วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563

หงุดหงิดง่าย แก้ไขอย่างไร


ดังตฤณ : เป็นคนหงุดหงิดง่ายจะทำอย่างไร ความหมายก็คือ รู้ตัวนะครับว่าเป็นคนหงุดหงิดง่าย แล้วก็ไม่ชอบที่ตัวเองเป็นอย่างนั้น

การที่คนเราหงุดหงิดง่าย คนที่ถูกรบกวนมากที่สุดก็คือตัวเอง ไม่ใช่คนรอบข้าง เพราะคนหงุดหงิดง่าย ถึงแม้จะไม่มีเรื่องให้หงุดหงิด จิตก็ทำงานของมันเอง ไปในทางที่จะแกล้งให้ไม่มีความสุข ไม่ได้มีความรู้สึกรู้สากับสิ่งดีๆ รอบข้าง

อย่างบางคน มีเยอะเลย ชอบไปเที่ยวไกลๆ ชอบไปทะเล ชอบไปภูเขา ชอบไปน้ำตก แล้วก็ตั้งความหวังไว้มากเลย เดี๋ยววันหยุดจะไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ เสร็จแล้วพอไปถึงที่ ไม่ได้ชื่นชมกับทัศนียภาพตอบด้านหรอก เพราะว่าจิตใจขุ่นมัวออกมาตั้งแต่เดินทางออกจากบ้าน หรือไม่ก็ไปถึงที่ เห็นอะไรขัดหูขัดตาหน่อย หรือได้ยินอะไรไม่เข้าหูหน่อย เกิดความรู้สึกไม่มีความสุข เหมือนกับรสชาติของธรรมชาติหายไปเลย ความสวยงาม ความน่าพิศมัยของสิ่งที่อยู่รอบด้าน กลายไปเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะมองได้เห็นไป เพราะว่าจิตใจขุ่นมัว แล้วก็จิตใจมัวแต่มีความรู้สึกเหมือนกับ มีความคิดที่คล้ายๆ กับหนามทิ่มตำตัวเองให้เกิดความระคายอยู่ตลอดเวลา

คนที่เกิดความระคายทางจิตอยู่ตลอดเวลา เป็นคนที่ไม่มีความสุขในชีวิต คนที่หงุดหงิดง่าย จะพยายามใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต หาทางที่จะทำให้ตัวเองหงุดหงิดน้อยลง ทำให้ตัวเองเป็นคนอารมณ์ดี แล้วยิ่งพยายามมากขึ้นเท่าไหร่ กลายเป็นว่า ยิ่งแกล้งตัวเองให้หงุดหงิดมากขึ้นเท่านั้น

เพราะอะไร เพราะว่า อารมณ์หงุดหงิดง่ายเป็นของสะสมมา บางทีร่างกายให้ความร่วมมือกับจิตใจอย่างดี หรือทำเกินหน้าที่ คือจิตนี่ยังไม่ทันคิดถึงเรื่องไม่ดี หรือเรื่องน่าหงุดหงิด แต่ร่างกายเอาแล้ว แกล้งตัวเองแล้ว มีการหลั่งสารอะไรออกมา ขอโทษนะ อย่างผู้หญิงที่ผมได้ยินมา หลายๆ ท่านเลย บอกว่าช่วงที่ประจำเดือนมา คือจะทรมานมาก ร่างกายคล้ายๆ เป็นนรก ที่แกล้งตัวเองให้เกิดความเดือดร้อนนะครับ สืบไปสืบมา บางทีเกี่ยวพันโดยตรงนะกับเรื่องของอารมณ์

หลายคนเลยที่พอมาเจริญสติปฏิบัติธรรม แล้วอารมณ์เยือกเย็นลง มีความหงุดหงิดน้อยลง มีผลให้ร่างกายเห็นได้ชัดเลยนะ พอประจำเดือนมาอีกที มีความเจ็บปวดน้อยลง มีความทรมานทางร่างกายน้อยลง

