วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

กฎแห่งกรรม คือสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว หลีกเลี่ยงไม่ได้ใช่ไหม

ดังตฤณ : ไม่ใช่นะครับ

 

เอาง่ายๆ เลย ที่คนเข้าใจผิดกันมากก็คือว่า ความเจ็บไข้ได้ป่วย มาจาก กรรมเก่า มาจากบาปเก่า เป็นผล เป็นวิบาก

 

จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนเลยนะว่า โรคภัยไข้เจ็บ เกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ 4 ประการ

 

อันดับแรกคืออุตุฯ หรือว่าสภาพดินฟ้าอากาศทั่วไป

อันดับสอง คือทำงานหนักเกินไป

อันดับสาม คือไม่บริหารร่างกาย ประเภทนั่งอยู่เฉยๆ ทำงานทั้งวัน แบบนี้ตัวดีเลยนะ ประเภทที่อยู่ในท่าเดียวนานๆ เตรียมเป็นโรคได้ อันนี้ผมเข้าใจดี

 

อันดับสี่ ท่านถึงพูดถึงเรื่องของกรรมเก่า บาปเก่าที่เคยทำไว้

 

อันดับแรก ดินฟ้าอากาศ

อันดับสอง ทำงานมากเกินไป

อันดับสาม ไม่บริหารร่างกาย

อันดับสี่ ถึงเป็นเรื่องของกรรมเก่า

 

หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าต่อให้วันนี้ไม่ได้มีกรรมเก่าใดๆ ที่จะต้องทำให้ไม่สบาย แต่เราไปยืนตากฝนยืนอยู่ 3 ชั่วโมง มีลมมีฝนพร้อมนี่ เสร็จแน่นอน

 

หรือถ้าหากว่าเราไม่มีกรรมเก่า ที่จะต้องเป็นง่อย เป็นอะไรเกี่ยวกับแขนขาแต่ถ้าหากว่านั่งทำงานอยู่ทั้งวัน นั่งเฉยๆ ไม่ยอมออกกำลังกายเลย

 

อันนี้ก็เตรียมได้นะครับ เตรียมตัวเตรียมใจได้เลย เดี๋ยวจะต้องจ่ายค่าหมอ ทำกายภาพบำบัด แล้วก็อาจจะต้องมีคนแซะจากเตียง ลุกขึ้นเองไม่ไหว คอเดี้ยง หลังเดี้ยง เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดๆ นะครับ

 

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่าเรื่องของกรรม เป็นเหตุสุดท้ายเลย ที่จะทำให้เกิดความเจ็บไข้ได้ป่วย

 

เพราะฉะนั้น ตอบคำถามได้ว่า โรคภัยไข้เจ็บ หรือว่าคนที่จะมีสภาพร่างกายไม่ดี เป็นไปต่างๆนานา ไม่ใช่กรรมเก่าเสมอไป

 

บางทีทำตัวเอง ของใหม่เลย ทำอยู่วันนี้ เห็นอยู่วันนี้เลยนี่แหละ

 

เรื่องที่ว่าอะไรๆ ในชีวิตเป็นผลของกรรมเก่าอย่างเดียว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเป็นมิจฉาทิฎชนิดหนึ่ง เป็นความเข้าใจผิดชนิดหนึ่ง

 

ความเข้าใจที่ถูกต้องก็คือว่า วิบากเก่า เขาให้ผล เขาส่งอะไรมาให้เราระดับหนึ่ง และเรามาต่อยอดเอาเองด้วยกรรมใหม่

 

ยกตัวอย่างเช่น สิ่งที่เขาส่งมาชัดๆ เลย ก็คือว่า

ให้ร่างกายของเราเป็นแบบนี้ มาเข้าท้องพ่อท้องแม่คู่นี้

 

คนคนหนึ่ง ชีวิตหนึ่ง มีพ่อแม่ได้แค่คู่เดียว

คู่นั่นแหละ เป็นตัวตัดสินเบื้องต้นเลยว่า

กรรมเก่าของเรา มาดีหรือร้ายแค่ไหน

 

เข้าท้องมนุษย์ได้ ต้องมีบุญนะ ต้องมีบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง

