วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2564

Q03ภาวนาจนจิตเข้าสมาธิเองได้ แต่ยังห้ามกิเลสไม่ได้ ต้องทำอย่างไร

ดังตฤณ: หลายคน ยังใช้คำกันผิดนะ

 

ภวังค์ แปลว่าไม่รู้อะไรเลย .. ภวังค์ ไม่ใช่สมาธินะ

 

ใช้ผิดกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้ ผมเคยอ่านนิยายตั้งแต่เด็กๆ ก็เจอคำนี้ ภวังค์สมาธิอะไรแบบนี้

 

ภวังค์แปลว่าไม่รู้ ภวังค์แปลว่าไม่เห็นอะไรเลย

ไม่รู้ด้วยตา ไม่ได้ได้ยินด้วยหู ไม่ลิ้มรสด้วยลิ้น ไม่ได้กลิ่นด้วยจมูก ไม่สัมผัสด้วยกาย ไม่แม้กระทั่งจะมีความรู้เนื้อรู้ตัว

 

พูดง่ายๆ นึกถึงคำว่าภวังค์ ให้นึกถึงคำว่า สลบ .. สลบเหมือด ไม่รู้อะไรเลย

 

ที่คุณพูดถึงนี่ หมายถึงภาวะของสมาธิที่รวมดวง สว่าง แบบนั้นเป็นความมีสติ ตื่นรู้

 

ภวังค์ เป็นตรงกันข้ามกับคำว่า ตื่น นะ

 

ตื่น .. รู้ ..

 

ขณะที่ ภวังค์นี่ ไม่ตื่น แล้วก็ไม่รู้อะไรเลย

 

และนี่ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่เห็นมาแต่เริ่มนะครับ เราทำมาด้วยกัน ก็เคยบอกว่าทำไม่ได้บ้างอะไรบ้าง ในช่วงเริ่มๆ แรกๆ

 

แต่นี่แค่เดือนกว่าๆ ผ่านไป บอกว่า แค่ลมที่สอง ระหว่างวันขณะลืมตาอยู่ รู้สึกว่าเห็นลมหายใจเองได้ เห็นความสว่างได้

 

ตรงนี้ มาถึงจุดที่เราพร้อมจะเห็นสังขารขันธ์ ปรากฏอยู่ตลอดเวลาได้ นับเริ่มตั้งแต่เห็นว่าลมหายใจชัด มีอะไรปรุงแต่งจิตอยู่ คือมีอาการนึกถึงลมหายใจ มีอาการที่จิตแนบเข้าไปกับลมหายใจที่เรียกว่า สังขารขันธ์ ที่เราเห็นได้ชัดๆ เลย เป็นตัวตั้งต้น

 

พอสังขารขันธ์แบบนี้ วิตักกะ วิจาระ ปรากฏชัด มโนภาพในตัวตนหายไปเลย

 

คุณตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ วิตักกะ วิจาระในลมหายใจปรากฏชัดเมื่อไหร่

นิมิตลมหายใจจะมาแทนที่ มโนภาพในตัวตน เมื่อนั้น

นี่เป็นข้อสังเกตแรก

 

เมื่อวิตักกะ วิจาระ ปรากฏเต็ม แล้วเรามีสติอยู่ รู้เห็นอยู่ว่าลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก มาพร้อมกับความรู้สึกสบาย มาพร้อมกับความรู้สึกสว่าง นี่ก็เป็นสังขารขันธ์อีกชนิดหนึ่ง

 

ส่วนที่ว่าตัวที่เราเห็นคืออะไร เรียกว่า เวทนาขันธ์

 

สุขเวทนา .. ถ้าสุขเด่น เราบอกตัวเองว่า นี่เรียก สุขเวทนา บอกแค่ครั้งเดียว ไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชกับมัน ไม่ใช่ไปท่องซ้ำๆ นะ

บอกให้ตัวเอง บอกให้จิตเข้าใจเท่านั้นว่า นี่เรียกสุขเวทนา

 

