธไปจนกระทั่งจิตเงียบลง พุทโธจะหายไป ท่านมักจะใช้คำนี้กัน พุทโธหายไปเนี่ยกลายเป็นเจอจิตที่ว่างจากความคิด นั่นแหละภาวะอันนี้ คือภาวะของสมาธิ

แล้วท่านก็สอนต่อว่า จิตที่ว่าง จิตที่รู้สึกว่าว่างๆไม่มีคำในหัว ไม่มีพุทโธ ไม่ต้องไปพยายามหาพุทโธกลับมา ให้ดูต่อไปว่า จะเกิดอะไรขึ้นในหัวของเรานะครับ ที่นึกว่าว่างมันว่างจริงมั้ย มันว่างได้นานแค่ไหน ก่อนที่เคลื่อนจากความว่างไปเป็นความวุ่น หรือเกิดภาพเกิดนิมิต เกิดอะไรขึ้นมาเป็นความปรุงแต่งทางจิต ท่านให้ดู เพื่อให้รู้ว่ามันของหลอกหมดเลย มันไม่เที่ยงหมดเลย ถ้าอะไรเที่ยง อันนั้นถึงจะเป็นของจริง แต่ถ้าไม่เที่ยง มันเป็นของหลอกล้วนๆ เป็นของหลอกทั้งหมด นี่ท่านให้ดูตรงนี้

ทีนี้ถ้าอย่างคนทำอานาปานสติ แล้วเกิดความเข้าใจว่า มันก็พาไปถึงจุดที่จิตเกิดความเงียบ จิตเกิดความสว่าง แล้วก็จิตมีความสามารถที่จะเห็นว่า ภาวะที่ผุดขึ้นมาในใจ ผุดขึ้นแล้วก็หายไป ผุดขึ้นแล้วก็หายไป ไม่ต่างกันกับตอนที่มาถึงสมาธิเพราะพุทโธ นี่ตรงนี้เป็นความเข้าใจที่สำคัญมาก

แล้วก็บางทีนะ คนเถียงกันแทบตายว่า อันไหนดีกว่า อันไหนใช่กว่า อันไหนพระพุทธเจ้าสอน เสร็จแล้วไปไม่ถึงจุดที่พ้นจากเปลือก

เปลือกเนี่ย ไม่ว่าจะภาวนาแบบไหนก็ตาม มันไปถึงจุดหนึ่ง ที่จิตเงียบลงจากความคิด แล้วก็มีความสามารถที่จะรู้ถูกต้องตามจริงว่า กำลังเกิดภาวะอะไรภายในขอบเขตกายใจนี้ พอถึงสมาธิแล้วมันมาตัดเชือกกันตรงนี้แหละว่า ก่อนที่จะถึงสมาธิ เรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง หรือที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิรึเปล่า

ถ้าหากว่ามีสัมมาทิฏฐิประกอบอยู่ในจิตนะครับ ประกอบกับสมาธิตรงนั้นเนี่ย จิตจะทำงานต่อทันที อย่างถูกต้องตรงทางแบบพุทธ คือรู้ว่าภาวะจิตที่ว่างๆนั้น เป็นภาวะสมาธิ เป็นจิตดวงหนึ่งในหลายๆดวง จิตที่ฟุ้งซ่านก็เป็นจิตดวงนึง จิตที่เป็นสมาธิก็เป็นจิตอีกดวงนึง ไม่ใช่ว่าพอไปถึงความเป็นสมาธิแล้ว อ้อเนี่ยเพิ่งเจอจิต ไม่ใช่นะครับ

แม้กระทั่งจิตที่คิดๆนึกๆ กำลังพูดกำลังฟังอยู่ขณะนี้ ก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง เป็นจิตที่ได้ยิน แล้วก็คิดปรุงแต่งตามคำพูด หรือตัวผม จิตในขณะนี้ตั้งใจพูดตั้งใจสื่อสาร มันก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยกรรมทางความคิด ตั้งใจพูดตั้งใจสื่อ ส่วนผู้ฟังๆแล้วรู้เรื่องรึเปล่า ฟังแล้วตั้งใจฟังรึเปล่า อันนี้เนี่ยต่างคนต่างก็มีจิตของตัวเอง เป็นจิตชนิดหนึ่ง เป็นจิตชนิดที่คิดๆนึกๆมีสมาธิแบบที่จะพูด มีสมาธิแบบจะฟัง

