วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2564

06 รู้จักอนัตตาในระดับของจิต : บรรยายลักษณะแรงดึงดูดที่ต่างกันของแต่ละความคิด

ดังตฤณ : เมื่อเราเริ่มมีสมาธิ รู้สึกถึงอาการคอตั้งหลังตรง เหมือนกับเป็นหุ่นตัวหนึ่ง ที่หายใจอยู่ จะมีความสว่างในระดับรู้สึกถึงกายนั่ง หรือสว่างนวลๆ ราวกับว่ากระจายรัศมีออร่าออกมาเกินกายก็ตาม

 

สิ่งที่คุณจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาที่ภายในก็คือว่า จิต ถ้าหากว่า ไม่หลงไปตามความคิด จะมีความว่างเปล่าอยู่

 

ว่างจากอาการยึด ยึดแบบโลกๆ .. อาการยึดแบบโลกๆ ว่ามีตัวฉันอยู่แน่ๆ ฉันเป็นอย่างไร ดีหรือไม่ดีอยู่แน่ๆ นี่มาพร้อมกับความคิด

 

คือพอมีความรู้สึกว่าความคิดเป็นตัวเป็นตนของเรานี่ ความคิดก็พาเราไปรู้สึกดี หรือไม่ดี กับอะไรต่างๆ ได้ไม่จำกัด ขึ้นอยู่กับความคิดจะผุดขึ้นมาพาไปไหน

 

ทีนี้ ถ้าเรารู้จักกับการใช้สมาธิ ไปในแบบพินิจพิจารณาว่า ความคิดลอยมาเมื่อไหร่ เราจะดูโดยความเป็นภาวะชั่วคราว เป็นสังขารขันธ์ชั่วครู่

 

จะออกแนวคล้ายๆ กับกายใจนี้ รู้ตัวว่า เหมือนเป็นหุ่นยนต์ ที่มีกระแสไฟฟ้า ไหลวนเวียนอยู่ในชิปของมัน ในส่วนสมองกลของมัน

 

เหมือนกับมีไฟฟ้าไหลอยู่ แล้วก็ไฟฟ้านี้ ก็ผลิตความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาเป็นขณะๆ

 

ทีนี้ ประเด็นคืออย่างนี้ ถ้าหากเราสังเกตว่า กลุ่มความคิดแต่ละกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในหัวเราได้นี่นะ มีความดึงดูดไม่เท่ากัน


บางความคิด ดึงดูดได้แรง เวลาที่มีความคิดดึงดูดได้แรง ให้กลับมามีความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน หรือว่าอยากโน่นอยากนี่

 

จะคล้ายเปรียบเทียบกับแม่เหล็ก ที่ดูดจิตได้ติดแบบเหนียวแน่น เหมือนกับว่าจิตของเรา อยู่ใกล้ชิดกันมากกับแม่เหล็กนั้น แล้วเวลาที่ดูดเข้าไป เหมือนหลุมดำ ที่จิตไม่มีทางหนีออกมาได้

 

ลองสังเกตนะ จะมีความคิดอยู่บางความคิด แม้กระทั่งในขณะที่คุณกำลังนั่งสมาธิอยู่ก็ตาม ความคิดชนิดนั้น จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวตนก็ตาม จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความอาฆาตแค้น พยาบาทก็ตาม จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความกังวลทางการงานก็ตาม อะไรก็แล้วแต่ พอลอยขึ้นมาอยู่ในหัวปุ๊บ จิตของคุณจะถูกดูดเข้าไปติด แล้วก็ยึดความคิดนั้นเหนียวแน่นทันที

 

นี่เป็นระดับของการยึดติด ที่เหนียวแน่น ระดับแรก

*


ในระดับต่อมา จะออกแนวว่า ถูกดึงดูดเข้าไปติดได้ แต่แป๊บหนึ่งก็ถอยห่างออกมา คือพอมีสติอยู่ ในระหว่างการทำสมาธิ คุณพร้อมที่จะเห็นว่า ความคิดเกิดขึ้น แล้วจิตเข้าไปติดอยู่กับความคิดนั้น แค่ไหน เหนียวแน่นแค่ไหน

 

ถ้าหากว่ามีสติอยู่ มีสมาธิอยู่ แล้วความคิดนั้น ไม่ได้มีความดึงดูดที่แรงพอ จิตของคุณจะออกอาการเหมือนกับว่า เข้าไปแล้วออกมาได้

 

พูดง่ายๆ ว่าไม่ได้มีอาการเหมือนกับถูกดูดติดไว้ตลอด จะออกมาก็ได้ ถ้าจะมีสติ ถอยออกมา

 

แต่จะไม่สามารถออกมาก็ได้ ถ้าหากว่าขาดสติ

 

