ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ
คืนวันเสาร์ 3 ทุ่ม สำหรับคืนนี้ก็มีหลายประเด็นเลยนะครับ ที่จะมาแจ้งกัน
ท็อปปิคของวันนี้จริงๆ แล้วก็คือ สรุปสติปัฏฐาน
4 ที่เราได้ทำกันมาตามลำดับหลายเดือนที่ผ่านมานะครับ
ที่ขึ้นหัวข้อไว้ว่ารู้ชาตินี้ ได้ชาตินี้ ย่อมาจากสเตตัสเมื่อเช้านี้
ที่เขียนไว้
รู้ชาติอื่น ได้ชาติอื่น รู้ชาตินี้ ได้ชาตินี้
.. ก็คือได้เข้าใจถึงธรรมะที่เป็นแก่นสารของพระพุทธศาสนา
ถ้าไปรู้ชาติอื่น ก็ได้ชาติอื่นนะ
ได้อะไร ได้เป้าหมายของพุทธศาสนา คือความสิ้นทุกข์สิ้นโศกนั่นแหละ
แต่ถ้ามีวิธีใดวิธีหนึ่ง
หรือว่ามีความเต็มใจของคุณ มารองรับในชาตินี้เลย ที่จะรู้ให้ได้ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนอะไรไว้
ก็มีสิทธิ์ถึงหรือว่ามีสิทธิ์ได้ในชาตินี้เลย ได้ความพ้นทุกข์ ได้ใบรับประกันจากพุทธศาสนาว่า
คุณจะไม่ต้องเดินทางยาวเกินไปนัก
หลายคน หลังจากที่ได้ปฏิบัติกันมา ก็จะได้เห็นนะครับว่าเรามีความก้าวหน้าแค่ไหน
ตามปัจจัยของแต่ละคน
บางคนบอกว่าเข้าใจแล้ว แล้วก็ทำได้แล้ว รู้แล้วว่าพระพุทธเจ้าสอนสติปัฏฐานมาตามลำดับอย่างไรนะครับ
แต่บางคนก็บอกว่ายังงงๆ แล้วก็มีความรู้สึกเหมือนกับว่า
ทำไม่ได้ ทำไม่ดีหรือว่าทำไม่ได้ผลตลอด บางทีมีสะดุด บางทีมีความรู้สึกว่าไปไม่ได้ถึงไหน
เราจะมาแก้ปัญหาตรงนี้กัน
ปัจจัยสำคัญที่สุด คือความเต็มใจ
แต่ความเต็มใจ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ละคนไม่เหมือนกัน
เรามาเริ่มต้นกันที่ตรงนี้ก่อน ดูว่าที่ผ่านมา เราทำอะไรกันมาบ้าง
แล้วก็ถ้าหากว่ามองเป็นภาพรวมแล้ว เรายังค้างเติ่งอยู่ที่จุดไหน หรือว่าเรามาไกลจนถึงจุดไหนของโรดแมปแล้ว
เรามาดูสิ่งที่เรียกกันว่า สติปัฎฐาน 4
สติปัฎฐาน 4 พูดง่ายๆ ที่สุดเลยก็คือ เอากายนี้
ใจนี้เป็นที่ตั้งของสติ
แต่ถ้าเราจะพูดให้ครบๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจจริงๆ
ว่าเวลาปฏิบัติ เขาลงมือปฏิบัติกันอย่างไร เราต้องแยกนะ จำเป็นต้องแยกออกเป็น
การรู้ กาย
การรู้ ความสุขทุกข์ หรือที่เรียกว่า เวทนา
การรู้ จิต เหมือนกับรู้วาระจิตของตัวเอง
บางคนไม่เคยรู้เลยว่าตัวเองคิดอะไร
รู้แต่ว่าอยากได้อะไร แต่ไม่เคยรู้เลยว่า มีการปรุงแต่งทางใจ เป็นความคิดดีหรือคิดร้าย
มีแต่ความรู้สึก คล้ายๆ กับกำแพงมาบัง .. ความอยากโน่นอยากนี่
เหมือนกำแพงมาบัง ไม่ให้เห็นจิตตัวเองว่ากำลังสว่างหรือมืด รู้แต่ว่านี่แหละ ใจของฉันคิดอย่างนี้เสียอย่าง
ใครจะทำไม
ทีนี้ถ้ามารู้กาย รู้เวทนา รู้จิต ก็จะมีความเข้าใจตัวเองมากขึ้น
อย่างน้อยที่สุดนะ ตอนที่รู้จิตนี่ คำว่ามีสติรู้จิตนี่นะ รู้ว่าจิตกำลังมืดหรือสว่าง
กำลังมีกิเลสหรือไม่มีกิเลส
บางคนบอกฉันไม่มีกิเลสเลย ทั้งๆ ที่กำลังมีกิเลสท่วมหัวใจอยู่
แต่มองไม่ออก อ่านไม่ขาด เพราะว่าไม่ได้ฝึกสติ มาตามขั้นตามตอน
บางคนพยายามจะอ่านจิต เริ่มต้นจากการอ่านจิตตัวเองก่อนเลย
แล้วอ่านไม่ออก เพราะว่าไม่มีฐานที่จะดันขึ้นมาตามลำดับขั้น
ทีนี้ ถ้าหากว่าเรารู้มาตามลำดับ รู้อย่างไร?
