วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Q10 Q11 สังโยชน์ต่างกับกิเลสอย่างไร ต่างจากอุปาทานและเชื่อมโยงกันอย่างไร

ดังตฤณ : สังโยชน์ก็คือกิเลส แล้วแต่ว่าเราจะอธิบายในแง่มุมไหน

 

กิเลสมีทั้งหยาบ ทั้งกลางทั้งละเอียด สังโยชน์ก็เหมือนกัน

 

มีสังโยชน์แบบหยาบๆ สังโยชน์ในระดับกลาง แล้วก็สังโยชน์ในระดับละเอียด

 

สังโยชน์ ถ้าเรามองในแง่ที่ยึดเราไว้กับสังสารวัฎ

ก็คือความรู้สึกว่า มีตัวมีตน หรือที่เรียกว่าสักกายทิฏฐิ

อยู่ในระดับของความคิดเห็น อยู่ในระดับของวาทะ ว่าตัวเราต้องมีอยู่แน่ๆ

 

เวลาเราคุยกับใคร เอาง่ายๆ ถามว่า

เชื่อหรือเปล่าว่าไม่มีตัวตน

 

ปากเราจะบอกเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม

เเต่ใจนี่ ยังเชื่ออยู่ นี่เรียกว่ามีสักกายทิฏฐิ

 

แต่พระโสดาบัน พอบรรลุธรรมแล้ว เห็นนิพพานแล้ว

รู้ว่ามีธรรมชาติอย่างอื่นนอกเหนือไปจากขันธ์ 5 นี้

คราวนี้ไม่มีวาทะ ว่าเป็นตัวเป็นตนแล้ว

คราวนี้จะจำไม่ลืม จำไม่ลืมข้ามชาติเลยว่า

ตัวนี้ตนนี้นี่ จริงๆ เหมือนหุ่นหลอก เหมือนของหลอก

 

เหมือนเราติดอยู่ในเมทริกซ์ ที่ไม่มีอะไรจริง

แต่ว่าทุกอย่างนี่ปรุงประกอบกัน ให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา

 

ถ้ามองว่าตรงนี้คือกิเลสข้อไหน ก็คือโมหะ

 

จิต ไม่สามารถบริสุทธิ์ได้ เพราะถูกโมหะครอบงำอยู่

ทำให้หลงยึดอยู่ว่า ตัวนี้เป็นตัวของเรา

 

ต่อเมื่อทำลายสักกายทิฏฐิได้ สังโยชน์ข้อแรกนี่ขาดลง

พร้อมๆ กันไปกับความลังเลสงสัย ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

รวมทั้งไม่สงสัยแล้วว่า หมดขันธ์ 5 แล้ว

มีอะไรที่น่าพอใจกว่าขันธ์ 5 อีก

 

เห็นนิพพานแล้ว ก็จะไม่ลูบคลำ

จะไม่ปฏิบัติชีวิต จะไม่ปฏิบัติตน ในแบบว่าจะรักษาศีลไปทำไม

เห็นออกมาจากแก่นว่า ศีลนี่แหละเป็นบันได เป็นเส้นทาง

 

ถ้าไม่มีศีล ไม่มีธรรม ไม่มีสัจจะ ไม่มีการให้ทานบ้าง

แบบนี้ไม่สามารถที่จะไปนิพพานได้แน่นอน

 

สังโยชน์ 3 ข้อแรกจะขาด .. สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส

 

กิเลสที่เป็นข้อโมหะแบบหยาบๆ หายไป

 

แล้วก็จะมีกิเลสขั้นกลาง ยังมีกามราคะ ยังมีปฏิฆะ

คือมีอะไรมากระทบใจได้ให้เกิดความขัดเคืองได้

 

ถ้าหากว่าเป็นพระอนาคามิ ก็ไม่มีกามราคะแล้ว ไม่มีกามฉันทะ ไม่มีปฏิฆะ

 

ที่แต่จะเป็นพระอรหันต์ได้ คือไม่มีตัวไม่มีตน

รู้จริงๆ จิตแยกออกมาจากขันธ์ 5 เลย

แยกออกมาเป็นต่างหากเลยกับขันธ์ 5

อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าจิตพรากออกจากขันธ์ 5

 

ตัวนี้ กิเลสคือโมหะที่ละเอียดสุด ประณีตสุดนี่ไม่เหลือเลย

 

จิตมีความเป็นต่างหากจากขันธ์ 5  จะไม่เหลือกิเลส

ที่เกี่ยวเนื่อง ที่ยังหมักดองอยู่ในขันธ์ 5 นี้ จะล้างสะอาดเกลี้ยงเลย

 

ตัวนี้แหละที่คือพูดง่ายๆ ว่า สังโยชน์กับกิเลส

จะบอกว่าตัวเดียวกันก็ได้แต่ว่าต่างแง่ต่างมุม

 

