วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564

07 ให้ขันธ์ 5 รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ 5 : โพลครั้งที่ 2

ดังตฤณ : พออยู่ในสมาธิได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมาถึงจุดที่เกิดความอิ่มใจ เกิดความสบายทั่วกาย ทั่วใจ เกิดความรู้สึกผ่อนพัก เกิดความรู้สึกว่า มีปีติเอ่อขึ้นมาอ่อนๆ

 

หรือหลายๆ คน ตอนนี้ก็น่าจะเข้าถึงจุดที่ พอทำท่าที่สอง ปีติ กับสุข จะเอ่อขึ้นมา เอ่อล้น แล้วก็อยู่ในสมาธิได้นาน

 

ทีนี้ ขอให้สังเกตว่าในหัวของเรา ในใจของเรา ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนถึงแม้ยังมีอยู่ แต่จะแตกต่างไปจากเดิม

 

ตอนที่เราฟุ้งซ่าน ตอนที่เราอยู่ในโลกร่วมกับคนอื่นๆ แบบมีตัวตน อันนั้นจะมีมโนภาพ ว่าเราเป็นชายเป็นหญิง มีสุ้มเสียง เสียงแหลมเสียงต่ำ หรือว่าเสียงทุ้มที่น่าฟัง ก็จะปรุงแต่งให้มโนภาพตัวตน เกิดขึ้นเกาะกุมจิตใจของเรา ตอนไม่ได้อยู่ในสมาธิ จะมีมโนภาพแบบนี้

 

มโนภาพแบบนั้นมาจากไหน?

 

คนทั้งหลาย เชื่อสิ่งที่เราเห็นด้วยกระจกเงา เรานึกว่าเรามีตัวอะไรอยู่ตัวหนึ่ง ที่มองในกระจกแล้วเชื่อว่า ตัวนั้นแหละคือตัวเรา

 

ต้นตอของมโนภาพ มาจากเงาในกระจกแบบนี้เป็นหลักนะ ว่าเรามีรูปร่างหน้าตาประมาณไหน

 

ถ้าหากว่า เราทำความเข้าใจ ณ จุดที่มีสมาธิ เห็นว่าตอนมโนภาพก่อตัวขึ้นมา ก็มาจากเงากระจก ทำนองนี้แหละ รู้สึกว่าเรามีส่วนสูงประมาณไหน  หน้าตาประมาณไหน เป็นหญิงเป็นชาย

 

นี่เป็นการที่เราจะมองเห็นสิ่งที่เรียกว่า สัญญาขันธ์ หรือว่าความจำได้หมายรู้ว่า หน้าตาฉันประมาณนี้ รูปร่างฉันประมาณนี้ สุ้มเสียงฉันประมาณนี้

 

แล้วก็จะมีสังขารขันธ์ เช่นพอนึกถึงมโนภาพของตัวเอง ว่ารูปร่างประมาณอย่างนี้แล้ว กิดความรู้สึกอย่างไรขึ้นมา

 

แน่นอน ถ้าเราอยู่ในสมาธิ เราจะรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าหากว่าทบทวนไปเราจะรู้ได้ว่า นึกถึงมโนภาพของตัวเองขึ้นมา บางทีเกิดความชอบใจ บางทีเกิดความไม่ชอบใจ

 

ตัวชอบใจหรือไม่ชอบใจนี่แหละ คือสังขารขันธ์ ปรุงแต่งจิตขึ้นมาจากความจำได้หมายรู้ว่า หน้าตาตัวตนของเราประมาณใด

 

ทีนี้ มาดูว่าถ้าหากเราหายใจในแบบที่ จะทำให้รู้สึกถึงปีติสุข แล้วก็เอามือมาวางซ้อนกัน แบบที่เคยทำกัน ท่าที่สาม วางซ้อนกันที่บริเวณแนวอก ทำความรู้สึกถึง 3 เหลี่ยม ระหว่างกลางอก ถึงข้อศอกทั้งสอง

 

แล้วสามารถรู้สึกถึงความไม่คลอนแคลน ไม่หวั่นไหวของจิต เหมือนกับมือขวาแทนจิต มือซ้ายเป็นฐานรองรับของจิตที่ไม่เคลื่อน

 

ถ้าเรารู้สึกถึงความเป็นจิต ที่มีความตั้งมั่น แล้วรู้ว่าจิตแบบนั้นไม่มีหน้าตา เราก็จะเข้าใจว่า มโนภาพตัวตนที่เป็นหญิงเป็นชาย มีสุ้มเสียงประมาณไหน ส่วนสูงประมาณไหน บุคลิกประมาณไหน ก็เป็นแค่การปรุงแต่งจิตชนิดหนึ่ง

 

การที่เรามารู้ภาวะของจิต ที่มีความตั้งมั่น แล้วก็ไม่มีหน้าตา ไม่มีมโนภาพในตัวตนอย่างนี้

