วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2564

05 พร้อมรู้ว่าไม่มีตัวตน : แอนิเมชัน ทำสมาธิร่วมกัน

ดังตฤณถ้าหากคุณเข้าใจธรรม ถ้าหากคุณปฏิบัติ

จนกระทั่งรู้ว่าพระพุทธเจ้า ต้องการให้อะไรกับคุณจริงๆ

 

มาถึงจุดนี้ เวลาสวดมนต์ คุณจะรู้สึกว่าสวดด้วยอาการขอบคุณ

ขอบพระทัย ในความมีพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าจริงๆ

 

เมื่อคุณสวดมนต์ด้วยอาการขอบคุณ ขอบพระทัยได้

ออกมาจากแก่นของใจ

เมื่อนั้น คุณได้ชื่อว่าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าจริงๆ

ไม่ใช่เป็นสาวก ด้วยการบอกว่า ฉันเป็นพุทธมามกะ

ไม่ใช่ด้วยการที่ประกาศกับใครต่อใครว่า ฉันเป็นชาวพุทธ

 

แต่เป็นการที่จิต มีความรู้สึกว่า สวามิภักดิ์ต่อธรรมะ

แล้วก็มีความสว่างในแบบที่จะสืบสานธรรมะของพระพุทธเจ้า

จะกี่พันปีล่วงไป ธรรมะนี้ก็ยังสถิตย์อยู่ในใจของชาวพุทธ

ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้

มีความสามารถที่จะสืบสานพระธรรมคำสอนของพระองค์ได้

 

ใจของคุณ เวลาที่รู้สึกขอบพระทัย หรือว่าขอบคุณพระพุทธเจ้าจริงๆ

จะมีความอ่อนโยน จะมีความโน้มน้อมที่จะก้าวลงสู่ความสงบ

เป็นสมาธิได้ง่าย และเป็นสมาธิที่มีความสว่างอย่างใหญ่

เป็นสมาธิที่มีความปีติ เป็นสมาธิที่มีความรู้สึกสงบกาย สงบใจ

เป็นสมาธิในแบบที่ ไม่มีความดิ้นรน ซัดส่าย หาอะไรให้ตัวตน

 

แต่เป็นสมาธิที่รู้สึกวางเฉย กับภาวะปรากฏของรูปกายนี้

หรือว่านาม คือจิตอันถูกปรุงแต่งไปต่างๆ นานา นี้

 

เรามาต่อกันด้วยการทำสมาธิ

ถ้าใครมีความชำนาญแล้ว ก็ขอให้ไปต่อด้วยตัวเองเลยนะครับ

 

แต่ถ้าหากว่าใครยังเพิ่งจะเริ่ม ก็ขอให้ดูนะ

 

เราเรื่มจากการนั่ง คอตั้งหลังตรง

สำรวจฝ่าเท้า ว่าเกร็งอยู่ จิกอยู่หรือเปล่า

ถ้าหากว่าว่าง เบา ก็จะรู้สึกว่าพื้นจิตพื้นใจเบาขึ้นมา

 

ไล่สำรวจมาที่ฝ่ามือ วางราบกับหน้าตัก

เราก็จะรู้สึกสบายขึ้นมาครึ่งตัว

 

จากนั้นให้ทำความรับรู้ไป ว่าเวลาจะหายใจเข้า อาศัยมือไกด์

เพื่อให้จิต มีสติ ตามทันลมหายใจได้ง่ายขึ้น

 

พอจะหายใจเข้า เราหงายมือขึ้นมาแนวเดียวกับท้อง

แล้วดัน เหมือนกับดันลม ฝ่ามือที่หงายขึ้น

ให้รู้สึกว่า เป็นตัวดันลมเข้า

พอสุดแล้ว ก็ให้ลากลมออก แล้ววางมือ

 

ตอนที่วางมือ เราก็รับรู้ถึง อาการวางนิ่งของฝ่ามือ

ที่วางราบกับหน้าตักทั้งสองนะครับ

แล้วก็เราจะรู้สึกว่า ท่านั่งคอตั้งหลังตรง เป็นที่สบาย

ไม่ต้องรีบร้อนหายใจครั้งต่อไปก็ได้

 

แต่เมื่อไรที่ร่างกายต้องการเรียกลมหายใจเข้า

เราก็หงายมือ สลับกัน หงายมือขึ้นมา ในระดับหน้าท้อง

แล้วก็ดันลมเข้าไปจนสุด

 

