วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564

02 ให้ขันธ์ 5 รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ 5 : โพลครั้งที่ 1 และคำอธิบายกลุ่มต่างๆ

ดังตฤณ : ก่อนอื่นใด เพื่อความเข้าใจร่วมกัน เรามาทำโพลกันนิดหนึ่ง

 

สำหรับท่านที่ปฏิบัติตามกันมาตลอดนะครับ อยากทราบว่า

ขณะลืมตาในชีวิตประจำวัน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณรู้ลมหายใจได้แค่ไหน?’

- รู้บ่อยๆ เทียบเท่ากับขณะอยู่ในสมาธิ

- รู้บ่อยๆ ใกล้เคียงกับขณะอยู่ในสมาธิ

- นานๆ จะรู้ลมหายใจสักทีหนึ่ง

- ไม่รู้ลมหายใจเลย

 

ตัวเลือกแรก รู้บ่อยๆ เทียบเท่ากับขณะอยู่ในสมาธิ คือสมาธิมี วิตักกะ วิจาระ เห็นลมหายใจชัด มีความรู้สึกว่า จิตเป็นหนึ่งกับลมหายใจได้

 

หรือว่าตัวเลือกที่สอง รู้บ่อยๆ แค่ใกล้เคียงกันกับขณะอยู่ในสมาธิ เห็นเหมือนกัน แต่ว่าไม่ชัด ยังเบลอๆ อยู่นะ แต่รู้ได้บ่อยๆ

 

ตัวเลือกที่สาม นานๆ จะรู้ลมหายใจสักทีหนึ่ง

 

ส่วนตัวเลือกที่สี่ ไม่รู้ลมหายใจเลย

 

ทีนี้ ผมจะพูดถึงทั้งสี่กลุ่มนี้นะครับ ถ้าเราแชร์ประสบการณ์ที่ทำกันมา แล้วให้เกิดการรับรู้ไปด้วยกันว่า เราอยู่กลุ่มไหน แล้วส่วนใหญ่เขาได้ หรือไม่ได้กันอย่างไร

 

ขอให้บอกตามจริงนะครับ เพราะเมื่อผมขยายความ อธิบายในแต่ละกลุ่ม คุณจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น รวมทั้งมองเห็นด้วยว่า สมมติเหมือนคุณรู้สึกว่าตัวเองยังเตาะแตะ ยังไม่ไปถึงไหน ยังไม่คืบหน้า

 

เมื่อมีการแชร์กันขึ้นมา เมื่อมีการมาบอกเล่า ผ่านคะแนนโหวต ผ่านเสียงโหวตของตัวเอง ก็จะกลายเป็นทิศทางร่วมกันนะว่า เราทำอานาปานาสติกันมา แล้วเกิดผลขึ้นมาจริงๆ

 

จะอยู่กลุ่มไหนก็ตาม ในที่สุดแล้ว เราจะมีความรู้สึกว่าอยู่ในทิศทางที่สามารถคืบหน้าไปได้ เหมือนกับที่เราเห็นคนอื่นเขาทำได้

 

ไม่ใช่ว่ามาเทียบเขาเทียบเรา เพราะไม่มีการบอกนะว่าคะแนนของคุณ อยู่กลุ่มไหน ไม่มีการบอกชื่อ และไม่มีการให้รู้หน้าตา แต่มีการให้รู้ว่า มีเพื่อนเรา มีกัลยาณมิตร ได้ร่วมทำกันมาจริงๆ

 

ก่อนที่อธิบายว่าแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร ก่อนที่จะให้ดูผลโพล ผมขอพูดสั้นๆ ว่า แต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างไร

 

ขอบอกว่าไม่ใช่กลุ่มที่อยู่ต้นๆ จะมีความแน่นอน ว่าจะบอกถึงความก้าวหน้า หรือบอกถึงความแอดวานซ์เสมอไป แต่จะจำแนกให้เห็น ว่าที่คุณทำอยู่ แล้วมาถึงตรงนี้ มีความหมายอย่างไรบนเส้นทางการเจริญสติภาวนานะครับ


สำหรับกลุ่มแรก ผมขอเอาผลเบื้องต้นที่ทางแอดมินได้เอามาให้ดู เป็นชุดแรกนะครับ เป็นกลุ่มแรกที่ได้ให้ผลมา

 

