วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563

(เกริ่นนำ) ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เอาชนะความขี้เกียจทำสมาธิ


ดังตฤณ :  สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม

สำหรับคืนนี้จะเป็นประเด็นที่นักปฏิบัติภาวนาเยอะเหลือเกินได้ไถ่ถามมา แล้วก็อยากรู้ว่าทำยังไง จะเอาชนะความขี้เกียจทำสมาธิได้

คืออย่างบางคนเนี่ยนะ ไม่มีปัญหาถ้าจะทำให้จิตของตัวเองสงบ หรือมีความนิ่ง แต่ปัญหามีอยู่ตรงที่ว่า ทำแล้วไม่ต่อเนื่อง ทำแล้วเอาชนะความขี้เกียจที่จะไปลงนั่งสมาธิไม่ได้ เพราะว่าแต่ละวันมันยุ่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนะครับ สำหรับฆราวาสเราที่มีงานประจำ แล้วก็มีเรื่องราวรบกวนจิตใจให้ต้องครุ่นคิดกังวล หรือว่าเคร่งเครียดกับการเร่งเวลาทำงานให้เสร็จ ทำงานให้ทัน ทำงานให้เอาชนะคู่แข่ง

ยิ่งถ้าเป็นเจ้าของกิจการยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลยนะครับ เพราะว่าความอยากจะดันยอด หรือว่าความอยากจะทำให้ธุรกิจตัวเองเซฟปลอดภัยจากสถานการณ์ที่รุมเร้า

หรือแม้แต่พนักงานที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับตัวเลข เกี่ยวกับยอดขายอะไรแบบนี้นะ ทั้งปีเนี่ยบางทีทำสมาธิได้สงบครั้งเดียวตอนที่ไปอยู่ที่วัด หรือไม่ก็ไม่ก็ตอนไปทำบุญอะไรอย่างนี้ จะให้มาขยันขันแข็งทำสมาธิได้ทุกวัน ใจลึกๆมันอยาก เพราะว่าทุกคนอยากจะสงบ อยากจะให้จิตของเราเนี่ยดี อยากจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรม แล้วก็มีสิทธิ์ที่จะพ้นทุกข์กับท่านบ้าง

ขอให้มองว่าไม่มีใครที่จะขี้เกียจมีความสุข ถ้าทำสมาธิแล้วมีความสุขทุกครั้งเนี่ย มันจะไม่ขี้เกียจ แต่นี่คือเหมือนกับต้องมาฝ่าฟัน ต้องมารบรากับความฟุ้งซ่านในหัว มันก็เลยเหมือนกับบีบตัวเอง บังคับตัวเองให้เกิดความทุกข์ในเวลาที่ต้องมานั่งขัดสมาดหลับตาทำสมาธิ เนี่ยตรงนี้จริงๆแล้วเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดอาการขี้เกียจ มันต้องฝืนใจ มันต้องมีความเหมือนกับอดทน แล้วก็จะต้องบังคับตัวเองอะไรต่างๆ อันนี้เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความขี้เกียจ

จริงๆถ้าเราหลับตาปุ๊บแล้วเกิดสมาธิ เกิดจิตที่มันสงบเงียบ จิตเปิดกว้างแผ่กว้างสว่างไสวเนี่ย จะไม่มีใครในโลกขี้เกียจทำสมาธิเลยขอให้มองอย่างนี้

ทีนี้ถ้าเห็นตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดความขี้เกียจ เราก็มาพิจารณาใช้ความคิดเอานะว่า ทำยังไงถึงจะทำสมาธิได้โดยไม่ต้องผ่านด่านนี้ ด่านของความรู้สึกฝืน รู้สึกฝืด ถ้าฝืนนี่คือแรงนะ จะต้องเหมือนกับบีบบังคับตัวเองแล้วก็อึดอัด แต่ถ้าฝืดเนี่ยเหมือนกับมันยักแย่ยักยัน สงบได้ไม่มีปัญหา แต่ว่ามันรู้สึกฝืดๆ ต้องใช้เวลาระยะนึงยี่สิบนาที สามสิบนาที กว่าจะเอาลงอะไรอย่างนี้

