ดังตฤณ : เรื่องของโพชฌงค์ ผมเชื่อว่าหลายท่าน
ก็น่าจะได้เคยอ่าน ได้เคยฟัง ได้เคยศึกษา
หรือว่าได้เคยพยายามทำความเข้าใจด้วยตัวเองมากันแล้ว
อย่างท่านที่รู้สึกว่าปฏิบัติอยู่ตรงนี้ แล้วเกิดความก้าวหน้าขึ้นมา
เป็นธรรมดา ที่คุณจะไปอ่านล่วงหน้า แล้วก็ทำความคุ้นเคย
ทำความรู้จักกับศัพท์แสง อย่างเช่น โพชฌงค์
แต่ส่วนใหญ่นะครับ คือถ้าเรามองย้อนหลังกลับไป
ตอนที่เรายังไม่รู้อะไรเลย เรามาศึกษาโพชฌงค์
แบบแยกออกมาเดี่ยวๆ เป็นต่างหากนี่
จะเข้าใจยาก หรือไม่มีทางเข้าใจได้เลย
เพราะมองไม่เห็นว่า อยู่ตรงไหนของโรดแมป
โพชฌงค์นี่ ไม่ใช่อยู่ๆ ลอยขึ้นมาเฉยๆ
ไม่ใช่ธรรมะ ที่จะมาทำความเข้าใจกันด้วยความคิดอ่านนะ
เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ที่คุณจะใช้ความคิดในการศึกษาโพชฌงค์
ถ้าหากเราศึกษาสติปัฎฐาน 4 แยกเป็นส่วนๆ จะปะติดปะต่อไม่ถูก
ว่าตรงไหนก่อน ตรงไหนหลัง
แล้วโพชฌงค์ หรือองค์ธรรมทั้ง 7
ที่ประกอบอยู่ในดวงจิตที่มีความพร้อมบรรลุธรรมนี่
เอาไปไว้ตรงไหน
ก่อนอื่นใด เรามาดูกัน
โพชฌงค์ เป็นสิ่งที่ทุกท่าน จะเคยได้ยินได้ฟังกันมา
แต่ถ้าศึกษาพุทธมานะ ก็บอกว่า ขึ้นต้นด้วยสติ
สำหรับคนที่ยังไม่เคยฝึกอานาปานาสติ
ยังไม่เคยเจริญสติ เห็นกายเห็นใจ คุณจะเข้าใจทันทีว่า
สติในที่นี้ หมายถึงสติแบบที่เรารู้ว่า
คนพูดกำลังพูดว่าอะไร
หรือว่าเรารู้ว่า ตอนนี้เรากำลังอยู่บ้านไหน
เราชื่ออะไร เราคุยกับใครอยู่ หรือเราฟังใครอยู่
คน ร้อยทั้งร้อย ที่ยังไม่เคยฝึกเจริญสติ
จะเข้าใจว่าสติในที่นี้ หมายถึงอย่างนี้
ขอให้มีสติเถอะ เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว
นี่คือความเข้าใจแบบคนทั่วไป
หรืออย่างพอเราพูดถึงการวิจัยธรรม .. ธัมมวิจยะ
เลือกเฟ้นธรรมะ เข้าสู่ใจ แบบที่เป็นโพชฌงค์
ไม่ใช่เหมือนตอนที่เราคิดๆ ขณะเรียน ขณะทำงาน
หรือว่าทำความเข้าใจเนื้อหายากๆ
ไม่ใช่ตอนที่เรามาสร้างสรรค์ผลงาน
ใช้จินตนาการ ว่าจะเอาอย่างไรดีกับงานนี้
จะครีเอทอย่างไร ให้ดูสร้างสรรค์ ดูแตกต่างจากคนอื่น
หรือว่าเราจะทำความเข้าใจกับเนื้อหายากๆ นี้ด้วยวิธีใด
ตัวเลขแบบนี้ เราจะแก้สมการ ด้วยทางลัดอย่างไร ช็อตคัทอย่างไร
ไม่ใช่แบบนั้นเลยนะ
การวิจัยธรรมนี่ ถ้าหากว่าเรารู้เรื่องของการเจริญสติ
จากประสบการณ์ตรง
เราถึงจะเห็นว่า การวิจัยธรรมนี้ เป็นเรื่องของจิต
เป็นเรื่องของการรู้ แบบมี วิตักกะ มีวิจาระ ประกอบอยู่ด้วย
คือไม่มีอาการคิดฟุ้งซ่าน ไม่มีอาการเลือกเฟ้น
ไม่มีอาการใช้ความรู้สึกในตัวตน ในการคัดสรร
แต่เป็นการคัดเลือกของจิต ว่า ณ ขณะหนึ่งๆ
กำลังมีสภาวะอันใดปรากฏเด่นอยู่
แล้วสภาวะนั้น เรารู้แบบมีตัวตน หรือมีสติ
ถ้ารู้แบบมีตัวตน ก็จะมีอะไรหนักๆ ขึ้นมา
แต่ถ้ารู้แบบมีสติ สติ .. ข้อแรก อย่างที่กล่าวมาเมื่อกี้นี้
ถ้ามีสติอยู่จริงๆ มีจิตใสใจเบาอยู่จริงๆ
จะรู้ และวิจัยธรรม โดยความรู้สึกว่า ธรรมที่เห็น
ธรรมที่ปรากฏอยู่
ไม่มีอัตตาตัวตนของใครประกอบอยู่ด้วย
