- ความสุขก็หนักๆ ที่ใจอยู่นะครับ
ดังตฤณ : ความสุข
มีหลายแบบ หลายระดับนะ ถ้าสุขในแบบที่เป็นสมาธิ แล้วก็มีความเบาของกายของใจอยู่
จะไม่รู้สึกหนัก
ที่จะรู้สึกว่าความสุขเป็นของหนัก
ก็ต้องเปรียบเทียบกับ อรูปฌาน หรือ จตุถฌาน ก็รู้สึกแล้วว่า ความสุขเป็นของหนัก
อรูปฌานนี่ ยิ่งระดับสัญญาเวทยิตนิโรธ
คือตัวเวทนาดับ สัญญาดับ ของแท้ ขณะที่พระอรหันต์ หรือพระอนาคามี
เข้าฌานขั้นสูงสุดที่มนุษย์จะทำได้ เทวดาจะทำได้ ตรงนั้น ความสุขเป็นของหนักจริง
แต่ถ้าในระดับเราๆ ท่านๆ ความสุข มีระดับของมัน
ความสุขแบบหยาบๆ กับความสุขที่ประณีต ละเอียดขึ้นไปนะครับ
ถ้าหากว่าเป็นความสุขในแบบที่ไม่รู้สึกถึงสภาวะทางกาย
ไม่รู้สึกถึงสภาวะที่มีอะไรจับต้องได้ เนื้อตัวไม่เกร็งเลย ผ่อนคลายตลอดทั่ว
ก็จะไม่รู้สึกหนักนะครับ
- ตั้งแต่เริ่มเดือนมิถุนายน และฝึกทุกวัน
รู้เลยว่าชีวิตนี้ดีขึ้นมากค่ะ รู้ภาวะทางใจ ใจเบา ใจใส สบายตัว
ดังตฤณ : อนุโมทนานะครับ
คือถ้าเรามาถึงตรงที่ใจเบา ใจใสได้ จะยิ่งกว่าได้เพชรได้พลอย
ที่เป็นขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า เราวิ่งไล่หาไปจนสุดขอบฟ้า
บางทีได้มาแค่สิ่งที่จะเอามาซื้อขายกัน
ใช้ไปไม่กี่ล้าน เดี๋ยวก็หมด แต่ถ้าหากว่าเราเจอใจของตัวเองที่เป็นแก้ว
ที่มีความใส ในแบบที่จะไม่ถอยกลับไปขุ่นอีกง่ายๆ
จะได้สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิตมาตลอดชีวิตที่เหลือนะ
ถึงได้ล้ำค่ากว่าเพชรกว่าพลอยขนาดไหน
- อาการเบื่อๆ อยากๆ ทรมานมากจริงค่ะ
ดังตฤณ : จริงๆ คือ
สังสารวัฏนี่ น่าเบื่อมาตลอด ไม่ว่าจะเกิดชาติไหน มีความสุข
มีความชุ่มฉ่ำได้แป๊บหนึ่ง
เดี๋ยวต้องตกกลับไปสู่สภาพที่แท้จริงของการเวียนว่ายตายเกิด คือน่าเบื่อ
อย่างพอใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ สังขารร่วงโรย
สภาพทางกายไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่หนุ่มสาวอีกต่อไป เราก็จะเห็นว่าชีวิตที่ปลายทาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาพทางกาย ไม่มีอะไรดีๆ รออยู่ มีแต่อะไรแย่ลงๆ เสื่อมลงๆ
แล้วก็ถ้าเราไม่บำรุงรักษาให้ดี หรือพยายามเข็ญให้ดีขึ้น มันจะทรุดลงอย่างรวดเร็ว
นี่ อะไรแบบนี้นี่ เป็นเรื่องน่าเบื่อจริงๆ
แล้วเกิดมาทุกชาติต้องเจอแบบนี้ทุกครั้ง
นี่ขนาดว่า ภพดีๆ อย่างมนุษย์นะ สภาพดีๆ กายดีๆ
แบบมนุษย์ ยังเป็นเสียอย่างนี้ แล้วภพอื่น สภาพอื่น อย่างถ้าไปเกิดต่ำกว่ามนุษย์
สภาพทางกาย จะน่าอึดอัดทรมานมาตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว
หรือถ้าไปเป็นเทวดา
มีสภาพทิพย์อันน่าพึงพอใจอย่างใหญ่หลวง เสร็จแล้ว พอมีความสุขมาก ก็ยึดมาก
เหมือนกับเรารักพ่อแม่ ญาติพี่น้องมาก ไม่อยากให้จากไป นั่นแหละ คูณเข้าไปร้อย
คูณเข้าไปพัน ตอนที่เราไปได้สภาพอันเป็นกายทิพย์
อย่างพ่อแม่พี่น้องจะตายไป ใจเราแทบขาด
แต่ตอนเป็นเทวดา พอสภาพทิพย์จะหมดไป จะสิ้นลง จะทรมานยิ่งกว่านั้นอีกนะ
เพราะฉะนั้น ความรู้สึกเบื่อๆ อยากๆ แค่ในช่วงที่จิตกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ ว่าเกิดมาในโลกนี้ มาเจริญสติอยู่อย่างนี้