กลุ่มที่หนึ่ง รู้บ่อยๆเทียบเท่ากับอยู่ในสมาธิ มีอยู่ 4 เปอร์เซนต์

 

ซึ่ง 4 เปอร์เซ็นต์นี้ จัดว่าเป็นพวกมีอินทรีย์แก่กล้า มีสมาธิที่อยู่ตัว เป็นไปได้สูงว่ามีเวลาในการภาวนาเยอะ

 

ในที่นี้ผมก็ทราบว่า บางท่านเป็นพระ เป็นชี มีเวลาปฏิบัติแบบ full time นะครับ เพราะฉะนั้นเป็นไปได้จริงนะ ที่จะมีกลุ่มนี้อยู่ ซึ่งผมกะไว้แล้วว่าจะมีอยู่หยิบมือหนึ่ง ถ้าคิดเป็นจำนวนหัวจริงๆ อาจจะไม่ถึงหลักสิบ แต่ว่ามีอยู่จริง แล้วเป็นไปได้จริง

 

เพราะถ้าหากว่าทำอานาปานสติมาถูกทาง สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็คืออัตโนมัติ ความเป็นอัตโนมัติของร่างกาย สภาวะทางกายที่ยืดหยุ่น แล้วก็มีความอ่อนควร ที่จะเข้าสู่โหมดสมาธิ

 

อธิบายเป็นวิทยาศาสตร์จ๋านิดหนึ่งก็คือว่า วิถีประสาท หรือว่า neuron pathway จะก่อตัวแข็งแรง แล้วก็ทำให้เกิดประสบการณ์ภายใน เหมือนกับว่า ที่จะเข้าถึงสมาธิตรงนั้น จะง่ายพร้อมอยู่แล้ว จ่ออยู่แล้ว แค่เรานึกถึงนิดเดียว จะเกิดขึ้นทันที

 

คล้ายๆ กับที่ คุณเล่นดนตรีได้คล่องแคล่วชำนาญ หรือว่า เล่นกีฬาได้แบบที่คนเห็นว่า ดูง่ายเหลือเกิน ทำสิ่งยากๆ ได้แบบแทบไม่ใช้ความพยายามแทบไม่ต้องมีอาการ ตั้งการ์ดตั้งท่าอะไรขึ้นมา เหมือนของยากของคนอื่น เป็นขนมหวานเป็นเรื่องหมูๆ สำหรับคนที่เข้าขั้นเซียนแล้ว

 

ทำนองเดียวกัน ทำสมาธินี่ ถ้าเราฝึก คือไม่ใช่แค่บอกว่ารอวันเสาร์ก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยมามาฝึกด้วยกันกับคนอื่น

 

แต่ว่าทำอยู่เรื่อยๆ ทำจนกลายเป็นความชำนาญ ความเชี่ยวชาญที่จะก่อให้เกิดการตอบสนองทางร่างกาย ที่จะมีความพร้อม ที่จะเข้าสู่ภาวะความเป็นแบบนั้น

 

หรือว่าถ้าอธิบายเป็นสภาวะทางใจก็คือ ใจมีความตั้งมั่น ใจมีความแข็งแรงอยู่ในความพร้อมจะเป็นสมาธิ

 

นี่เป็นตัวเลขที่ตรงความคาดหมายนะ ครั้งนี้ตรงกับที่คิด คือถ้าโหวตมาหลักร้อย ก็จะมีอยู่หลักสิบที่ทำได้ถึงขั้นนี้นะครับ

 

กลุ่มนี้ พอมีสมาธิที่อยู่ตัวแบบอานาปานสติ กายใจ มีสิทธิ์ที่จะเป็นขันธ์ 5 ที่รู้ตัวว่า ตัวเองเป็นแค่ขันธ์ 5 ไม่ได้มีบุคคลอยู่ในนี้ แล้วกลุ่มนี้จะเข้าใจชัด ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า ทำไม เหตุใดพระพุทธเจ้าถึงได้ยกเอาอานาปานสติเป็น ศูนย์กลางของกรรมฐานทั้งปวง หรือเป็นตัวตั้งเลย ที่จะให้ รู้เวทนา รู้สภาวะจิต หรือรู้สภาวธรรมในสติปัฏฐาน 4

 

