วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564

03 รู้จักอนัตตาในระดับของจิต : คำอธิบายช้อยส์แต่ละข้อ

ดังตฤณ : กลุ่มแรกที่บอกว่า .. คลายออกเองได้ตลอด พอจะไปยึดทีไรรู้สึกเหมือนคลายออกมา อันนี้เป็น จิตที่จุดชนวนสัมมาทิฏฐิได้ติดจริง

 

แล้วคุณจะพบว่า จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ นะ คือจะมีบางสิ่งบางอย่างที่ยึดจิตยึดใจคุณได้เหนียวแน่นเหมือนเดิม แต่หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างในชีวิต จะมาแบบยึด ให้ยึด แล้วใจคุณนี่พอรู้ตัวว่ายึดปุ๊บ ก็จะคลายออกเอง

 

จิตแบบนี้ พร้อมที่จะเป็นสมาธิแบบพุทธ

 

คือไม่ว่าคุณจะทำตามรูปแบบอานาปานสติ หรือทำอะไรอยู่ก็ตาม ต่อให้ทำงานแบบโลกๆ อยู่ก็ตาม จิตของคุณเวลารวมเป็นสมาธิ จะเป็นสมาธิแบบพุทธ คือเป็นสมาธิแบบตั้งรู้ ตั้งดูอยู่ แบบปล่อย ไม่กำไม่ยึด

 

ความรู้สึกตอนเข้าสมาธิของคุณก็จะแตกต่างไป ไม่รู้สึกว่ามีใครเข้าสมาธิอยู่ จะเหมือนกับจิตรวมลงเป็นสมาธิ เพื่อที่จะให้ขันธ์ 5 รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ 5 เหมือนไม่มีใครทำสมาธิ เหมือนไม่มีใครดูขันธ์ 5 อยู่มีแต่ขันธ์ 5 ดูตัวเองอยู่

 

ส่วนความรู้สึกตอนอยู่นอกสมาธิ ตอนใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป คุณจะเสียดาย หรือว่าอาลัยอาวรณ์อะไรน้อยลงเรื่อยๆ

 

ไม่ใช่แบบคนด้านชา ไม่ใช่แบบคนที่ไม่รู้ไม่รู้สึกรู้สาอะไร

 

ตรงกันข้าม รู้สึกรู้สาทุกอย่างแจ่มชัด เป็นคนปกติธรรมดาทุกประการ ไม่ได้เป็นบ้า แต่ว่าจะรู้สึกว่าจิตฉลาดขึ้น มีความสุขมากขึ้นกับการเป็นอิสระ

 

คือไม่ใช่ว่าพอไม่รู้สึกรู้สา หมายความว่าด้านชา และชีวิตจืดชืด

 

ตรงกันข้ามนะ กลับมีความสว่างโพลงภายใน มีความชุ่มชื่น มีความเบิกบาน ราวกับว่ามีน้ำพุภายในผุดพลุ่งขึ้นอยู่ตลอด

 

มีความแช่มชื่น มีความแจ่มใสมีความรู้สึกว่า สติเราดีกว่าทุกวัน ทุกปี ที่ผ่านมาในชีวิตทีเดียว

 

ขอให้ทำความเข้าใจว่า อยู่ๆ จะไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ไม่ได้มาเริ่มต้นจากการฝึกสมาธิด้วยกันนะ

 

แต่เริ่มมาตั้งแต่ คุณฝึกให้ทาน

 

คนที่อยู่กลุ่มแรกนี่ เป็นผลรวมของการสะสมทานบารมีมา แล้วก็ศีลบารมีมา เป็นฐานที่แข็งแรงมากพอจะให้การภาวนา ต่อยอดออกดอกออกผลมาถึงขนาดนี้

 

ถ้าใครมาถึงจุดนี้เร็วตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งที่ยังไม่ได้บำเพ็ญทานบารมี หรือศีลบารมีมามาก ก็แปลว่า ในอดีตบำเพ็ญมามากแล้ว

 

พวกคุณ มีคนงงตัวเองไหมว่า ตอนเด็กๆ นี่ใจมีความรู้สึกว่าอยากปล่อย ไม่อยากยึดอะไรเลย เหมือนมาดูอะไรเล่นในโลก แล้วก็ไม่ได้อยากจะเอาอะไรจริง ใจไม่อยากได้อะไร

 

ตรงนี้ ก็เป็นสัญญาณบอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ แล้วอยากให้ .. ให้ ไม่ใช่ให้สตางค์คนอื่นนะ

 

ให้ทาน มีทั้งในระดับของการช่วยออกแรง

ช่วยให้ความคิด ให้ปัญญากับคนอื่น

หรือว่าไปช่วยในเวลาที่คนอื่นเขาลำบาก

ตลอดจนการที่เรารู้จัก ให้อภัยเป็นทาน

 

คือไม่รู้จะถือสาหาความอะไรใครไปมากมายทำไม เห็นชาวโลกเขาถือสาหาความกันด้วยเรื่องเพียงเล็กน้อย แล้วงง ว่าเป็นอะไรกัน

 

คือก็จะรู้สึกว่า ตัวของเราเอง ใครมาทำอะไรแค่ไหน ในที่สุด ถ้ามาทำดีด้วยหน่อย เราก็ใจอ่อนอยากให้อภัย

 

หรือต่อให้ไม่มาทำดีด้วย เราก็ไม่รู้ว่าจะไปอาฆาตแค้นให้ตัวเองเป็นทุกข์มากมายไปทำไม

 

นี้ก็เรียกว่าเป็น อภัยทาน

 

มีการสะสมทานมามากๆ ใจก็มีอาการเหมือนกันใช่ไหม ที่คุณรู้สึก .. กลุ่มแรกนี่ จะคลายออก

 

