วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564

03 วิธีดูสังโยชน์ : บรรยาย รู้กาย เวทนา จิต ธรรม

ดังตฤณ : ท่านที่บอกว่าใจเงียบบ้างแล้ว แล้วก็ยังรู้สึกว่านิมิตที่เห็น

คือลมหายใจกับร่างกายเป็นตัวเป็นตน เป็นของเราอยู่ กลุ่มนี้เยอะที่สุด

 

กลุ่มที่หนึ่ง กับกลุ่มที่สอง คืนนี้เราจะได้ทำความเข้าใจนามธรรม

หรือว่าสิ่งที่เข้าใจได้ยากนักยากหนาสำหรับคนอื่น

แต่ว่ามีสมาธิ มีอานาปานสติที่เจริญแล้ว คุณจะเห็นนะว่า

สามารถเห็นได้ไม่ยากนัก

 

ส่วนกลุ่มสาม กลุ่มสี่ คุณจะเห็นค่า แล้วก็เข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ

ว่าทำไมเราถึงต้องทำสมาธิกัน

 

เอาละ มามองแบบคนยังไม่รู้อะไรเลย ว่าจะมองกายมองใจอย่างไร

 

ถ้าคิดๆ เอานี่นะ มีกายมีใจของคุณอยู่อย่างนี้

ถ้าคิดเอา ถ้าไม่พบพระพุทธเจ้า ไม่ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า

คุณจะดูอย่างไรให้หลุดพ้นจากความทุกข์

 

ตรงนี้นะ สมมติตัวเองมาอยู่ตรงนี้ คุณจะรู้สึกได้ว่า

กายนี้ใจนี้นี่ เป็นตัวเป็นตนเพราะอาการยึด เหนียวแน่นเหลือเกิน

ยิ่งกว่าเถาวัลย์ที่พันเกี่ยวเป็นร้อยๆ ชั้น

 

ถ้าสมมติว่าคุณไม่เคยได้ยินธรรมะของพระพุทธเจ้ามาก่อน

มีแต่ความรู้สึกว่ากายนี้ใจนี้ ปรากฏเป็นของจริงอยู่ในโลก

คุณก็จะเหมือนคนอื่นทั้งโลก ที่มองไม่ออกนะว่า

ทำอย่างไรจะเลิกยึดกายยึดใจให้หายทุกข์ได้

 

วิธีแบบของพระพุทธเจ้าท่านให้รู้แบบเจาะจง ลึกไปทีละชั้นนะ

 

ท่านให้รู้ กาย เวทนา จิต แล้วก็ธรรม

รู้กาย รู้เวทนารู้จิต แล้วก็ธรรม ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน 4

 

สำหรับการรู้กาย เราผ่านกันมาเยอะแล้ว

มีการฝึกที่จะดูลมหายใจ จะอาศัยเสียงสติ หรือว่าจะอาศัยมือไกด์ก็ตาม

 

ถ้าคุณเห็นลมหายใจชัด แล้วทำความรู้ ทำความเข้าใจว่า

นี่เป็นธาตุลมนี้ไม่เที่ยง อันนี้แหละคือรู้กาย ในเบื้องต้น

 

ส่วนรู้อิริยาบถ คือสภาพที่ปรากฏเป็นท่าทางของกายอยู่ ณ บัดนี้

 

เเละสติปัฏฐาน 4 จริงๆ ก็คือ ตั้งต้น

หรือว่ามีจุดศูนย์กลาง กลับมาที่อิริยาบถปัจจุบัน

ที่กำลังปรากฏอยู่อย่างนี้เสมอ

 

ถ้าหากว่า เรารู้ลมหายใจได้ดีแล้ว

อิริยาบถปัจจุบันก็จะปรากฏตาม

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น รู้กายไป ที่สุดของการรู้กายก็คือ

จะเกิดนิมิตทั้งกายนี้แสดงความไม่เที่ยงออกมา

เริ่มจากเห็นว่าข้างใน เป็นตับไตไส้พุง เป็นธาตุ 4 ที่มีความสกปรก

 