แล้วการที่เรามีโพชฌงค์ หรือองค์ธรรม เพื่อการตรัสรู้เกิดขึ้นในจิต
ไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นเรื่องคลุมเครือ
หรือเป็นเรื่องที่ เราไม่สามารถตรวจสอบ
ตรงกันข้าม เหมือนอย่าง ในโพชฌงคบรรพ ในสติปัฎฐาน
4 นี่นะ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนทีเดียวเลยว่า
การที่เราจะได้ชื่อว่า เห็นธรรมในธรรม
คือพูดง่ายๆ ว่า เห็นกายใจนี้ โดยความเป็นสภาวะธรรมนี่นะ
ต้องไปถึงขั้นที่เรารู้ได้ด้วยตัวเองว่า
มีสติที่เป็นอัตโนมัติเกิดขึ้นไหม
สติในที่นี้ ประกอบอยู่ด้วยความรู้พร้อมว่า
กายนี้ใจนี้ สักแต่เป็นลมหายใจเข้าออกชั่วคราว
สักแต่เป็นเวทนาชั่วคราว เป็นสภาวะจิตชั่วคราว
เป็นขันธ์ 5 หรือเป็นตัวอายตนะ 6
ที่เราเคยเห็นกันมาในตอนก่อนๆ
คือมีความทรงจำ มีประสบการณ์อยู่
สติตัวนี้ พูดง่ายๆ ว่าตั้งต้นขึ้นมาด้วยสัมมาทิฏฐิ
ไม่ใช่เป็นสติ แค่สักแต่รู้ว่า เรากำลังคุยกับใคร
หรือว่าเรากำลังอยากได้อะไร
แต่เป็นสติที่มีความทรงจำ มีประสบการณ์
มีอนิจสัญญา มีอนัตตาสัญญา
รู้สึกว่ากายใจนี้ไม่เที่ยง กายใจนี่ไม่ใช่ตัวตน
สติสัมโพชฌงค์ต้องแบบนี้นะ
ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ไม่ได้แค่เรียกสติอย่างเดียว
แต่เรียกสติสัมโพชฌงค์ .. สติ
ที่เป็นสติ ในโพชฌงค์ นั่นเองนะครับ
ก็ต้องสามารถที่จะรู้ได้นะว่าเกิดขึ้นในใจเราหรือยัง
อย่างเมื่อครู่นี้ที่ผมถามไปโพลว่า
รู้สึกถึงลมหายใจ ประกอบกับภาวะทางกาย
อยู่ในท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน ท่านอน
ได้เป็นปกติหรือเปล่า
สำหรับท่านที่บอกว่า บ่อยมากจนกระทั่งรู้สึกเป็นปกติ
ตัวนี้แหละ ถ้าหากว่าคุณรู้ ณ ขณะไหนก็ตาม
ระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน หรือจะนั่งสมาธิ เดินจงกรมก็ตาม
หากรู้ขึ้นมาได้เอง โดยไม่ได้บีบบังคับตัวเอง
ไม่ได้มีการที่จะมากำหนด เพ่งเล็งอะไร แต่รู้ด้วยความเคยชิน
ตัวนี่แหละที่เรียกว่าเป็น สติสัมโพชฌงค์
ถ้าหากว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
ในโพชฌงคบรรพ ในสติปัฎฐาน 4 นี่แหละว่า
เมื่อใด สติสัมโพชฌงค์มีอยู่ในจิต ก็รู้ชัดว่ามีอยู่ในจิต
เมื่อใด สติสัมโพชฌงค์ไม่มีอยู่ในจิต ก็รู้ชัดว่า
ตอนนี้ เราไม่มีสติสัมโพชฌงค์อยู่
คือไม่รู้อะไรสักอย่าง เกี่ยวกับกาย เกี่ยวกับใจ
จริงๆ พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้อีกด้วยว่า
สติสัมโพชฌงค์ ถ้ายังไม่เกิด
จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ก็รู้
ถ้าโพชฌงค์เกิดขึ้นแล้ว จะบริบูรณ์ขึ้นได้ด้วยวิธีใด
ก็ให้รู้แบบนั้นด้วย
ถึงแม้ว่าพระองค์ จะประทานไว้เป็นแนวทางกว้างๆ อยู่ตรงนี้
ถ้าเรามาศึกษาโพชฌงค์ กระโดดมาศึกษาโพชฌงค์เลย
เราก็จะไม่รู้หรอกว่า โพชฌงค์เกิดขึ้นได้อย่างไร
ตัวสติสัมโพชฌงค์นี่
แต่การที่เราเคยมีประสบการณ์มาก่อน เคยฝึกอานาปานสติ
เคยเดินจงกรม เคยรู้กายใจด้วยความเป็นขันธ์ 5