ไม่ยากยึดอะไรไว้ ไม่อยากหวงอะไรไว้ ไม่อยากจะหวงความทุกข์เอาไว้ ไม่อยากจะหวงต้นเหตุของความเศร้าโศกเสียใจเอาไว้ อยากจะปล่อยออก

 

มีอาการแบบนี้แหละ แล้วพอมาภาวนาถูกจุดด้วย ก็เหมือนเสือติดปีก

 

คือสมาธิของคุณจะเป็นสมาธิแบบปล่อย .. ปล่อยจริง ไม่ใช่แกล้งปล่อย ไม่ใช่คิดที่จะปล่อย แต่ออกมาเองจากระดับของจิต ที่ไม่อยากกำไว้ ไม่อยากหวง ไม่อยากยึดไว้

 

ทีนี้ ต้องบอกให้ชัดเจน ว่าสำหรับกลุ่มแรก มาถึงตรงนี้ คืออย่าเข้าใจว่า เฉียดแล้วนะ .. อย่าเพิ่งตั้งความเข้าใจไว้อย่างนี้

 

อันนี้บอกชัดๆ นะว่า ถ้าไม่เข้าใจว่าจะต่อยอดไปอย่างไร ก็อาจจะต้องเบื่อๆ อยากๆ แบบนี้ไปอีกหลายสิบชาติ

 

คน ที่เกิดมาแล้วมีความรู้สึกเบื่อๆ อยากๆ ติดตั้งมาพร้อมตั้งแต่แรกๆ แบบนี้อาจจะเป็นมาหลายชาติแล้วก็ได้ แต่ไม่รู้จะเอาให้ถึง เอาให้ขาด เอาให้เบื่อขาดจริงๆ ไปได้อย่างไร

 

ถ้าเบื่อๆ อยากๆ ไปอีกหลายสิบ หลายร้อยชาตินี่ ผมว่าอาการนี้ น่าทรมานนะ

 

แต่ถ้าคุณเข้าใจในขั้นต่อไป ในระดับต่อไป ที่เรียกว่าโพชฌงค์ ถ้าเข้าใจในชาตินี้ ก็มีสิทธิ์พ้นๆ ไปในชาตินี้ได้เลย

 

คุณจะเริ่มหมายถึงความเข้าใจ ว่า

ความห่างมรรคห่างผล ห่างมรรคผลนิพพาน

ไม่ได้อยู่ที่ กี่ก้าวเดิน

 

แต่อยู่ที่ มีความเข้าใจ แล้วก็มีความสามารถ

ที่จะเข้าถึงเส้นทาง ที่จิตจะหลุดพ้นได้เพียงใด

 

อันนี้ผมถึง บอกมาตลอดว่า ความเข้าใจ สำคัญกว่าสมาธิ  

 

คือถึงตรงนี้ ถ้าคุณขี้เกียจไม่อยากทำความเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร เกี่ยวกับเส้นทางที่เหลือต่อนี่นะ ก็จะเพิ่ม หลงสำคัญผิดไปอีกแบบ

 

นี่ผมพูดถึงกลุ่มแรกอยู่นะ

 

กลุ่มที่ รู้สึกว่าตอนนี้ใจจะยึดอะไร จะคลายออกมาเอง คลายออกมาได้เองกลุ่มนี้ มีสิทธิ์ที่จะหลงผิดได้แบบพิสดารไม่จำกัด

 

เพราะหลายคนมาถึงจุดนี้ บางทีพอเข้าสมาธิ มีอะไรแปลกๆ ปรากฏการณ์ทางจิตแปลกๆ ขึ้นมา คนส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจว่าตัวเองถึงมรรคผลแล้ว

 

คือให้ดู ให้อธิบายธรรมะอะไร จะเข้าใจหมด ดูแบบว่าไม่มีอะไรลำบากแล้ว

 

แต่ถ้าคุณไม่เข้าใจจริงๆ นี่ โอกาสที่จะหลงไปยึดบางสิ่งบางอย่างไว้ แทนสิ่งที่คุณทิ้งไปแล้วนี่จะสูงมากนะ

 

ตรงนี้คือ ถ้าศึกษาแผนที่ไว้ดีๆ จะง่าย เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้แจกแจงไว้หมดแล้ว เป็นขั้นเป็นตอน

 

ในสติปัฎฐาน 4 นะ ถ้าใครเข้าใจจริงๆ จะไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนเลย กายใจนี่จะดูเป็นของเปิด จากคว่ำเป็นหงาย ทุกอย่างกระจ่างชัดหมด

 

แต่หากปล่อยเลยตามเลย ไปวิ่งถามครูบาอาจารย์ ท่านนั้นทีท่านนี้ที เราจะรู้สึกเหมือนเราติดอยู่กับ ภาวะอะไรบางอย่าง อุปสรรคอะไรบางอย่างในขั้นละเอียด แบบที่ชอบมาพูดต่อกัน บอกต่อกันว่า กำลังติดอุปสรรคการภาวนาขั้นละเอียดอยู่

 

บางคนติดอยู่อย่างนั้นเป็นสิบๆ ปี หลุดพ้นไปไม่ได้ ก็เพราะว่าบางทีเส้นผมบังภูเขานิดเดียว แต่มองไม่ออก

 

อย่างบางคน รู้สึกว่าเหมือนกายใจเป็นวัตถุ เราก็มองเฉยๆ นะ ไม่ได้อะไรเห็นชัดแจ่มชัดขนาดนั้น แต่ทำไมถึงยังไม่ถึงมรรค ถึงผลสักที

 

หรือบางทีใจรู้สึกคลาย รู้สึกวาง รู้สึกว่าง แต่ก็รู้ตัวว่า นี่ยังไม่ใช่มรรคผล ยังไม่เกิดอาการที่เรียกว่าบรรลุ

 

รู้แต่ว่ามีความจดจ่ออยู่ เฉียดแล้ว ใกล้แล้ว แต่ทำไมไม่ถึงสักที

 

