ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่านพบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม
สำหรับคืนนี้ เรามาพูดกันเรื่องของโพชฌงค์ 7
ซึ่งโดยความหมาย ก็คือ องค์ธรรม หรือองค์ประกอบในจิต
ที่เอื้อให้เกิดความพร้อมที่จะทิ้งอุปาทาน
หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นองค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้ธรรมนั่นเอง
คืนนี้ไม่ใช่ว่า จะมาให้ทุกท่านได้ถึงขั้นได้ดิบได้ดีกัน
แบบที่ฟังครั้งเดียวแล้วได้กันเลย
แต่ว่าอย่างน้อยที่สุด เราได้ต่อยอดสิ่งที่ได้เคยทำมาแล้วนะ
ได้เคยเห็นลมหายใจ ได้เห็นกาย ได้เห็นเวทนา
เห็นจิต เเล้วก็มีความรับรู้ มีประสบการณ์ตรง
ว่าสิ่งเหล่านั้น จริงๆ แล้วไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่มีชื่อ
ไม่มีนามสกุล
มีแต่ภาวะที่เกิดขึ้นแป๊บหนึ่ง แล้วก็หายไป
ถ้าหากว่าเรา ไม่ใช่แค่เห็นแบบผ่านๆ
ไม่ใช่แค่เห็นเพื่อที่จะเอาประสบการณ์ชีวิต
แต่เห็นเพื่อที่จะให้เป็นมุมมองปกติของเรา
อันนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าท่านให้สำรวจ
ว่าจิตของเรา
มีความพร้อมทิ้งอุปาทานว่า
กายนี้ใจนี้เป็นตัวของเราอย่างไรนะครับ
ที่เราปฏิบัติธรรมกันมา ก็ด้วยการตั้งเป้าไว้ว่า
จะบรรลุมรรคผลกันทั้งนั้น
ถ้าเข้าใจตั้งแต่เริ่ม ว่าเราเจริญสติมาอย่างไร
พระพุทธเจ้าท่านตรัสแบบตรงไปตรงมา ไม่มีการอ้อมค้อม
ว่าเจริญสติไปเพื่อบรรเทาทุกข์ เจริญสติไปเพียงเพื่อที่จะให้รู้สึกดี
หรือว่ามีความสุขกับชีวิตไปวันๆ นะ
แต่การประกาศธรรมของพระองค์ มีความอาจหาญนะครับ
ก็คือว่า เจริญสติปัฎฐานเพื่อที่จะบรรลุธรรม
เพื่อที่จะสิ้นทุกข์สิ้นโศก
ไม่มีการมาพูดแทงกั๊กอะไรทั้งสิ้น พูดตรงๆ เลยว่า
เป้าหมายของการเจริญสติ เพื่อที่จะพ้นจากอุปาทาน
ว่ากายนี้ใจนี้ เป็นตัวของเรา
ทีนี้ พอมาถึงยุคเรา
ทำอย่างไรที่จะไม่รู้สึกว่า
การหวังบรรลุมรรคผล เป็นสิ่งเกินตัว
ถ้าเราเอาแค่ทำสมาธิแบบแป๊บๆ หรือว่าสวดมนต์ให้มีความสุขอ่อนๆ
แล้วก็บอกว่า แค่นี้สามารถหวังมรรค หวังผลได้
ความรู้สึกลึกๆ ก็จะบอกตัวเองว่า นี่เกินนะ เป็นสิ่งที่เกินตัว
เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นสิ่งที่เอื้อมไม่ถึง
แต่ถ้าหากว่า เราศึกษาสิ่งที่พระพุทธเจ้า
ท่านประทานไว้เป็นแนวทางมาตั้งแต่ต้น
ท่านที่ทำกันมาตั้งแต่เริ่มนับหนึ่งกันนะครับ
ก็จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าท่านให้โรดแมปไว้แล้ว