 

เราจะทราบว่า มโนภาพแบบมีรูปร่างหน้าตานี่ เป็นแค่นิมิตหลอก ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ไม่ใช่หน้าตาที่แท้จริงของเรา

 

ตอนที่เรานึกๆ คิดๆ แล้วรู้สึกว่ามีหน้าตาตัวตนของใครอยู่นี่ เป็นของหลอกทั้งเพ

 

ส่วนจิต ที่มีความตั้งมั่นอยู่ ด้วยความรู้จักอานาปานสติอย่างนี้ จะไม่มีหน้าตาไม่มีตัวตน มีแต่นิมิตของความนิ่ง ตั้งมั่น

 

เห็นไหม เป็นคนละนิมิตกัน

 

นิมิตแบบนี้ไม่มีหน้าตา ไม่มีความรู้สึกในตัวตนแบบเก่าๆ แต่จะมีความรู้สึกในตัวตนแบบใหม่ขึ้นมา คือเราเป็นจิต

 

จิตมีความนิ่ง จิตมีความว่าง จิตมีความตั้งมั่น จิตมีความสว่าง จิตมีความกว้างประมาณไหนอยู่

 

ด้วยความรู้สึก สามารถเปรียบเทียบได้ ระหว่างตัวตนที่มีรูปร่างหน้าตา กับตัวตนที่ไม่มีรูป ไม่มีร่าง เราก็จะเกิดความเข้าใจขึ้นมา ด้วยประสบการณ์ตรง เห็นอยู่ชัดๆ ณ ขณะนี้ว่า นี่แหละที่เรียกว่า สังขารขันธ์

 

สังขารขันธ์ทั้งคู่เลยนะ ที่นึกว่า มีรูปร่างหน้าตาตัวตนของเราอยู่จริงๆ อันนั้น ก็เป็นสังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง

 

ส่วนเมื่อเห็นจิตมีความตั้งมั่นอยู่ ไม่มีรูปร่างหน้าตาอยู่ แล้วก็ยึดว่านี่คือตัวตนของฉัน นี้ก็เป็นสังขารขันธ์อีกชนิดหนึ่ง

 

แม้ ณ ขณะนี้เริ่มรู้เข้ามาแล้วว่า นี่สักแต่เป็นสังขารขันธ์ ไม่ได้มีบุคคลอยู่ในสังขารขันธ์อยู่จริงๆ นี่ก็เป็นสังขารขันธ์อีกชนิดหนึ่งเหมือนกัน

 

คือมีความว่างจากการยึดว่าเป็นตัวเป็นตน ราวกับว่าจิตพ้นออกมาจากความเป็นบุคคล ทั้งในแบบที่มีรูปร่างหน้าตา และในแบบที่ไม่มีรูปร่างหน้าตา

 

เมื่อจิตมีความตั้งมั่นอยู่ และมีความรู้อยู่ว่า อะไรๆ สักแต่เป็นภาวะปรุงแต่งจิต เป็นสังขารขันธ์ ปรุงแต่งใจไป ปรุงแต่งใจให้จำได้ สำคัญมั่นหมายว่ารูปร่างหน้าตาของเราเป็นอย่างไร อันนั้นสัญญาขันธ์

 

และปรุงแต่งว่าชอบหรือไม่ชอบ มีตัวตนฉันแน่ๆ อันนี้คือสังขารขันธ์

 

ส่วนตัวที่ไปรู้ อันนั้นเรียก วิญญาณขันธ์ ที่เรียกว่าเป็นจิตบ้าง เรียกว่าเป็นใจบ้าง เรียกว่าเป็นมโนบ้าง เป็นมนัสบ้าง ก็ตัวเดียวกันนั่นแหละ

 

ที่เรียกต่างกัน ก็เพราะว่าหน้าที่ต่างกัน มีธรรมชาติธรรมดานะที่เราพูดถึงในแง่มุมแตกต่างกันได้

 

ยกตัวอย่างเช่น ณ ขณะนี้จิตเป็นกุศลก็เรียกว่ากุศลจิต มีความสว่าง มีความรู้สึกว่าเป็นของขาวเป็นของใส นี่ก็เป็นภาวะหนึ่งของใจ ที่เป็นไปอย่างนั้นเอง ถูกปรุงแต่งด้วยความเป็นกุศล ถูกปรุงแต่งอยู่ด้วยกุศลธรรม มีสติมีความรู้แบบพุทธ มีความตื่นแบบพุทธ

 

พอเราเห็นว่า นั้นสักแต่เป็นสังขารขันธ์ ไม่ได้มีตัวใครอยู่ในสังขารขันธ์ สังเกตนะ ว่านั่นแหละคือการสงบจากมโนภาพตัวตนทั้งปวง

 