บางคน ติดอยู่ตรงนี้นี่เป็น สิบๆ ปี ไม่รู้ตัวว่า ใจไม่มีอุเบกขาพอ

 

คือทุกครั้งที่ไปเห็นว่ากายใจเป็นรูปเป็นนามนี่ ไปจ้อง ไปคอยอยู่ เมื่อไหร่มรรคผลจะเกิด จะเกิดนาทีนี้แล้วมัง

 

ด้วยอาการจ้องอยู่อย่างนั้นเอง มีตัวตนนี่ เรียบร้อยแล้วแล้วไม่รู้ตัว จิตนี่ถูกเขมือบไปเต็มๆ ดวง

 

ที่นึกว่า เราเห็นภาวะกายใจ โดยความเป็นรูปนามกระจ่างชัดนี่ .. ไม่กระจ่างตรงเส้นผมเส้นสุดท้าย ที่มาบังตาอยู่ มาบังใจอยู่

 

คือเกิดความอยากได้มรรคผล ไม่เป็นอุเบกขามากพอ

 

ซึ่งตรงนี้ถ้าคุณเข้าใจโพชฌงค์ ที่จะพูดถึงในขั้นต่อๆไป ก็จะไม่มีความสงสัย แล้วก็ไม่หลงเหลืออาการตรงนี้อยู่ คือจะตรวจสอบเข้าไปในจิตตัวเองได้ถูกต้อง ว่าอาการจดจ้องแบบนี้ไม่ใช่อุเบกขานะ ยังไม่ใช่อุเบกขาของแท้

 

เห็นภาวะกายใจเป็นรูปนามจริง คลายจริง คืนจริง ไม่เอาจริง ไม่เอาอะไรแล้วจริงๆ แต่ยังมีความจดจ้อง จะเอามรรคเอาผลอยู่

 

แค่นี้ ตัวตนเอาไปกินเรียบร้อยอุปาทานเกิดขึ้นเต็มๆ ดวงแล้ว

 

ตรงนี้ โพชฌงค์ก็จะเป็นคำตอบที่ผมเคยให้ดู ว่า เส้นทางของสติปัฎฐาน 4 พระพุทธเจ้าท่านวางไว้เป็นสเต็ปเลย ว่าเห็นอย่างนี้ แล้วทำอย่างไรต่อ

 

ถ้าเห็นขันธ์ 5 แล้ว มาดูอายตนะต่อ เพื่อที่จะเห็นว่าสังโยชน์เกิดขึ้น ณ ขณะประจวบกับอายตนะภายนอก กับอายตนะภายในแบบไหน กำลังประจวบกันอยู่

 

พอเห็นสังโยชน์แล้ว รู้สึกว่าคลายได้คืนได้แล้ว แล้วดูอย่างไรต่อ สำรวจจิตอย่างไรต่อ

 

พระองค์ตรัสไว้ชัดเจนแจ่มแจ๋วเลยนะว่า องค์ประกอบที่จะทำให้พร้อมตรัสรู้ พร้อมที่จะบรรลุมรรคผล ขึ้นต้นด้วยการมีสติอัตโนมัติ มีการพิจารณาธรรม โดยที่ไม่ต้องมานั่งคิดนั่งเค้น แล้วก็จะมีความพากเพียร มีปีติ มีความสงบระงับ ทางกายใจ แล้วก็มีสมาธิมีอุเบกขา ในที่สุด

 

ตรงนี้ จะเห็นจิตของตัวเองเป็นขั้นๆ ซึ่งเดี๋ยวเราจะพูดกันต่อไป

 

อันนี้พูดแบบที่ทำให้คิดๆ นึกๆ ตาม คือสุตมยปัญญา คือจินตมยปัญญา

 

แต่ที่จะเข้าถึง ส่วนของโพชฌงค์จริงนี่ เดี๋ยวเรามาว่ากันถึงรายละเอียดในตอนต่อๆ ไปนะ

 

เมื่อกี้พูดไปทั้งหมด พูดถึงกลุ่มแรกนะ ที่ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 15%

 

ส่วนกลุ่มที่สอง บอกว่าใจคลายบ้าง ไม่คลายบ้าง

 

กลุ่มนี้ก็จุดชนวนสัมมาทิฏฐิติดเช่นกัน ติดบ้าง สมาธิแบบพุทธเกิดได้บ้างไม่ได้บ้าง

 

เอาไปสังเกตตัวเองนะ และเนื้อหาของกลุ่มแรกนี่ ก็เอามาประยุกต์กับกลุ่มนี้ได้เช่นกัน แต่ว่ากลุ่มนี้ ความต่างก็แค่ว่ายังไม่แน่ไม่นอน เอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่รู้จะพยากรณ์อย่างไรว่า เมื่อไหร่ตัวเองจะยึดแน่น เมื่อไหร่ตัวเองจะคลาย หรือว่าจะคืน

 

ส่วนกลุ่มที่สามบอกว่า รู้สึกใจจะยึดน้อยลงแบบที่รู้สึกได้

 

คือ ยังไม่ปล่อย ยังกำอยู่เหมือนเดิม รู้สึกว่ายังมีอาการกำ ยังไม่คืน ยังไม่คลายออกไป แต่ความยึดมั่นถือมั่นนี้ รู้สึกได้ด้วยตัวเองว่า เบาบางลง

 

อันนี้ก็เรียกว่า เป็นการเกิดสัมมาทิฏฐิในระดับความคิด ที่แจ่มชัด

 

แต่ในระดับของจิต ยังอยู่ที่ผิวนอกอยู่ คือยังลงไปไม่ถึงจิต

 

จิตยังไม่คืนเอง ยังไม่คลายเอง ยังต้องคิด ต้องคิดช่วย

 

ลองสังเกตดู เวลาที่เกิดอารมณ์ถูกกระแทกกระทบ เกิดความขัดเคือง เกิดโทสะอะไรต่างๆ นี่ .. กลุ่มที่สามนี้ถ้าคุณคิดนิดเดียว จะรู้สึกเหมือนพร้อมปล่อยได้ไม่ยาก