แล้วพอจิตเห็นทั้งกายไปเรื่อยๆ

ก็แสดงธรรมชาติของกาย ที่ต้องเน่าเปื่อยผุพังเป็นธรรมดา

อันนี้เรียกว่าเป็น กายานุปัสสนา

หรือว่าถ้าเราจำได้ง่ายๆ ก็คือ สติปัฏฐานข้อแรก

 

ตัวตั้งของสติข้อแรก ก็คือรู้กาย

สภาพความเป็นกาย มีลมหายใจ อิริยาบถ

แล้วก็นิมิตความเป็นกาย ที่ไม่เที่ยง

 

จากนั้น พระพุทธเจ้าให้รู้ เวทนา

 

รู้เวทนา ก็เอาง่ายๆ อย่างตอนที่เราฝึกอานาปานสติ รู้ลมหายใจกันมา

ก็มีความรู้สึกถึงความสุข ที่เด่นชัดขึ้น

หรือกระทั่งรู้ปีติ ที่อยู่ในองค์ฌานขึ้นมา สำหรับบางท่านที่ไปถึงตรงนั้น

ก็จะเห็นความเชื่อมโยง ระหว่างการรู้ลมหายใจ กับการฝึกรู้เวทนา

 

เวทนา คือรู้ว่ากำลังเป็นสุขอยู่ สบายอยู่

หรือว่ากำลังเป็นทุกข์ มีความอึดอัดอยู่

เพื่อที่ได้ข้อสรุปในเวทนานุปัสสนา ว่า

เวทนาทั้งหลายไม่เที่ยง ทั้งสุขทั้งทุกข์

 

หรือว่าความรู้สึกเฉยๆ ที่กระเดียดมาทางสุขเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย

 

ถ้าหายใจยาวอย่างนี้ ก็มีความสุข

ถ้าหายใจสั้นอย่างนี้ มีความทุกข์ ไม่เที่ยงตามเหตุ

ถ้าหากว่าลมหายใจ แปรปรวนไปอย่างไร

เวทนาก็แปรปรวนไปอย่างนั้น

 

นี่ .. ที่เรารู้กันมาแล้ว

 

เสร็จแล้วรู้จิต ก็เอาง่ายๆ เลยว่า ขณะนี้

จิตมีกิเลสอยู่หรือไม่มีกิเลสอยู่

เพื่อที่จะได้ข้อสรุปว่า จิตทุกดวงไม่เที่ยง


สรุปว่า รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต เป็นเบสิคเบื้องต้น

 

ถ้าคุณสามารถรู้ 3 ข้อ 3 ธรรมชาติ ของฝ่ายรูปฝ่ายนามนี้ได้

ก็ให้ถือว่าคุณได้รู้เสาหลักของสติปัฏฐาน สามประการแรก

 

ทีนี้ เพื่อที่จะได้ข้อสรุป .. สติปัฎฐาน 4 ไปสรุปที่การ รู้ธรรม

 

เอาเบสิคคือ รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต มารวมลงอยู่ที่รู้ธรรม

 

การรู้ธรรม คือ การเริ่มต้นจากการทำจิตให้ผ่องใส

ไร้นิวรณ์ ไม่มีเครื่องขวาง

 

พูดง่ายๆ คุณทำสมาธิได้มีความผ่องใส ได้มีความอ่อนควร

ได้มีความมีสติคมชัด มีโฟกัสชัดเจน อันนี้เป็นเบื้องต้นของการรู้ธรรม

รู้หมวดธรรม เห็นธรรมในธรรม

 

ถ้าหากว่าจิตยังไม่ใส ใจยังไม่สะอาด ยังไม่ปราศจากนิวรณ์

โอกาสที่จะไปรู้อะไรที่สูงกว่านั้น

เห็นกายใจด้วยความเป็นรูปนามได้ยิ่งกว่านั้น

แทบจะเป็นศูนย์เลย หรือเป็นศูนย์แน่ๆ

 

ต่อให้คิดโดยแยบคาย หรือว่ามีความฉลาดในการคิดอย่างไร

ก็ได้แค่ปัญญาแบบคิดๆ

แต่โอกาสที่จะได้เห็นกายใจ ด้วยความเป็นรูปนามจริงๆ

แทบไม่เหลือนะครับ ไม่เหลือโอกาสเลย

 