ความฝืนความฝืดเนี่ย ลองสังเกตดู มันเริ่มต้นตอนไหน ตอนที่เราตั้งใจใช่มั้ยว่าจะกำหนดเวลาช่วงนี้นะ กี่ทุ่มหรือว่าตื่นขึ้นมาตีเท่าไหร่ ตีสี่หรือตีห้า แล้วมานั่งสมาธิ มาลงประจำที่ ให้เกิดความรู้สึกว่า เนี่ยเวลานี้เป็นเวลาที่ต้องมีวินัยบังคับตัวเองแล้ว

อย่ามองว่าการทำสมาธิมีอยู่แค่นั้น ขอให้มองว่า การทำสมาธิเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ตอนลืมตาก็ได้ เอาสมาธิแบบที่เป็นที่สบายสำหรับคุณนะครับอันนี้สำคัญ

เริ่มต้นขึ้นมาพอนึกถึงการทำสมาธิปุ๊บ ใจคุณต้องโยงเข้ากับความสบายให้ได้ ถ้าหากว่าโยงเข้ากับความสบายไม่ได้ มันจะขี้เกียจไปทั้งชาติ ทั้งชาตินี้เลยนะครับ คุณจะมีความรู้สึกว่า ตัวคุณกับสมาธิเนี่ย มันเป็นคนละฝั่งกัน คุณต้องพยายามข้ามไปด้วยความยากลำบาก ถึงจะถึงฝั่งของสมาธิ

แต่ถ้าหากว่า คุณสามารถโยงจิตใจของตัวเอง ให้เข้ากับความรู้สึกสบายในการทำสมาธิ พูดถึงคำว่าสมาธิปุ๊บนะ นึกถึงคำว่าสบายขึ้นมาทันที อารมณ์สบายขึ้นมาทันที อย่างนี้เนี่ยอยู่ฝั่งเดียวกัน อย่างนี้เนี่ยชาตินี้นะมีสิทธิ์ มีโอกาสที่จะพัฒนาสมาธิต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆนะครับ

ทีนี้ถามว่า สมาธิอันเป็นที่สบายจะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไรนะครับ มันก็ต้องเจาะจงลงไปอีกว่า คุณทำสมาธิแบบไหน ถ้าหากว่าคุณมีความเคยชิน หรือว่ามีความเชื่อ เชื่อตามครูบาอาจารย์ หรือว่าเชื่อตามผู้แนะนำ หรือว่าเชื่อตามพี่เลี้ยงที่ให้คำแนะนำในการปฏิบัติธรรมกับคุณว่า ควรจะภาวนาพุทโธ คุณก็ต้องอยู่กับพุทโธให้ได้ด้วยความรู้สึกว่า เออไปไหนไปด้วย ไปไหนเนี่ยเป็นที่สบาย สามารถมีพุทโธในหัวได้อย่างสบายใจ ไม่มีความรู้สึกฝืด ไม่มีความรู้สึกฝืน นี่ต้องเอาให้ได้อย่างนั้น

ซึ่งผมก็ได้เคยแนะนำไปเมื่อสองสามตอนก่อนนะครับว่า เราจะเอาตัวอย่างของพุทโธอันเป็นที่สบายเนี่ยก็ง่ายๆนะครับ (ขึ้นหน้าจอ)
                                พุทโธ  พุทโธ  พุทโธ
                                พุทโธ  พุทโธ  พุทโธ
                                พุทโธ  พุทโธ  พุทโธ
เนี่ยเหมือนคุณอ่านหนังสือ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้ามีเสียงพุทโธเสียงกระซิบที่มันเกิดขึ้นเหมือนตอนอ่านหนังสือในหัวอย่างไร แล้วมีความสม่ำเสมอยังไงให้จำเสียงนั้นไว้ ไม่ใช่พุทโธเองตามใจชอบนะ เพราะพุทโธตามใจชอบเนี่ย ร้อยทั้งร้อยที่เห็นมานะ มันจะมีความฝืด ความฝืน ความอึดอัด หรือว่าความเน้น พุทโธนึงเหมือนกับพุทโธดังๆตัวเป้งๆ อีกพุทโธนึงแผ่วแทบจะไม่ได้ยิน แทบจะไม่เกิดขึ้นในหัวอะไรแบบนี้นะ