 

แต่ถ้าไม่คิด จะยังยึดอยู่ อันนี้กลุ่มที่สามนะ

 

คุณฟังให้เข้าใจนะ

กลุ่มที่หนึ่ง กับกลุ่มที่สอง เป็นระดับของจิต ที่คืนเองที่คลายเอง

แต่กลุ่มที่สามนี่ยังต้องคิดๆ อยู่ คุณยังต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ

 

แม้ในการทำสมาธิ ก็ยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางที คุณทำสมาธิแบบหลง หลงเข้าใจว่าจะมากดจิตให้นิ่ง จะมาระงับความฟุ้งซ่านให้หยุด

 

ถ้าระงับได้ .. ดีใจ

ถ้าระงับไม่ได้ วันนี้ฟุ้งซ่านเหลือเกิน แบบนี้เสียใจ

 

แต่ถ้าหากว่าในขณะนั่งสมาธิอยู่ มีการทบทวนด้วยความคิดว่า เรานั่งสมาธิไปทำไม เรานั่งไปเพื่อที่จะให้เห็นว่าอะไรๆ กำลังแสดงมีความไม่เที่ยงอยู่ อย่างนี้ก็จะเห็นได้ นี่คือกลุ่มที่สาม

 

พอยต์ของกลุ่มที่สามคือ รู้สึกว่ายึดติดเบาบางลงแล้ว แต่ต้องคิดเอา

 

ส่วนกลุ่มที่สี่ บอกว่ายังยึดมั่นเหมือนเดิม อันนี้ก็ต้องลองดูไปเรื่อยๆ รวมทั้งคืนนี้ด้วยนะครับ

 

ผลของการทำสมาธิ 3 กลุ่มแรก จะเห็นได้แล้วนะว่า ถ้าเป็นสมาธิแบบพุทธ ได้สมาธิถูกทางแค่ครั้งเดียว จะสามารถจุดชนวนสัมมาทิฏฐิ ให้เกิดประกอบจิตได้ทันที

 

คือขอแค่ครั้งเดียวที่รู้สึกจริงๆ ว่า อาการยึดติดหน้าตาเป็นแบบนี้ แบบที่ให้เห็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือพอยึดแล้วจะเหมือนมีอะไรมาครอบงำจิตทันที

 

เห็นได้แค่อย่างนี้ แค่ครั้งเดียว จะเกิดเป็นลักษณะของโดมิโนล้ม

 

คือพอคุณออกจากสมาธิใช้ชีวิตในประจำวันแบบปกตินี่ แล้วบางทีก็จะเห็นขึ้นมาว่า เกิดอาการที่จิต เข้าไปยึดอะไรบางอย่างเหนียวแน่น ถ้าหากว่าเราเคยได้ภาวะที่ยึดแล้วคลายมาแล้ว ก็จะเกิดขึ้นอีกในระหว่างวันด้วย

 

เพราะจิต ก็จิตเหมือนกันนั่นแหละ ไม่ได้เป็นจิตของคนละคน ไม่ใช่ว่าตอนนั่งสมาธิเราเป็นอีกคนหนึ่ง แล้วออกมาเราเป็นอีกคนหนึ่ง

 

แต่เป็นจิตที่คลี่คลาย จากเวลาหนึ่ง ไปสู่จิตอีกเวลาหนึ่งในเวลาต่อม จะคลี่คลายมาตามลำดับ เหมือนสายน้ำ เป็นสายน้ำที่ไหลมาบนเส้นทางเดียวกันนั่นแหละ

 

ฉะนั้น ถ้าเคยเกิดอะไรขึ้นแล้วในแบบที่ถึงระดับจิต ก็ต้องเกิดขึ้นได้อีก เป็นธรรมดานะ

 

อันนี้จะทำให้คุณเข้าใจตัวเอง เข้าใจอารมณ์ต่างๆ ได้ชัดขึ้นด้วย คุณลองสังเกตดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรก กับกลุ่มที่สอง คุณลองสังเกตตัวเองดูนะ

 

อะไรๆ ที่เดิม เหมือนกับบ่น.. ไม่เข้าใจตัวเองทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมอารมณ์ของเราเป็นแบบนี้ ทำไมถึงไปคิดอะไร ในแบบที่ไม่น่าเป็นไปได้ ทำไมถึงไปยึดอะไรในแบบที่งงตัวเองว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

การบ่นแบบนั้น ภาวะแบบนั้น จะน้อยลง จะกลายเป็นว่าคุณเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับตัวเองชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ  

 

อธิบายได้หมด อธิบายตัวเอง ตอบตัวเองไม่หมด ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ทำไมถึงไปยึดแบบนั้น

 

นั่นเพราะอะไร เพราะว่าเวลาที่จิตของคุณปล่อยวาง จะไม่เข้าข้างตัวเอง ไม่มีตัวตน ตัวฉัน ตัวกู มาเป็นตัวตั้ง

 

มีแต่การเห็นอย่างเป็นกลาง เป็นตัวตั้ง ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับขันธ์ 5 นี้

 

แล้วเมื่อไรที่คุณเห็นความคิดเป็นของอื่น แล้วก็ไม่ยึดติดงมงายกับความคิดของตัวเอง ก็จะเหมือนกับคนดูอยู่ห่างๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย

 

คนที่เป็นคล้ายๆบุคคลที่สามนี่ จะเข้าใจอะไรๆ ได้ชัดเจนกว่าคู่กรณีก็เพราะอย่างนี้ เพราะดูอยู่ห่างๆ ดูแบบเก็บตกรายละเอียด ไม่ได้มีความรู้สึกว่า จะต้องมาอับอาย จะต้องมาปิดบัง จะต้องมาหลอกตัวเองว่าฉันไม่ใช่แบบนี้ฉันไม่ใช่แบบนั้น