พอมีจิตผ่องใสไร้นิวรณ์ได้ นั่นแหละ คุณถึงจะมีสิทธิ์เห็นขันธ์ 5

 

เหมือนอย่างที่เราเคยฝึกๆ กันมา คุณสังเกตไหมครับว่า

เวลาที่ผมให้คุณทำสมาธิ แล้วมีความรู้ หรือว่ามีความนิ่งขึ้นมา

ค่อยไปดูนะว่า รูปขันธ์เป็นอย่างไร เวทนาขันธ์เป็นอย่างไร

หรือสังขารขันธ์เป็นอย่างไร มีมโนภาพ ตัวตนอย่างไร

แล้วแปรเปลี่ยนเป็นนิมิตลมหายใจ มีวิตักกะ มีวิจาระ อย่างไร

 

ตัวนี้ที่เรียกว่าเราเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์

 

แล้วเห็นไปทำไม?

 

ขันธ์ 5 นี้เป็นไปเพื่อความรู้ว่าไม่เที่ยง

นี่ก็อยู่ในคิริมานนทสูตรนะครับ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้

เห็นขันธ์ 5 ไป เพื่อที่จะให้รู้ ให้เกิดความรู้สึก ว่ากายใจนี่ไม่เที่ยง

พอแยกเป็นส่วนๆ เป็นองค์ประกอบแล้ว สามารถพิจารณาได้หมดเลย

 

เหมือนอย่างที่เสาร์ก่อน เรามาพิจารณาว่าสังขารขันธ์

เหมือนลอกกาบกล้วย

เราดูสังขารขันธ์ไปแต่ละชนิด แล้วก็เห็นว่ามันว่าง กลวง ไม่เที่ยง

แล้วก็แปรเปลี่ยนเป็นสังขารชนิดอื่นนะครับ เป็นสังขารขันธ์แบบอื่น

 

แล้วพอดูสังขารขันธ์ไหนหายไป ก็มีสังขารขันธ์อื่นมาแทนที่ทันที

ดูไปเรื่อยๆ เห็นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง

คุณจะรู้สึกว่า .. เออ ว่างกลวงจริงๆ

ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรอยู่ตรงกลางที่เป็นแก่นจริงๆ

 

ตรงที่อยู่กลางจริงๆนี่ คือความว่างจากตัวตน ตัวนี้แหละที่ท่านให้ดูขันธ์ 5


วันนี้ที่ผมแสดง ก็จะได้เห็นนะครับว่า

เรามีเราโรดแมปของพระพุทธเจ้าให้ดูอยู่นะ

วันนี้เรามาถึงจุดที่จะมองอายตนะ 6 ไม่ใช่ตัวตน

 

คือกายใจ มองได้หลายแง่ มองเป็นขันธ์ 5 ก็ได้

เพื่อที่จะดูว่ามันไม่เที่ยง แล้วก็ประกอบเป็นส่วนๆ ห้ากอง

 

ส่วนอายตนะ 6  จริงๆ แล้วดูง่ายกว่าขันธ์ 5 อีก

เพราะทำความเข้าใจได้ง่ายกว่าในเบื้องต้น

ว่า ประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็ใจ

แต่ที่จะดูนี่ จะดูยากกว่าขันธ์ 5

 

ส่วนใหญ่ที่สอนๆ กันทุกวันนี้ สอนให้ดูอายตนะ 6 เลย

โดยที่ไม่มีสมาธิ ยังไม่รู้เลยนะว่า ความว่าง ความกลวง ของกายใจ

โดยความเป็นขันธ์ 5 เป็นอย่างไร

แล้วก็ไปด่วนดูด้วยความเป็นอายตนะ 6

 

ซึ่งแบบนั้น ดูแล้วก็จะเกิดความแห้งแล้ง ไม่ได้ความเข้าใจที่แท้จริง

 

อายตนะ 6 ดูไปเพื่อที่จะให้รู้ว่า ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

 

คืนนี้ เราจะมาทำความเข้าใจร่วมกันว่า ทำไมดูอายตนะ 6 เป็นแล้วถึงเกิดความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนขึ้นมาได้

 