จะมีอาการวนลูปน่ะ พูดง่ายๆ ว่าเรามีความคิดกลุ่มนี้ขึ้นมา เสร็จแล้ว จิตก็เข้าหา แต่ในที่สุดก็ออกมาได้

 

ความคิดกลุ่มนี้ จะเป็นประเภทความคิดแบบเลื่อนลอย คุณไม่ได้มีความกังวล เกี่ยวกับความคิดประเภทนี้อยู่ ไม่ได้มีความอาฆาตแค้นใครเป็นพิเศษ เวลาที่บุคคลคนนั้นเข้ามาอยู่ในหัว เข้ามาอยู่ในความคิดคุณ เขาไม่ได้มีความน่าติดใจเป็นพิเศษ ไม่ได้มีความน่าอาฆาตแค้นเป็นพิเศษ

 

พอเข้ามา ใจก็เลยเหมือนกับว่า ถ้ามีสติสักหน่อย ก็ถอยออกมาได้

*


กับอีกแบบหนึ่ง ความคิดจะมีอีกประเภทที่มีพลังดึงดูดให้ทรงๆ อยู่ ให้จ่ออยู่อย่างนั้น แต่ไม่เข้าไปติด

 

อาการตรงนี้ จะเป็นประสบการณ์ภายใน ซึ่งคุณต้องรู้ด้วยตัวเอง คือเหมือนกับว่า ใจยังมีสมาธิอยู่ก็ได้ เห็นว่าความคิดนั้นปรากฏ แต่ไม่ไปอยู่กับความคิดนั้นก็ได้

 

พูดง่ายๆ ว่า เห็นความคิดเกิดขึ้น แล้วมีระยะห่าง เหมือนกับจิตของคุณเป็นผู้ดูอยู่ห่างๆ ไม่เข้าไปรวมอยู่กับความคิดประเภทนี้

 

ความคิดประเภทนี้จะออกแนว ความคิดที่ไม่มีแก่นสารสาระ เหมือนกับคลื่นไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นมาในหัวของคุณ จะพาเอาภาพ เสียง หรือว่าคำพูดที่ไม่มีความหมาย ไม่ได้มีความหมายต่อใจของคุณ ขนาดที่จะทำให้ใจของคุณไปติดอยู่กับมันได้

 

แต่ขณะเดียวกัน ถ้าหากคุณเผลอ ถ้าคุณขาดสติ ถ้ากำลังสมาธิตก จิตของคุณก็จะเข้าไปอยู่กับความคิดเลื่อนลอยประเภทนี้ได้

 

เช่น บางทีมีคำของตัวละครในทีวี ที่คุณเพิ่งดูมา ปรากฏขึ้นมาเฉยๆ หรือว่าคำพูดคำจาของใคร ที่ไม่ได้มีความหมายที่จะทำให้คุณเคียดแค้น หรือว่ารู้สึกติดใจ แต่ก็เป็นอะไรที่ปรากฏขึ้นในหัวของคุณ

 

แบบนี้ ลักษณะความดึงดูดของมัน จะเหมือนกับว่า คุณเผลอเมื่อไหร่ มันก็ค่อยดูดคุณไปเมื่อนั้น แต่ถ้าคุณไม่เผลอ มันก็จะจ่ออยู่

 

นี่เป็นเรื่องของแรงดึงดูดต่างระดับกัน ซึ่งมีทั้งจุดติดเหนียวแน่น แล้วก็ ดูดเข้ามา แล้วคายออก กับอีกประเภทหนึ่งคือ จ่ออยู่ ยังไม่ได้ดูดเข้าไปเต็มที่นะ

*


ถ้าหากว่าเราปฏิบัติธรรมไปเรื่อยๆ ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านประทานแนวทางไว้ แล้วประสบความสำเร็จ สังโยชน์ขาดหมด ไม่เหลือแม้แต่อวิชชา

 

ก็จะเปรียบได้กับแม่เหล็กที่หายไป เหลือแต่จิตที่เป็นอิสระ และไม่ถูกดึงดูดให้เข้าสู่วังวนของอุปาทาน ความยึดมั่นสำคัญผิดใดๆ ได้อีก

 

อันนี้ ที่จิตพรากออกจากขันธ์ .. นี่ก็เป็นความเข้าใจนะครับ แต่ว่าสิ่งที่เรายังเกิดขึ้นอยู่แน่ๆ ก็มีสามระดับคือ

- ยึดติดเหนียวแน่น

- ดึงดูดให้ไปติด แล้วก็สามารถถอยออกมาได้

- จดจ่ออยู่ จะติดเข้าไปก็ไม่ใช่ จะหลุดออกมาก็ไม่เชิง

 