 

มองดูคนอื่นอยู่ เห็นว่าชัดๆ เลย คู่นี้ทะเลาะกันนี่ ต่างคนต่างคิดไปคนละแบบ เสร็จแล้วก็มาแยกเขี้ยวยิงฟันใส่กัน

 

บุคคลที่สามมองไป จะเห็นชัด แต่สองคนที่กำลังทะเลาะกันอยู่มองไม่เห็น

 

เหมือนกัน เวลาที่ความคิดของเราเกิดความขัดแย้งขึ้นในหัวเหมือนรบกันเองอยู่ในหัว เราจะไม่เข้าใจตัวเองว่าตกลงเราอยู่ฝั่งไหนกันแน่

 

ต่อเมื่อเราแยกออกมาเป็นคนดูอย่างเด็ดขาด ไม่เกี่ยวอะไรกับความคิด ความคิดไม่ใช่ความรับผิดชอบของเรา

 

แค่นี้เราก็จะเข้าใจว่า ความคิดฝั่งไหนมาเมื่อไหร่ และความคิดอีกฝั่งหนึ่ง สวนกลับ สวนตอบ ด้วยเหตุผลอะไร

 

จะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ณ จุดเกิดเหตุ ไม่ใช่มาทบทวนทีหลัง

 

พอมาทบทวนทีหลังบางทีจะลืมไปแล้ว แต่ ณ จุดเกิดเหตุ ถ้าจิตของเราถอยออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ตั้งแต่เริ่ม อย่างนี้ ก็เข้าใจตั้งแต่เนิ่นๆ เข้าใจตั้งแต่แรก แล้วก็ไม่เหลือความสงสัย ที่จะพาให้ใจเราสับสนอะไรอีก

 

มาถึงตรงนี้ผมอยากจะแสดงให้เห็นนะครับ คราวนี้จะให้ชัดขึ้นนะ ว่า อาการยึดติด หรือว่าสิ่งร้อยรัดผูกเราไว้ อยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด เรียกว่าสังโยชน์

 

สังโยชน์ เบื้องต่ำมีอยู่ 5 ประการ

 

หนึ่ง สักกายทิฏฐิ

 

ถ้าจำไม่ได้ตอนนี้ก็ไม่จำเป็นต้องจำนะ แต่จำเป็นความหมายของคำก็แล้วกันว่า สักกายทิฏฐิ ก็คือการยึดความเชื่อ ว่ามีตัวตน

 

ฟังดีๆ นะ ยึดความเชื่อว่ามีตัวตน .. ไม่ได้พูดถึงความรู้สึกในตัวตนนะ

 

คนจะสับสนระหว่างสักกายทิฏฐิ กับ ตัวมานะ

 

มานะ คือยึดความรู้สึกว่ามีตัวตน

แต่สักกายทิฏฐิ จะยึดความเชื่อว่ามีตัวตน

 

พูดง่ายๆ อยู่ในระดับความคิดนะ คิดว่าต้องมีตัวของมันอยู่แน่ๆ

 

มีกายใจไหนขึ้นมาในสังสารวัฎก็ตาม กายใจนั้น จะผลิตความรู้สึก ว่ามีตัวตนขึ้นมาแน่ๆ  

 

แล้วทีนี้ความรู้สึกในตัวตน จะถูกมองเป็นอย่างไร อันนี้ขึ้นอยู่กับบุคคล

 

ถ้าหากเป็นชาวพุทธที่ได้สดับธรรม จากพระพุทธเจ้ามา ก็จะเริ่มมองว่าไม่น่าจะใช่ตัวตน แต่ทีนี้ความสงสัยก็ยังไม่หายไป

 

เพราะอะไร เพราะว่ายังไม่รู้ประจักษ์ ยังมองไม่เห็นนิพพานเป็นเครื่องเปรียบเทียบ

 

ทีนี้ พอยังไม่เลิกสงสัย เพราะว่ายังไม่เห็นจริง ก็จะเกิดข้อตกลงภายในกับตัวเองนะว่า จะประพฤติปฏิบัติตน มีชีวิตไปแบบใด เพื่ออะไร

 

คนส่วนใหญ่ในโลก เกินกว่าครึ่ง เกินกว่าครึ่งไปมากๆ เลย จะยึดว่าอยากทำอะไรก็ทำ

 

แต่ได้หากว่าคนมีศาสนา ก็จะเอาพระศาสดาเป็นตัวตั้ง ว่าท่านตรัสให้ทำอย่างไรเราก็จะทำแบบนั้น

 

อันนี้ก็เหมือนกัน คำว่า สีลัพพตปรามาส หรือว่าสังโยชน์ข้อสามนี่ ก็คือการที่คนคนหนึ่ง จะไปยึดว่าตัวเองประพฤติปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร

 

แม้แต่คนที่ถือศีลสะอาดแล้วในพุทธศาสนา ก็ยังมี สีลัพพตปรามาส ได้

 

เพราะอะไร เพราะว่ายังเถียงกันอยู่เลย ว่าศีลข้อไหนตกลงจะต้องอย่างไรรักษาให้ได้แค่ไหนนะ หรือว่าถ้าพวกต่างเหล่า ความเชื่อต่างสำนักมาบอกว่า แบบนี้ไม่ใช่ ศีลจะบริสุทธิ์ได้ต้องอย่างนี้ๆ .. นี่ สีลัพพตปรามาสทั้งนั้นเลย

 

คือ ยึดการประพฤติปฏิบัติธรรมไป ด้วยเหตุผลที่ยังไม่เคลียร์นะ

 

ทีนี้ถ้าถามว่าสังโยชน์ 3 ข้อแรกนี้ จะแก้ได้อย่างไร จะทำให้เบาบางลงได้อย่างไร

 