เพราะฉะนั้น จะเริ่มจากตรงไหนดี เริ่มจากร่างกาย หรือจิตใจกันแน่ เพราะร่างกายนี่ถ้ากำลังแย่ๆ กำลังมีอาการปั่นป่วนรวนเร จิตใจก็พลอยที่จะหงุดหงิดง่าย รวนเรง่ายไปด้วย แต่ครั้นถ้าจะไปหวังพึ่งร่างกาย ไปพยายามกินหยูกกินยา หรือว่าออกกำลังอย่างเดียว แต่จิตใจยังเหมือนเดิม คิดมาก ชอบคิดถึงเรื่องไม่เป็นเรื่อง เอาเรื่องที่ตกลงใจไปแล้วย้อนกลับมาทบทวนใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า อาการแบบนี้ก็ไปรบกวนร่างกายอีกอยู่ดีถึงแม้ว่าจะพยายามบำรุงรักษาร่างกายอย่างไรก็ตาม

ฉะนั้น คือ  พระพุทธเจ้าบอกว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว เริ่มต้นกันที่จิตน่ะ ถูกแล้ว เริ่มต้นกันที่ความตั้งใจน่ะ ดีแล้ว อย่างคำถามนี้ อาจเป็นคำถามสำคัญ อาจเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตทั้งชีวิตนี้ แล้วก็ไม่ใช่มีผลกับชีวิตเดียวชาติเดียว มีผลกับชาติต่อๆ ไปด้วย เพราะว่าถ้าหากทำชีวิตหนึ่งให้ดีได้ ถ้าเปลี่ยนวิถีทางของจิตใจให้เบี่ยงเบนไปในทางดีขึ้น ไปในทางที่กลับหลังหัน หรือว่ากลับลำได้ ส่วนใหญ่จะเป็นชนวนของนิสัย ในความสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ว่าจะเกิดอีกกี่ครั้ง

วิธีง่ายๆ ที่เรา จะเป็นคนทำให้ความหงุดหงิด อยู่ใต้อำนาจของใจเรา ไม่ใช่ การที่เราตั้งใจจะบังคับให้ความหงุดหงิดไม่เกิดขึ้น หรือมีความคาดหวังว่าจะได้อุบายอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่ทำให้อาการหงุดหงิดง่าย หายไปจากจิตใจอย่างรวดเร็ว ภายในสามวันเจ็ดวัน เพราะอาการคาดหวังแบบนั้น คาดหวังสูงๆ คาดหวังมากๆ ว่าจะเป็นคนหงุดหงิดน้อยลง หรือว่าไม่หงุดหงิดเลย อาการนั้นแหละ เป็นต้นเหตุให้พบกับความผิดหวัง แล้วความผิดหวัง ลองดูใจตัวเองเถอะว่า มันไปกระตุ้นความหงุดหงิดขึ้นมา ไปกระตุ้นโทสะขึ้นมา หรือว่าลดให้โทสะบรรเทาเบาบางลง

จำไว้นะ ความคาดหวังว่าตัวเองจะหงุดหงิดน้อยลง คือส่วนหนึ่งที่เสริมให้หงุดหงิดมากขึ้น

อันดับแรกเลย ต้อง เริ่มจากความเข้าใจ ไมใช่เริ่มจากอุบายวิธี ถ้ามีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า รากฐานของความหงุดหงิด มาจากความไม่ได้อย่างใจ มาจากความคาดหวังลมๆ แล้งๆ มาจากความคาดหวังที่ไม่สมตัว มาจากความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าคุณเข้าใจแบบนี้นะ เท่ากับคุณได้ตัดชิ้นส่วน หรือส่วนประกอบสำคัญของความขี้หงุดหงิดไปแล้ว อารมณ์ขี้หงุดหงิด