จะรู้ภาวะไหนก็ตาม หมวดเวทนานุปัสสนาก็ตาม จิตตานุปัสนาก็ตาม หรือ ธรรมมานุปัสสนาก็ตาม เอาอานาปานสติเป็นตัวตั้ง เป็นเครื่องรองรับ เป็นที่ยืนของการมองเห็นว่า ส่วนของเวทนา ส่วนของจิต ส่วนของธรรม ภายในกายใจนี้ มีความไม่เที่ยงมีความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่

 

ถ้ารู้ลมหายใจเข้าออก ได้เป็นปกติในระหว่างวัน เทียบเท่ากับขณะที่เข้าสมาธินี่ พวกนี้นี่นะ พลิกจิตนิดเดียว เปลี่ยนจากคุยกับคนอื่น คุยกับชาวบ้านเขา เหมือนกับว่ามีตัวตนแบบปกตินี่นะ พลิกจิตนิดเดียวหวนเข้ามามอง สภาวะความเป็นกาย สภาวะความเป็นใจมโนภาพในตัวเองเปลี่ยนเลย

 

จากที่มีตัวตน คุยกับคนอื่นเขา กลายเป็นไม่มีตัว มีแต่ขันธ์ 5 คุยกะขันธ์ 5 อื่น .. ขันธ์ 5 ฝั่งนี้ คุยกับขันธ์ 5 อีกฝั่งหนึ่ง

 

แล้วก็ที่เห็นได้ชัด คือจะไม่มีความหวนไปอาลัยถึงอดีตที่ผ่านมา แล้วก็ไม่มีความคาดหวัง ทอดอาลัยตายอยากถึงวันพรุ่งนี้ ถึงอนาคต จะมีความสุขอยู่ในปัจจุบัน ความสุข ความพอใจที่จะเห็นปัจจุบันของกายใจ ด้วยความเป็นขันธ์ 5

 

เพราะจิต พอเป็นสมาธิอยู่กับการเห็นอะไรแล้ว แน่นอนย่อมเกิดความอิ่มใจ ย่อมเกิดปีติ ย่อมเกิดความสุข ย่อมเกิดความรู้สึกว่า ไม่เห็นต้องไปคิดอะไรอย่างอื่น ไม่เห็นต้องไปคิดถึงอะไรอย่างอื่น

 

พวกนี้จะไม่แคร์ว่าจะพลาดอะไรในโลกบ้าง โลกจะพัฒนาไปถึงไหน หรือว่าจะมีของใหม่ๆ อะไรมา เวอร์ชั่นใหม่ แอพใหม่ หรืออะไรที่ปรุงแต่งหลากสีหลายสัน จะไม่แคร์นะว่าตัวเองพลาดอะไรไปบ้าง

 

แต่จะแคร์ว่า ตัวเองพลาดลมหายใจ หรือว่าสภาวะไหนไปบ้างอย่างน่าเสียดาย 

 

อย่างเช่นบอกว่า ถูกกระทบขึ้นมา แล้วเกิดความโมโห

 

คือถ้าพลาด (ปล่อยให้เกิดอารมณ์) โมโห.. ไม่เป็นไร แต่ถ้าพลาดไม่รู้สึกถึงลมหายใจ หรือไม่รู้สึกถึงอาการโมโหนั้น ว่าเป็นของไม่เที่ยง แสดงตัวอยู่แค่ชั่วคราว อันนี้จะรู้สึกเสียดาย แต่จะไม่มีมาบอกว่า ฉันไม่โมโหหรอก รักษาภาพ

 

เพราะจิตมีความเป็นกลาง มีความสามารถรู้ตามจริงว่า อะไรๆ ที่กำลังปรากฏ เป็นภาวะของจริงภายใน มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วก็ยอมรับไปตามจริง ไม่ใช่มารักษาหน้า รักษาภาพว่าปฏิบัติมานานหลาย 10 ปี ฉันจะต้องไม่มีความโกรธ ไม่มีความโมโหเลย .. ไม่ใช่

 

จะเห็นชัด แล้วก็ใช้ประโยชน์ แม้จากความโมโหนั่นแหละ โมโหแล้วก็เห็นว่าเกิดโมโหขึ้นมา เรายังไม่ได้เป็นพระอนาคามี ก็ยังโมโหอยู่

 