รู้กาย ก็คือรู้ลมหายใจ รู้อิริยาบถ รู้นิมิตกายไม่เที่ยง
อย่างที่เราเคยเห็นกันมานะครับ รู้ลมหายใจรู้อย่างไร
รู้แบบที่เราตั้งต้นจากการนั่ง คอตั้งหลังตรง ก่อน หรือใครจะเอียง หรือใครจะอยู่ในอิริยาบถที่ถูกกับร่างกายของตัวเองอย่างไร
แต่อย่างน้อย คอตั้งหลังตรงนี่สำคัญ
ถ้าหากว่าเราสามารถรู้สึกถึงลมหายใจ ที่ไหลเข้าไหลออกในอิริยาบถปัจจุบันที่คอตั้งหลังตรงอยู่
จะรู้ทั้งลมหายใจและอิริยาบถไปพร้อมกันนะครับ
อันนี้ ก็เป็นสิ่งที่เมื่อปฏิบัติไปแล้ว เห็นทั้งตัวนะ
อย่างอิริยาบถนี่ ก็เริ่มฝึกจากการเดินจงกรม รู้เท้ากระทบ พอรู้ลมหายใจชัด ก็จะรู้เท้ากระทบไปได้ไม่ยาก
ไม่ต้องเค้น ไม่ต้องพยายามตั้งสติอะไร ก็รู้สึกถึงผัสสะเท้ากระทบได้เอง
พอไปประยุกต์เข้ากับการรู้อิริยาบถ ความเคลื่อนไหวต่างๆ
ในชีวิตประจำวัน ก็จะกลายเป็นความสามารถที่จะรู้เข้ามาในกาย อันเป็นปัจจุบันได้เรื่อยๆ
จากนั้น ก็จะเริ่มเห็น .. ถ้ามีความเข้าใจ .. จะเริ่มเห็นว่าสิ่งที่เราหายใจเข้าหายใจออก
เข้ามาอยู่เรื่อยๆ ถ้าสังเกตดูดีๆ จะมีลักษณะเป็นโครงกระดูกไม่ใช่เป็นก้อนอะไรตันๆ
ก้อนหนึ่ง แบบที่เกิดความเข้าใจมาตั้งแต่เด็กๆ
คนเรา จะถูกความรู้สึกในตัวตนครอบงำ และทำให้เห็นไปว่า
มีอัตตามีตัวตนอะไรของเราก้อนหนึ่ง
แต่ถ้าหากว่าเรียนรู้ที่จะดูเข้ามา ตั้งสติดูลมหายใจ
ดูอิริยาบถปัจจุบันเรื่อยๆแค่มีการหายใจเข้า รู้สึกถึงอาการที่ซี่โครงพะเยิบพะยาบ
พะเยิบพะยาบออก พะเยิบพะยาบเข้า นานๆ ไปกลายเป็นเห็นกะโหลก
เห็นกระดูกแขนกระดูกขาตามมาด้วย
ยิ่งถ้าหากว่าเดินจงกรมได้ดีๆ จะเห็นโครงกระดูกเดินได้อยู่ตลอดเวลา
อันนี้ก็เป็นส่วนของกายนะครับ
เรากำลังมาทำความเข้าใจนะว่า ที่ผ่านมาเราเห็นอะไรกันมาบ้าง
แต่จริงๆไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นอย่างละเอียดตามลำดับ ขอเพียงว่าเราเข้าใจ ว่ารู้อย่างไร
รู้เข้ามาที่ความเป็นที่ตั้งปัจจุบันของท่าทาง ว่ามีจุดเริ่มต้นที่เราสังเกตได้จากการหายใจเข้าออกนั่นแหละ
ที่คอตั้งหลังตรงนี้แหละ
ถ้าเอาได้แค่นี้นะว่า เรารู้สึกถึงอิริยาบถปัจจุบัน