ถ้าเอาแบบชั่วคราว แก้แบบชั่วคราวก็คือ ต้องอาศัยความคิด แบบมีโยนิโสมนสิการ คือคิดโดยแยบคาย ว่าเป้าหมายของพุทธศาสนาคืออะไร พระพุทธเจ้า ต้องการให้เห็นอะไร ให้เข้าถึงแบบไหนนะ

 

แล้วก็มาได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ที่เชื่อว่ายังมีตัวมีตนอยู่ ก็เพราะว่ายึดติดอย่างนี้มานาน ยังไม่ปล่อย ยังไม่วาง มีความเข้าใจตัวเองในระดับของความคิด

 

นอกจากนั้น สามข้อนี้ ก็จะเบาบางลงได้ด้วยการเจริญสมาธิ แล้วก็เจริญสติจนกระทั่งเห็นกายใจเป็นรูปนาม

 

เห็นกายใจเป็นรูปนามแล้ว รู้สึกไม่มีบุคคลอยู่ข้างในนี้แล้ว ก็ยังไม่ได้ล้างความยึด ที่จะอยากจะเชื่อว่ามีตัวตนอยู่ให้เด็ดขาด ยังล้างไม่ได้

 

จะล้างได้เด็ดขาดจริง ก็ต่อเมื่อบรรลุโสดาปัตติผล

 

เหตุผลเพราะอะไร? อันนี้คนสงสัยกันมากนะว่า ทำไมโสดาปัตติผล ถึงล้างสักกายทิฏฐิได้ขาด

 

พระโสดาบันทุกคน จะไม่มีทางกลับมาพูดอีกเลยว่า มีตัวมีตน มีอัตตาอะไรบางอย่างอยู่ในจักรวาลนี้

 

พระโสดาบันไม่มีทางกลับมาพูดแบบนี้เด็ดขาด เพราะว่าเห็นแล้วว่าธรรมชาติอีกชนิดหนึ่ง คือนิพพาน ไม่มีกาย ไม่มีใจ ไม่มีสภาพตกแต่งขึ้นเป็นความรู้สึกในตัวในตนแบบนี้ ไปเห็นมาแล้วตอนบรรลุมรรคผล ว่านิพพานอยู่ตรงหน้านี้แหละ

 

แค่เราสามารถทะลุ สามารถทิ้ง ภาวะทางกายภาวะทางใจนี้ออกไปได้  ความยึดมั่นถือมั่นในตัวในกายใจนี้ว่าเป็นตัวตน ถ้าทิ้งออกไปได้ ด้วยจิตระดับฌาน จิตนั้นก็จะไปเห็นนิพพานเองว่ามีอยู่จริง

 

แล้วนิพพานนี่พอเทียบกัน กับกายกับใจนี้ ต้องบอกว่านิพพานเป็นของจริง ส่วนกายใจนี้ เป็นของหลอกเพราะอะไร

 

มีหลักการที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ชัดเจน ก็คือว่า นิพพาน จะไม่เปลี่ยน

 

มีอยู่อย่างไร มีอยู่อย่างนั้น

ปรากฏอยู่อย่างไร ก็ปรากฏอยู่อย่างนั้น

ไม่มีอุบัติ ไม่มีการทำกาละ

คือไม่มีการเกิด ไม่มีการตาย

มีแต่การคงอยู่แบบนั้น โดยปราศจากกาล

กาลเวลาทำอะไรไม่ได้

ส่วนกายใจนี้ เลอะเลือนไปตามกาล

 

จริงๆ แล้ว เวลาไม่มีหรอกนะ

เวลา เป็นของหลอก แต่สิ่งที่ทำให้เกิดเวลา

ก็คือความแปรปรวนไปของขันธ์ 5 นี่

คลี่คลายไปเป็นลำดับ ไม่มีการย้อนเวลากลับไปหาอะไรได้แน่ๆ

เพราะขันธ์ 5 จะสืบสืบกันมาตามลำดับของกรรม

 

พอทำกรรมแบบหนึ่ง มันก็รอให้จังหวะให้ผลในเวลาต่อมา เป็นวิบากของกรรม

 

เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่ขันธ์ 5 จะย้อนกลับไปแก้ไขตัวเองได้

 

ตรงนี้ เราก็จะเห็นว่า มันต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เป็นเส้นตรง ย้อนกลับไม่ได้

 

การเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีทางย้อนกลับนี่แหละ อันนี้แหละที่เรียกว่าของปลอม

 

เมื่อไหร่ก็แล้วแต่ ที่เรายึดว่ากายใจในนาทีใดนาทีหนึ่ง เป็นตัวของเรานี่ อีกนาทีหนึ่งก็เปลี่ยนไปแล้ว

 

อีกชั่วโมงหนึ่งอาจจะถึงขั้นเปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตา เปลี่ยนออร่า เปลี่ยนความคิดเปลี่ยนความเชื่อ นี่ตัวนี่แหละที่เรียกว่าของหลอก

 

ทีนี้ จะอธิบายคร่าวๆ ให้เข้าใจเฉยๆ นะ สำหรับสังโยชน์ในข้ออื่นๆ

 

กามราคะ .. มีใครบ้างในโลกบอกว่า กาม เป็นของไม่ดี มีแต่คนบอกว่าเป็นของดีนะ

 

อาการที่จิตยึดว่า กามคุณ เป็นสิ่งน่าเพลิดเพลินพอใจนี่แหละ ที่เรียกว่าสังโยชน์

 

คือสังสารวัฏนี่ ตระเตรียมไว้อย่างดีนะ เครื่องร้อยรัดที่เหนียวแน่นที่สุด ที่ดูเหมือนปล่อยหลวมๆ แต่ว่ายึดเราไว้เหนียวแน่นที่สุด ก็คือกามราคะ

 

ส่วนปฏิฆะ หลายๆ คนสงสัยว่าต่างกับโทสะอย่างไร

 

โทสะ นี่ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจว่าเป็นมูลของกิเลส ที่ทำให้เกิดความรู้สึก อยากทำลาย อยากผลักไส อยากขับไล่ อยากที่จะให้ทำลายให้พินาศอะไรแบบนี้ อย่างนี้ลักษณะของโทสะ