รู้กายใจโดยความเป็นอายตนะ 6 มา
เห็นสังโยชน์มา เห็นโน่นเห็นนี่อะไรมา พร้อมแล้ว
กระทั่งมาถึงจุดที่ .. อย่างที่มีผู้ตอบโพลประมาณ
10 กว่าเปอร์เซ็นต์
ว่า รู้สึกถึงลมหายใจพร้อมอิริยาบถ ได้เรื่อยๆ เป็นปกติ
นี่แสดงว่า เราฝึกมา นับแต่อานาปานาสติ ฝึกดูอะไรมาก็แล้วแต่
ภายในกายใจ แล้วลงเอยเป็น สติสัมโพชฌงค์
รู้ขึ้นมาเอง รู้ขึ้นมาบ่อยๆ เป็นปกติ
ตรงนี้เรียกว่า เราได้องค์ความรู้ ที่เกิดจากประสบการณ์ตรง
ว่าจะทำให้สติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นได้อย่างไร
แล้วก็จะรู้ต่อไปด้วยนะครับว่า สติสัมโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้วนั้น
จะเจริญบริบูรณ์ หรือว่าก้าวหน้า พัฒนา ขึ้นไปกว่านี้ได้อย่างไร
ก็คือทำสมถะ แล้วก็ทำวิปัสสนาให้มากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
นี่ .. มาตามลำดับของสติปัฎฐาน 4
จะได้ความรู้มาตามลำดับอย่างนี้เช่นกัน
แล้วคุณจะชัวร์กับตัวเองเลยนะ ไม่ต้องถามใคร
จะเลื่อนขั้นมาเรื่อยๆ จริงๆ
ที่เราฝึกกันมาตั้งแต่ต้น จนถึงวันนี้ แน่นอนครับ
ล่วงเลยมาไกล จากที่หลงเข้าใจว่า
อานาปานสติ คือการนั่งสมาธิ เพ่งลมหายใจเข้าออกท่าเดียว
อานาปานสติ ถูกจริตกับฉัน
อานาปานาสติ ไม่ถูกจริตกับฉัน ไม่ถูกใจนั่นเอง
เป็นความไม่เข้าใจว่า อานาปานสติ คืออะไรนะครับ
แต่เมื่อเข้าใจแล้วว่า อานาปานาสติ คือชนวนสมาธิ
ในแบบที่พร้อมจะได้เห็นกายใจ
แล้วก็สามารถที่จะเอามา ตรวจสอบตัวเองได้ว่า
มีสิทธิ์ที่จะบรรลุธรรมแล้วหรือยัง
มาตรวจกันด้วยโพชฌงค์นี้เลยนะ
อันนี้ เพื่อที่จะเป็นการยืนยันว่า พระพุทธเจ้าท่าน
ให้อาศัยอานาปานสติ ในการสำรวจความพร้อมบรรลุธรรม
เราดูจากตรงนี้
มีสิ่งที่เรียกว่าโพชฌงคสูตร พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้
ว่า
อานาปานสติที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
ที่จะได้ชื่อว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะว่า
เราเจริญสติสัมโพชฌงค์
.. ตัดตอนมานะครับ เอาย่อๆ ก็คือว่า
เธอเจริญสติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์
แต่ละอย่าง แต่ละข้อของโพชฌงค์
แต่ละองค์ ที่จะทำให้พร้อมตรัสรู้ธรรม
สหรคต กับอานาปานสติ .. คำว่า สหรคต แปลว่าเกิดขึ้น
หรือควบคู่กันไปนะ คล้ายๆ ถ้าเปรียบเทียบเป็นคน
ก็จะเหมือนกับจิตอาสาต่างๆ ร่วมกันสร้างวัด
แม้จะเป็นคนละคนกัน แต่ก็อยู่ในทิศทางการทำงานเดียวกัน
ทีนี้ เรื่องของเรื่องก็คือว่า อานาปานสติ
ที่เราเคยทำกันมาแล้ว
ได้เห็นแบบนี้ ตัดรายละเอียดออกไป เหมือนถุงลมโป่งพองนะ
สูบลมเข้า พ่นลมออก
ถ้าหากว่า เป็นคนที่มานั่งรู้ลมหายใจ รู้ภาวะความเป็นกาย
โป่งออกมา แล้วแฟบลงไปอย่างนี้ เฉยๆ
ไม่ถือว่าเกิดโพชฌงค์
แต่ถ้าหากว่า ตอนที่เรารู้สึกถึงลมหายใจเข้า รู้สึกถึงลมหายใจออก
ร่างกาย โป่งออกมาพองออกมา แล้วก็แฟบลงไปอย่างนี้นี่
