วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ภาวนาแล้วชอบขบฟัน ทำให้รู้สึกอึดอัด เป็นเพราะสาเหตุอะไร

ดังตฤณ : อันนี้ก็เป็นอีกหลักฐานหนึ่งนะว่าการภาวนานี่ ถูกหรือผิดนี่สำคัญ บอกว่าภาวนาแล้วชอบขบฟัน ทำให้รู้สึกอึดอัดเป็นเพราะสาเหตุอะไร

เพราะว่าเราตั้งใจไว้ผิด มีทิศทางของการภาวนาที่ผิดตั้งแต่เริ่มเลย 

ภาวนานี่ ถ้าจะเจริญสติแบบพุทธนะครับ คือ ให้รู้ตามเป็นจริงที่มันกำลังเกิดอะไรขึ้นให้รู้ แต่นี่ส่วนใหญ่ยังไม่มีอะไรให้รู้ หรือยังไม่พร้อมที่จะรู้อะไร ก็จะไปเร่งให้มันเกิดขึ้น หรือไปพยายามให้มันเป็นไปตามสเปคแบบที่เขาบอกๆ กันว่ามันต้องอย่างนั้น มันต้องอย่างนี้ เสร็จแล้วจิตแทนที่จะเปิด แทนที่มันจะสบาย มันก็เกิดภาวะหดตัว

จิตนะ พอมันหดตัว ก็จะลากสภาวะทางกายให้เครียด ให้เกร็ง ให้ตึงไปด้วย แล้วภาวะเครียด ภาวะเกร็งเหล่านั้นนี่ ก็สะท้อนออกมาด้วยการขบฟัน

ทีนี้เอาใหม่ ลองเหมือนกับเราเริ่มภาวนาจากจุดนี้ ตรงนี้แหละ ถ้ารู้ตัวว่ากัดฟัน ไม่ต้องไปภาวนาอย่างที่กำลังพยายามตั้งใจ ไม่ว่าจะดูลม ไม่ว่าจะไปบริกรรมพุทโธหรืออะไรก็ตาม

เปลี่ยนมาดูอาการขบฟัน หรือกัดฟันนั่นแหละ ให้ยอมรับตามจริงไปว่ากำลังกัดฟันอยู่ ร่างกายกำลังมีอาการเกร็งอยู่ จากนั้นสำรวจว่าในอาการขบฟันนั้น มีส่วนอื่นส่วนไหนของร่างกาย ที่มีความเกร็งอยู่บ้าง สำรวจไปก่อนเลย ฝ่าเท้า ถ้านั่งอยู่ วางฝ่าเท้าราบกับพื้นนี่ ดูสิว่ามันจิกพื้น หรือว่ามันวางราบกับพื้นสบายๆ

ถ้าจิกพื้นอยู่ เอ้า นี่ดูรู้เลยว่า เราควรจะวางให้ราบกับพื้นสบายๆ ต่างหาก บอกตัวเองอย่างนี้ เสร็จแล้วไล่ขึ้นมาดูฝ่ามือ ฝ่ามือนี่กำอยู่ เกร็งอยู่ หรือว่าผ่อนคลายสบายอยู่

ถ้าหากว่ามันผ่อนคลายสบายอยู่ แสดงว่าโอเค เริ่มโอเค แล้วสำรวจขึ้นมาใบหน้า หน้าผากตึงๆ ไหม หรือขมับบีบๆ ไหม ถ้าบีบๆ อยู่ ก็เหมือนยืดหน้าขึ้นไปหาท้องฟ้า ดูว่าจริงๆแล้ว เราไม่ต้องขมวด เราไม่ต้องเคร่งก็ได้

นี่ ไล่มาสำรวจ ฝ่าเท้า ฝ่ามือ แล้วก็ใบหน้านะ ในขณะที่กำลังขบฟันนี่

ถ้าหากว่า ฝ่าเท้า ฝ่ามือ และใบหน้าของเรามันผ่อนคลายออกได้ ฟันก็จะหายขบ จะเลิกกัดเช่นกันนะครับ


อันนี้ ลองสังเกตดูนะ นี่คือความสำคัญระหว่างร่างกาย กับภาวะของใจนะ!

______________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ฝึกสติแบบไหนไม่ขี้ลืม?
วันที่ 20 มิถุนายน 2020
รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=hu_46cCRqXs
ถอดความ : เอ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น