โมโหแล้ว เดี๋ยวก็หายไป หรือโมโหแล้ว อาจจะเกิดปฏิกิริยาอะไรบ้าง ก็เห็นตามจริงนะว่า ความโมโหนั้นเป็นแรงขับเคลื่อน เป็นแรงผลักดันให้เกิดกิริยาที่ดูไม่เรียบร้อย ไม่สง่างาม สามารถรู้สึกถึงขันธ์ได้ตามจริง

 

อันนี้แหละที่เป็นเหตุให้เกิดสติ แล้วก็เข้าถึงว่า ความรู้สึกว่า ให้ขันธ์ 5 รู้ตัวเองว่าเป็นขันธ์ 5 ต้องอย่างนี้ ต้องมีสติ ไม่ใช่มีความอยากไปตั้งไว้ว่า จงอย่าโมโห จงอย่าแสดงภาพลักษณ์อะไรที่ดูไม่ใช่ผู้ปฏิบัติธรรม จะไม่มีความรู้สึกแบบนั้นเลย

 

นี่คือประโยชน์ของอานาปานสติ จะช่วยให้คุณรู้ตามจริง ว่าเกิดอะไรขึ้นในภาวะของกายใจ

 

และถ้าหากว่าเป็นพวกอย่างกลุ่มแรกนี่นะ นอกจากคุณจะรู้ตามจริงว่าเกิดอะไรขึ้น กับภาวะทางกายทางใจแล้ว ยังง่ายมากที่คุณจะเห็นภาวะต่างๆ เหล่านั้น แสดงความไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ให้ดูในแต่ละลมหายใจ

 

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใด ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ พวกมีอินทรีย์แก่กล้า พวกมีอินทรีย์ปานกลาง พวกมีอินทรีย์หย่อน วัดจากตรงไหน คุณสามารถรู้ได้ด้วยตัวเองนะ กลุ่มนี้นะว่าที่พระพุทธเจ้าตรัส ท่านตรัสถึงความเป็นอย่างไร ในความสามารถทางสติ ความสามารถทางปัญญา .. แบบพุทธนะ ไม่ใช้ปัญญาแบบคิด

 

ปัญญาแบบพุทธ คือจิตตื่นรู้ ไม่ใช่ไอคิวสูง

 

หลายคนยังเข้าใจอยู่เลยว่า ถ้าเรียนรู้ทฤษฎี ท่องจำศัพท์ได้มากๆ ดูเป็นผู้คงแก่เรียนแล้ว หมายความว่าเป็นผู้ทรงธรรม แต่จริงๆ แล้ว นั่นเป็นนักวิชาการนะ ไม่ใช่ผู้ทรงธรรม

 

ผู้ทรงธรรม หรือผู้มีอินทรีย์แก่กล้า คือผู้ที่สามารถมีสติ รู้ตัวได้เรื่อยๆ แม้จะไม่ได้นั่งหลับตาทำสมาธิอยู่ก็ตามนะครับ

 

กลุ่มที่สอง บอกว่ารู้บ่อยๆ แล้วก็ใกล้เคียงกับขณะอยู่ในสมาธิ

 

กลุ่มนี้ก็ไม่ใช่อะไรที่ตื้นเขิน .. ก็ใกล้เคียงกันกับกลุ่มแรกนั้นแหละ แต่อาจจะเป็นพวกที่ยังต้องทำงานทำการ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าเสียดาย ไม่ใช่เรื่องน้อยหน้า

 

บอกไว้ชัดๆ นะครับ เป็นพวกที่พร้อมจะเกิดสมาธิอยู่แล้ว ระหว่างวัน มีสิทธิ์ที่จะรู้กายใจโดยความเป็นขันธ์ 5 ได้เรื่อยๆ พูดง่ายๆว่าเป็นพวกที่มีความเป็นขันธ์ 5 ที่สามารถรู้ตัวว่าตัวเองเป็นขันธ์ 5 ได้เรื่อยๆ

 

กลุ่ม 22 เปอร์เซ็นต์นี่นะ ไม่ใช่ว่าน้อยหน้า แต่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยอะไรหลายๆ อย่างนะครับ

 

คือกลุ่มแรก อาจจะเป็นพวก full time ปฏิบัติเต็มที่เลย แล้วก็จะอยู่บ้านด้วยโควิดก็ตาม หรือว่าจะเป็นพระสงฆ์องค์เจ้า พระคุณเจ้าก็ตาม มีเหตุปัจจัยอะไรบางอย่าง ที่ช่วยให้ลืมตาอยู่ในระหว่างวันนี่ สามารถรู้สึกถึงลมหายใจได้ อันนี้ก็ดีใจว่ามีกลุ่มแรกอยู่จริง