ประการที่สอง หลังจากไม่คาดหวัง คุณต้องตั้งใจอะไรอยู่สักอย่างหนึ่ง คนเราบอกว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้วไม่ตั้งใจ ไม่ตั้งเป้าให้ชัดเจน เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับคุณอยากจะไปเที่ยวทะเล แต่ไม่ตั้งใจที่จะเดินทาง คืออยู่ๆ รอว่าวันหนึ่งจะมีพรมวิเศษมาพาหอบไปถึงทะเล เป็นไปไม่ได้ ต้องมีความตั้งใจ ต้องมีทิศทางที่ชัดเจน ว่าเราจะไปทะเลนี่ไปทางไหน ทิศทางของจิต เรื่องของการไปถึงโลกภายในที่เราต้องการ โลกแห่งความสว่าง โลกแห่งความเบา โปร่ง โลกแห่งการไม่มีฝุ่นทรายแห่งความหงุดหงิดซัดอยู่ภายใน โลกแบบนั้นถ้าเราไม่ตั้งเป้า ไม่มีทางไปได้ถึงนะครับ

วิธีที่จะไปได้ถึงโลกที่ไม่มีความหงุดหงิด หรือว่ามีความหงุดหงิดน้อยที่สุด เบาบางที่สุด ก่อนอื่น เราต้องมีความชัดเจนว่า เราพูด หรือว่าเราคิด เราทำอะไรต่างๆ เราจะคิดไปในทางไหน พูดไปในทางไหน

คนมักจะมองว่า อารมณ์หงุดหงิดน่าจะควบคุมได้ มันใจของเรา แต่จริงๆ ไม่ใช่นะ มีผลเสมอจากการที่เรามีวิธีพูด เก็บวิธีพูดแบบหนึ่งไว้กับตัวเป็นสมบัติ เก็บวิธีคิดแบบหนึ่งไว้กับใจ เป็นสมบัติภายใน ถ้าตราบใดเรายังมีสมบัติ อันเกื้อกูลให้เกิดความหงุดหงิดได้อยู่ ตราบนั้น เราจะไม่ได้ชื่อว่า กำลังเดินทางไปสู่โลกภายในที่มันเบา ที่มันโปร่งนะครับ

เวลาพูด เวลาที่เราคิดถึงใครก็แล้วแต่ ลองสังเกตใจตัวเอง คนที่หงุดหงิดง่ายมักจะมีความคิดเล็กคิดน้อย ถ้าเรายังเก็บสมบัติชิ้นนี้ไว้ อาการคิดเล็กคิดน้อยนี่ อย่าหวังว่าจะเลิกหงุดหงิดได้ ทิศทางที่ชัดเจนก็คือว่า เราต้องไม่เป็นคนที่จะหวงอาการคิดเล็กคิดน้อยไว้

ผมใช้คำว่า หวง มักใช้คำว่า หวง เพราะอะไร ลองดูอาการเข้าไปนะ เรามีคุณสมบัติ มีคุณลักษณะอย่างไรทางใจ ตัว อัตตา มันมักจะหวงไว้ มันหวงตัวตน คือทั้งๆ ที่ดูว่า เป็นตัวตนที่ไม่น่ารัก เป็นตัวตนที่ไม่ได้นำความสุขมาให้ตัวเอง แต่ก็หวงไว้ นั่นคือธรรมชาติของ อัตตา
ลักษณะของอัตตา คือ ลักษณะที่จิตไปยึดสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ทำอยู่ พูดอยู่ พูดผิดหรือพูดถูกไม่รู้ รู้แต่ว่าจะยึดไว้อย่างนี้แหละ เป็นตัวฉัน

พูดง่ายๆ ว่า เราให้ค่ากับความเป็นตัวฉัน กับอัตตาของฉันนี่มากกว่าชีวิตที่เป็นสุข คือ ขอให้เอาอัตตาไว้ก่อน ชีวิตจะเป็นทุกข์อย่างไร ช่างมัน