แต่ตอนที่เราภาวนาพุทโธ หรือว่าเจริญอานาปานสติไปจนกระทั่งเกิดความนิ่งเงียบขึ้นมา มีความสว่างว่างทั่วห้องขึ้นมาเนี่ย อันนั้นเป็นภาวะจิตอีกแบบหนึ่ง ที่มันมีความพร้อมจะรู้สภาวะภายในของตัวเองนะครับ ในขอบเขตของกายใจนี้ ที่มันปรากฏแสดงอะไรให้ดู

อย่างบางคน ถ้าหากว่าเจริญสติมาตามแนวที่จะเห็นลมหายใจกระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง เสร็จแล้วรู้ว่า ไอ้ที่กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลงนั้น เป็นการกระเพื่อมของกระดูกซี่โครง ก็จะเห็นเลยว่า พอจิตนิ่งเงียบลงไป มีความใส มีความสว่าง สิ่งที่เห็นเป็นอันดับแรกก็คือ ซี่โครงเนี่ยมันแจ่มชัดมาก แจ่มชัดแบบ เออทำไมไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งๆที่มันอยู่ตรงนี้แหละมาตั้งแต่เกิดนะครับ

ส่วนถ้าใครไม่ได้ดูกาย หรือว่าดูสภาวะของจิตโดยความเป็นของไม่เที่ยงมาก่อนเนี่ยนะครับ ภาวนาพุทโธไปถึงจุดที่จิตนิ่งเงียบแล้ว มันกลายเป็น เออเงียบแล้วไม่รู้จะทำอะไร ว่างแล้วไม่รู้จะดูอะไรต่อ เนี่ยตัวนี้แหละ ที่เป็นจุดตัดเชือกว่า สมาธิของเราไม่ได้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ คือถ้าเงียบๆนิ่งๆว่างๆไปแล้ว เออสบายจัง เนี่ยอันนี้มิจฉาสมาธิ ไม่ได้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ เป็นสมาธิที่ไม่ได้ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ

บางคนหนักกว่านั้นนะ พอจิตนิ่งเงียบไปแล้วเนี่ย คิดขึ้นมาเลยว่า จะเอาไปสนองตัณหาแบบไหนดีนะครับ คืออยากเห็นนรก สวรรค์ ก็ไปสร้างภาพขึ้นมาแบบภาพฝัน ไม่ได้ไปเห็นจริงๆ แต่ก็เข้าใจว่าฉันเห็นแล้ว คือพอจิตเป็นสมาธิ มันก็เหมือนกับจิตตอนหลับ มันมีความสามารถที่จะฉายภาพให้ตัวเองดูตามที่ต้องการ เพียงแต่ว่า มันจะแจ่มชัดกว่าในฝันเยอะ แล้วก็มีความรับรู้อะไรที่มันคงเส้นคงวานะครับ

อย่างบางคนก็บอก .. อันนี้จริงๆนะผู้ชายหลายคนเลย อยากไปดูผู้หญิงโป๊ คืออยากถอดจิตไปดูคนเขาอาบน้ำกันอะไรแบบนี้ เนี่ยคือมันเป็นไปได้สารพัด

หรืออย่างที่เห็นกันเยอะที่สุดก็คือว่า ไปส่องดูเลขว่าจะออกอะไร ต้นเดือน กลางเดือน นี่ก็เป็นเรื่องที่เราสามารถเห็นกันได้ชัดๆในชีวิตประจำวันของผู้ปฏิบัติเลยว่า ไปถึงจุดที่เป็นสมาธิแล้วจะเกิดจุดตัด ที่แบ่งว่าใครมาตามเส้นทางสัมมาทิฏฐิ หรือว่าใครมาตามเส้นทางกิเลสๆ ที่มนุษย์ธรรมดาทั่วไปเป็นกันนะครับ

อย่างของผมเองเนี่ย ผมเคยถามตัวเองว่า ภาวนาพุทโธกับดูลมหายใจไป มันต่างกันยังไง ผมก็พบว่า พอถึงจุดที่เป็นสมาธิจริงๆเนี่ย โอเคมันไม่ต่างกัน แต่ถ้ารู้ลมหายใจ ถ้าเจริญอานาปานสติมาถูกทาง มันจะขึ้นทางได้ไวกว่า ใช้เวลาสั้นกว่า เพราะว่ามันไม่มีคำอยู่ในหัวมาตั้งแรก คือถ้ามีความชินกับการรู้ลมหายใจเข้า-ออก สั้น-ยาว ได้เป็นปกติเนี่ย พอจิตมีวาระเดียวนึกถึงลมหายใจเข้า หายใจออกเนี่ย เห็นซี่โครงกระเพื่อมขึ้น กระเพื่อมลงเนี่ย มันส่องกายได้เลย เหมือนหลวงปู่เหรียญเคยสอนผมนะครับ ท่านบอกว่า ถ้าจะเอาให้นับว่าตัวเองแน่ใจว่า ภาวนามาได้จริงๆ ให้จิตมันสว่างขนาดทีเหมือนกับเราเปิดไฟห้องด้วยการแตะสวิซต์แค่กิ๊กเดียว ถ้าแตะแล้วไฟในห้องมันสว่างขึ้นมาได้ ขับไล่ความมืดได้ เนี่ยอันนี้มันจะเริ่มชัวร์แล้วว่า เรามีจิตที่พร้อมภาวนา

