วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564

01 วิธีดูสังโยชน์ : เกริ่นนำ

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ 

สำหรับคืนนี้ก็เป็นเรื่องของ การดูสังโยชน์

 

ถ้าหากใครไม่เคยได้ยินคำนี้ หรือว่าไม่รู้ความหมาย ก็เอาง่ายๆเลย

 

ถ้าคุณดูเป็นนะครับ สิ่งที่จะรู้สึกเป็นธรรมดาก็คือ กายใจนี้ เป็นอนัตตาอยู่แล้ว 

แต่ที่เรารู้สึกว่าเป็นอัตตา เป็นตัวตน ก็เพราะว่าสังโยชน์ นี่แหละ 

หลอกเรา ยึดไว้ บงการให้ใจเราอยู่ในอาการยึด

 

อาการยึด ถ้าหากว่ายังมีอยู่ตราบใด

ตราบนั้นกายใจนี้ จะให้ความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนเสมอ

 

พอเราดูสังโยชน์เป็น อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนมาตามลำดับ

ก็จะได้เข้าใจจริงๆ นะครับว่า การที่เราจะมีจิต รู้ตรง รู้ถูก รู้ชอบ

อย่างที่เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นสัมมาสติจริงๆ

ประสบการณ์ภายใน จะเป็นอย่างไร

 

ศาสนาพุทธ สอนให้พ้นทุกข์ ด้วยการรู้ว่ากายใจไม่น่ายึด

แต่สังโยชน์ ก็จะสั่งให้เรายึด

 

ที่ศาสนาพุทธบอกว่ากายใจไม่น่ายึด

ก็เพราะว่า มันเป็นของหลอก ไม่ใช่ของเราจริง

และวิธีที่จะรู้ ก็คือต้องเจริญสติปัฏฐาน 4

รู้กายใจเป็นรูปนาม ว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน

อย่างที่เราเคยฝึกมา ดูขันธ์ 5 ดูอะไรต่อมิอะไรไป

 

ลมหายใจ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์

 

การดูกายใจ หรือว่าที่เรามาเจริญสติปัฏฐาน 4

ก็เพื่อให้เห็นว่า มีรูปกายแบบนี้เป็นตัวตั้ง

แล้วก็มีนามธรรม ที่เป็นผมวาดภาพไว้อยู่ข้างหลัง

ไม่มีหน้าตาชัดเจนแบบตัวร่างกาย


นามธรรม ตัวนาม นี่ จะไม่เหมือนรูป

 

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ จากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ นะ

 

เวลาคุณมองใครบางคน คุณรู้สึกว่ารูปร่างหน้าตาของเขา ไม่ตรงความจริง 

หน้าตาดูไม่หล่อ ดูไม่สวย แต่คุณรู้สึกถึงออร่าผ่องๆ 

เวลาที่มีการสนทนา หรือว่าคลุกคลี รู้จักมักคุ้นไปสักพัก คุณจะอยากพูดบ่อยๆว่า 

ข้างในของเธอ หล่อสวยกว่าตัวจริง รู้สึกอย่างนั้น อยากพูดอย่างนั้น

 

ตัวนี้ก็คือว่า ข้างในไม่เหมือนข้างนอก

 

หรือบางคน ข้างนอกดูสุกใส ข้างในเป็นโพรง

 

ถ้ามองตรงๆ จะรู้สึกว่าหล่อ รู้สึกว่าสวย แต่ถ้านั่งข้างๆ กัน นั่งเคียงข้างกัน 

แล้วคุณไม่เห็นหน้าตาตรงๆ จะมีความรู้สึกเหมือนกับนั่งอยู่กับผ้าขี้ริ้วที่สกปรก

 

รู้สึกว่าไม่มีความสวยไม่มีความหล่อ อย่างชนิดที่ว่าคุณต้องแอบเหลียวไปมองว่า 

ตกลงรูปร่างหน้าตาคนที่นั่งอยู่ข้างๆ เรา หล่อหรือว่าสวยจริงๆรึเปล่า จะสัมผัสรู้สึกถึงใจที่สกปรก

 

เรียกว่าจริงๆ แล้วเราสามารถเห็นได้ สามารถสัมผัสรู้สึกได้ ว่า

ข้างในดูดี มีความสว่าง หรือว่าดูแย่ มีความมืดบอด มีความมัวหม่นนะ

 