ว่ากำลังอยู่ในท่าทางไหน หายใจเข้าหรือหายใจออก อันนี้แค่นี้เรียกว่ารู้กาย ไม่ว่าจะรู้ลงไปได้ละเอียดกว่านี้
หรือว่ารู้ได้แค่ประมาณนี้ ถือว่ารู้กายในสติปัฏฐาน 4 แล้ว
ต่อมา .. รู้เวทนา
การรู้เวทนา ก็คือการที่เราเห็นว่า ร่างกาย หรือว่าจิตใจ
กำลังอยู่ในความสบาย หรือว่าอึดอัดเป็นทุกข์อยู่ พอรู้สึกถึงความสบาย และอึดอัดได้
ก็จะเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง อย่างนี้เรียกว่ารู้เวทนา
ส่วนรู้จิตก็คือ พูดง่ายๆ รู้ว่ากำลังมีกิเลส หรือไม่มีกิเลส
แบ่งออกเป็น จิตมีราคะ หรือไม่มีราคะ พอเห็นจิตมีราคะด้วยสติ
และราคะนั้นไม่แรงเกินไป ราคะก็จะหายไปจากจิตให้ดู
เห็นเทียบเคียงได้เลยว่า
จิตมีราคะ กับจิตไม่มีราคะ แตกต่างกันอย่างไร
จิตมีโทสะ กับจิตไม่มีโทสะต่างกันอย่างไร
แล้วในที่สุดก็จะเห็นว่า จิตทุกดวงไม่เที่ยง
พอเราได้เบสิค ที่จะรู้ครอบคลุมทั้ง 3
ที่ตั้งของสตินี้
คือ กาย เวทนา และจิต
เราก็ถึงจะพร้อมรู้ธรรม พร้อมรู้สภาพธรรม
อย่างพอรู้เวทนาไป กับรู้ภาวะจิต จะใกล้เคียงกัน
ถ้าหากว่าดูเป็นความเทียบเคียงกับลมหายใจนี่ ถ้าเรามีจิตที่เปี่ยมไปด้วยกิเลส
จะเหมือนกับมีอะไรมาบดบังลมหายใจ เราจะเห็นได้ชัด
ถ้าฝึกดูลมหายใจมา ก็เอามาประยุกต์ได้ เราจะเห็นเลยว่า
ลมหายใจของเรา เต็มไปด้วยสิ่งบดบัง
แต่ถ้าหากว่าคลี่คลายออกไปได้ ก็จะเหมือนกับม่านหมอกเหล่านั้นสลายตัวให้เห็นคาตานะครับ
แล้วก็ลมหายใจจะปรากฏชัดขึ้นมาทันที
อย่างนี้นะเรียกว่าเราสามารถเห็นภาวะจิต หรือภาวะของตัวเวทนา
ทุกข์สุขได้ จากการเข้ามาดูลมหายใจนี่แหละ
แต่คนมักจะจ้องแค่ลมหายใจอย่างเดียว ก็เลยไม่ได้สังเกตว่าจริงๆ
แล้ว มีตัวสุขตัวทุกข์ หรือว่าตัวจิตที่มีกิเลส หรือไม่มีกิเลส ปรากฏพร้อมกันอยู่ด้วยในลมหายใจหนึ่งๆ
ถ้าไม่มีกิเลส พูดง่ายๆ ก็คือจิตจะปลอดโปร่ง และเห็นลมหายใจง่าย
แต่ถ้าหากว่าจิตอุดมไปด้วยกิเลส ในที่สุดแล้ว ลมหายใจก็จะถูกบดบังด้วยหมอกที่
ถ้าสังเกต .. แค่สังเกตเข้าไป จะได้อะไร
ได้เห็นจิต ได้เห็นเวทนา .. ไม่ได้สูญเปล่านะครับ
ไม่ได้เสียเปล่าอะไรไป
ทีนี้ ประเด็นคือ พอเราได้จิตที่ปลอดโปร่งจากการดูลมหายใจไปนานๆ