ต้องมีจิตสำนึกแบบหนึ่งที่มีเหตุมีผล ไม่อย่างนั้น เป็นมนุษย์ไม่ได้

 

พอเกิดเป็นมนุษย์แล้ว

โตขึ้นมาจะมีความรู้สึก น้อยเนื้อต่ำใจในวาสนาของตัวเอง

หรือจะมีความรู้สึกลำพอง เต็มไปด้วยปมเขื่อง

อันนี้ก็ว่ากันอีกชั้นหนึ่ง ว่ามีกรรมสนับสนุนให้เกิดความรู้สึกแบบไหน

 

อย่างถ้าเกิดมา ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องธรรมะเลย

แนวโน้มก็คือ ของเก่ามีอะไรอย่างไร ของใหม่ก็จะคล้อยไปตามนั้น

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดมามีความเห่อเหิมในชีวิตตัวเอง มีความรู้สึกหลงระเริง

 

ก็พร้อมที่จะใช้ชีวิตแบบคนหลงระเริง กลายเป็นคนเสเพลบ้าง กลายเป็นคนดูถูกคนอื่นบ้าง

 

บุญเก่าๆ ที่ทำมา สั่งสมมา ถูกทำลายยับภายในชีวิตเดียว

 

หรือบางคนเกิดมา มีแต่ความน้อยเนื้อต่ำใจ น่าน้อยเนื้อต่ำใจในชีวิตตัวเอง แต่ว่าศึกษาธรรมะ แล้วเกิดความรู้สึกว่า เราจะเอาดีให้ได้

 

คือจะเอาชนะ บาปเก่าด้วยบุญใหม่ แล้วตั้งหน้าตั้งตาทำบุญ

 

เจอความกดดันแค่ไหน เจอแรงบีบคั้นแค่ไหนก็ไม่ยอมแพ้

ตั้งหน้าตั้งตาเอาชนะด้วยความคิดฝ่ายดีอย่างเดียว ในที่สุดจิตก็สว่าง

 

จากจิตที่จ๋อยๆ มืดๆ ก็กลายเป็นจิตที่เบิกบานขึ้นมาได้

 

ตัวนี้แหละ ที่เป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง

 

ของเก่ามาอย่างไร ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นแบบนั้นเสมอไป

 

เจอชะตากรรมแค่ไหน เราสามารถที่จะตั้งใจใหม่ได้ว่า จะโต้ตอบแบบใด

 

พุทธศาสนา บอกว่าถ้าไม่รู้จะตั้งใจไว้ล่วงหน้าอย่างไร ยึดไว้ก่อนเลยอันดับแรก ก็คือ

 

ถึงแม้ถูกยั่วยุให้ฆ่า ก็อย่าฆ่า

ถึงแม้ถูกยั่วยุยั่วยวนให้ขโมย ก็อย่าขโมย

แม้ถูกยั่วยุให้ผิดประเวณี ร่วมประเวณีลูกเขาเมียใคร .. ยุคนี้ก็ต้องบอกว่า ผัวใครด้วย ก็อย่าทำตามแรงยั่วยุเหล่านั้น

 

ถูกยั่วยุหรืออยู่ในกลุ่มคนที่เต็มไปด้วยการพูดจาสับปลับ โกหก ปั้นน้ำเป็นตัว นินทาว่าร้าย ยังไม่รู้เลยว่าจริงไม่จริง ขอสนุกก่อน มันปากก่อน ด่าตามน้ำ เห็นเพื่อนๆ เกลียดใคร ก็เกลียดเขาด้วย ด่าตามเขาไปด้วย

 

อีกอย่างหนึ่งคือ การเสพสุรายาเมา ยาบ้า ยาไอซ์ทั้งหลาย ที่เป็นเหตุให้สติถูกบั่นทอนลง

 

เหล่านี้ ถ้าหากว่าเราตั้งใจไว้ล่วงหน้าว่า ชีวิตของเราจะไม่จมอยู่กับตรงนั้น

 

ถึงแม้ว่าเกิดมา จะเลี่ยงไม่ได้ แต่เราก็จะพยายามเลี่ยง เอาตัวออกมาจากการอยู่ในวงจรของการละเมิดศีลห้า ให้ได้