เหมือนกับเป็นการให้ใบรับประกันว่า ถ้าตามทำมาตามเส้นทางนี้
อย่างไรๆ จะมาถึงจุดที่
จิตเข้าท่าเข้าทางได้แน่นอน
ถ้าหากช่วงแรกๆ คุณได้อานาปานาสติเป็นจุดเริ่มต้น
เป็นชนวนสมาธิจิต
ก็จะพบว่า ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน
อย่างที่หลายๆ ท่านประจักษ์มาแล้วนะครับว่า
มาอยู่บนเส้นทางที่ให้ความรู้สึกว่า เป็นไปได้
ที่จะตัดตรงเข้าถึงเป้าหมาย
คืออาจยังไม่ใช่วัน สองวันนี้ อาจจะไม่ใช่ภายในเดือน
สองเดือน
แต่จะเห็นอะไรบางอย่าง เห็นว่า ลมหายใจปรากฏเป็นนิมิตได้
เห็นว่า เมื่อเราหายใจยาว อย่างมีความสม่ำเสมอ
อย่างมีความเป็นสมาธิ
จะเกิดปีติ เกิดความสุขในแบบที่ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยลิ้มรสมาก่อนในชีวิตประจำวันได้
จะเกิดประสบการณ์ที่เห็นว่า
ถ้าเรารู้สึกถึงลมหายใจ แล้วไม่ลืมอิริยาบถ
พูดง่ายๆ ว่า รู้ลมหายใจไปด้วย พร้อมกับรู้อิริยาบถไปด้วย
ในที่สุด จะเห็นว่าอิริยาบถ หรือกายในท่านี้
จะเป็นกายนั่ง กายเดิน กายยืน หรือกายนอนก็ตาม
จะปรากฏเหมือนหุ่น เหมือนกับอะไรที่เราไม่เคยคุ้นมา
ทั้งชีวิต เราเคยคุ้นแต่ความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในหัว
ที่กระจุกอยู่ในอก
เป็นอารมณ์บวกบ้าง เป็นอารมณ์ลบบ้าง
รู้สึกสว่างบ้าง รู้สึกมืดบ้าง
แต่ไม่เคยเห็นว่าสภาวะทางกาย เหมือนกับหุ่นที่ถูกชักใย
ก็มาได้เห็นหลังจากที่ฝึกอานาปานสติ
แล้วต่อยอดเป็นการเห็น กายนั่ง กายยืน กายเดิน กายนอน
อย่างนี้
ถ้าประสบการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น จะทำให้คุณรู้สึก
บอกตัวเองว่า
อะไรๆ ที่กำลังเห็นอยู่นี้ ท่าทางจะใช่
ท่าทางจะเป็นไป เพื่อที่จะถอดถอนความหลงผิด
หรือว่าความยึดติดถือมั่น ในแบบที่จะทำให้เกิดความทุกข์
ในแบบที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ตายแล้วไม่จบ
เดี๋ยวต้องเดินทางต่อ เดี๋ยวต้องมีกายใจอื่นมาสืบต่อกายใจนี้อีก
แต่พอมาเห็นตามที่พระพุทธเจ้าอยากให้เห็นแล้ว
จะกลายเป็นว่า เออ! เป็นไปได้ว่า
กายใจนี้ อาจเป็นกายใจสุดท้าย
หรือถึงแม้ว่าจะไม่ท้ายที่สุด
แต่ก็อาจจะ น่าจะให้ท้ายๆ แล้ว
ถ้าหากคุณรู้สึกทำนองนี้ นั่นแหละ
คือสัญญาณบอกว่า จิต เกิดสัญชาตญาณรับรู้ว่า ทางสั้นลงแล้ว
แต่ถ้าทำไป แล้วก็บ่นไป
เหมือนกับตาลอยไปว่า ทำไม่ได้หรอก ทำไม่ถึงหรอก
ปล่อยให้ความคิดนี้เป็นกรงขังจิต
ให้วนเวียนอยู่กับความเชื่อแบบนี้
อันนี้ ทางยาว
คือทางยาว ทางสั้นในสังสารวัฎนี้ ดูง่ายๆ เลยนะ
พบพระพุทธเจ้าแล้ว
ทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว
