วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564

04 วิธีดูสังโยชน์ : บรรยายอายตนบรรพ ในมหาสติปัฏฐานสูตร

ดังตฤณ : อย่างที่บอกนะครับว่า คืนนี้อาจจะแอดวานซ์นิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นขอให้ทำความเข้าใจให้กระจ่างตรงนี้ก่อน

เดี๋ยวเกือบจะถึงขั้นการปฏิบัติแล้วนะ

 

สำหรับการปฏิบัตินะครับ

ในแง่ของการเห็นกายใจโดยความเป็นอายตนะ

ต้องไปดูที่ท่านตรัสไว้ในมหาสติปัฎฐานสูตร

 

คือ จริงๆ มีอายตนสูตร แล้วก็มีสูตรอื่นๆ ที่กล่าวถึงอายตนะ

แต่อันนี้จะชัดเจนที่สุดว่าไล่มาตามลำดับ

นับแต่อานาปานสติขึ้นมา เห็นอิริยาบถปัจจุบัน

เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นกายใจ ด้วยความเป็นขันธ์ 5 แล้ว

 

จะมาดูกายใจ โดยความเป็นอายตนะต่ออย่างไร

 

อันนี้ผมคัดมาย่อๆ เป็นใจความที่เป็นแก่นสำคัญจริงๆ

 

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า

ให้รู้ว่า ตากำลังไปจวบรูปอยู่

แล้วดูว่าปฏิกิริยาทางใจนี่ ยึดหรือไม่ยึด

 

คำว่าสังโยชน์ ก็คือยึดนั่นเอง เกิดอาการยึด

 

คือยึด มีได้หลายแบบ

ยึดด้วยกามฉันทะคือรู้สึกดึงดูด

รู้สึกติดใจ รู้สึกอยากเข้าไปเสพ

 

หรือรู้สึกยึด เพราะว่าวางไม่ได้อภัยไม่ได้

แค้นเหลือเกิน พยาบาทเหลือเกิน อาฆาตเหลือเกิน

มีทั้งกามราคะ มีทั้งพยาบาท

 

พูดง่ายๆ มีราคะ มีโทสะ เป็นตัวที่บ่งชี้

หรือเป็นสัญญาณบอกว่า เกิดสังโยชน์ขึ้น

 

แด่คืนนี้ เราจะเอาแบบง่ายๆ

เป็นสังโยชน์แบบที่ คุณทำความเข้าใจได้เลยจากประสบการณ์ตรง

ว่าหน้าตาของอาการยึด เป็นอย่างไร

 

พระพุทธเจ้าท่านก็อาจตรัสเหมารวม

คน มักจะไปมองกันแค่ ตาประจวบรูป แล้วก็หูประจวบเสียงนะ

แต่จริงๆ ท่านตรัสเหมารวมเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

 

ใจ ถ้าเราเข้าใจได้นะว่ามีความคิดมากระทบ

แล้วเกิดความยึดอย่างไร หน้าตาความยึดเป็นอย่างไร

ตัวนี้ จะสามารถไปดูตัวอื่นได้

 

ตัวตาหูจมูกลิ้นกายนี่ พูดกันตรงๆ ในชีวิตประจำวัน ดูยากมาก

 

ถ้าคนจะดูได้นี่คือ คนกลุ่มที่เคยตอบไปว่า รู้สึกถึงลมหายใจได้บ่อยๆ

แล้วที่รู้ลมหายใจได้บ่อยๆ นั้น

ใกล้เคียง หรือว่าเหมือนกันกับตอนอยู่ในสมาธิเลย

 

ถ้าในชีวิตประจำวัน คุณสามารถรู้ลมหายใจได้บ่อยๆ

แล้วรู้สึกราวกับว่าอยู่ในสมาธิได้

นั่นถึงมีสิทธิ์ที่จะเห็น ตาประจวบรูป และเกิดสังโยชน์

หูประจวบเสียง แล้วเกิดสังโยชน์ เห็นปฏิกิริยาทางใจได้ทัน

 

นอกนั้นนี่ เป็นไปไม่ได้เลยนะ พูดกันตรงๆ นะ

 

คือถ้าสติยังอ่อนอยู่ หรือว่ายังครึ่งๆ กลางๆ

แค่ทำสมาธิได้เป็นครั้งเป็นคราว ยังทำไม่ได้เป็นปกติ

ยังเข้าสมาธิไม่ได้เป็นปกติ

โอกาสที่จะรู้ทันแบบเป็นสายโซ่นี่ เอาง่ายๆ เป็นศูนย์นะ

 

เพราะว่าเราเคยชินมาชั่วกัปชั่วกัลป์

ที่จะเห็นอะไรปุ๊บ แล้วยึดทันทีว่านั้นของฉัน

หรือนั่นจงไปไกลๆฉัน หรือว่า นั่นฉันต้องทำลายทิ้งให้จงได้

เราเคยชินมาอย่างนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์

 

แต่เดี๋ยวคืนนี้ เราจะมาทำความเข้าใจกันนะครับว่า

จะเห็นสังโยชน์ แล้วมองกายใจแตกต่างไปจากเดิมได้อย่างไร

 