ไอ้ความไม่สม่ำเสมอ ความดัง หรือความแผ่วที่มันกระโดด กระโดดเนี่ยนะจะทำให้จิตไม่เป็นสมาธิ แล้วก็ไม่เกิดความสบายขึ้นมา มีแต่ความรู้สึกว่าเรากำลังพยายามที่จะท่องพุทโธอยู่ข้างใน แล้วก็พุทโธที่ถูกต้องเป็นยังไง มันไม่เกิดการเรียนรู้ แต่พอมาดูตัวอย่างๆเมื่อครู่นี้นะครับ
                                      (ขึ้นหน้าจอ)
                                พุทโธ  พุทโธ  พุทโธ
                                พุทโธ  พุทโธ  พุทโธ
                                พุทโธ  พุทโธ  พุทโธ
พอบอกว่าเสียงในหัวเนี่ย มีระดับความดังประมาณไหน แล้วก็มีความสม่ำเสมออย่างไร ถ้าเราจำไว้นะครับ มันก็กลายเป็นความสบายขึ้นมา พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ

หรืออย่างถ้าใครมีความเชื่อ หรือว่ามีความศรัทธาว่า เราควรเจริญอานาปานสติตามที่พระพุทธเจ้าสอน เพื่อที่จะเอาสติดึงสติเข้ามารู้กายรู้ใจได้ง่ายๆนะครับ

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจในเรื่องของการหายใจยาวให้เป็น อย่างเนี่ยถ้าใครยังไม่เคยดูเสียงสติคลื่นปัญญานะครับ จะลองดูตามนี้ก็ได้ (ขึ้นแอนิเมชั่นฝึกหายใจยาว) เอาแค่มองไปเฉยๆนะครับ สำหรับคนยังไม่เคยเห็นนะครับ มองไปเฉยๆตามภาพเคลื่อนไหวนี้ แล้วเราลองป่องท้องตามนะครับ เหมือนกับสมมติว่า ท้องของเราเนี่ยเป็นลูกโป่ง แล้วก็มีการพอง มีการยุบโดยไม่ต้องไปบริกรรม หรือว่าไปท่องอะไรนะครับ

แต่ละครั้งเนี่ยที่เราหายใจเข้า เราพองท้องออกมานะครับ แล้วก็หยุดแป๊บนึง เนี่ยตามจังหวะนี้เลยนะครับ ถ้าลองทำดูคุณจะพบว่า ถึงแม้ไม่ได้หลับตา มันก็สามารถที่รับรู้ลมหายใจยาวได้ แล้วก็มีความสุขไปกับการรู้สึกว่า ตัวเองเนี่ยนะครับท้องกำลังพองออกในขณะที่หายใจเข้า แล้วท้องเนี่ยยุบลงในขณะหายใจออก เกิดความรู้สึกว่า ความสบายที่เกิดขึ้นเนี่ยมันไม่ใช่ว่าจะต้องไปฝืน ไม่ใช่จะต้องไปรอเวลายี่สิบนาที สามสิบนาที มันถึงจะมีความสุขกับการทำสมาธิขึ้นมา มันมีความสุขตั้งแต่คุณหายใจยาวเป็นเลย

แล้วความสามารถที่จะรับรู้ถึงลมหายใจยาวได้เรื่อยๆนี่แหละ ที่มันจะผูกโยงใจของคุณให้เข้ากับคำว่าสบายนะครับ เวลานึกถึงสมาธินะครับ