แล้วเราเห็นว่า ลมหายใจไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเรา
รู้สึกขึ้นมาเอง โดยที่ไม่ต้องฝืนใจบังคับ
รู้สึกเองว่า ลมหายใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา
แค่นี้นะ ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็คือการที่เรามีสติสัมโพชฌงค์
และ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์แล้ว
สิ่งที่ผมถามในโพล ถามว่าระหว่างวัน
คุณรู้สึกถึงลมหายใจ พร้อมอิริยาบถปัจจุบัน แค่ไหน
เป็นตัวเช็คว่า สติของคุณที่เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ นี่
เป็นไปเพื่อที่จะรู้สึกถึงความเป็นลมหายใจ และกาย
ในอิริยาบถปัจจุบัน
อย่างที่ได้ชื่อว่า เป็นสติสัมโพชฌงค์
กับธัมมวิจยสัมโพชฌงค์หรือเปล่า
หากมองเป็นประสบการณ์ ความรู้สึกภายใน จริงๆ แล้ว
คุณไม่ต้องจำเป็นศัพท์แสงนะว่า
สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์อะไร
จำเป็นประสบการณ์ภายในอย่างเดียวก็ได้ ว่า
จิตของคุณ มีความใส มีความเบา พร้อมทิ้ง
พร้อมที่จะรู้สึกว่า กายนี้ใจนี้ คุณเทได้
ในสมัยพุทธกาลเคยมีพระอรหันต์ ท่านเคยบอกไว้นะว่า
กายนี้ใจนี้ พอรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตน ท่านรู้สึกเหมือนว่า
พร้อมจะถ่มทิ้งได้เหมือนถ่มเสลด
ไม่มีความเสียดาย ไม่มีความอาลัยใยดีเลย
แต่ถ้าเรายังปฏิบัติได้แค่ครึ่งๆ กลางๆ แบบเราๆ ท่านๆ
ก็จะมีความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ นึกถึงครอบครัว
นึกถึงทรัพย์สิน นึกถึงฐานะหน้าตา นึกถึงอะไรต่อมิอะไรต่างๆ
ที่รายล้อม ที่เป็นพันธนาการ ที่เป็นพันธะ
แต่ถ้าจิตใสใจเบา ในแบบของโพชฌงค์จริง
ที่เป็นประสบการณ์ตรง จะมีความพร้อมทิ้ง
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า แต่ละองค์ประกอบในโพชฌงค์
สหรคต หรือว่าเกิดขึ้นพร้อมกัน เป็นไปด้วยกัน กับอานาปานสตินะ
หมายความว่า ในแต่ละลมหายใจของคุณ มีความน้อมไปในทางสละ
ก็ให้นึกถึงพระอรหันต์ท่านเคยพูดไว้
แบบเดียวกับ พร้อมถ่มเสลดทิ้งออกจากปาก
ด้วยความไม่เสียดาย ด้วยความไม่อาลัยใยดีเลย
นี่คือประสบการณ์ ออกมาจากความรู้สึกตรงๆ
ของเหล่าอริยเจ้า
ที่ท่านผ่านทางมากันนะ พอมาถึงจุดที่เป็นโพชฌงค์
ที่มีองค์ธรรมพร้อมตรัสรู้ จะมีความรู้สึกแบบนี้
ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้น่ะครับ
อยู่ในโพชฌงคสูตรนะ ท่านตรัสไว้ว่า
ถ้าหากมีองค์ธรรมทั้ง 7 เกิดขึ้นไปพร้อมกัน กับอานาปานสติ
อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
อันนี้คุณไม่ต้องเข้าใจมากก็ได้ เอาเป็นว่า
ถ้าใจเบา จิตใสใจเบา มีความรู้สึกน้อมไปในทางวิเวก
คือจิตไม่ดิ้นรนไม่ซัดส่ายนะ
อันนี้ ในที่สุด จะได้ภาวะแบบหนึ่งขึ้นมา
คล้ายๆ กับมีแรงดัน มีแรงดัน ไม่ใช่แรงกดดันนะ
แต่มีแรงดันให้สละออก จะเกิดความรู้สึกว่า
ภาวะทางกาย ภาวะทางใจ หรือลมหายใจที่เกิดขึ้น ณ
ปัจจุบันวินาทีนี้นี่
ที่เรารู้สึกชัดอยู่ ถึงความปรากฏของ เป็นก้อนอะไรก้อนหนึ่ง