 

แต่ปฏิฆะ .. ทำไมพระพุทธเจ้าถึงไม่บัญญัติไว้ว่า สังโยชน์ข้อที่ 5 คือโทสะ ก็เพราะว่า ท่านเล็งเอาเรื่องของใจ อาการของใจ

 

ถ้าหากว่าสังโยชน์ข้อนี้ขาดไป ไม่มีปฎิฆะ หมายความว่า อะไรๆ ไม่ว่าจะเป็นผัสสะแบบไหน ความคิดแบบไหน ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปกระทบกระทั่งใจให้เกิดความขัดเคืองได้เลย

 

ทีนี้ สังโยชน์สองข้อนี้ จะแก้ได้อย่างไร

 

ถ้าเอาแบบชั่วคราวก็คือ เข้าถึงปฐมฌาณหรือว่าแผ่เมตตา เพราะแผ่เมตตานี่ ใจก็ไม่เป็นที่กระทบกระทั่ง ไม่เป็นที่ตั้งของความกระทบกระทั่ง หรือถึงปฐมฌาณแล้ว ได้ปฐมฌาณขึ้นไป เป็นฌาน ไม่ว่าจะฌานขั้นไหน ลักษณะของจิตนี่จะแยกออกมา แยกขาดออกมาจากกามคุณชั่วคราว

 

แยกขาด หมายความว่าไม่มีความดำริ ไม่มีความตรึกนึกถึงเลย มีแต่ความรู้สึกพอใจอิ่มหน่ำสำราญ อยู่กับน้ำพุ คือปีติสุข อันเกิดขึ้นในฌาน  

 

แต่ที่จะล้างขาด นั่นก็คือต้องบรรลุ อนาคามิผล

 

คือพระอนาคามี จะไม่ต้องมาพยายามเข้าสมาธิแบบเราๆ ท่านๆ แต่จิตของท่านทรงอยู่ในสมาธิเอง ถึงขั้นที่มีคนเคยเปรียบเทียบไว้ ต่อให้พระอนาคามี อยู่เฉยๆ มีคนเอาดาบมาตัดคอท่าน ให้ท่านตกตายทันทีโดยที่ท่านไม่รู้ตัว ท่านก็เข้าถึงความเป็นพรหมแน่นอน ไม่มีสิทธิ์กลับมาเกิดเป็นมนุษย์

 

พูดง่ายๆ ว่าจิตของท่าน ตายเมื่อไร ก็กลายเป็นพรหมเมื่อนั้น และท่านจะบรรลุอรหัตผลในชั้นพรหมนั่นเอง นี่คือลักษณะของจิต ที่ทรงสมาธิอยู่ได้เอง

 

เพราะฉะนั้น กามราคะ กับ ปฏิฆะ จะไม่เกิด

 

คือ พระอนาคามี ไม่มีอาการขัดเคืองที่ในใจแล้ว ยังไม่ต้องถึงพระอรหันต์ ท่านก็ไม่ขัดเคืองแล้ว

 

ส่วนสังโยชน์เบื้องสูง อันนี้เอาง่ายๆ นะครับก็คือว่า อย่างคนนี่ ต่อให้เป็นพระอนาคามี ท่านก็อาจจะยังยึดรูปฌานอยู่ด้วยความติดใจ หรือยึดอรูปฌานอยู่ด้วยความชอบจิตที่ยิ่งใหญ่มากๆ

 

อย่างที่มีบางท่าน บอกเลยพระอนาคามี ที่ยังเป็นพระอนาคามีอยู่ ก็เพราะยังหวงจิต กลัวจะไม่มีจิต

 

ก็ยังเป็นสิ่งที่ผูกยึด แล้วก็รู้สึกว่า จิตเป็นของดี

 

จิตโดยตัวของมันเอง พูดง่ายๆ ว่า ก็มีสภาพความเป็นสังโยชน์อยู่ในตัวนะ

 

นอกจากนั้น ก็จะมีความรู้สึกว่ามีตัวมีตนอยู่ ซึ่งอันนี้พระพุทธเจ้าเคยตรัสนะว่าคนที่เป็นพระอนาคามี เธอยังมีสิ่งที่ต้องศึกษา เธอยังมีสิ่งที่ต้องทำ เมื่อเธอยังมีความรู้สึกว่า มีตัวตนอยู่

 

นี่ .. ระดับของจิตนะที่รู้สึกว่ามีตัวตน ไม่ใช่ระดับของความคิดนะ

 

อย่างพระโสดาบัน ละความคิดได้แล้วว่ามีตัวมีตน แต่ยังละความยึดติดว่ามีตัวตนไม่ได้ คือพูดง่ายๆ คือยังมีตัวตนอยู่นั่นเองในความรู้สึก แล้วก็มีอย่างเหนียวแน่นด้วย สำหรับพระโสดาบัน และพระสกทาคาฯ

 

แต่ถ้าเป็นพระอนาคามี ท่านจะมีตัวตนอยู่ก็จริง แต่เบาบางมาก จะมาในรูปของตัวตนที่เป็นสมาธิ หรือว่าเป็นแบบเทียบเขาเทียบเรา ในแบบที่ท่านเทียบกันเองว่า ท่านนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว เรายังเป็นพระอนาคามีอยู่ อะไรแบบนี้

 

ยังมีความรู้สึกว่ามีตัวตนบางๆ หลงเหลืออยู่ ก็เรียกว่าเป็นมานะชนิดหนึ่ง

 

นอกจากนั้น ก็ยังมีความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านในที่นี้ แบบพระอนาคามี ไม่ใช่ความฟุ้งซ่านแบบเราๆ ท่านๆ ที่มาทำหน้าเครียด แล้วก็หมกมุ่นคิดมากอะไรนี่ ไม่ใช่แล้วนะ