ให้ฝ่ามือกับลมหายใจ มีความสัมพันธ์กัน

ก็จะทำให้เกิดการรับรู้ถึงลมหายใจ

การที่มีจิตมาแนบเป็นหนึ่งกับลมหายใจได้ง่ายๆ

แบบที่เรียกว่า มีวิตักกะ และมีวิจาระนั่นเอง

 

พอเรารู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกได้ชัด ไม่นาน

เพียงไม่กี่นาที ก็จะเกิดความสงบ แบบที่เป็นสมาธิขึ้นมา

 

เดี๋ยววันนี้ เราจะนั่งสมาธิกัน 5 นาทีนะครับ

แล้วเรามาคุยกันเกี่ยวกับโพชฌงค์ต่อ

ในแบบที่ทุกท่าน ได้มีส่วนร่วมในการบอกเล่าว่า

ประสบการณ์ในคืนนี้ เป็นอย่างไร

 

ขอให้สังเกตด้วยว่า เมื่อมีความรับรู้เกี่ยวกับเรื่องของโพชฌงค์

มีความเข้าใจกระจ่างแล้ว เวลาเรามาทำสมาธิ

สิ่งที่จะสังเกต มีแค่จุดเดียว จุดเริ่มต้นเท่านั้น

 

ขณะนี้ เรามีสติสัมโพชฌงค์อยู่หรือเปล่า

 

สติสัมโพชฌงค์ ก็คือ การมีสติเป็นอัตโนมัติ

แบบที่พร้อมรู้ ว่ากายนี้ใจนี้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

ไม่ว่าจะด้วยแง่มุมไหน

จะเป็นลมหายใจไม่เที่ยง

จะเป็นขันธ์ 5 จะเป็นอายตนะ 6

 

เราต้องการแค่ตัวเดียว จุดเดียว ตอนปากทางเข้า

คือ มีสติ รู้อยู่หรือเปล่า เป็นอัตโนมัติอยู่หรือเปล่า

 

เดี๋ยว 5 นาทีเราพบกันนะครับ

 

(หลับตาทำสมาธิร่วมกัน 5 นาที)

 

ขอให้สังเกตว่า หลังจากที่เราทำความเข้าใจกับธรรมะ

ไม่ว่าจะข้อใดนะครับ แล้วมานั่งสมาธิ

 

ธรรมะข้อนั้น ก็จะตามติดจิตติดใจของเรา ไปในสมาธิด้วย

อย่างเช่น ในกรณีนี้ เราเพิ่งพูดกัน เกี่ยวกับเรื่องของโพชฌงค์

อย่างที่บอกนะครับ เอาแค่ปากทางให้ได้ จุดเดียว

แค่มีสติสัมโพชฌงค์ คือ รู้สึกตัวโดยความเป็นอัตโนมัติว่า

จะเป็นลมหายใจก็ตาม จะเป็นท่านั่งก็ตาม

จะเป็นความสุข ที่เกิดขึ้นเพียงน้อย หรือว่าจะเป็นความสุขล้นหลามก็ตาม

 

เหล่านี้ ถ้ามีสติรู้ได้โดยที่ไม่ต้องฝืนบังคับ

ก็จะเกิดการเห็นอะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นมา

 

เช่น เห็นลมหายใจ เห็นแต่ลมหายใจ ไม่เห็นอะไรอย่างอื่นเลย

ก็จะเกิดสติสัมโพชฌงค์ในแบบที่นำไปสู่การรู้ว่า

ที่เป็นลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนี้

ปรากฏโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นภาวะไม่เที่ยง

 

เข้าแล้วต้องออก ออกแล้วต้องเข้า

หยุดอย่างเดียวไม่ได้ เข้าอย่างเดียวไม่ได้ ออกอย่างเดียวไม่ได้

 

การเห็นไปเรื่อยๆ ว่ามันไม่เที่ยงนั่นแหละ

คือ ธัมมวิจยะ แล้วก็จะมีวิริยะ ตามมาเองนะครับ

 

พอเราสามารถเห็นได้ รู้สึกว่า เรามีความสามารถที่จะเห็น

ก็ทำให้เกิดฉันทะ ทำให้เกิดความพอใจ

ที่จะเห็นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ 

___________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน พร้อมรู้ว่าไม่มีตัวตน

- ช่วงแอนิเมชัน ทำสมาธิร่วมกัน

วันที่ 16 ตุลาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=5m4rrxMh4Co&t=306s

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น