ที่เราไม่จำเป็นต้องหวงไว้
เป็นอะไรที่ เราสามารถทิ้งได้ด้วยใจ
ใจที่เป็นสมาธิ ใจที่มีสติ มีความสามารถ
ที่จะเห็นว่า กำลังเกิดภาวะอันใดอันหนึ่งขึ้น ในวินาทีนี้
พอทำความเข้าใจอย่างนี้
คุณจะรู้สึกว่าเป็นกันเองกับโพชฌงค์มากขึ้นนะ
คือไม่เกิดความรู้สึกว่า จะต้องมานั่งท่องศัพท์อะไร
เอาแค่จิตใสใจเบา พร้อมทิ้ง
นี่ ตัวนี้นะ ถ้าหากว่าเป็นจิตใส ใจเบา พร้อมทิ้ง
อันเดียวกันกับเหล่าอริยเจ้า เหล่าพระอรหันต์ที่ท่านเคยบอกนะ
เหมือนถ่มเสลดในปากทิ้งได้ โดยไม่อาลัย โดยไม่เสียดาย
คุณก็จะไล่มาได้ตามลำดับเลย
เอาแบบให้ง่ายกว่านี้นิดหนึ่ง
ขึ้นต้นต้องมีสติ รู้สภาวะที่กำลังปรากฏ
ตามมา มีการวิจัยธรรม คือเห็นสภาวะที่กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้นี่
โดยความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง
จะลมหายใจที่ไม่เที่ยง ก็ตาม
จะเป็นสุขทุกข์ที่ไม่เที่ยง ก็ตาม
จะเป็นจิตที่ไม่เที่ยง ก็ตาม
หรือจะเป็นขันธ์ 5 ที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัย
หรือจะเป็น อายตนะ 6 ที่มีความยึดติดด้วยสิ่งกระทบ
รูปกระทบตา เสียงกระทบหู หรือว่าความคิดกระทบใจ
แล้วเกิดอาการยึดติดใดๆ ขึ้นมา
เหล่านี้ เป็นความสามารถที่เรามีสติ แล้วไปวิจัยธรรมได้
ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น
ถ้าคุณจำศัพท์อะไรไม่ได้เลยสักอย่างเดียว
อย่างน้อย จำทิศทางว่า กายนี้ใจนี้ เมื่อปรากฏอยู่กับสติของเรา
เราเห็นมันเป็นตัวของเรา หรือว่าเราเห็นเป็นของอื่น
เป็นของแปลกปลอม
แค่นี้แหละ เรียกว่าเป็นการวิจัยธรรมแล้วนะ
จากนั้น องค์ข้อต่อมาก็คือ
ถ้าหากว่า เราเห็นด้วยความพอใจ เห็นด้วยความมีฉันทะ
ก็จะเกิดความมีวิริยะ หรือว่าความพากเพียร
ความประคองไว้ให้เห็นอยู่เรื่อยๆ
ไม่ใช่ปล่อยปละ ไม่ใช่เห็นแป๊บเดียว แล้วก็ทิ้ง
แต่เห็นเรื่อยๆ เห็นจนกระทั่งรู้สึกเป็นปกติ
รู้สึกเป็นกันเองกับการได้อยู่ในเส้นทางของการเจริญสติ
อย่างที่กลุ่มแรกกับกลุ่มที่ สอง นะบอกว่า
เราสามารถเห็นลมหายใจ ประกอบพร้อมอยู่กับท่าทางของร่างกาย
อันเป็นปัจจุบันนี่ พวกนี้มีวิริยะ จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
เสร็จแล้ว วิริยะ จะพัฒนาต่อขึ้นเป็นจิต
ที่มีพลังมากพอที่จะทิ้งจริงนี่นะ ต้องมีปีติ
ปีติ นี่เป็นตัวบอก เป็นตัวเหมือนกับสัญญาณ
แสดงให้เห็นว่า ใจของเรา ไม่ไปไหน
ไม่มีความดิ้นรน ไม่มีความซัดส่าย ไม่อยากโน่นอยากนี่
ตัวปีติ จะเป็นเครื่องแสดงด้วยนะว่า
ถ้าหากเราอ้างว่า ฉันเบื่อโลกเหลือเกิน
ฉันเบื่อภาวะความเป็นกาย ภาวะความเป็นใจนี้เหลือเกิน
เป็นการเบื่อ ที่เจืออยู่ด้วยโทสะ หรือเป็นเบื่อแบบ
นิพพิทา
ถ้าเบื่อแบบนิพพิทาจริง คุณจะยังมีความรู้สึกว่า
อยากเพียรต่อไป ด้วยความอิ่มใจ ด้วยความเยือกเย็น
ด้วยความรู้สึกว่า การเพียรไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ของน่าเบื่อหน่ายอะไร
