วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ฝึกสติแบบไหนไม่ขี้ลืม

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ฝึกสติแบบไหนไม่ขี้ลืม?
วันที่ 20 มิถุนายน 2020

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านคืนวันเสาร์สามทุ่มนะครับ 

สำหรับคืนนี้ก็มาจากเสียงบ่นของหลายๆ ท่านนะครับที่บอกว่า เอ๊ะ ทำไมเจริญสติไปแล้ว ขี้หลงขี้ลืม แอดมินเบลล์ก็เลยบอกว่า ขอให้คำถามนี้มาเป็นหัวข้อสนทนานะครับ ตั้งต้นให้สอดคล้องกับเมื่อเช้าที่เป็นสเตตัส เกี่ยวกับความขี้ลืม

แต่เราจะคุยกันใน Live นะครับ เกี่ยวโยงกับการเจริญสติโดยตรง อย่างที่บางท่านก็ตั้งเป็นคำถามว่า ทำอย่างไรเจริญสติแบบไหน ถึงจะไม่ขี้หลงขี้ลืม บอกยิ่งวันยิ่งขี้ลืม แล้วก็ที่ร้ายที่สุดที่ผมก็ดูคำถามแล้วขำๆ นะ บอกว่า เจริญสติมานาน แต่ทำไมยิ่งเจริญสติ ยิ่งขี้ลืม ซึ่งอันนี้ก็เลยเสียหายนะ เป็นความเสียหายของการเจริญสติ

เพราะเวลาเราพูด เราก็พูดว่า เราเจริญสติแล้วขี้หลงขี้ลืม อันนี้เป็นความจริงที่เรารับรู้จากประสบการณ์ตรง แต่จริงๆ แล้ว เราอาจไม่ได้เจริญสติอยู่ก็ได้ แล้วเสร็จแล้ว เหมือนกับพะยี่ห้อไปแล้ว บอกว่าเจริญสติแบบพุทธมา แล้วก็ขี้หลงขี้ลืม

บางทีเราต้องมาปรับความเข้าใจกันใหม่ ที่บอกเจริญสตินี่ เจริญสติกันอย่างไรนะถึงขี้ลืมไปได้ แทนที่เจริญสติแล้ว สติจะดีขึ้น มีสมาธิมากขึ้น แล้วก็มีความทรงจำที่แม่นยำขึ้น คืนนี้เรามาหาคำตอบกัน

ก่อนอื่นใดทั้งสิ้นนะ เรามาสำรวจกันว่า ความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องของความทรงจำ เขามีกันอย่างไร
พื้นที่สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ อารมณ์ แล้วก็ความจดจำ จำได้หมายรู้อะไรทั้งหลาย เป็นส่วนที่เขาเรียกว่า ฮิปโปแคมปัส (hippocampus) นะครับ ซึ่งอยู่ตรงกลางๆ ส่วนล่างลงมาแถวก้านสมอง

ในความเชื่อแบบเดิมๆ เขาบอกว่า สมองส่วนนี้เวลาที่คนเราแก่ตัว จะไม่มีเซลส์สมองผลิตเพิ่มขึ้นมา หรือย้อนไปกว่านั้นอีก มีความเชื่อด้วยซ้ำว่า พออายุ 13 ปีขึ้นไป จะไม่มีเซลส์สมองผลิตเพิ่ม ก็เชื่อกันไป
ทีนี้เมื่อเร็วๆ นี้เองที่มหาวิทยาลัยที่นิวยอร์ค เขาค้นพบว่า ไม่จริง ทิ้งไปได้เลยความเชื่อนี้ เพราะว่าเขาเอาคนที่อายุ 14 ถึง 79 จำนวนน่าจะ 28 คนมาทดลองว่าหลังจากที่ตายทันที ตายแบบกระทันหัน แล้วเอามาดูทันทีเลย พบว่า เซลส์สมองยังเจริญเติบโตต่อได้ แล้วคนอายุ 79 นี่ มีการผลิตเซลส์สมองเพิ่มได้เท่าๆ กับเด็กอายุ 14 เลย