แล้วเห็นว่าสภาพที่เป็นกายนี้ใจนี้ ให้มองเหมือนกับของที่เรากลืนไม่เข้า คายไม่ออก
ท่านใช้คำนี้นะ คือจะบ้วนทิ้งเร็วๆ
ด้วยการฆ่าตัวตาย ก็ไม่เหมาะไม่ควร ไม่ได้นะ แต่อยู่ต่อไป
ก็มีอาการแบบเหมือนกับฝืดๆ ฝืนๆ
เพราะฉะนั้น ตัวใจกลางของกรรมฐานคืออานาปานสติ
จะช่วยได้
ถ้าคุณรู้สึกถึงลมหายใจอยู่เรื่อยๆ
จนกระทั่งมีความสุข มีความชุ่มชื่นขึ้นมา จะหารสองกันพอดี กับความรู้สึกเบื่อๆ
อยากๆ จะได้ความรู้สึกตรงกลางๆ ที่ กายใจนี้น่าเบื่อ
แต่เราไม่ต้องเป็นทุกข์กับความน่าเบื่อของมันก็ได้
สภาพจิตใจยังดี ยังสดชื่นอยู่
แต่เป็นความสดชื่นที่เราไม่ยึดติดว่า จะต้องคงสภาพดีๆ คงสภาพความสดชื่นไว้อย่างนี้
พอจะเศร้าหมองลงบ้าง มีอาการหม่นลงบ้าง
เราก็เห็นเป็นสภาพหนึ่ง ที่ปรากฏชั่วคราว แล้วก็รู้สึกไปอีกครั้งหนึ่งว่า
ของชั่วคราว มาให้ดู ไม่ใช่มาให้ยึด
พอคุณไม่ยึด ทั้งภาวะดี ภาวะไม่ดี ภาวะเบื่อ
ภาวะอยาก ไม่ยึดสักอย่าง เห็นแต่ว่า มันมาเพื่อให้รู้ว่าไม่เที่ยง
ในที่สุด
จิตจะเข้าสู่ภาวะความเป็นกลางอย่างแท้จริง ไม่ใช่เบื่อๆ อยากๆ
ในอาการที่มีโทสะเจือปนผสมอยู่นะครับ
- ทำไมผมฟังแล้วสะดุ้งทุกคำเลยครับ
ดังตฤณ : หลังโพลแรกใช่ไหม
.. พอจิตรู้สภาวะ รู้กายใจโดยความเป็นสภาวะ โดยเฉพาะอยู่ในช่วงครึ่งๆ กลางๆ
บางทียังมีอุปาทาน ยังมีตัวตนอยู่ บางทีเข้าไปเห็นว่า มีสภาพธรรมล้วนๆ
ไม่ได้มีความเป็นบุคคลอยู่เลย บางทีจะยังอยู่ในภาวะครึ่งๆ ครึ่งระหว่าง โลกกับธรรม
ทีนี้ ถ้ารู้สึกว่าโดน รู้สึกว่าใจสะดุ้ง
ก็เป็นไปได้ ที่ตอนนั้น พลิกจากอาการแบบโลกๆ มาเป็นอาการทางธรรม แบบเฉียบพลัน
กระทันหัน
ฟังแล้วก็คงจะเข้าใจได้
- เริ่มทันและตัดเร็วขึ้นค่ะ ขอบคุณนะคะ
ดังตฤณ : นี่แสดงว่าหลายคนมากๆ
นะ คุณบอกมาได้แบบนี้ คือก็แสดงว่าโอเคนะ ว่าเราปฏิบัติมากัน
ตัวที่บอกว่าถูกทางนี่ ก็คือตัวนี้แหละ ที่ใจจะยึดน้อยลง
ใจ มีความรู้สึกเหมือนกับว่า ไม่ต้องยึดก็ได้
จากเดิมที่ต้องยึดแน่ๆ ไม่ยึดไม่ได้ ยอมไม่ได้ กลายเป็น ไม่ต้องยึดก็ได้
อนุโมทนานะ ก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่ามาไกลแล้วนะ
- ตามดู แบบดูอยู่ห่างๆ สาธุค่ะ
- ทราบแล้วค่ะว่าตัวเองยัง ปฏิฆะ
ยังรู้สึกถึงความกระทบกระทั่งอยู่ รู้เลยว่าตัวเองยังห่างไกลเหลือเกินค่ะ
ดังตฤณ : คือที่คุณห่าง
ห่างจากอนาคามิผลนะ แต่ไม่ได้ห่างไกลจากมรรคผล
ไม่ได้ห่างไกลจากเส้นทางของการเห็นกายใจเป็นรูปนามนะ
เรื่องปฏิฆะ เป็นของสูงมากๆ ที่จะละได้
พระอนาคามีเท่านั้นนะ แม้แต่พระโสดาบัน พระสกทาคามี
บางทีก็อยู่ในภูมิของท่านเป็นสิบๆ ปี ก็ยังต้องมีปฏิฆะอยู่
ยังมีโทสะได้อยู่อย่างนี้นะครับ
เพราะฉะนั้น ของคุณ คำว่าห่าง
อย่าบอกว่าห่างจากความสำเร็จเลย .. ห่างจากพระอนาคามี ห่างจากความเป็นอนาคามีนะ
ไม่ได้ห่างจากความเป็นผู้สามารถจะเข้าถึงการรู้ว่ากายใจเป็นรูปนามนะครับ
_____________________
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน
รู้จักอนัตตาในระดับของจิต
ช่วงรวมฟีดแบคหลังโพลที่ 1
วันที่ 9 ตุลาคม 2564
ถอดคำ: เอ้
รับชมคลิป: https://www.youtube.com/watch?v=35HH20V5Kwg
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น