ย้ำอีกทีนะ เมื่อจิตมีความรู้ว่า การปรุงแต่งจิตหรืออาการทางใจ ณ ปัจจุบันเป็นแค่สังขารขันธ์ จะสว่างก็ดีจะรู้สึก ชอบใจจัง หรือว่ามีความสุขจัง ดีจังแบบนี้ เป็นสังขารขันธ์

 

พอจิตรู้ว่านั่นเป็นแค่สังขารขันธ์ มโนภาพเกี่ยวกับตัวตนทั้งหมด ไม่ว่าจะมีรูปร่างหน้าตา หรือเป็นแค่จิตชนิดหนึ่ง ที่มีความตั้งมั่นอยู่เหล่านั้น จะหาย จะคลาย จะเหมือนกับเงื่อนปมหลุดออกไป ความรู้สึกว่าเป็นใครจะไม่มี 


มโนภาพว่านี่ฉัน นี่จิตของฉัน นี่หน้าตาของฉัน จะหมดไปจากใจ

 

พอมโนภาพเกี่ยวกับตัวตนหายไป ความอยากเพื่อตัวตน หรือความอยากเอามรรคเอาผล เพื่อตัวตนก็หายตามไปด้วย

 

เรารู้แล้วว่าไม่มีหน้าตาของใคร ไม่มีตัวใครอยู่ในนี้

 

รู้สึกว่าหลายคน รู้สึกถึงความว่างในอีกระดับหนึ่งนะ ในระดับของความว่างมีแบ่งไปเรื่อยๆ นะครับ มีความละเอียด มีความประณีตขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ที่ประณีตจริงๆ ก็คือ เริ่มที่จิตจะถอนออกมาจากความยึด ว่าอะไรอย่างหนึ่ง ขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง เป็นตัวเป็นตน

 

ถ้าจิตถอนออกมาจากอุปาทาน ไม่มีอุปาทานแล้ว ตัวนี้แหละที่การพยายามเพื่อที่จะบรรลุมรรคผล เพื่อตัวตนถึงหายไป และค่อยกลายเป็นการให้ขันธ์ 5 ได้รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ 5 อย่างแท้จริงนะครับ

 

อันนี้ก็เป็นตัวช่วยพิจารณา เวลาที่ไปทำของคุณเอง 

อยู่ระหว่างวัน รู้ลมหายใจเป็นตัวตั้ง รู้ว่าหายใจอยู่ในอิริยาบถไหน

 

แล้วพอเกิดภาวะทางใจที่รู้ความเคลื่อนไหว หรือรู้ความปรุงแต่ง ว่าเกิดอะไรขึ้นกับจิต มีความเป็นกุศลแค่ไหน มีความสุขอยู่แค่ไหน มีความนิ่งแค่ไหนมีความตั้งมั่นแค่ไหน

แล้วเริ่มพิจารณาว่า นั่นเป็นสังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง เป็นการปรุงแต่งใจให้มีภาวะ นิ่งบ้าง สงบบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง

 

ความฟุ้งซ่าน ก็จัดเป็นสังขารขันธ์อีกชนิดหนึ่งนะ

 

เห็นไปเรื่อยๆในที่สุด จะกลายเป็นสมาธิขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง มีความรู้สึกนิ่งๆ ว่างๆ อยู่ตรงใจกลาง ไม่รู้สึกว่าใครทำอะไรอยู่ รู้สึกแต่ว่าขันธ์ 5 กำลังเห็นขันธ์ 5 อยู่ แล้วก็รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ 5 อยู่

อันนี้แหละคือแก่นสาร ที่เราคุยกันในคืนนี้

 

ช่วยทำโพลนิดหนึ่งนะครับ คำถามง่ายๆ เลยนะว่า

 

คุณเรารู้สึกว่านั่งสมาธิครั้งนี้ได้อะไร

- เข้าใจแล้วว่าไม่มีบุคคลผู้เห็นขันธ์ 5

- ยังรู้สึกว่ามีตัวเราเป็นผู้ดูขันธ์ 5 อยู่

 

แค่สองข้อนี้แหละ ช่วยตอบนิดหนึ่ง เพื่อที่จะได้มาเรียนรู้ แล้วก็เกิดประสบการณ์แชร์ร่วมกันนะ ว่าที่ทำๆ กันไปนี่ได้ผลอย่างไรกับตัวเอง

 

เวลาไปเปรียบเทียบกับของคนอื่น ไม่ใช่เปรียบเทียบเรื่องสูง เรื่องต่ำ เรื่องด้อย เรื่องเหนือนะ แต่เป็นการเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นว่า เราทำได้อยู่ตรงนี้ และมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทำได้ไปอีกอย่างหนึ่ง 

______________________

รายการปฏบัติธรรมที่บ้าน ตอน ให้ขันธ์ 5 รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ 5

ช่วงโพลที่ 2

วันที่ 11 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป :

https://www.youtube.com/watch?v=iZSeJCIS11c&t=129s

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น