รู้สึกกับตัวเองอย่างไร
รู้สึกว่าทำไม่ได้หรอก วนเวียน รีพีต (repeat) อยู่กับชุดโปรแกรม
บอกตัวเอง ย้ำกับตัวเองอยู่แค่นี้
หรือว่าค่อยๆ ทำไปทีละนิด ทีละหน่อย
เอาแบบที่พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ แล้วดูสิว่าเกิดอะไรขึ้น
หากว่ามีการเลื่อนขั้น
อาจจะไม่ถึงขนาดแบบ เลื่อนเป็นลิฟต์ขึ้นปรูดปราด
ไม่ใช่อัตโนมัติ เหมือนกับขึ้นบันไดเลื่อน
แต่อาจจะค่อยๆ ก้าวทีละกระดืบๆ นะ เป็นบันไดขึ้นที่ชัน
เป็นทางชัน
ที่ตอนแรกๆ อาจจะรู้สึกว่าฝืน อาจจะรู้สึกว่าไม่สะดวกใจ
อาจไม่ถูกอัธยาศัย ไม่ถูกจริตอะไรก็ตาม
แต่พอค่อยๆ กระดืบไปทีละขั้น ทีละขั้น
แล้วรู้สึกว่าเป็นไปได้ ที่เราจะขึ้นไปจริงๆ
ไม่ใช่เหมือนกับที่เราตั้งความเชื่อไว้.. set
ความเชื่อแรกนะ
ว่าอย่างไรๆ ก็ไปไม่ได้ อย่างไรๆ ก็ไปไม่ถึง
อย่างที่ผมลดรายละเอียดของนิมิตลง
เอาที่หลายๆ ท่านสามารถรู้สึกได้จากการฝึกอานาปานสติ
แค่เห็นว่า กายนี่เหมือนถุงลมโป่งพอง สูบลมเข้า แล้วก็พ่นลมออก
เอาให้ได้เพียงแค่นี้ ก็ใจชื้นแล้ว มีกำลังใจแล้วนะ
แล้วถ้าหากว่าเราสามารถรู้สึกได้ว่า
ที่กำลังหายใจเข้า หายใจออกอยู่นี่
หายใจเข้า เข้ามาในกาย หายใจออก ออกไปจากกาย
และในส่วนหัว ในส่วนบนสุด ก็มีความคิด
มีภาวะของความฟุ้งซ่านบ้าง ความสงบบ้าง อย่างนี้
แค่นี้เอง เรียกว่าเห็นกายเห็นใจแล้ว
เห็นกายเห็นจิต โดยความเป็นรูป โดยความเป็นนาม
คืออาจจะไม่ได้เห็นชัดถนัดใจนะครับ
แต่ว่าก็มีความรู้สึกขึ้นมาว่า สภาพกายภาพใจนี้
ไม่ใช่อะไรแบบที่เราคิดมาตลอด
ไม่ใช่ก้อนอัตตาก้อนหนึ่ง
แต่แยกออกจากกันเป็นต่างหาก
ถ้าคุณสามารถมีจิต รู้ถึงฐานที่ตั้งของความเป็นกายได้
แล้วรู้ว่ามีลมหายใจแยกเป็นอีกชั้น เป็นอีกเลเยอร์หนึ่งต่างหาก
จากกายนั่ง กายเดิน กายนอนนะ
เพียงแค่นี้ คุณก็จะรู้สึกว่าความคิด หรืออารมณ์ต่างๆ
ก็แยกไปเป็นต่างหากอีกชั้น
ไม่ได้ยากเย็นอะไรนะ ไม่ได้ถึงขนาดทำไม่ได้
เพียงแต่ว่าความไม่สะดวกใจของคุณ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นนั่นแหละ
ที่เบรกไว้ ที่ไม่ยอมให้เอาจริงเอาจัง
ไม่ยอมให้ทำจริงทำจัง แล้วก็จะไม่เห็นผล
พอเริ่มเห็นผล
เรามาคุยกันในแง่ที่เราเริ่มเห็นผล
___________________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน
พร้อมรู้ว่าไม่มีตัวตน
- ช่วงเกริ่นนำ
วันที่ 16 ตุลาคม 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=xB33_5ntM4Q
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น