 

แต่กลุ่มที่สอง ก็ไม่ใช่น่าอนุโมทนาน้อยไปกว่ากัน คุณพร้อมที่จะเห็นตัวเองโดยความเป็นขันธ์ 5 ได้อยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว

 

ส่วนกลุ่มที่สาม กลุ่มนี้เป็นกลุ่มใหญ่ บอกว่า 67% นี่นานๆ ถึงจะรู้สึกถึงลมหายใจเสียที

 

แต่กลุ่มนี้ ขอบอกว่าเวลานั่งทำสมาธิหลับตา อาจจะดีพอๆกันกับกลุ่มแรกก็ได้

 

ใน 67% นี่ มีแน่นอน ประเภทที่พอนั่งหลับตาทำสมาธิแล้ว ทำได้ดีทำได้เจ๋ง แล้วก็หายใจขึ้นมาแค่ 2 - 3 ครั้งก็รู้สึกถึงสายลมหายใจอย่างแจ่มชัดได้ทันที คือเกิดวิตักกะ วิจาระ ขึ้นมาทันที เป็นไปได้นะครับ

 

กลุ่มนี้ผมบอกเลยนะ เป็นพวกที่มีสิทธิ์ที่จะทำสมาธิ แบบอานาปานสติได้ชัวร์ๆ แล้ว ถ้าคุณมีเหตุปัจจัยเช่น มีเวลา full time อยู่กับการปฏิบัติจริง ทั้งนั่งสมาธิและเดินจงกรม

 

เดี๋ยววันนี้ จะพูดถึงเรื่องการเดินจงกรมนิดหนึ่งด้วยนะ เพราะว่าหลายท่านคงเห็นนะว่า ถ้านั่งทำสมาธิอย่างเดียว ถึงจุดหนึ่งจะติด คือเรื่องของความติดใจ จะนั่งแช่อยู่กับความสุขก็ดี หรือว่าเรื่องของการติด แบบติดเพดาน เหมือนกับพัฒนาต่อไปได้ยาก เพราะว่าจะเอาแต่นิ่ง

 

ถ้าเดินจงกรมบ้าง รู้หลักการเดินจงกรมนี่ ก็จะช่วยแน่นอนนะ

 

กลุ่มที่สาม เป็นพวกที่มีสิทธิ์ทำสมาธิแบบอานาปานสติได้ชัวร์ๆ แต่ระหว่างวันจะรู้สึกถึงความเป็นขันธ์ 5 ได้ยากนิดหนึ่ง

 

ฟังดีๆนะ ถ้าคุณนั่งทำสมาธิ คุณอาจจะรู้สึกว่ากายใจนี่เป็นขันธ์ 5 ได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง อาจจะไม่แตกต่างกันเลยกับกลุ่มที่หนึ่ง

 

แต่ระหว่างวัน อาจจะรู้ได้ยาก เพราะว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม .. ทำงานเยอะแล้วก็จำเป็นต้องโฟกัสอยู่กับงาน แล้วก็ขอสนับสนุนให้โฟกัสอยู่กับงานอย่างเดียวนะ อย่าได้แบ่งครึ่งตั้งแต่แรก ครึ่งๆ กลางๆ

 

จะเอางานด้วย มาดูกายใจด้วยความเป็นขันธ์ 5 ด้วย อย่างนี้ไม่เอานะ เพราะจะไม่ได้ดีอะไรสักอย่างสุดทาง

 

พวกที่จะได้ดีสุดทาง ก็คือว่าทำงานเต็มที่เลย ให้ฟุ้งซ่าน ให้ดูเหมือนกับว่าความคิดนี่ส่งออกนอก เพื่องานให้เต็มที่

 

แล้วพอมีสมาธิกับงาน ไม่ใช้อารมณ์กับการทำงาน ไม่มีตัวตนกับการทำงานแล้ว ถึงจังหวะที่เป็นสมาธิกับงานเต็มที่แล้ว นั่นแหละค่อยแบ่งมารู้ลมหายใจบ้าง แบ่งมารู้ความเป็นขันธ์ 5 ของกายใจบ้างอย่างนี้ถึงจะได้ผล