 

แต่เป็นความฟุ้งซ่านในแบบบางๆ พูดง่ายๆ สมองทำงานเอง แล้วบางทีก็อาจจะไปหลงยึดความฟุ้ง ภาวะที่วนเวียนอยู่ในหัวได้ แต่ไม่ใช่แบบที่จะหนาแน่น ขนาดที่ทำให้จิตมีความกระเพื่อม หรือมีความกระวนกระวายอะไรขึ้นมา

 

ส่วนสังโยชน์ข้อสุดท้ายที่บอกว่าเป็น อวิชชา คือตรงนี้เป็นสิ่งที่ แม้แต่พระอนาคามี ท่านก็เคยบอกนะว่า ที่จะรู้นี่ ยาก

 

เพราะว่าเวลาที่เราจะรู้เข้าไป ก็ต้องอาศัยจิตเป็นผู้รู้

 

แต่จิตทั้งดวงนี่ ที่เป็นอวิชาอยู่ ที่จะถูกอวิชชาปิดบังอยู่นี่ เหมือนกับอวิชชาเป็นตัวจิตทั้งดวงที่บริสุทธิ์ผ่องใส

 

ตรงนี้แหละ ที่ดูยาก และที่จะแทงขาดนี่อันนี้ต้องอาศัยพระพุทธเจ้าท่านเป็นคนตรัสนะ ท่านตรัสว่าต้องทำสมถะและวิปัสสนายิ่งๆ ขึ้นไป

 

ซึ่งท่านก็แจกแจงไว้ในสติปัฏฐาน 4 แล้วนะครับ ว่าในขั้นของการบรรลุมรรคผลขั้นสูงนี่ จะต้องทำอย่างไร ท่านมีแจกแจงไว้นะ

 

สำหรับคืนนี้ ก็จะแค่บอกว่าสังโยชน์เบื้องสูง 5 ประการนี้ ถ้าแก้ด้วยชั่วคราว เอาแบบชั่วคราวก็คือมีสติพิจารณาสังโยชน์ที่เกิดขึ้น แล้วหายไปเป็นขณะๆ

 

อย่างเมื่อสัปดาห์ก่อนเราเห็นว่าตอนที่ใจมีสมาธิ และความคิดจรมา ใจนี่ที่สบายๆ อยู่ เป็นอิสระอยู่ จะกระโจนเข้าไปยึด หรือว่ารู้อยู่เฉยๆ

 

ตรงนี้นี่ ก็ถ้าหากว่าเราเห็นสังโยชน์ได้อย่างถนัดชัดเจน ในอาการยึด ในการที่หวงความคิดไว้เป็นตัวเป็นตน

 

ก็จะเริ่มที่มีลักษณะของความหวงจิต หวงความคิดน้อยลง

 

แต่แค่น้อยลง เพราะที่จะล้างได้ขาดจริงนี่ ก็ต้องบรรลุอรหัตผลเสียก่อน

 

คือพระพุทธเจ้าท่านตรัวว่า พอบรรลุอรหัตผลแล้ว จิตจะมีอาการพรากจากขันธ์ทั้ง 5 อย่างเด็ดขาด ต่างคนต่างอยู่เลยนะ

 

จิตที่พรากจากขันธ์ 5 คือไม่ต้องตั้งสติ ก็มีความรู้อยู่เองว่า กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแน่ๆ แล้วก็ไม่ใช่ตัวใครด้วย ไม่ใช่ตัวของเรา แล้วก็ไม่ใช่ตัวของใคร ไม่ใช่มีใครสร้างมา

 

แต่มีความปรากฏอยู่อย่างนี้ด้วยวงจรของ สังสารวัฏ

 

ตราบใดที่ยังหลงอยู่ ยังมีอวิชชาปกปิด บดบังความจริงอยู่ ตราบนั้นก็จะเกิดการสะสมบุญและบาป

 

กองบุญกองบาปนี่ พอคนใกล้จะตาย ก็จะไปงัดข้อกัน แล้วก็สร้างจิตขึ้นมาใหม่ในภพใหม่ สืบต่อไปอย่างนี้เรื่อยๆ ไม่มีวันจบไม่มีวันสิ้น

 

กระทั่งต้องอาศัยบุคคล มหาบุรุษเช่นพระพุทธเจ้า อุบัติมาแล้วก็มาตรัสบอกความจริง ว่าสังสารวัฎนี่ คือการท่องเที่ยวไปแบบไร้แก่นสาร

 

คุณจะทำดีแค่ไหน จะเป็นคนดีเพียงใด ในที่สุด ก็กลับกลอก กลายเป็นคนชั่ว ไปเป็นคนที่ทำผิดคิดร้ายได้

 

ขึ้นสูงสุดนี่คุณดูเถอะ คนที่มีอะไรมากที่สุด พรั่งพร้อมที่สุด เขาพร้อมจะทำอะไรบ้าง

 

โอกาสที่จะเกิดมาทุกชาติ ได้พบกัลยาณมิตร แล้วก็ทำอะไรดีๆ นี่น้อยนะแต่ว่าโอกาสที่จะมาเจอคนชั่ว หรือว่าความหลงผิดของตัวเอง ประพฤติผิด กลายเป็นพาลชนไปนี่ สูงเหลือเกิน

 

นี่ว่าเฉพาะเกิดเป็นมนุษย์นะ แต่เกิดเป็นสิ่งอื่น ภาวะอื่น ยิ่งมีสิทธิ์ที่จะหลงลงต่ำได้สูงขึ้นอีก

 

นี่ก็คือเรื่องของสังโยชน์นะ

_____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน รู้จักอนัตตาในระดับของจิต

ช่วงคำอธิบายช้อยส์แต่ละข้อ

วันที่ 9 ตุลาคม 2564

ถอดคำ: เอ้

รับชมคลิป:

https://www.youtube.com/watch?v=me_e0YCRK7I

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น