นี่คือการค้นพบล่าสุด เพราะใช้เทคโนโลยีปัจจุบันน่ะนะ สมัยก่อนพิสูจน์กันแบบนี้ไม่ได้ ได้แต่สันนิษฐานกัน แต่คราวนี้เรามีหลักฐานเป็นรูปธรรมนะว่า ถ้าจะขี้ลืม ไม่เกี่ยวกับอายุ อย่างที่พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสนะ เอาพระองค์เองเป็นที่ตั้ง ท่านอายุ 80 ไม่ขี้หลงขี้ลืมเลย ยังจำได้เปี๊ยะเลย แล้วผมก็เคยเห็นมาเยอะด้วย คนที่อายุเกิน 80 แล้วความจำยังดีทุกประการ มันแสดงว่า ไม่เกี่ยวกับสมอง

คือถ้าเกี่ยวกับสมองจริง สมองมีอายุจริง แปลว่าต้องเป็นสากล คือ แก่แล้วต้องขี้หลงขี้ลืมกันหมด
แล้วอย่างนี้มีเหตุมีปัจจัยอะไร ถ้าเอาตามที่เรามองกันในแบบพุทธนะครับ ก็คือ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว
หมายความว่า จิตนี่ ตั้งไว้อย่างไร คิดอย่างไร มีวิธีคิดแบบไหน ที่จะทำให้กระบวนการทำงานของสมอง มันยังดีอยู่ อันนี้เราเอาเป็นจุดตั้งต้นแบบพุทธนะ เรามองกันอย่างนี้นะว่า สมองนี่ ถ้าจะทำงานแปรปรวน หรือว่าทำงานเป็นปกติได้นี่ เริ่มต้นที่จิตก่อน เพราะว่าจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

ทีนี้คือ อาการขื้ลืมนี่ ถ้าหากว่าเราไม่ต้องไปเอาหลักฐานที่ไหน ดูจากใจของตัวเอง ถ้าเหม่อลอยบ่อยๆ เหม่อลอยเก่งๆ อันนี้ขี้หลงขี้ลืมได้แล้ว หรือบางคนนี่ อันนี้ที่วิทยาศาสตร์จะมองเป็นผู้ร้ายตัวหลักเลย ก็คือว่า ถ้าซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะมีความจำบกพร่อง กระท่อนกระแท่น ก็มีสูง

เริ่มต้นมาจากวิธีการคิด วิธีการทำงานของจิตใจก่อน ไม่ใช่ไปตั้งต้นว่าสมองผิดปกติอย่างไร แล้วจิตถึงได้ผิดปกติตาม ถ้าจะเชื่อแบบพุทธนะ เราต้องเชื่อว่าจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว

อย่างอาการขี้ลืมนี่ มองแบบนักเจริญสติ จะพบความจริงอยู่อย่างนะว่า ถ้าขาดสติเก่งๆ ไม่โฟกัสกับสิ่งที่ควรจะโฟกัส ปล่อยใจเลื่อนลอย เราจะพบว่า เวลาดึงสติกลับมา มันยาก จะเหมือนกับเบลอๆ แบลงก์ๆ (Blank) อันนี้ว่ากันตามประสบการณ์ทางจิตเลยนะ ไม่ต้องไปเอาหลักฐานมาจากที่ไหน

แต่ถ้าหากว่าเรามีเป้าหมายในชีวิตชัดเจน ล้มแล้วลุกทันที ไม่มัวแต่อ้อยอิ่ง ออดอ้อนอาลัย หรือว่าแสดงความหมดอาลัยตายอยาก มีแต่อาการที่เราพร้อมจะแก้ปัญหา ไม่ใช่พร้อมจะแพ้ปัญหา ลักษณะการทำงานของจิตใจแบบนี้ จิตใจของนักสู้ จิตใจของนักโฟกัสกับสิ่งที่จะต้องทำตรงหน้า โดยไม่เครียดเกินไป ไม่มีอาการของคนที่พร้อมจะซึมเศร้า หรือพร้อมจะเป็นโรคเครียด นอนไม่หลับ