ที่คุณเบื่อจริงๆ คืออาการที่จิต ไม่เอาภาวะทางกาย
ภาวะทางใจ
ไม่อมไว้ ไม่หวงไว้ อย่างนี้ที่เรียกว่าเป็นนิพพิทา
หรือว่าความเบื่อสภาพความเป็นกาย สภาพความเป็นใจ
ไม่ใช่ว่าเบื่อในลักษณะหงุดหงิด งุ่นงาน บอกอยากฆ่าตัวตาย
หรือว่าอยากจะหาอะไรทำย้อมใจนะ
บางคน มีนะ ปฏิบัติธรรมไป บอกว่าขอกินเหล้าย้อมใจหน่อย
นี่เป็นข้ออ้างของกิเลส ที่จะไประบายความทุกข์ ระบายโทสะ
ไม่ใช่เบื่อแบบที่จะทิ้งอุปาทาน
ตัวนี้ ปีติ นี่จำไว้เลยนะ ในโพชฌงค์นี่
ถ้าใคร มีความเบื่อ ในแบบพร้อมทิ้งจริง
จะไม่เป็นทุกข์
จะมีปีตินะ ในจิตนี่ไม่เอากาย ไม่เอาใจแบบที่จะหวงไว้เป็นของเรา
พอมีปีติ สิ่งที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน ควบคู่กันไป
หรือไล่กัน
ก็คือปัสสัทธิ คือความสงบกายสงบใจ
แบบที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกว่า
เป็นการระงับกายสังขาร และจิตตสังขารนะ
สำนวนของท่านก็คือ บอกว่า
กายระงับไม่แกว่ง ใจระงับไม่แกว่ง
ตัวนี้ที่เป็นปัสสัทธิ
ปัสสัทธิในโพชฌงค์ ไม่ใช่งอมืองอเท้า
ไม่ใช่อยู่นิ่งๆ แบบที่ไม่เคลื่อนไหวอะไรเลยนะ ไม่ใช่นะ
อาจจะเคลื่อนไหว อาจจะเดินรวดเร็วปุ๊บปับด้วยซ้ำ
อาจจะเดินฉับๆ
แต่ปัสสัทธิ บ่งบอกว่า สภาพทางกายไม่ไปเกินนั้น
ไม่ไปเกินความจำเป็น
การทำงานของกล้ามเนื้อ การทำงานของร่างกายทั่วทั้งหมดนี่
เป็นไปเพื่อที่จะเคลื่อนไหว สมกับเหตุสมกับผล
ความรู้สึกว่า ผ่อนคลายกล้ามเนื้ออยู่ตลอดเวลา
สบายอยู่ตลอดเวลา สบายเนื้อตัวได้ตลอดเวลา
ไม่มีอาการเกร็ง ไม่มีอาการรีบเร่ง
ถ้าใครรู้สึกว่า ฉันมีสิทธิ์จะบรรลุมรรคผล
แต่ยังมีอาการรีบร้อน มีอาการรู้สึกเหมือนเกร็งๆ
อยู่ที่จุดนั้นจุดนี้ตามร่างกาย
นี่คือ ไม่มีปัสสัทธิ ไม่ใช่ภาวะที่พร้อมจะบรรลุมรรคผลแล้ว
นี่เราสามารถสำรวจตรวจสอบได้นะ
พอพูดถึงความสงบกายสงบใจ สิ่งที่เป็นธรรมชาติ ธรรมดา
เป็นกลไกตามมาก็คือสมาธิ
การที่มีจิตหนักแน่น การที่มีจิตตั้งมั่น อยู่กับการรู้การเห็น
ไม่คลอนแคลน ไม่โยกเยกไปไหน
นี่ตัวนี้ ที่จะเริ่มเข้าสู่ ความเหมือนกัน
คือถ้ามีสมาธิ มีความตั้งมั่น มีจิตที่บริสุทธิ์
อยู่กับความรับรู้ ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา
จะเริ่มมีไม่มีบุคคล เริ่มไม่มีหน้าตา
เริ่มไม่มีใครปฏิบัติมาได้มากได้น้อยกว่าใคร
จะมีภาวะเดียวกัน คือรู้ว่า รู้เป็นปกติ
รู้เหมือนกันว่า โดยเนื้อหาของกายของใจนี่
เป็นแค่ภาวะเหมือนกัน
ไม่ว่าจะของเราฝั่งนี้ หรือว่าของเขาฝั่งโน้น
และจิตที่มีความรู้จริงๆ จนกระทั่งหมดอาการจดจ้อง
อยากเห็นกายใจนี้เป็นรูปนาม
อยากเห็นกายใจบรรลุมรรคผลนี่ พอหายไป
จะกลายเป็นอุเบกขาจริงๆ กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์จริงๆ
ที่ไปรับรู้ว่า กายนี้ใจนี้นี่ ปรากฏอยู่ สักแต่ให้อาศัยระลึกว่า
นี่คือรูป นี้คือนาม ไม่ใช่บุคคล
ตัวอุเบกขานี้ เทียบเท่ากับที่เราเรียกกันว่า สังขารุเปกขาญาณ
ถ้าใครมีความรู้สึกว่า สังขารุเปกขาญาณ