 

เห็นถ้าเริ่มต้นขึ้นมาจะครึ่งๆ กลางๆ ตั้งแต่แรก .. กลุ่มที่สามนี่ จะไม่ได้ดีอะไรซักอย่าง บอกเลยนะ

 

แล้วระหว่างวัน คุณเห็นขันธ์ 5 แบบวูบๆ วาบๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะเราทำแบบพาร์ทไทม์นี่นะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเจริญอานาปานสติยังไม่แข็ง ขนาดที่ติดตามเราเป็นเงาตามตัวไปในชีวิตประจำวัน บางทีก็เป็นธรรมดาที่จะหลุดๆ ลอยๆ หายๆ ไปกับกระแสโลก

 

ไม่ใช่เรื่องน่าน้อยเนื้อต่ำใจ แต่เป็นเรื่องที่เราจะรู้ตัวนะ ว่าเราอยู่กลุ่มที่สามถ้าเรามีความเพียรมากขึ้นกว่านี้อีกนิดหนึ่ง ว่างจากงาน ว่างจากภาระแทนที่จะนั่งเหม่อ หรือว่าแทนที่จะโหยหาอะไร ที่ติดใจเป็นวรรคเป็นเวรนี่นั่งเพ้อเจ้อ คุยเรื่องของชาวบ้านเขาเป็นชั่วโมงๆ หันมาดูกายหันมาดูใจอย่างนี้จะค่อยๆ ขยับขึ้น จากกลุ่มที่สาม ขึ้นไปสู่ความเป็นกลุ่มที่สอง ในเวลาไม่ช้าไม่นานเลย

 

เพราะว่ากลุ่มที่สาม อย่างที่บอกนะ นานๆ ถึงจะรู้สึกถึงลมหายใจสักที แต่ก็รู้สึกขึ้นมาเองได้

 

ตรงนี้แหละที่ในที่สุดแล้วนะ อานาปานสติจะเป็นเครื่องยืนยันกับคุณว่า เป็นทั้งจุดเริ่มต้น เป็นทั้งราวเกาะ เครื่องช่วยพยุง ให้สติของคุณไม่ไปไหน พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้หลายครั้งเลย บอกว่า มารจะไม่ได้ช่องเข้าครอบงำผู้ที่เจริญอานาปานสติดีแล้ว

 

ส่วนกลุ่มที่สี่ ให้คิดในเชิงสร้างสรรค์นิดหนึ่ง อย่าไปมองแค่ว่า เราทำไม่ได้ เราอาจจะขี้เกียจทำตรงนี้ แต่ว่ายังทำตรงอื่น

 

คือยังเป็นพวกที่มีสิทธิ์รู้กายใจด้วยความเป็นขันธ์ 5 ได้อยู่

 

อาจจะถนัดประมาณว่า ใช้ความคิดเอา พิจารณาโดยแยบคาย เช่นเวลาที่เกิดเรื่องกระทบใจ แล้วรู้สึกโมโห รู้สึกร้อนก็คิด คิดเข้าไปตรงๆ ว่านี่เรากำลังรู้สึกถึงอะไรอยู่ รู้สึกอะไรภายในภาวะทางกายทางใจ

 

ถ้ารู้สึกร้อน รู้สึกว่ามีแรงดัน อยากจะด่า แต่สามารถที่จะมีสติ สกัดกั้นคำด่าแล้วก็เห็นว่าอาการมวนๆ อาการอึดอัด ร้อนๆ ที่ก่อตัวขึ้นในรูปของไฟโทสะนี่ อยู่แป๊บหนึ่ง แล้วเดี๋ยวพอเราดูมันไปเรื่อยๆ จะนับลมหายใจหรือไม่นับลมหายใจก็ตาม เดี๋ยวก็ค่อยๆจางลง

 

แบบนี้ ก็เป็นผู้มีสิทธิ์เห็นขันธ์ 5 ได้ถึงแม้ว่าจะยังไม่ชำนาญอานาปานสติแบบกลุ่มอื่นๆ เขา  

______________________

รายการปฏบัติธรรมที่บ้าน ตอน ให้ขันธ์ 5 รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ 5

ช่วงโพลครั้งที่ 1

วันที่ 11 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป :

https://www.youtube.com/watch?v=yHtck6FuqX0

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น