คือไม่ใช่ว่าเอาสว่างเฉยๆนะ แต่สว่างขึ้นมาเพื่อเห็นว่า มีอะไรอยู่ในห้องบ้าง เหมือนกับที่เราภาวนามาเนี่ย เพื่อให้จิตสงบลงเป็นสมาธิ มีความสว่างพร้อมที่จะรู้ว่า อะไรบ้างภายในขอบเขตกายใจที่มันไม่เที่ยง ยิ่งเราส่องดูด้วยความสว่างของจิตที่เป็นสมาธิได้มากขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งมีความแจ่มกระจ่างว่า พระพุทธเจ้าท่านอยากให้เห็นอะไรนะครับ

อย่างถ้าบางทีเนี่ย อันนี้ส่วนตัวนะครับ พอภาวนาพุทโธไป ไม่ว่าจะภาวนาพุทโธเดี่ยวๆ หรือว่าภาวนาพุทโธกำกับลมหายใจก็ตาม บางทีผมมีความรู้สึกว่า พุทโธอยู่ในหัว แล้วก็ .. อาจจะจริตน่ะนะครับ ความถนัดเฉพาะตัว หรืออะไรก็แล้วแต่ คือพอพุทโธไปจนเป็นสมาธิ พุทโธไม่ค่อยจะหลุดไปเท่าไหร่ ก็จะมีพุทโธ พุทโธ พุทโธ เรื่อยๆ แล้วมันไม่ได้เห็นกายใจสักที เนี่ยก็อันนี้ก็เป็นความต่างที่คุณต้องสังเกตเอาเองนะครับว่า มันมีความสามารถจะพาคุณเข้าไปเห็นกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยงได้รึยัง แล้วลดกิเลส โลภะ โทสะ โมหะลงเบาบางลงได้รึเปล่านะครับ

คืออย่ามัวเปรียบเทียบว่า อันไหนดี อันไหนไม่ดี เพราะอย่างถ้าใครภาวนาพุทโธได้อย่างถูกจริตเนี่ยนะครับ ก็จะพบว่าตัวเองเนี่ย พอนึกถึงคำว่าพุทโธแล้วใจมันสบาย ใจมันเกิดความนิ่ง เกิดความเงียบได้ อันนั้นก็ดีสำหรับผู้สามารถทำได้อย่างนั้นแน่ๆนะครับ

แต่ถ้าหากว่า ใครภาวนาพุทโธแล้วเกิดความรู้สึกว่า จิตมันยิ่งฟุ้งซ่านไปกันใหญ่ ก็ทดลองดูแบบที่ผมยกให้ดู (ขึ้นภาพคำว่า พุทโธ) เอาไปเขียนใส่กระดาษเองก็ได้นะเขียน
                                  พุทโธ พุทโธ พุทโธ
 พุทโธ พุทโธ พุทโธ
 พุทโธ พุทโธ พุทโธ
แล้วเอาเสียงที่มันเกิดขึ้นในหัวจริงๆ ในระดับความดังเบาแล้วก็ความสม่ำเสมอที่เกิดขึ้นเนี่ย เอาไปภาวนาต่อ อันนี้ก็จะเป็นอุบายหนึ่งนะครับ

หรือถ้าพยายามแล้วก็รู้สึกรุงรังอยู่ดี ก็ทดลองรู้ลมหายใจดูอย่างเดียว โดยไม่ต้องมีคำบริกรรมกำกับ ขึ้นอยู่กับว่า จะประสบความสำเร็จในการเข้าถึงสมาธิรู้กายรู้ใจได้แบบไหนนะครับ มีความพร้อมรู้นะครับ อันนี้คีย์เวิร์ดนะครับ สงบพร้อมรู้ ไม่ใช่สงบแล้วก็พร้อมที่จะเกิดกิเลสนะครับ (ยิ้ม)

---------------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
ตอน                             (เกริ่นนำ) ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ภาวนาพุทโธถึงมรรคผลได้อย่างไร?
ระยะเวลาคลิป           ๒๔.๐๐ นาที
รับชมทางยูทูบ               https://www.youtube.com/watch?v=MZdBMntZZzQ&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=36&t=0s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น