อันนี้ ยิ่งใช้ชีวิตไปก็จะยิ่งเห็นว่า สมองนี่ยิ่งมีเขาเรียกว่า ตกผลึกน่ะ ตกผลึกทางความคิด เจออุปสรรค ไม่โวยวาย เจออุปสรรค ไม่ฟูมฟาย เจออุปสรรค ไม่หาคนโน้นคนนี้มาโทษ ไม่หาคนโน้นคนนี้มาด่า แต่คิดถึงต้นตอของปัญหาทันที แล้วก็หาทางพยายาม มีความเคยชินที่จะแก้ปัญหา ไม่ใช่ไปเห็นปัญหาเป็นเหมือนกับวันโลกแตกอะไรแบบนี้

อันนี้ ว่ากันตามประสบการณ์ ที่เราเห็นกันในชีวิตประจำวันทั่วไปนะ ทีนี้เราก็ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า คนที่มีสติแบบโลกๆ คือยังไม่ต้องมาเจริญสติ มีความรู้เกี่ยวกับการดูลมหายใจ ดูอิริยาบถอะไรต่างๆ เอาแบบแค่สติโลกๆ นี่ ถ้าหากว่าไม่ปล่อยใจ แล้วก็มีโฟกัสแบบที่ จะทำให้เกิดความประทับลงมาในใจเป็นภาพ ยกตัวอย่าง เวลาคนคิดเลขเก่งๆ เขาคิดเป็นภาพนะ ภาพตัวเลขอย่างแจ่มชัด แล้วเวลาที่เขาจำเลขได้เยอะๆ เขาก็จำเป็นภาพ ไม่ได้จำเป็นคำท่องว่า สาม สอง หนึ่ง หก แปด อะไรแบบนี้ แบบนี้มันไม่จำ แต่ถ้าเห็นภาพในใจอย่างชัดเจน เลขจะประทับลงมา แล้วก็ทำให้มาท่องได้ไหลลื่นเลยนะว่า มีเลขอะไรบ้าง

แม้แต่คนที่มีความจำดีที่สุดในโลก ที่บันทึกในกินเนสบุ๊ค ก็บอกว่า เวลาจำเลขเยอะๆ เขาจำเป็นชุดต่อเนื่อง ที่มีความสัมพันธ์กัน คือเห็นเป็นภาพ แล้วเป็นภาพที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน นี่ ลักษณะทางใจของคนเป็นแบบนี้นะ เวลาที่จำอะไรได้แม่นๆ จะจำเป็นภาพ แล้วก็ต้องมีความสัมพันธ์

ทีนี้เหมือนกัน เวลาเราบอกว่า เราเจริญสติแล้วขี้ลืม ต้องมาสำรวจว่า วิธีเจริญสติ วิธีบริกรรมของเรา มันอยู่ท่าไหนบ่อยๆ มีท่าไม้ตายแบบไหนบ่อยๆ ในการภาวนา

ผมขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับนักภาวนา นักเจริญสติในไทย มักจะบอกว่า ผม หรือดิฉัน เจริญสติด้วยวิธีการบริกรรมพุทโธ
โอเค เป็นเรื่องจริงว่า คุณบริกรรมพุทโธมาสิบปี หรือยี่สิบปี บอกว่า นี่ พุทโธๆๆ มาอย่างนี้แหละ แต่ยิ่งวันยิ่งขี้ลืม ก็ลองไปสำรวจดูว่า วิธีที่คุณรู้สึก หรือว่า มีคำพุทโธ ผุดขึ้นมาในใจ หรือว่าในหัว เป็นพุทโธแบบไหน

เป็น พุทโธ แบบเลื่อนลอยไม่สม่ำเสมอ หรือ เป็น พุทโธ ในแบบที่มีความคงเส้นคงวา

ผมจะให้ข้อสังเกตนะ ถ้าหากว่าเป็น พุทโธที่มีความคงเส้นคงวา ยกตัวอย่างนะ อย่างเหมือนกับเราอ่านตัวหนังสือ “พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ” แล้วมีคำกระซิบอยู่ในหัวของเราอย่างต่อเนื่อง อันนี้เรียกว่ามีโฟกัสกับคำว่าพุทโธอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาช่วงหนึ่ง