เข้า ก็สามารถที่จะเห็นกายใจโดยความเป็นรูปนามได้ทั้งแท่ง ซึ่งอันนี้แหละก็คือถึงจุดที่เราสามารถเห็นกายใจ
โดยความเป็นธรรม หรือหมวดธัมมานุปัสสนา
หมวดธรรม ดูแล้วอาจจะแยกออกได้เป็นหลายข้อ ดูแล้วไม่ค่อยจะเข้าใจเท่าไหร่
แต่ถ้าหากว่า เราเอาง่ายๆ การเห็นกายใจโดยความเป็นรูปนาม
ขึ้นต้นจากจิตที่มีความผ่องใส ไร้นิวรณ์ คือพูดง่ายๆ ว่ามีความผ่องใสพอที่จะเห็นสภาพกายภาพใจ
โดยปราศจากอคติ ไม่มีกิเลสใดๆ เคลือบแฝง
อย่างนี้ ถ้าหากว่าเราดูด้วยความเป็นขันธ์ 5
เราก็จะเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ 5 ว่าไม่เที่ยง
ถ้าดูด้วยความเป็นอายตนะ 6
อันเป็นที่ส่งแรงดึงดูดให้เกิดความยึดติด เป็นสังโยชน์ เราก็จะเห็นนะว่า ที่รู้สึกเป็นตัวเป็นตนอยู่นี่
ก็เพราะว่ามีอะไรยึด มีอะไรโยงอยู่ ระหว่างสภาพกายนี้ ..
ตา หู จมูก ลิ้น กาย กับ สภาพภายนอกที่เป็นรูป เสียง
กลิ่น รส รวมทั้งความคิดที่มากระทบจิต มากระทบใจ
หากว่าเราเห็นว่า สังโยชน์ เป็นแค่อาการยึดอาการโยง
เห็นบ่อยๆ จนกระทั่ง สังโยชน์เหือดแห้งไปชั่วคราวได้
เราก็จะรู้สึกว่า กายนี้ใจนี้ สักแต่เป็นรูปนาม ไม่มีตัวตนขึ้นมาเอง
เสร็จแล้วก็มาถึงความพร้อมทิ้ง ..โพชฌงค์ 7.. พร้อมทิ้งอุปาทาน
ซึ่งก็กล่าวถึงกันไปแล้ว คราวที่แล้ว ที่เราจะพูดถึงสิ่งที่มาประกอบกับจิตให้พร้อมตรัสรู้ธรรม
โดยพระพุทธเจ้าตรัสว่า จะเกิดขึ้นพร้อมกับอานาปานสตินั่นแหละ
ถ้าหากเกิดขึ้นอย่างถูกต้อง จะน้อมไปในทางการสละ
ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือว่าจิตมีความใสเบา พร้อมทิ้งนั่นเอง
พอเรามีความใส มีความเบา พร้อมทิ้ง ก็จะเข้าถึงมรรคมีองค์
8 นะครับ ซึ่งถ้าเอาง่ายที่สุดเลย ก็คือว่ามีสัมมาทิฏฐิในระดับของจิต
การมีสัมมาทิฏฐิในระดับของจิต เดี๋ยวเราจะมาพูดกันในลำดับต่อไป
เพื่อที่จะได้เห็นจริงๆ นะว่าคุณมาถึงตรงนี้ สัมมาทิฏฐิของคุณเข้าไปประดิษฐานอยู่ในจิตแล้วหรือยัง
__________________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน
รู้ชาตินี้ได้ชาตินี้
- ช่วงเกริ่นนำ
วันที่ 23 ตุลาคม 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=TQ0VADgr1VI