อันนี้ขอพูดให้เข้าใจนะ ว่า

ในชีวิตประจำวัน ถ้าขาดวิหารธรรม ไม่มีอานาปานสติเป็นเครื่องอยู่

ปล่อยใจฟุ้งซ่าน แล้วก็จิตไม่มีคุณภาพ

โอกาสที่คุณจะเอาไปต่อในชีวิตประจำวัน จะน้อยมาก

 

แต่ถ้าหากว่า อย่างน้อยที่สุด

คุณรู้สึกถึงลมหายใจได้ โดยมีวิตักกะ มีวิจาระ

พูดง่ายๆ เห็นลมหายใจชัดได้

เวลาอยู่ในชีวิตประจำวัน

คุณก็จะอาศัยกิจกรรมที่กำลังทำ ณ ขณะนั้นๆ เจริญสติ เจริญสมาธิ ใกล้เคียงกันกับตอนดูลมหายใจได้

 

อย่างเช่นตอนเดิน แทนที่จะเดินไป แล้วปล่อยใจเรื่อยเปื่อย

คุณรู้เท้ากระทบ แค่นี้ก็เกิดวิตักกะ วิจาระได้

 

แล้วเมื่อเกิดวิตักกะ วิจาระได้

คุณก็จะทำได้แบบคืนนี้ ว่าดูว่าสังโยชน์เกิดขึ้นตอนไหน

 

หรือตอนอ่านหนังสือ มีโฟกัส รู้อยู่ว่าเนื้อความเป็นอย่างไร

แล้วก็ใจไม่หลุดไปจากเนื้อความที่ไหลลื่นไปเรื่อยๆ

อย่างนี้ก็สามารถที่จะดูว่า เกิดวิตักกะ วิจาระได้เหมือนกันนะครับ

แล้วก็สามารถเห็นสังโยชน์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะอ่านข้อความหนังสือได้เช่นกัน

 

หรืออย่างประชุมงาน เวลาคุยกับคน

ที่เป็นจังหวะที่คุณจะบอกว่า มีสติได้ยากที่สุดเลย

มีแต่เรื่อง มีแต่ปัญหา มีแต่ความจุกจิกของความคิดผู้คน

 

แต่ถ้าหากว่า คุณรู้วิธีที่จะอยู่กับความวุ่นวายนั้น

โดยที่จิตของคุณไม่เสียไป ไม่เสียศูนย์

คุณจะเห็นสังโยชน์เกิดขึ้นแบบเกือบตลอดเวลา

 

แล้วจังหวะใด ณ ขณะใดก็ตาม ที่สังโยชน์ เกิดขึ้นถี่ๆ

จังหวะนั้นแหละ คือจังหวะที่คุณจะเจริญสติ

เห็นสังโยชน์ได้ มากกว่าเวลาอื่น

 

พูดง่ายๆ คุณมีสมาธิเป็นทุน

อย่างน้อยได้วิตักกะ วิจาระ ในอานาปานสติชัด

แล้วก็อยู่ในสถานการณ์ที่จะต้อง เผชิญหน้ากับสังโยชน์เยอะๆ

 

จังหวะนี้ที่คุณจะเห็นเลยว่า การปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน

การปฏิบัติธรรมในแบบที่จะลงสนามจริง เข้าสู่สถานการณ์จริง

เพื่อเห็นสังโยชน์ได้อย่างชัดเจนบ่อยๆ

เกิดขึ้นได้ กับชีวิตที่เราๆ ท่านๆ นี่แหละ

 

ขอแค่เรามีแบ็กอัพดีๆ อย่างสมาธิ อย่างอานาปานาสติ

มาเป็นตัวหนุนหลังนะครับ

 

ก่อนอื่นใดตามธรรมเนียมของเรา ก็สวดมนต์นะ

มีความหมายมากนะ การสวดมนต์ก่อนที่จะได้เจริญสมาธิเจริญสติ เพราะว่าใจของเรา จะได้น้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า

เสมือนว่าพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่

 

ถ้าหากว่าใจของเรารู้สึกขึ้นมาจริงๆ ว่า

ธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็คือการที่ท่านยังไม่ตาย

ท่านยังไม่ได้สูญหายไปตาม การดับขันธปรินิพพานของท่าน

อย่างที่ท่านตรัสไว้นะครับ ว่าท่านยกพระศาสนาให้มีศาสดาใหม่

เป็นพระธรรมที่ท่านตรัสไว้ดีแล้ว

 

พอเราได้สวดมนต์ ก่อนที่จะเจริญสมาธิเจริญสติ

จิตใจเราผ่องใส จิตใจนุ่มนวลลง จิตใจเรามีสติมากขึ้น

แล้วระลึกถึงพระพุทธคุณ

 

ก็เหมือนจะได้ส่วนของพระพุทธคุณ มาประดิษฐานในใจเราฟรีๆ นะ

____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีดูสังโยชน์

- ช่วงอายตนบรรพ (ในมหาสติปัฏฐานสูตร)

วันที่ 2 ตุลาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป :

https://www.youtube.com/watch?v=aGxOX1N4Or8&t=11s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น