ทีนี้พอเรารู้อย่างนี้ มีความหมายอย่างไร

 

เราจะรู้ว่า เวลาที่จะดู ในระหว่างวันก็ตาม หรือในขณะที่เรากำลังเข้าสมาธิอยู่ก็ตาม เวลาที่เกิดความรู้สึกหลง เวลาที่เกิดความรู้สึกเหมือนกับจิตมืดๆ เหมือนกับติดอยู่กับอะไรสักอย่าง คาอยู่กับอะไรสักอย่าง แล้วออกมาไม่ได้

 

จะเป็นความฟุ้งซ่านก็ตาม จะเป็นภาพเสียง ที่เคยเกิดขึ้นก็ตาม หรือแม้กระทั่งการวางแผนไว้ว่าคุณจะทำโน่น ทำนี่

 

ถ้าหากว่าปรากฏขึ้นมา แล้วคุณมองสิ่งเหล่านั้นประดุจว่าเป็นแม่เหล็ก คุณจะสามารถเห็นว่าแม่เหล็กแต่ละขนาด แต่ละแบบ แต่ละชนิด มีแรงดึงดูดไม่เท่ากัน

 

เมื่อเปรียบเทียบไปเรื่อยๆ สามารถเห็นว่า บางชนิดของความคิด จะสามารถดูดจิตเข้าไปติดได้เหนียวแน่น บางชนิดดูดเข้าไปติดได้ แล้วถอนออกมา บางชนิดจ่ออยู่เฉยๆ ให้อยู่ในแบบก้ำกึ่ง ครึ่งๆ กลางๆ

 

เมื่อเห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เท่ากับ คุณเห็นสังโยชน์ในระดับของจิต

 

เมื่อคุณสามารถเห็นสังโยชน์ในระดับของจิต ไม่ใช่ด้วยความคิด เห็นแรงดึงดูดของเครื่องล่อจิตทั้งหลายแตกต่างไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณจะมีความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ถ้าหากจิตไม่ถูกดูดติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง สิ่งนั้น จะปรากฏโดยสภาพธรรมของมันเอง

 

อย่างเช่น ความคิด ถ้าจิตของคุณไม่ถูกดูดติดไปกับความคิดใดความคิดหนึ่ง

 

ความคิดจะจรมา แล้วหายไป เหมือนคุณมองสายหมอก หรือเหมือนมองเมฆที่เปลี่ยนรูป ไม่สามารถคงสภาพอยู่ในรูปใดรูปหนึ่งได้นาน

 

จะปรากฏโดยความเป็นของไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

 

ความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน จะเกิดขึ้น เมื่อใจของคุณไม่ถูกโยง ไม่ถูกยึด ไม่ถูกแม่เหล็กดึงดูดติดไว้ ให้ยึดมั่นสำคัญผิด

 

ตรงนี้คือคีย์ที่สำคัญ .. ถ้าคุณเข้าใจในระดับของการรู้การเห็นจากประสบการณ์ตรงได้ อะไรๆ ในกายใจ จะปรากฏโดยความเป็นอนัตตา ขึ้นมาเอง

 

เพราะว่ากายนี้ใจนี้ เป็นอนัตตามาชั่วกัปชั่วกัลป์ ไม่ว่าจะเกิดตายกี่ครั้ง เปลี่ยนรูปแบบกี่หน ก็เป็นอนัตตา อยู่โดยตัวของมันเองนั่นแหละ

 

เพียงแต่ว่า เราไม่สามารถรู้ เราไม่สามารถเห็น เพราะถูกมันดูดติดอยู่

 

กายใจนี่เป็นแม่เหล็กใหญ่ แม่เหล็กขนาดใหญ่ ที่ทำให้ยึดมั่นสำคัญผิดว่ามีตัวมีตนอยู่ในกายนี้ใจนี้

 

ต่อเมื่อความยึด ความโยงนั้น ถูกคุณมองไปเรื่อยๆ ว่า มีความต่างระดับกัน คุณเข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่าสังโยชน์ หรืออาการดึงดูด มีความไม่เท่ากัน แล้วก็ไม่เที่ยงด้วย

 

ในที่สุดใจของคุณก็เป็นอิสระ ว่างจากการยึดจิตเมื่อไหร่ กายใจก็ปรากฏโดยความเป็นตัวของมันเอง คือ เป็นอนัตตา ไม่เคยเป็นอัตตาของใคร ไม่มเคยมีใครอยู่ในนี้

_____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน รู้จักอนัตตาในระดับของจิต

ช่วงบรรยายลักษณะแรงดึงดูดที่ต่างกันของแต่ละความคิด

วันที่ 9 ตุลาคม 2564

ถอดคำ: เอ้

รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=4dzuqj_hq2U

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น