จากนั้น พอคุณเกิดความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ตัวเรา นี่เป็นแค่รูปขันธ์ นี่เป็นแค่เวทนาขันธ์ อันนี้เรียกว่าเกิด อนัตตสัญญา ขึ้นมา

 

หรือถ้ารู้สึกว่า นี่ไม่เที่ยง นี่ไม่ใช่ของที่ตายตัว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป เดี๋ยวก็คลี่คลายกลายเป็นอื่น นี่เรียกว่า อนิจจสัญญา

 

แล้วถ้าหากว่า อย่างคุณเกิดคำถามขึ้นมา แล้วจะทำอย่างไรต่อ นี่ก็คือ สังขารขันธ์ ในแบบที่เป็นกุศลสังขาร คือ คิดในทางดี

 

สังขาร มีอยู่สองแบบ แบ่งแยกง่ายๆ ก่อนเลยคือ กุศล กับอกุศล จริงๆ จะแยกย่อยได้พิสดารมากนะ แต่เราจับแค่จับจุดให้ถูก นิยามให้ได้ว่าเป็นสังขารขันธ์ ที่เข้าข่ายกุศล หรือว่าอกุศล

 

อย่างอันนี้ ถามว่าจะทำอย่างไรต่อ มีความพากเพียร มีฉันทะ ที่จะไปต่อ นี่เรียกว่ากุศล

 

แต่กุศลสังขาร ก็ดูว่าทำให้จิตติดอยู่หรือเปล่า ถ้าหากว่าวนลูปอยู่กับความสงสัย ว่าจะทำอย่างไรต่อๆ ก็จะโน้มเอียงที่จะแปรจากกุศลสังขาร กลายเป็นอกุศลสังขารแล้ว คือกลายเป็นวิจิกิจฉา กลายเป็นความสงสัย แล้วทำให้วนลูป ไม่ก้าวต่อไป

 

วิธีที่จะทำให้ก้าวต่อไปก็คือ ดูตัวความสงสัยว่าจะทำอย่างไรต่อนั่นแหละ ว่าเป็นแค่สังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง ปรากฏขึ้นมา พอสติรู้ทันว่านั่นแค่สังขารขันธ์ ก็จะไม่วนลูปต่อ ก็จะหายไป

 

สังขารขันธ์นั้นจะเดินทางตรง คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

 

แต่ถ้าหากว่าเรายังเลี้ยงอยู่ด้วยอาหารคือ ความจ้ำจี้จ้ำไชสงสัย ตัวสังขารขันธ์นั้นจะวนลูป

 

พอมันจะได้รอบดับ กลับเกิดใหม่ สงสัยว่า เอ๊ะจะทำอย่างไรต่อๆ อยากก้าวหน้าๆ .. นี่ สังขารขันธ์นั้นวนลูปแล้ว

 

แต่ถ้าเรามีสติรู้ ว่ามันเกิดขึ้นที่ลมหายใจไหน แล้วดับลงไปที่ลมหายใจใด แบบนี้ คือการเห็นว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เป็นเส้นตรง แล้วไม่กลับมาเกิดอีก ไม่กลับมาวนลูปอีก

 

ทีนี้ พอสังขารขันธ์ ดับไป หลายคนก็เกิดความกังขาว่า แบบนี้ จะให้ทำอะไรต่อ ก็เคว้ง ถ้าคุณไม่ได้ฝึกอานาปานสติมาก่อนเป็นทุน แน่นอนครับ .. เคว้ง

 

หรือว่าพยายามไปดูกาย เสร็จแล้วก็เห็นแป๊บๆ แล้วก็หายไปอีก

 

แต่ถ้ามีอานาปานสติเป็นทุน อย่างที่คุณบอกว่า เวลาหายใจแค่ลมที่สอง เห็นลมหายใจในตัว คือเป็นสมาธิแล้วนี่ แม้ระหว่างวันก็เกิดขึ้น เกิดนิมิตลมหายใจแสดงขึ้นมา .. นี่ระหว่างวันนะ ระหว่างลืมตา

 