แต่ถ้าหากว่าในใจคุณบอกว่า กำลังภาวนา พุทโธอยู่ แต่พุทโธหายไปตั้งสามนาที กว่าจะกลับมา แล้วก็พุทโธแบบกระปริบกระปรอย อีกแป๊บหนึ่ง ใจไม่ได้ใส่ใจเลย จิตนี่เหมือนกับพร้อมจะเลื่อนลอยไป แล้วก็ไม่ได้สนกับคำบริกรรมพุทโธอย่างแท้จริง แต่เหมือนกับ สั่งตัวเองให้ขังตัวเองอยู่กับคำพุทโธในช่วงนี้ มันแปลว่าอะไร แปลว่าจิตส่วนใหญ่มันหายไปกับอาการเหม่อโดยเราไม่รู้ตัว แล้วก็มีความเคยชินแบบนี้เป็นสิบปี
ความเคยชินแบบนี้แหละที่สร้างความขี้ลืมขึ้นมา โดยไม่รู้ตัว รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เสร็จแล้วไปบอกว่ายิ่งภาวนายิ่งขี้ลืม

หรือบางคนบอกว่า ใช้วิธีดูลมหายใจ แต่ทีนี้แทนที่จะมีโฟกัสที่แน่นอน ที่มันพอดี ที่ยิ่งหายใจยิ่งมีความสุข ยิ่งหายใจยิ่งมีนิมิตลมหายใจขึ้นมาเด่นชัด
แต่ที่ไหนได้ ยิ่งภาวนาไป ยิ่งดูลมหายใจไป ยิ่งทุกข์ทรมาน ยิ่งอึดอัด หรือบางทีไม่ได้อึดอัดหรอก แต่คล้ายๆ ว่า ปล่อยจิตปล่อยใจให้รู้ก็ช่าง ไม่รู้ก็ช่าง แล้วก็ไม่สนใจอยู่อย่างนั้นเป็นสิบปี ยี่สิบปี อาการแบบนั้น ที่นึกว่าตัวเองทำสมาธิแบบดูลมหายใจอยู่ แท้ที่จริง มันเพาะพันธ์ความฟุ้งซ่านแบบใหม่ขึ้นมา คือมากักตัวเองอยู่ในที่นั่ง สั่งให้ตัวเองโปรแกรมตัวเองให้ดูลมหายใจ ให้จ้องลมหายใจ แต่จิตจริงๆ ไม่ได้รู้ลมหายใจอะไรกับเขาเลย นี่ตัวนี้มันก็เข้าข่าย ยิ่งรู้ ยิ่งพยายามรู้ ยิ่งเหมือนกับพยายามเหม่อ

แล้วในทางอื่นก็เหมือนกัน คือคุณจะภาวนาแนวไหนก็ตาม ถ้าหากว่าใจไม่ได้มีสติอยู่จริง มีแต่อาการที่เรานึกว่า เรากำลังจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น แต่ยิ่งจดจ่อไปบางทีถ้าเราสังเกต จะมีอาการเหมือนจิตทื่อๆ มึนๆ พร่าเลือน ไม่ชัดเจนว่า เรากำลังทำอะไรอยู่กันแน่ ตรงนี้นี่ก็เป็นสาเหตุ ให้เกิดอาการเป็นต้นเหตุให้เกิดความขี้ลืมได้ทั้งนั้นเลย

อย่างถ้า ผมให้คุณเปรียบเทียบดูนะ หลายท่านอาจยังไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างถ้าเราบอกว่า เราจะภาวนาด้วยการดูลมหายใจ แล้วเรามาสังเกตว่า ตอนที่หายใจยาวอย่างถูกต้อง หน้าท้องจะดันขึ้นมาก่อน พองขึ้นมาก่อน พอพองขึ้นมาแล้วหยุดแป๊บหนึ่ง แล้วก็ปล่อยลมออกไปจนหมด พักแป๊บหนึ่ง แล้วค่อยให้หน้าท้องพองขึ้นมาใหม่