ทำความเข้าใจได้ยาก หรือว่าเป็นอะไรที่
สูงส่งเกินเอื้อม
ใกล้จะข้ามโคตรจากปุถุชน ไปเป็นอริยบุคคล
ขอให้นึกถึงคำว่า อุเบกขาธรรมดาๆ นี่
นึกถึง คือไม่ใช่ ไปนึกถึงความไม่รู้สึกรู้สานะ
แต่ให้นึกถึง ความวางเฉยอย่างรู้
วางอย่างรู้ ว่างอย่างเห็น
เห็นว่า ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่ง ในกายนี้
ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งในใจนี่ ที่เคยเป็นเราเลย
แม้แต่ก้อนเดียว แม้แต่นิดเดียว แม้แต่เสี้ยวเดียว
ลักษณะของอุเบกขาที่เกิดขึ้น ใน โพชฌงค์นี่
ท่านถึงบอกว่าเป็นตัวตัดสิน
ถ้าอุเบกขาได้นานจริง ทนจริง ไม่มีการเร่งรัด
ไม่มีการมาแอบแฝง บอกว่าฉันอุเบกขามาสามวันแล้ว
น่าจะได้บรรลุมรรคผลในวันที่สี่
แบบนี้ ยังไม่อุเบกขาจริง
แต่ถ้าอุเบกขาในแบบที่ ขอให้รู้อย่างนี้ไปทั้งชาติ
ฉันก็เอา
เพราะว่า แค่นี้ฉันก็พอใจแล้ว ว่า ไม่มีฉัน
ตัวพอใจว่า ไม่มีฉันมารับรางวัล
ตัวพอใจว่า ไม่มีฉันที่มาเอามรรคเอาผล ที่เกิดมรรคเกิดผลกับใครนี่
ตัวอุเบกขานั่นแหละที่ เป็นอุเบกขาจริง เป็นสังขารุเปกขาญาณจริง
ต้องประกอบพร้อมทั้งกำลังสมาธิ คือกำลังสมถะ ต้องแน่นหนาพอสมควร
แล้วก็กำลังปัญญา กำลังความเห็นความเฉียบคมของวิปัสสนานี่
ต้องมาทันๆ กัน
เพราะบางที ถ้าสมถะเยอะ จนกระทั่งเกิดความว่า
รู้สึกอิ่มอก อิ่มใจอยู่กับ อาการนิ่ง แบบนี้ก็ไม่ใช่อุเบกขาในโพชฌงค์
แต่เป็นอุเบกขาในแบบที่สบายดี
อุเบกขาในโพชฌงค์นี้ จะต้องออกแนวที่ว่า มีความรู้นำ
เห็นไหม ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
สติสัมโพชฌงค์ ต้องรู้นำ
ไม่ใช่ไม่รู้อะไรเลย แล้วอุเบกขา
ต้องรู้ภาวะทางกาย ภาวะทางใจ อันเป็นปัจจุบันอยู่ชัวร์
แล้วถ้าความรู้นั้น นำมาสู่อุเบกขา ได้เป็นวันๆ ได้เป็นเดือนๆ
ไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่อเอาอะไรทั้งสิ้น
นั่นแหละที่เราเข้าสู่ภาวะอุเบกขา อย่างที่ ขันธ์
5 จะรู้ตัวว่าเป็นขันธ์ 5
ไม่ใช่มีบุคคล นักเจริญสติผู้ปฏิบัติธรรม หรือว่านักทำสมาธิผู้เก่งกาจ
ได้มาทำให้ มาพาให้ขันธ์ 5 นี้บรรลุธรรม
หรือว่าพาให้ขันธ์ 5 นี่ ได้เอามรรค เอาผลมาให้ฉัน
แต่เป็นการให้ขันธ์ 5 ได้รู้จัก รู้ตัวว่า ตัวของมันทั้งตัว
เป็นขันธ์ 5 จริงๆ
นี่คืออุเบกขาในโพชฌงค์นะ
พอเราเริ่มทำความเข้าใจเกี่ยวกับโพชฌงค์ ได้ครบถ้วน
ละเอียดละอออย่างนี้ เวลาที่เกิดประสบการณ์ในสมาธิ
อย่างเช่น เห็นลมหายใจที่สูบเข้ามาในร่าง แล้วก็พ้นออกไปจากร่าง
เกิดความสว่างไสว สว่างโร่ สว่างจ้าขึ้นมา
แม้สว่างแล้วอย่างนี้ เราก็จะเห็นได้ว่า เดิมก่อนที่จะเข้าใจธรรมะจริงๆ
นี่ความสว่างอย่างนี้ อาจเป็นที่ตั้งของมิจฉาทิฎฐิก็ได้
เช่นเกิดความรู้สึกว่า จิตที่ยิ่งใหญ่อันนี้คือตัวจริงของเรา
จิตที่ยิ่งใหญ่นี้ หลอมรวมเป็นหนึ่ง กับอัตตาที่แท้จริงในจักรวาล
จะสามารถเห็นอะไรได้สารพัด
ต่อเมื่อเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องประกอบ