นี่แหละที่เรียกว่า มีอานาปานสติเป็นวิหารธรรม กล่าวคือ พอเห็นสังขารขันธ์อันใดดับไป ใจจะไม่เคว้ง จะมีลมหายใจเป็นที่ให้กลับมาเสมอ

 

แล้วคุณไม่ต้องไปพยายามทำอะไรต่อ พอเห็นอะไรเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปแล้ว กลับมาอยู่กับลมหายใจนี่แหละ กลับมาอยู่กับสมถะ สมถะแบบพร้อมที่จะยกขึ้นเป็นวิปัสสนาตลอดเวลา

 

เพราะอะไร เพราะว่าที่เราทำสมถะแบบอาศัยอานาปานสตินี่ ก็เพื่อให้จิตมีที่อยู่ มีที่มั่น มีที่ยืน ปักหลักอยู่กับความรู้กาย

 

พอความรู้กายถูกกระทบให้ไหวตัว ไปสู่ความเป็นอาการคิดๆ นึกๆ มีสังขารขันธ์ปรากฏเด่นขึ้นมามากกว่าลมหายใจ สติก็เกิดอาการเท่าทัน เกิดอาการที่ไม่หลุด เกิดอาการที่ดูต่อได้ว่า .. นี่ มาแล้ว ของที่จะมาแสดงความไม่เที่ยงนี่ วัตถุที่แสดงความไม่เที่ยง ตกมาถึงจิตแล้ว เราก็ดูต่อ

 

เห็นไหม ตัววิปัสสนา กับ สมถะ จะสับไปสับมา ผลัดกัน

 

วิปัสสนา ไม่ต้องไปเอาอะไรมาก เกิดมาเท่าไหร่ ก็ดูเท่านั้น

 

แต่ที่จะมีความพร้อมจะดูว่า มันเกิดมาเท่าไหร่แล้วดูเท่านั้น ต้องมีความตั้งมั่น ต้องมีฐานที่ยืน ต้องมีวิหารธรรม อย่างเช่น อานาปานสติ

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นวิหารธรรมอันเลิศ รองลงมาที่ท่านตรัสไว้ก็คือ เมตตา .. เมตตาเป็นวิหารธรรม

 

เพราะตัวเมตตา คือถ้าหากว่าเราเจริญมาแล้ว ก็เกิดการแผ่จิต ให้ออกกว้างนั่นเอง แล้วก็รวมกันได้กับอานาปานสติ คือถ้าเรามีอานาปานสติแบบจิตที่เปิดกว้าง นั่นก็คือมีเมตตาอยู่ในตัวนั่นเอง

 

มีอานาปานสติ และเมตตา เป็นวิหารธรรม

____________________

วีคที่ผ่านมา เวลาหายใจเพียงลมที่ ๒ จะเห็นสายลมหายใจในตัว เห็นท้องป่องลมลมเข้าลมออก มีแสงสีขาวสว่างขึ้นกลางอกทันที แล้วมีปีติสุขเกิดขึ้น แม้ระหว่างวันก็เกิดขึ้น พึ่งทราบว่าเรียกว่านิมิต เห็นสังขารขันธ์ ซึ่งเกิดตรงตามที่เรียนวันนี้ แม้กระทั่งกำลังนอนวางแผนเรื่องพรุ่งนี้เช้า อยู่ๆจิตก็เข้าภวังค์เอง จิตเหมือนนั่งสมาธิเองค่ะ ระหว่างวันเห็นอารมณ์ชัดขึ้นมาก เหมือนเราออกมาดู เห็นว่าเกิดอะไร ตอนนี้เป็นยังไง พอเราเห็นแล้วควรทำอย่างไรต่อดีคะ เพราะบางครั้งเห็นอารมณ์ไม่พอใจ แต่ปากก็มีบ่นออกไปห้ามไม่ทัน สักพักถึงหยุดคำพูดได้ค่ะ?

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน มโนภาพตัวตน vs. นิมิตสังขารขันธ์

ช่วง คำถาม - คำตอบ

วันที่ 18 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป :https://www.youtube.com/watch?v=6A31I0bZXfg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น