ทีนี้ถ้าเราพิจารณา ลองทบทวนตัวเองดูว่า อยู่ว่างๆ เราคิดเล็กคิดน้อยเกี่ยวกับใครบ้าง แปลว่าคนๆ นั้น กำลังอยู่ในช่วงที่เป็นที่ตั้ง ของอารมณ์หงุดหงิด หรือว่า เหตุการณ์ใด สมบัติชิ้นใดที่เราคิดเล็กคิดน้อย คิดๆ ไม่หยุด คิดถึงสิ่งนั้นทั้งแบบกลับไปกลับมา ทั้งในทางดี ทางร้าย

พอเราได้ความชัดเจนว่า อะไรหรือว่า ใคร เป็นที่ตั้งของอารมณ์คิดเล็กคิดน้อย ก็ให้ยึดไว้เป็นแบบฝึกหัด คือถ้าเราไม่มาร์ก (Mark) เอาไว้ ถ้าเราไม่ไปไฮไลท์ (Highlight) เอาไว้ว่านี่คือแบบฝึกหัด ใจจะคิดไม่เลิก คิดแบบเดิม หวงอาการคิดเล็กคิดน้อยแบบเดิมไว้

แต่เมื่อไหร่เรามาร์กไว้ ว่านี่คือที่ตั้งของอารมณ์คิดเล็กคิดน้อย แล้วเราจะใช้มันเป็นแบบฝึกหัด จิตเราจะต่างไปเลย เวลาที่เกิดการเล็งถึงคนๆ นั้น หรือสมบัติชิ้นนั้น หรือว่าเหตุการณ์นั้นๆ ต่างไปเลยนะ พอมีความนึกถึง แล้วคล้ายๆ อารมณ์แบบเดิมๆ ลักษณะแบบเดิมๆ เข้าใจใช่ไหม เวลาเราคิดเล็กคิดน้อย มันจะหมุนๆ ติ้วๆ แล้วก็นึกถึงทั้งในทางดีทางร้าย เดี๋ยวน้อยใจบ้าง เดี๋ยวรู้สึกเบิกบานใจ สมใจ ชื่นมื่นบ้าง จะกลับไปกลับมา สวิง (Swing) ได้ง่ายๆ 

พอเราได้แบบฝึกหัด แค่วันเดียวนะ จะเริ่มเห็นจิตเห็นใจตัวเองในอีกแบบหนึ่ง
ลักษณะความคิดของเรา ที่มีต่อสิ่งนั้นจะเหมือนกับ เออ นึกถึงคนๆ นี้ สมมติว่า เรากำลังน้อยใจอยู่มีอาการเก็บกด มีอาการน้อยใจอยู่ลึกๆ พอนึกถึงๆ คนๆ นี้ปุ๊บ จะรู้สึกขึ้นมาทันทีว่า แตกต่างไปนะ จิตใจนี่ จากเดิมที่นึกถึงอาหารกลางวัน นึกถึงการเดินทางไปทำงาน นึกถึงการโทรคุยโทรศัพท์กับลูกค้าอะไรแบบนี้ ลักษณะจิตใจจะไม่มีอาการคิดเล็กคิดน้อยแบบนั้น แต่พอคิดถึงคนๆ นี้ขึ้นมาปุ๊บ จะมีอาการสวิง พร้อมจะไปในทางดี พร้อมจะไปในทางร้าย

เราน้อยใจใครได้บ่อยๆ นะ มันมีเหตุผลเสมอ คือเราต้องมีความคาดหวังในตัวเขา หรือว่า มีการฝากใจอะไรบางอย่างไว้กับเขา มันถึงได้น้อยใจขึ้นมาได้ ไม่อย่างนั้น อารมณ์แบบนี้ไม่เกิดขึ้นง่ายๆ หรอก เราไม่ได้ฝากใจไว้กับคนทั้งโลก

ถ้าเราเริ่มสังเกตออกว่า อาการทางใจของเราสามารถผิดปกติ หรือว่าคิดเล็กคิดน้อยได้ขนาดไหน สติ จะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีอาการคิดเล็กคิดน้อย เราจะบอกตัวเองว่านี่กำลังทำแบบฝึกหัดอยู่นะ