ตรงนี้จะเริ่มหายใจอย่างมีความสุข แล้วถ้าหากว่าหายใจอย่างมีความสุขได้ จะมีความใส่ใจต่อเอง โดยไม่ต้องบังคับ แล้วก็ไม่มีอาการฝืน ไม่มีอาการมาทุรนทุรายว่า นี่ทำไมฉันต้องลำบากลำบนมานั่งดูลมหายใจแบบนี้ ดูไปแล้วได้อะไร มันซ้ำไปซ้ำมาอยู่แค่นี้

ถ้าหายใจถูกต้อง คุณจะได้คำตอบจากใจตัวเองเลย ว่ายิ่งดู ยิ่งมีความสุข ยิ่งดูยิ่งมีสติ เข้ามารู้สภาพภายในอันเป็นธรรมชาติของกาย เวลาหายใจแต่ละครั้ง มันมีความแช่มชื่น ถ้าหากว่าหายใจยาวถูกต้อง ท้องไม่เกร็ง แล้วเวลาที่ระบายลมหายใจออก มันคลายความอึดอัด มันผ่อนคลายมันสบาย เหมือนกับเอาก้อนเครียด ก้อนความฟุ้งซ่าน มาโยนทิ้ง กลับคืนสู่ความว่างไป

ใจก็ยิ่งมีความติดใจน่ะ มีความรู้สึกว่า การมีสติแบบนี้นี่ ดีนะ ทำให้อยู่กับเนื้อกับตัว ทำให้อยู่กับปัจจุบัน แล้วก็มีความสุขชนิดที่ ทำให้จิตมีความสงบนิ่ง ไม่ใช่สุขในแบบที่จะทำให้เกิดอาการอ้อยอิ่ง อาลัย หรือว่าหลงเพลินไปแบบตอนที่เรากำลังฟังเพลง อะไรที่มันเคลิ้มๆ เยิ้ม ๆ เป็นความสุขในแบบที่ จะทำให้เรามีสติ อยู่กับโฟกัส ตรงหน้า คือลมหายใจปัจจุบัน

ยิ่งเราหายใจแบบนี้ได้บ่อยขึ้นเท่าไหร่ สติก็จะยิ่งอยู่กับเนื้อกับตัวมากขึ้นเท่านั้น แล้วพอสติอยู่กับเนื้อกับตัวได้ เวลาที่เราไปโฟกัสกับงาน หรือโฟกัสกับสิ่งอื่น ก็จะพลอยมีคุณภาพมากขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่า คุณหายใจได้ในแบบที่มันเกิดความเป็นอัตโนมัติ รู้อยู่เองเป็นฐาน เหมือนกับศูนย์กลางของสติ อยู่กับการหายใจอย่างถูกต้อง พอหายใจเข้า ท้องพองขึ้น หยุดนิดหนึ่ง แล้วก็ท้องยุบลงโดยไม่ต้องบริกรรมนะ เอาแค่การรู้เนื้อรู้ตัวว่า มันเกิดอาการอะไรขึ้นมากับร่างกาย

เพียงแค่นี้ คุณสามารถที่จะไปไหนๆ ทั่วโลก พร้อมกับความสุขกับการหายใจในแต่ละครั้งได้ แล้วถ้าศูนย์กลางของสติ ศูนย์กลางการรับรู้อยู่ตรงนี้ เวลาที่คุณไปจ้อง เวลาที่คุณไปฟัง หรือว่าไปทำงานอะไรอย่างอื่น ก็จะยังคงรู้สึกถึงลมหายใจที่เป็นสุขได้ เป็นพื้นฐาน

มันอาจจะเลือนๆ ไปบ้าง ตอนที่ต้องโฟกัสกับงานจริงจัง หรือว่าต้องคิดอะไรในหัวแบบซับซ้อน ก็จะไม่รู้สึกถึงลมหายใจเท่าไหร่ แต่พอยต์ก็คือว่าเมื่อใดก็ตามที่คิดงานเสร็จ หรือว่า ไม่ต้องทำอะไรที่มันเป็นแบบโลกๆ ภายนอก มันจะกลับมาชื่นชมลมหายใจแบบเดิมๆ คือหายใจยาวอย่างมีความสุข หายใจยาวตอนเข้า หายใจยาวตอนออก