กายใจนี้ ตัวกาย ยังแบ่งย่อยๆ ได้อีกว่า เป็นลมหายใจ เป็นตัวร่างกาย แขนขาเนื้อตัว

 

แล้วถ้าพูดถึงใจ ก็ยังแบ่งแยกออกไปได้อีกนะครับ

ว่าเป็นส่วนของความรู้สึก เป็นสุขเป็นทุกข์

เป็นส่วนของความจำได้หมายรู้ ว่าตัวเองเป็นใคร

ต้องการอะไร มีเป้าหมายอะไรในชีวิต

 

หรือว่ามีความรู้ความจำ แบบที่ว่ายึดมั่นถือมั่น ว่านี่ตัวกูแน่ๆ เหนียวแน่น

หรือว่ามีความสำคัญมั่นหมายว่า ตัวเราวันหนึ่งก็ต้องแก่ตาย

อะไรๆ ไม่เที่ยง นี่ก็เป็นความสำคัญมั่นหมายเหมือนกัน

 

ส่วนสังขารขันธ์ ก็เป็นส่วนที่นึกคิด

เอาง่ายๆ ที่สุดที่ท่านว่าไว้ก็คือ คิดดีคิดชั่ว

 

ถ้าหากคิดดีบ่อยๆ คิดดีเป็นประจำ

คุณก็จะรู้สึกถึงตัวนามธรรม ตัวของใจ ที่สะอาด ที่สว่าง

 

แต่ถ้าคิดชั่วบ่อยๆ ชอบพูดอะไรเพ้อเจ้อ

ชอบนินทาว่าร้าย ส่อเสียด พูดจาหยาบคายเป็นประจำ

ต่อให้รูปร่างหน้าตาสวยหล่อ ข้างในก็จะให้ความรู้สึกสกปรก

 

เหมือนกับที่ .. เจ้าตัว บางทีนะคนชมว่าสวย คนมาชมว่าหล่อ

แต่ข้างในจะรู้สึกค้าน รู้สึกว่าไม่ปลื้มตามคำชม

มีความรู้สึกว่าปลอมๆ ไม่จริงอยู่ลึกๆ

ถึงแม้ว่า จะภูมิอกภูมิใจกับรูปร่างหน้าตาภายนอก

แต่ว่าภายในจะรู้ตัวเองว่า ไม่ได้น่าปลื้มแบบนั้น

 

นี่ก็เรียกว่า พอพูดถึงคำว่า กาย-ใจ มีอะไรให้ดูเยอะ

แล้วก็ถ้าหากว่าเราดูเป็น เราก็จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวตน

 

แต่ถ้าดูไม่เป็น ดูตามความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น

ดูตามอาการเหนียวแน่นของสังโยชน์

ก็จะรู้สึกอยู่วันยังค่ำว่า นี่กายของเรา ใจของเรา

 

แล้วก็ไม่ว่าจะไปมีกายใจมนุษย์แบบนี้ อีกกี่ล้านครั้ง

หรือว่าแปรไปเป็นกายใจแบบอื่น ที่สุกสว่างกว่านี้ หรือว่าที่มืดหม่นกว่านี้

ก็จะตามยึดไป ทั้งๆ ที่จำไม่ได้ บอกไม่ถูกแล้ว

ว่าเคยเป็นอะไรมา เคยทำอะไรมาบ้าง

แต่ว่าเอาเฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้น เหมือนกับพวกเราอยู่ในความฝัน

ฝันว่าเป็นตัวอะไรขึ้นมาก็ยึด แล้วก็เชื่อ ปักใจเชื่ออยู่อย่างนั้น

ว่า เป็นตัวนี้แน่ๆ

 

การที่ได้มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ มีพระพุทธศาสนา มีพุทธกาลขึ้นมา

นานๆ ที มาที มาเพื่ออะไร

เพื่อที่จะมาชี้ว่า กายนี้ใจนี้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

 

แล้วเมื่อเราอยู่ในภพมนุษย์ มีโอกาสพบพุทธศาสนา

นี่เป็นช่องทางแคบๆ เลยนะ ที่จะออกจากสภาพทุกข์

ที่เรียกว่า เป็นกายเป็นใจ

 

ออกจากความก่อรูปก่อร่างเป็นกายเป็นใจนี้ได้

ก็ด้วยจังหวะที่มีพุทธศาสนาขึ้นมา

 

