วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เจริญสติ กำหนดดูเวทนาทางกาย แต่กลับเห็นความคิดฟุ้งซ่าน


ดังตฤณ : เวลาที่เราดูแอนิเมชันนี่นะ เราดูเป็นไกด์ไลน์ ไม่ใช่หวังว่าจะเกิดอะไรขึ้นถูกต้อง หรือผิดพลาด ถ้าหากว่าเราจำได้นะครับว่า การที่เรามีท่านั่ง คอตั้งหลังตรง เป็นจุดเริ่มต้น แล้วเห็นว่าอาการหายใจ หายใจยาวแล้วมีความสุขอย่างนี้นะ นี่คือจุดเริ่มต้น คือไกด์ไลน์ที่จะทำให้เราเข้ามามีสติอยู่กับกายกับใจแน่แล้ว คือไม่ใช่ว่าเริ่มเจริญสติ หรือเริ่มทำสมาธิด้วยการส่งออกไปข้างนอก หรือว่าตั้งความหวังอะไรออกไปเหนือจากภาวะทางกายใจ

นี่คือจุดเริ่มต้นนะ ต้องแม่นนะ ถ้าหากไม่แม่นตรงนี้เราจะไปต่อไม่ถูก เวลาที่เกิดภาวะสับสนอะไรขึ้นมา

พอเราเริ่มต้นขึ้นมา นั่งคอตั้งหลังตรง หายใจยาวถูก แล้วรู้ว่า เพราะหายใจยาว ถึงมีความรู้สึกเป็นสุข มีความรู้สึกผ่อนคลายสบาย จากนั้น เวลาที่มีความฟุ้งซ่าน หรือว่าอารมณ์อะไรที่มันแทรกซ้อนเข้ามานอกเหนือไปจากความสุขจากการหายใจ ตรงนั้นให้เห็นเป็นความไม่เที่ยง คือยอมรับตามจริง ไม่ใช่ไปพะวงว่า เอ๊ะ นี่มันสับไปสับมา จะดูอย่างไรถูก

การที่เราเริ่ม เอ๊ะ ขึ้นมาว่า มันเหมือนกับมีภาวะแทรกซ้อน มีสภาวะอะไรที่กระโดดไปกระโดดมา เป็นจุดเริ่มต้นของวิจิกิจฉา ที่พาให้เราออกนอกขอบเขตของการเจริญสติ รู้กายใจ วิธีที่ถูกต้องที่จะจัดการกับวิจิกิจฉาคือ ให้มองว่า ณ ขณะนั้นสิ่งที่เราต้องสนใจจริงๆ คือตัว วิจิกิจฉานั่นแหละ ตัวความสงสัย ตัวความลังเล ตัวความพะวง

ดูว่าความพะวง มีอาการอย่างไร ก่อนอื่นเลย มันเป็นทุกข์ใช่ไหม เพราะว่ามีความรู้สึกอึดอัดขึ้นมา มีอาการวกๆ วนๆ ขึ้นมา มันมีอาการไม่อยู่นิ่ง มีความรู้สึกกระสับกระส่ายขึ้นมา นี่ตัวนี้ เป็นการเห็นทุกขเวทนาอ่อนๆ เมื่อเกิดความรู้สึกสงสัย

เสร็จแล้วให้ดูด้วยว่า ลักษณะของ “ใจ” บางที มันมีความรู้สึกเอะใจขึ้นมา สงสัยอะไรขึ้นมา จะมีลักษณะของการกระเจิดกระเจิง จับไม่ติด ลักษณะความกระเจิดกระเจิงเป็นอย่างไร มันเหมือนกับเราไม่สามารถที่จะไปต่อถูกนะ ลืมไปหมดแล้วว่าภาวะเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่บางทีกำลังดูแอนิเมชั่นอยู่ แต่เสร็จแล้วใจมาพะวง แล้วไม่รู้ตัวว่าพะวง เกิดความกังวล เกิดความสงสัย

วิธีคือ ตัดอย่างอื่นออกให้หมด หลับตาก็ได้ ไม่ต้องดูแอนิเมชั่นต่อก็ได้แล้วกำหนดว่า ณ ลมหายใจนี้ เรากำลังเกิดความพะวงสงสัยอยู่ มีความพะวงสงสัยเมื่อไหร่ มันจะเกิดความวกวนขึ้นเมื่อนั้น

ถ้าลมหายใจนี้มีความวกวนอยู่ในอารมณ์แบบนี้ ดูต่อไปว่า ลมหายใจหน้า จะยังคงวกวนต่อไปไหม แล้วหายใจนี่ไม่ใช่หายใจสั้นๆ หายใจแบบไม่รู้เรื่องรู้ราวนะ ต้องหายใจในแบบที่เรามีทุนเป็นความสุขความสบายเนื้อตัวพอสมควรด้วย

ถ้าหากว่ามีความรู้ขึ้นมาว่าในลมหายใจต่อมา ความวกวน ความสงสัยมันทุเลาเบาบางลง อันนี้ถือว่าเห็นความไม่เที่ยงของความสงสัยแล้ว เห็นความไม่เที่ยงของอารมณ์กระโดดไปกระโดดมาแล้ว ขอให้จำไว้นะ ดูจากคำถามอย่างเดียว คือจากที่เห็นมาเป็นสิบๆ ปี คือบอกได้อย่างหนึ่งว่า คุณกำลังอยู่ในอารมณ์ พะวง ติดข้อง สงสัย

เสร็จแล้วนี่ มันไปลากจูงเอาอารมณ์แบบที่มันกระโดดไปกระโดดมาที่คุณว่านี่ มาโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว นึกออกไป เวลาที่คนเราสงสัย คนเราไปต่อไม่ได้ มีความพะวง อารมณ์มันจะสั้น คือพอพยายามกลับมาอยู่กับลมหายใจ มันจะอยู่ได้แค่สั้นๆ แล้วหลุดออกไปสงสัย หรือเป็นทุกข์กับอารมณ์ใหม่ๆ ได้อีก

แต่ถ้าเราบอกตัวเองเลยว่า ณ ขณะนั้น มันเกิดภาวะสงสัยขึ้นมาอย่างเด่นชัด ให้จับสังเกตไปว่าภาวะความสงสัย ภาวะความสับสนตรงนั้น มันอยู่ได้กี่ลมหายใจ

คราวนี้นี่จะมีที่หมาย จิตจะมีเป้า ที่ชัดเจนให้จับ ให้ดู ว่ามันเที่ยงหรือไม่เที่ยง ภาวะนั้นๆ

______________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ฝึกสติแบบไหนไม่ขี้ลืม?
วันที่ 20 มิถุนายน 2020

คำถามเต็ม : นั่งเจริญสติกำหนดว่า จะดูเวทนาทางกายตามคลื่นปัญญา  นั่งไปสักแป๊บเวทนาที่กำหนดดูไว้ มักจะหายไป เห็นชัดแต่ความคิดที่ฟุ้งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เร็วๆบ้าง เอื่อยๆ บ้าง บางทีก็เห็นตัวก็โยกเยก (หน้าท้องที่พองยุบ ลมที่เข้าออกยังพอรู้สึกได้) แม้จะดูไปเรื่อยๆ แต่รู้สึกจับจุดไม่ถูก งงๆ กับการนั่งเจริญสติ แบบนี้ควรพิจารณาต่อยังไงดีคะ?

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=1rTzkuMr7LQ

ถอดความ : เอ้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น