เวลาคุณใช้คำว่ากิเลส มักจะนึกถึง ราคะ โทสะ โมหะ

หรือว่าโลภะ โทสะ โมหะ

 

แต่ถ้าสังโยชน์นี่คุณมองเป็นว่า อะไร กิเลสแบบไหน

ที่ร้อยรัดเราไว้ในสังสารวัฎนี้ไม่เลิก ไม่รู้จบ

 

แล้วสังโยชน์ต่างจากอุปาทานอย่างไร และเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

 

อย่างพระอนาคามี พระพุทธเจ้าตรัสว่า

เมื่อเธอยังมีตัวตนอยู่ เธอยังถือว่าเป็นผู้ยังต้องศึกษา

นั่นก็คือว่ามีกิจให้ต้องทำต่อ จึงจะได้เป็นพระอรหันต์

 

ตัวที่บอกว่า มีตัวตนอยู่ เห็นไหม มีอุปาทานนั่นเอง

มีอุปาทานว่าเป็นตัวเป็นตน

 

ตามไปถึงพระอนาคามีเลย พระอนาคามียังมีอุปาทานอยู่

 

สังโยชน์ก็คือตัวนี้แหละ

ตัวที่ยังหลงสำคัญผิด ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตน

 

คือขนาดพระอนาคามีนี่สุขุมมากนะ ประณีตมาก

จิตท่านไม่เหลือกามราคะแล้ว

ไม่มีอะไรที่มากระทบกระทั่งทางใจให้ขัดเคืองได้

 

คือต่อให้แดดเผา ต่อให้มีใครมาเอาเลื่อยตัดมือตัดเท้า

ถึงแม้ว่าจะได้รับความทุกข์ทางกายมากมายมหาศาลขนาดไหน

แต่ใจท่านจะไม่ทุกข์อีก เพราะไม่มีปฏิฆะแล้ว

สังโยชน์ข้อปฏิฆะ ขาดสิ้นเชิงแล้ว

 

เหมือนจิตของท่านอยู่ในเกราะแก้ว

ที่ไม่มีอะไรมากระทบได้อีกแล้ว

แต่ท่านก็ยังมีอุปาทาน

 

ฉะนั้นอุปาทาน เป็นสิ่งที่ละเอียดที่สุด

 

อย่างวันนี้เรามาเห็นสังโยชน์กัน

อย่าเข้าใจให้เราไปทำให้อุปาทานนี้ สะเทือนได้สักเท่าไหร่นะ

ที่มันจะค่อยๆ ถูกหั่น ค่อยๆ ถูกเลื่อยไปนี่

มีอะไรต้องทำ เราจะต้องเจริญสติต่ออีกเยอะนะ

 

แต่อย่างไรก็ตามคืนนี้ อย่างน้อยเราจะเข้าใจแล้วว่า

สังโยชน์ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงก็คือว่า

มีอะไรมากระทบ แล้วจิตของเราถูกครอบงำได้ทันที

ถูกยึดไว้ได้ถูกโยงไว้ได้ทันที

 

ตัวนี้ คือสังโยชน์

 

ส่วนตัวอุปาทาน ต้องไปว่ากันตอนที่เราเป็นพระอนาคามีแล้ว

คือแม้แต่จิตที่มีความ .. ดูเหมือนกับบริสุทธิ์ผุดผ่อง

ผ่องใส่ ผ่องแผ้วไม่มีกิเลสอยู่

 

ตัวของจิต พอตั้งอยู่ได้ พอปรากฏอยู่ได้

มีอยู่ได้ ให้รู้สึกว่ามีจิต .. นี่แค่นี้ มีเราแล้ว

 

พระอนาคามีนะ นี่ไม่ได้พูดถึงว่าระดับล่างๆ ลงมา

หรือว่าเป็นผู้ปฏิบัติระดับปุถุชน หรือพระอริยะขั้นต้นๆนะ

 

แม้แต่พระอนาคามี ขอแค่มีจิตตั้งอยู่ ให้รับรู้

แค่นี้ .. สังโยชน์เกิดแล้ว อุปาทานเกิดแล้ว ว่ามีตัวตน

 

มีบางท่านให้คำนิยามไว้ชัดเจนมาก ว่าพระอนาคามี กลัวการไม่มีจิต

 

ก็จริงนะ คือถ้ายังมีอุปาทานอยู่

บางทีก็ยังติดใจความผ่องใสชั้นสูง หรือว่าภาวะอันประณีตสุขุมมากๆ

 

ตอนนี้ทำความเข้าใจไปก่อน ทำความเข้าใจแบบคิดๆ นึกๆ

ที่เรียกว่าจินตามยปัญญา

ไว้ถึงตรงนั้นแล้วคุณจะรู้เองว่า

เป็นของที่เราเอามาพูดกัน คุยกันเฉยๆไม่ได้นะ

____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีดูสังโยชน์

- ช่วงถามตอบ

วันที่ 2 ตุลาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=WMKlAWotn98

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น