เห็นความสว่างแบบเมื่อกี้นี้ เป๊ะๆ เลย เป็นสภาพจิตใส่ใจเบา
แล้วดูว่า ในความใส ความเบานั้น มีความพร้อมทิ้ง
ความเห็นผิด
พร้อมทิ้งอุปาทานประกอบอยู่ด้วยไหม
ถ้าหากว่ามีความสว่างอย่างนั้น แล้วมีความพร้อมทิ้ง
นั่นแหละ ตัวนี่แหละที่ตัดสินได้ว่า อานาปานสติของเรา
ประกอบพร้อม เกิดขึ้นพร้อมกันกับโพชฌงค์ทั้ง 7
ประการ
เราสามารถสำรวจได้เป็นข้อๆ เลยว่า
ขณะนี้เรามีสติสัมโพชฌงค์อยู่ไหม
ขณะนี้เรามีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์อยู่ไหม
สำรวจไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดอันเป็นที่สุดนี่
คือว่ามี อุเบกขาสัมโพชฌงค์อยู่ไหม
จะมาเป็นขั้นๆ ไม่มีการลัดขั้น
ถ้าหากว่าเราพบตัวเองนะครับว่า
อานาปานสติของเรา เป็นไปเพื่อที่จะมีอุเบกขา
ไม่มีแม้แต่อาการแอบแฝง คาดหวังว่า
เดี๋ยวฉันจะได้บรรลุมรรคผล ที่นาทีใดนาที หนึ่ง
จิตแบบนี้แหละ ที่จะน้อมไปในการสละอย่างแท้จริง
ความพร้อมที่จะสละอย่างแท้จริงนั่นแหละ
ที่เป็นสิทธิ อย่างแท้จริงเช่นกันนะ
คุณจะเห็นนะ พอเรามีความรู้มาตามลำดับ สติปัฏฐาน
มีประสบการณ์ มีความสามารถที่จะเจริญอานาปานสติไปนี่
จะเกิดความเข้าใจขึ้นมาว่า สัมมาทิฏฐินี่สำคัญขนาดไหน
การทำความเข้าใจไว้ถูกต้อง
อย่างที่ผมพูดมาตลอดนะว่า สำคัญกว่าการมีสมาธิ เป็นอย่างไร
ก่อนที่เราจะเข้าสู่ช่วงของการทำสมาธินะครับ
เรามาสวดมนต์เพื่อที่จะระลึกนะครับว่า
ความรู้ทั้งหมดที่เราคุยกันมาวันนี้ เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยตัวพวกเราเอง
ไม่ใช่คิดๆ นึกๆ เอาแล้ว จะสามารถมาจาระไนกันได้แบบนี้
แต่ต้นทาง มาจากพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวนะครับ
ในศาสนาพุทธ กาลปัจจุบัน ถึงแม้ว่าพระองค์ได้ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว
แต่ว่า ตัวแทนศาสดา คือพระธรรมยังคงอยู่
และเรายังสามารถที่จะเอามาคุยกัน เอามาปฏิบัติ
จนกระทั่งเกิดความเห็นแจ้งได้ว่าไม่จำกัดกาล
ธรรมปฏิบัติของพระพุทธเจ้า ใครทำ
ก็สามารถที่จะได้ สิ่งที่พระพุทธเจ้าอยากให้เราได้นะครับ
ไม่ว่าจะ ล่วงเลยไปอีกนานแค่ไหน
ถ้าพวกเราช่วยกันสืบสาน ช่วยกันรักษาความเข้าใจที่ถูกต้อง
ตามแนวทางของพระพุทธเจ้าไว้
ศาสนาก็จะไม่หายไปไหนนะ
ที่ บอกว่าศาสนาจะหายไปจากประเทศไทย
เป็นความเห็นหนึ่ง
ที่อาจจะถูกนะ สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจ ยังเข้าไม่ถึง
แต่ว่าเป็นความเห็นที่ผิดแน่นอน สำหรับคนที่รู้แล้วนะครับว่า
จริงๆ การปฏิบัติอานาปานสติ ยังเกิดขึ้นได้
การเข้ามาถึงโพชฌงค์ 7 ยังเป็นไปได้อยู่ในวันนี้
___________________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน
พร้อมรู้ว่าไม่มีตัวตน
- ช่วงบรรยายโพชฌงคบรรพ
วันที่ 16 ตุลาคม 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=EayFju3paHU
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น