ทีนี้ทำแบบฝึกหัด ทำอย่างไร คนส่วนใหญ่จะสั่งตัวเองดื้อๆ ว่า อย่าไปคิดเล็กคิดน้อย ห้ามใจ อย่าไปนึกถึงอะไรแบบเก่าๆ ด้วยวิธีเดิมๆ ซึ่งลักษณะที่เราไปห้ามใจเอาดื้อๆ มันเป็นการเก็บกด ลักษณะของการเก็บกดก็คือ การที่เราอัดไว้ ดันไว้ ทำให้อารมณ์ไม่ดีจริง
จำไว้นะ ถ้าเราห้ามใจตัวเอง พยายามฝืนใจตัวเองที่จะไม่คิดเล็กคิดน้อย จะยิ่งเท่ากับเป็นการสั่งตัวเองให้มีความอึดอัดนะครับ เหมือนกับเราบอกว่า อย่าคิดถึงสีแดงนะ พอโดนสั่งแบบนี้ปุ๊บ มันคิดถึงสีแดงขึ้นมาทันที

วิธีที่ถูกต้องที่จะฝึกเกี่ยวกับอาการคิดเล็กคิดน้อย ก็คือว่า คุณจะต้องมีความสามารถในการ รู้ เป็นอันดับแรกว่า มีอาการคิดเล็กคิดน้อยขึ้นมาแล้ว เกี่ยวกับคนๆ หนึ่ง หรือของสิ่งหนึ่ง

จากนั้นสังเกตว่า อีกลมหายใจหนึ่ง ยังมีอาการคิดเล็กคิดน้อยอยู่มากน้อยแค่ไหน สังเกตนะ ผมให้ใช้ ลมหายใจ เป็นเครื่องกำกับสติ เพราะอะไร พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่างนี้นะ ลองฟังดู ก็คือหลักการเดียวกันนั่นแหละ อาศัยลมหายใจเป็นเครื่องสังเกต เพราะถ้าไม่อย่างนั้น ใจคุณจะล่องลอยไป แล้วก็ไม่มีเครื่องวัดว่าจะให้สังเกตอะไรกันแน่ ดูอะไรกันแน่

แต่ถ้าสังเกตว่า เริ่มมีอาการคิดเล็กคิดน้อย เริ่มมีอาการขุ่นใจ แล้วอาศัยลมหายใจเข้ามาเป็นเครื่องสังเกต ไม่ใช่ไปจ้องลมหายใจนะ แต่ให้สังเกตว่า อารมณ์ในขณะนี้ คิดเล็กคิดน้อย ในลมหายใจนี้ แตกต่างจากอีกลมหายใจหนึ่งมากหรือน้อยแค่ไหน

พอเริ่มมีอาการคิดเล็กคิดน้อยขึ้นมา โอเคอยู่ที่ลมหายใจนี้ ลมหายใจนี้ เป็นลมหายใจแห่งอาการคิดเล็กคิดน้อย เสร็จแล้วต่อมา ยังไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น คือจะเริ่มมีสติขึ้นมา สติที่ยอมรับว่าลมหายใจนี้ เป็นลมหายใจแห่งอาการคิดเล็กคิดน้อย ลมหายใจต่อมา จะบอกเราเองโดยที่ไม่ต้องไปพยายามจ้องดู จะบอกเราเองว่า อาการคิดเล็กคิดน้อยนั้น คล้ายๆ ว่าถูกแทนที่ด้วยสติ ระลึกรู้ว่า ที่ลมหายใจนี้เราคิดเล็กคิดน้อย อีกลมหายใจต่อมา ตัวสตินั้นจะทำให้อาการคิดเล็กคิดน้อยเบาบางลงเอง