สติ ก็จะเจริญขึ้น ตรงนี้พระพุทธเจ้าถึงได้เน้นนักเน้นหนาว่า ทำไมถึงอยากให้สาวกของพระองค์ได้เจริญอานาปานสติกันเป็น

แต่ยุคของเรา คือก็ไม่ได้เจริญอานาปานสติกันเท่าไหร่ หรือบางทีเจริญ นึกว่าเจริญอานาปานสติ แต่ที่แท้มาจ้องลมหายใจแบบเครียดๆ ยิ่งจ้องยิ่งเป็นทุกข์ ยิ่งจ้องยิ่งอึดอัด ยิ่งจ้องยิ่งสติเลอะเลือน หรือไม่ก็ ขี้ลืมไปเลย แบบนี้นะครับ

สรุปนิดหนึ่งว่า การที่เราเจริญสติ อย่างหนึ่งที่จะบอกได้ว่าเป็นแนวทางการเจริญสติที่ไม่ทำให้ขี้หลงขี้ลืม ก็คือ เราต้องมีความพอใจ ที่จะรู้กระทบ อย่างลมเข้าลมออก ก็ถือเป็นกระทบ เพราะมีการกระทบของลมกับร่างกาย ถึงได้มีความรู้ว่านี่หายใจเข้าอยู่ นี่หายใจออกอยู่นะ

เหมือนกัน พอเราไปเอาตาไปดู เอาหูไปฟัง แล้วเอาใจไปคิด เวลาที่มันเกิดการปะทะ ระหว่างความคิดกับจิต ถ้าหากว่าเราไม่มีความพอใจ ที่จะรู้จิตก็จะยู่ยี่ตามความฟุ้งซ่านไป โดนความฟุ้งซ่านขยำจิตให้ยู่ยี่ เป็นเศษผง เศษขยะอะไรไป

แต่ถ้าหากว่า จิตของเรา มีความเบิกบาน มีความแผ่ผาย มีความเต็มดวง เวลาทีความคิดเข้ามา จะเข้ามาแบบแผ่วๆ เหมือนกับแมลงหวี่ แมลงวัน เข้ามากระทบไฟที่ลุกโชนสว่างจ้าอยู่ แมลงหวี่ แมลงวันก็ไหม้ตายกันหมด

ความสว่างนั้น ก็จะเป็นรสชาติที่ทำให้เราเกิดความพึงพอใจ ที่จะเจริญสติ ไม่ใช่บังคับตัวเอง

จำไว้ว่า ถ้ามีอาการบังคับ หรือฝืนใจ บอกฉันจะเจริญสติ แล้วมีอาการอึดอัด ฝืดๆ ขึ้นมา ต้องฝืนอยู่หลายนาที ก่อนที่สติจะเกิดอะไรแบบนี้ เสียงบ่นแบบนั้นแหละ สะท้อนว่าคุณไม่ได้เจริญสติมาตามแนวทางที่จะทำให้เกิดความพอใจ ที่จะรู้ผัสสะกระทบ หรือว่า รู้กาย เวทนา จิต ธรรม

เป็นการเจริญสติมาในแนวที่ ทำให้คิดซ้อนคิด แล้วก็อยาก มีแต่อาการอยากที่จะเจริญสติ แต่ว่าตัวสติ ไม่ได้เกิด วัดได้จากค่าความอึดอัด ยิ่งอึดอัดมากยิ่งแปลว่า เราฝืนมาก พยายามมาก พยายามอย่างสูญเปล่าด้วย

แต่ถ้าหากขึ้นต้นมา คุณมีความเคยชินบอกว่า นี่คือจังหวะที่เราควรจะเจริญสตินะ ฟุ้งซ่านมามากแล้ว แล้วมีความเบิกบานขึ้นมา มีความปลดปล่อย มีอาการที่ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั่วตัวขึ้นมา อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ส่องสะท้อนว่า เรามาในแนวทางของการเจริญสติ แบบที่ทำให้จิตมีความเบิกบาน ทำให้สติมีความเติบโต แล้วก็ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะ พร้อมจะหลั่งสารดีๆ ช่วยให้สมองแล่น แล้วก็ทำให้ระบบหมุนเวียนเลือดอะไรต่างๆ โอเคหมด