 

ตรงนี้แหละ ที่เรียกว่ากรรมใหม่

 

พระพุทธเจ้าเน้นตรงนี้เลยนะ เรื่องของกรรมใหม่ ไม่รู้จะพูดให้ละเอียดพิสดารเป็นคนๆ ได้อย่างไร ก็เอาแค่ 5 ข้อนี้แหละ ที่มีอยู่เหมือนๆ กันนะว่า จะรักษาศีลห้า หรือว่าจะละเมิดศีลห้า

 

เพราะศีลห้า เป็นพื้นฐานทางธรรมชาตินะครับว่า เราจะได้ดี มีสุขในการต่อไป รวมทั้งในการนี้ หรือว่าเราจะตกต่ำลง ไปเป็นทุกข์ไปมีความทุกข์

 

อันนี้ ถ้าเข้าใจว่าของเก่ามาอย่างไร แล้วเราจะโต้ตอบด้วยศีลห้า ด้วยการกั้นตัวเอง ไม่ให้ไปตกไปอยู่ในวังวนของภยันตรายนะครับ อย่างนี้เรียกว่าของใหม่เราดีแน่ๆ ของเก่า จะเป็นอย่างไรไม่รู้ล่ะ

 

สรุปก็คือว่า ไม่ใช่ว่ามีอะไร กำหนดไว้แล้วว่าเราจะต้องฆ่าในวันนี้

ถ้าเราห้ามใจ อันนี้คือกรรมใหม่ ที่เป็นของดีของเราเอง สร้างอะไรดีๆไว้ให้ตัวเอง

 

ไม่มีกรรมเก่าไหนที่สามารถมาบีบบังคับเราได้ว่า จงขโมย

แม้ว่าจะมีสถานการณ์บีบคั้นให้ขโมย แต่ถ้าเราตัดสินใจไม่ขโมยก็คือกรรมใหม่ ที่สวนทางกับของเดิมนะ

 

พูดง่ายๆ สรุปง่ายๆ ก็คือว่าศีลห้า เอาไว้ก่อน

 

เป็นตัวตัดสินเลย เป็นตัวที่จะวัดเลยว่า ของใหม่ของเรา จะทำให้ของเดิมที่ดีอยู่แล้ว ดียิ่งขึ้น หรือ จะแก้ไขของเดิมที่แย่ๆ เปิดทางให้มีความสุข มีความสบายได้มากกว่าเดิมไหม

 

บางทีเรารักษาศีล วันสองวันแรก เดือนสองเดือนแรก เหมือนชีวิตไม่เปลี่ยนนะ

 

แต่เมื่อไหร่ ศีลเริ่มอิ่มตัว คือเรารักษาศีลได้ โดยไม่ต้องบังคับใจตัวเอง ไม่ต้องฝืนใจตัวเอง ไม่ต้องห้ามใจตัวเอง จะมีธรรมะแบบหนึ่ง ผุดขึ้นมาในชีวิตของเรา จะรู้สึกได้จากข้างใน รู้สึกเป็นความสว่าง รู้สึกเหมือนกับเป็นเส้นทาง ดวงจิตของเรา กระแสจิตของเรา กระแสความคิดของเรา นี่เป็นเส้นทางกรรม

 

เราจะรู้สึกว่า พออิ่มตัวแล้ว คงที่คงเส้นคงวาแล้ว เราจะอยู่กับความสุข

 

อย่างน้อยอาจไม่สุขกาย แต่มีความสบายใจ

 

ความรู้สึกสบายใจนั่นแหละ เส้นทางในชีวิตที่เรารู้สึกได้ว่า

นี่คือทางสวรรค์ นะครับ

_____________________________

คำถาม : ตามความเชื่อเรื่องกฏแห่งกรรม แปลว่า เหตุการณ์ที่เราเจอ หรือคนที่เราเจอ ความเจ็บป่วย โรคที่รักษาไม่หาย ถูกกำหนดมาแล้วว่าต้องเกิดแบบเลี่ยงไม่ได้ ใช่ไหม 

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=DkBKyIMF67c


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น