เมื่อฝึกอยู่อย่างนี้บ่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นจะแก้ถึงรากของความหงุดหงิดเลย ลงไปถึงรากจริงๆนะ เพราะความหงุดหงิดนี่ เริ่มมาจากอาการคิดเล็กคิดน้อยนี่แหละ พอเราสามารถที่จะมีสติในขณะคิดเล็กคิดน้อยได้ อาการหงุดหงิดจะค่อยๆ หายไปจากใจเอง โดยไม่ต้องไปคาดหวัง โดยไม่ต้องไปพยายาม ที่จะบีบบังคับตัวเองให้เลิกหงุดหงิด
จากนั้นเวลาที่เราพูดกับใคร เวลาที่เรากระทำ ตั้งใจกระทำอะไรกับใคร แสดงออกด้วยภาษาทางกาย เราก็จะค่อยๆ มีสติสังเกตตามเองไปด้วย 

เวลาพูดกับใครบางคน สังเกตไหม จะมีคนสนิท จะมีคนใกล้ชิดอันเป็นที่ตั้งของความรู้สึกเหมือนกับ พร้อมจะของขึ้น พูดกับคนอื่นนี่จ๊ะจ๋า ว่าอย่างไรจ๊ะ สบายดีไหมจ๊ะ แต่พอเจอหน้าคนนี้ ทำไมเพิ่งมา! มันมีความพร้อมจะของขึ้น แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตรงนี้ ถ้าเราเริ่มสังเกตโดยเริ่มต้นจากอาการคิดเล็กคิดน้อย จะค่อยๆ มีสติขึ้นมาสังเกตอะไรแบบนี้ขึ้นมาด้วย

ความเคยชินที่จะหงุดหงิดใส่ใคร ตั้งต้นมาจากอาการคิดเล็กคิดน้อย แล้วแปรรูปออกมาเป็นคำพูดไม่ดี บางทีเรารู้สึก เอ๊ะ ทำไมเรารักใครบางคน ห่วงใครบางคนมาก แต่ชอบพูดไม่ดีกับเขา ชอบทำให้เขาเกิดความรู้สึกขัดเคือง หรือว่า เกิดความรู้สึกแย่ๆ ที่ได้ยินเสียงเรา ที่ได้ฟังเราพูด ก็เพราะว่าห่วงมากเกินไป รักมากเกินไปนั่นแหละ เลยคิดเล็กคิดน้อย แล้วสะสมมา เสร็จแล้วก็แสดงออกเวลาที่เจอหน้าปุ๊บ พร้อมที่จะพูดไม่ดีทันที เห็นไหม ความรักไม่มีค่า ไม่มีความหมาย ที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขนะ ตราบเท่าที่เรายังไม่มีสติ เห็นอาการคิดเล็กคิดน้อย

เมื่อไหร่ที่เรามีสติ เห็นอาการคิดเล็กคิดน้อย ชีวิตทั้งชีวิตจะพลิกไป เปลี่ยนไป ตั้งข้อสังเกตนะ ทิ้งท้ายก็คือว่า ลมหายใจนี้ เป็นลมหายใจแห่งอาการคิดเล็กคิดน้อย อาการคิดเล็กคิดน้อยเป็นอย่างไร รู้ตามจริง ยอมรับไปตามจริง แล้วสังเกตว่าลมหายใจต่อมา อาการคิดเล็กคิดน้อยนั้น มันผ่อนคลายลงไปหรือเปล่า หรือว่ามีอาการกำเริบหนักขึ้น

การเห็นว่าอาการคิดเล็กคิดน้อยไม่เท่าเดิม นั่นแหละ คือสติ จำไว้นะ อันนี้เป็น คีย์ ของพระพุทธเจ้าเลยนะครับ ที่ท่านให้หลักไว้ในการเจริญสติก็คือว่า ถ้าเราเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่เที่ยง แปลว่าเรากำลังมีสติที่จะเห็นความไม่เที่ยงสะสม อนิจจสัญญา หรือว่าความสำคัญมั่นหมาย ว่าอะไรๆ ไม่เที่ยง ตัวนั้น คือสติที่แท้จริงนะครับ!

___________
คำถามเต็ม : เป็นคนหงุดหงิดง่าย จะทำอย่างไร
รายการดังตฤณ Live ครั้งที่ 15 วันที่ 6 พ.ย. 2559
ถอดความ : เอ้


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น