จะสรุปเป็นคำให้จำง่ายๆ นะ คือ ถ้าเจริญสติมาถูก คุณต้องไม่ปฏิเสธอารมณ์ ไม่ฝืนกลั้นกับความสุข ความทุกข์ทีเกิดขึ้น อย่างบางคน พอสุขแล้วเกิดความรู้สึกว่า เดี๋ยวจะหลงเพลิน ไปแกล้งกดทับให้อึดอัดเสียอย่างนั้น หรือบางคนเกิดความทุกข์ขึ้นมา แล้วก็สงสัยอยู่นั่นแหละ มัวแต่ค้นหาว่า เอ๊ะ ทำอย่างไรความทุกข์ถึงจะแสดงความไม่เที่ยงออกมา นี่มันกลายเป็นความคิดไป ไม่ใช่เจริญสติ ไม่ใช่รู้ตัวอะไรเลย จิตไม่ได้อยู่ในภาวะพร้อมที่จะเป็นสติ

ถ้าจิตอยู่ในสภาวะพร้อมที่จะเป็นสติ จะต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมยอมรับความจริงที่กำลังเกิดขึ้น ไม่ว่าจะกำลังประสบทุกข์ หรือประสบสุขอยู่ก็ตาม ต้องไม่รังเกียจ ทั้งความสุขที่ล้นหลาม แล้วก็ไม่ไปปฏิเสธหรือว่าบอกว่าตัวเองไม่เป็นทุกข์ เช่น ไม่ได้โกรธ ไม่ได้มีความโลภ ไม่ได้มีความฟุ้งซ่าน ปฏิเสธภาวะที่เกิดขึ้นแบบนี้ ไม่ใช่สติ

สติคือการรู้ตามจริงให้ทัน ว่ากำลังเกิดภาวะอะไรขึ้นกันแน่

แล้วก็มีอีกอันคือ การคิดซ้อนคิด ยอกย้อน ขัดแย้งกับตัวเอง อยากอย่างหนึ่ง แต่ภาวะจริงอีกอย่างหนึ่ง พวกนี้จะติดนิสัยกลายเป็นพวกชอบคิดซ้อน อย่างเวลาทำงานก็จะทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน คิดหลายๆ อย่างอยู่ในหัว ตัวคิดหลายๆ อย่างอยู่ในหัวนี่ก็ตัวการหนึ่งทำให้ขี้หลงขึ้ลืมได้ เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่โฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจริง จะกระโดดไปกระโดดมา แล้วอาการกระโดดไปกระโดดมานี่ทำให้จิตมันเบลอ ไม่ชัด ไม่เกิดภาพจำ พอไม่เกิดภาพจำ พอมันเบลอ สมองก็ทำงานเรรวน

เดี๋ยวสรุปจริงๆ เสียที พูดง่ายๆ อย่าฝึกเจริญสติในแบบที่ เราเก็บกดอารมณ์ ให้รู้อารมณ์ชัด ยอมรับตามจริง ถ้าสมาธิยังไม่ตั้งมั่น ก็ให้อาศัยกายเป็นศูนย์กลางสติไปก่อน อย่ารีบร้อนไปดูจิต

ขึ้นต้นมานี่ ถ้ายังฟุ้งซ่านอยู่ อย่าไปดูความฟุ้งซ่าน ให้หาแนวทาง แนววิธี คุณจะมีแนวทางแนววิธีอะไรก็แล้วแต่ ตามอัธยาศัย แต่ขออย่างเดียวว่า  อย่าไปพยายามทำให้อะไรมันบิดเบือนไปจากความเป็นจริงนะ เอาเป็นข้อสรุปนะครับ
เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเจริญสติในแบบบิดเบือนความจริง เมื่อนั้นจิตของเราจะทำงานผิดปกติทันทีนะครับ!
_________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ฝึกสติแบบไหนไม่ขี้ลืม?
วันที่ 20 มิถุนายน 2020

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=5bFs278Ww58

ถอดความ : เอ้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น