ก็ขอพูดไว้ล่วงหน้า เป็นโรดแมปนะว่า

ในหมวดธรรมะ หรือว่าการรู้ธรรมในธรรม

พอเราสามารถเห็นว่า กายใจนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนได้

เห็นว่า เพราะมีสังโยชน์ จึงเกิดการยึด

 

ถ้าเห็น จับได้ไล่ทันว่า สังโยชน์หน้าตาเป็นอย่างไร

ความรู้สึกก็จะตรงกับความจริงของกายใจว่า

มันเป็นอนัตตามาตลอด

ไม่เคยเป็นใครเลยแม้แต่วินาทีเดียว

 

ชั่วกัปชั่วกัลป์ที่ผ่านมา ไม่รู้กี่ล้านกัปล้านกัลป์

ไม่เคยมีตัวตนปรากฏแม้แต่วินาทีเดียว

มีแต่ความหลง ไปยึดว่าเป็นตัวเป็นตนทั้งนั้น

 

พอเราสามารถอ่านออก จับได้ไล่ทันว่า สังโยชน์หน้าตาเป็นอย่างไรแล้ว  

ก็จะพร้อมพัฒนาขึ้นเป็นโพชฌงค์ 7 คือ พร้อมทิ้งอุปาทาน

 

โพชฌงค์ จริงๆ แล้วก็คือ ธรรมะอันเป็นเครื่องพร้อมตรัสรู้

จากนั้นก็จะถึงขั้นบรรลุธรรม ก็อาศัยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง

 

ตัวเลขนี่สวยเลยนะ การรู้ธรรมะ รู้ว่ากายใจนี้ สักแต่เป็นสภาพธรรม

 

ขันธ์ 5

อายตนะ 6

โพชฌงค์ 7

มรรคมีองค์ 8

5-6-7-8 จำง่ายๆ เลยนะ

 

ถ้าวันนี้ เราได้มาศึกษาในขั้นที่เห็นกายใจเป็นอายตนะ 6

เพื่อความรู้ว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนได้

คุณจะรู้สึกว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ คือสติปัฎฐาน 4 นี่

ง่ายอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำให้ง่ายกว่านี้อีก

 

ขอแค่ลงทุน ศึกษาทำความเข้าใจในเบื้องต้นให้แจ่มชัด

ก็จะมีคำตอบอยู่หมด

 

พระพุทธเจ้าให้โรดแมปไว้เป็นขั้นเป็นตอนมา

แล้วก็คุณจะสามารถสำรวจตรวจสอบตัวเองได้เลยว่า

บัดนี้คุณมาใกล้เส้นชัยแค่ไหน

 

อย่างพวกที่ตอบโพลมานี่ มีความหมายมากนะ  

 

คืนนี้คุณจะเห็นนะครับ คุณจะเข้าใจเลยว่า

ถ้าหากว่าคุณตอบอยู่เป็นกลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มที่สอง หรือแม้แต่กลุ่มที่สามนะ

จะเป็นเครื่องสะท้อน เป็นสัญญาณบอกว่า

คืนนี้ คุณจะเริ่มเข้าใจวิธีการเห็นกายใจ โดยความไม่ใช่ตัวตน

 

แล้วก็ตัวหมวดธรรมนี่

คุณจะสามารถสำรวจตรวจสอบตัวเองได้อยู่เรื่อยๆ ว่า

จากขั้นนี้คุณหล่นไปขั้นไหน หรือจากขั้นที่หล่นลงไปแล้ว

คุณกลับฟื้นฟู หรือว่ากลับกู้สถานการณ์ฟื้นคืนมาได้อย่างไรนะ

 

อันนี้จะปรากฏชัดอยู่ในประสบการณ์ตรงของคุณเอง

ที่ถ้าคุณเข้าใจทฤษฎีเข้าใจปริยัติ

เข้าใจว่าพระพุทธเจ้าท่านวางโรดแมปไว้อย่างไรแล้วนี่

จะมาตรงกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเลยนะ

____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน วิธีดูสังโยชน์

- ช่วงบรรยาย รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม

วันที่ 2 ตุลาคม 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=Kal5MnjkL1U&t=22s

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น