พุทธศาสนา จนถึง พ.ศ. 2564 นี่ยังไม่สูญสิ้นนะ

แต่พระศาสดาสิ้นไปแล้ว

และข้อเสียของการภาวนาหลังสิ้นพระศาสดาก็คือ

ไม่รู้จะเชื่อใครดี ไม่รู้ว่าทำแบบไหนถึงจะใช่

 

แต่ข้อดีของยุคเรา ยุคอินเทอร์เน็ต ก็คือว่า

สืบง่ายว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างไร

 และถ้าคลำทางเจอ จุดชนวนแบบพุทธติด คุณจะไม่ลืม

 

แล้วของนี้ ก็จะเป็นของติดตัวไว้ใช้ได้ตลอดชีวิต

อีกทั้งจะเป็นเงาตามตัวไปถึงชาติหน้าด้วย

เพราะชาตินี้ คุณจะอ่านพุทธพจน์เกี่ยวกับการภาวนารู้เรื่องหมด

เหมือนกับได้เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าโดยตรง

 

ใครได้เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าโดยตรง ถือว่ามีวาสนากับพระพุทธเจ้า

โอกาสที่เกิดใหม่ จะได้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าอีก

หรือกระทั่งได้พบพระองค์จริง ของพระพุทธเจ้าองค์ถัดไป

ก็มีอยู่สูงนะครับ

 

แต่ถ้าหากว่า เราสำคัญว่าตัวเองเป็นชาวพุทธ

แล้วก็ใช้วิธีอธิษฐานเอา ขอว่าเกิดใหม่เกิดชาติหน้าฉันใด

ขอให้ได้พบพระพุทธเจ้า ขอให้ฟังธรรมต่อเบื้องพระพักตร์

แต่เสร็จแล้วไม่ได้ทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนแม้แต่นิดเดียว

 

ทาน ก็ไม่ให้ มีความตระหนี่ ขี้งก

ศีล ก็รักษาไม่ได้ซักข้อ

ยิ่งภาวนา ยิ่งไม่รู้เรื่องเลย ว่าเขาทำสมาธิกันไปทำไม

สมาธิแบบพุทธเป็นอย่างไร

งานเจริญสติแบบพุทธ ต่อยอดจากสมาธิไปอย่างไร ไม่เคยรู้เรื่องเลย

 

รู้เเต่ว่าฉันจะนับถือพระพุทธเจ้า

เราเป็นสาวกที่บูชาพระศาสดา คือพระพุทธเจ้า เป็นสรณะสูงสุด

แล้วก็อธิษฐาน สวดมนต์ทีไร ก็อธิษฐาน

ขอให้ได้พบพระพุทธเจ้าในชาติหน้า

พระศรีอาริย์พระพุทธเจ้าคืออะไร จริงๆ ใจไม่เคยรู้เลย

รู้แต่ว่าดี รู้แต่ว่าศักดิ์สิทธิ์ รู้แต่ว่าใครๆ ก็ขอไปพบกัน

 

แต่พระพุทธเจ้า สอนอะไร

พระพุทธเจ้าองค์นี้ สอนอะไร

พระพุทธเจ้าองค์หน้า จะสอนอะไรและให้อะไรเราได้ ไม่รู้เลย

 

ก็เชื่อตามๆ กันว่า บางทีก็บอกว่าสวดมนต์บทนั้นบทนี้

แล้วจะได้พบพระพุทธเจ้า หรือได้เข้าถึงมรรคผลนิพพานง่ายๆ

โดยไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าสวดมนต์ อย่างนี้ก็เยอะนะครับ

 

อันนี้ คือที่พูดมาก็เพื่อจะบอกว่า

พวกเราถือว่ามีวาสนากับพระพุทธเจ้าแล้วนะ ที่ฟังๆ กันอยู่นี้

ก็เชื่อได้ระดับหนึ่งแหละว่า ที่ฟัง

ก็เพราะว่าเรามาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าร่วมกัน

 

คืนนี้ ก็ถือว่าเป็นคืนที่ การปฏิบัติอาจเข้าขั้นแอดวานซ์นิดหนึ่ง

ไม่ถึงกับยากมาก ไม่ยากหรอก ถ้าคุณไม่ฟุ้งซ่าน

แล้วก็ช่วงทำสมาธิสามารถรู้สึกถึงลมหายใจได้นะครับ

ก็เป็นไปได้ที่เราจะเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับสังโยชน์ร่วมกัน

____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีดูสังโยชน์

- ช่วงเกริ่นนำ

วันที่ 2 ตุลาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=VPfQqpdfkKw&t=381s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น