การที่เราหายใจยาวอย่างสบายเป็นแล้วนึกว่า เออเนี่ยแบบนี้มันทำให้จิตเกิดความสงบเงียบพร้อมรู้แล้วนะครับ จะทำให้คุณมีแก่ใจ มีกำลังใจ มีแรงบันดาลใจ ที่จะทำสมาธิอยู่ทุกหนทุกแห่ง

แล้วก็ถ้าบวกกับความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกนิดว่า ที่เราหายใจยาวให้เป็นแบบนี้เนี่ย ก็เพื่อที่จะเปรียบเทียบได้ว่า ตอนหายใจสั้นความรู้สึกมันแตกต่างกันอย่างไร หายใจยาวเนี่ยมันจะมีความสุขความสดชื่นความเบิกบาน หรืออย่างน้อยที่สุดนะ ถึงยังไม่เกิดความสุขเกิดปีติอะไรขึ้นมา มันต้องเกิดความผ่อนคลายขึ้นมา

เพราะปกติเนี่ยนะครับเวลาเครียด เวลาทุกข์มันจะหายใจสั้น แล้วก็เหมือนกับมีอาการบีบ มีอาการกดกล้ามเนื้อ ทีนี้พอหายใจยาวเป็น นั่งหลังตั้งตัวตรงนะครับ หายใจโดยการพองท้องออกเวลาหายใจเข้า แล้วก็ยุบท้องเวลาหายใจออก ถ้านึกภาพนี้ออกตามที่เห็นนี้เลย (ในแอนิเมชั่นฝึกหายใจยาว) ตามจังหวะนี้เลยเนี่ยนะครับ เพียงเท่านี้มันจะรู้แล้วว่า ที่เราเครียดหรือว่าเราฟุ้งซ่านมาก มันต่างๆจากภาวะหายใจยาวแบบนี้ มันจะเหมือนกับกล้ามเนื้อมีอาการเกร็งอยู่ทั่วตัว เท้าเกร็ง มือเกร็ง หน้าผากตึง

แต่พอเราหายใจยาว ทั้งเท้าทั้งฝ่ามือทั้งหน้าผากมันเหมือนจะผ่อนคลายพร้อมกันหมด แล้วก็มีความสบายทั่ว เหมือนกับปัญหาอะไรที่มันรุมเร้าอยู่ มันกลายเป็นเรื่องเล็กไปหมดเลย

ใจเนี่ยถ้ามันสงบเงียบเชียบนะครับ ชีวิตจะมีความรู้สึกว่าชีวิตดีไม่มีปัญหาอะไรเลย ถึงแม้จริงๆแล้วคุณจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอยู่ มันก็แก้ปัญหาไปด้วยอารมณ์ที่เป็นปกติ ด้วยอารมณ์ที่ไม่รู้สึกว่า มันเป็นหนามมาทิ่มตำ ไม่ใช่ด้วยอารมณ์ว่า โลกทั้งใบเต็มไปด้วยความร้อนระอุ ที่จะทำให้เราแทบจะทนไม่ไหว

ใจที่สงบเงียบ ใจที่มันเป็นสุข มันจะเห็นค่าของสมาธิ แล้วก็พร้อมทำสมาธิอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะไปที่ไหน เนี่ยผมเปิดให้ดูด้วยแอนิเมชั่นเนี่ย แล้วก็ถ้าคุณทำตามไปเรื่อยๆ มันก็จะทราบด้วยตัวเองนะว่า ถึงยังไม่หลับตา ถึงยังไม่ใช้เวลาสักเท่าไหร่ ก็สามารถที่จะหายใจยาวอย่างมีความสุขได้ แล้วก็มีสมาธิ ค่อยๆมีสมาธิ ค่อยๆจิตสงบลง เป็นสุขมากขึ้น มากขึ้นโดยที่ไม่ต้องฝืดไม่ต้องฝืนอะไรเลยนะครับ

-----------------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์                  ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
ตอน                             (เกริ่นนำ) ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เอาชนะความขี้เกียจทำสมาธิ
ระยะเวลาคลิป           ๑๓.๔๔ นาที
รับชมทางยูทูบ             https://www.youtube.com/watch?v=ddNEhE1X9dE&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น