วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564

06 ให้ขันธ์ 5 รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ 5 : ทำสมาธิร่วมกัน

ดังตฤณ : พอใจเรารู้สึกถึงการสวดอิติปิโส ก็จะขยับเข้าใกล้ความเป็นจิตของพระพุทธเจ้าเข้าไปนิดหนึ่ง

 

คือพอระลึกขึ้นมา สามารถรู้ได้ด้วยใจ ที่มีความนุ่มนวล ที่ศรัทธา ที่เปล่งประกายศรัทธาแล้ว ก็สามารถรู้สึกได้ว่า จิตของพระองค์ ไม่ดิ้นรนแล้ว ไม่กระสับกระส่ายแล้ว ไม่เอาอะไรแล้ว

 

ซึ่งพอรู้สึกได้อย่างนั้น จิตของเราก็จะได้ส่วนของพุทธคุณตรงนี้ไปด้วย จะมีความสงบ จะรู้สึกว่า ไม่อยากดิ้นรน ไม่อยากกระสับกระส่าย อยากทรงอยู่กับความสงบยิ่ง ที่มีศรัทธาในพระองค์ ตั้งมั่นอยู่ในใจของเรา

 

เราจะมาเข้าสู่ช่วงของการทำสมาธิกัน

 

วันนี้ก็จะไม่อธิบายอะไรมากนะ เพราะหวังว่าคงจะได้คุ้นกันแล้ว แต่เผื่อท่านที่อาจเพิ่งมานะครับ เราจะนั่งคอตั้งหลังตรง มือวางราบกับหน้าตัก สำรวจฝ่าเท้าว่าเกร็งอยู่ไหม ถ้าไม่เกร็ง รู้สึกผ่อนคลาย เราก็จะรู้สึกเบาที่เท้า ก็คือเบาพื้นจิตพื้นใจ

 

สำรวจต่อมา ฝ่ามือ เกร็งหรือเปล่า

 

ถ้าหากผ่อนคลาย วางราบกับหน้าตัก ก็จะพลอยเบาไปด้วย ก็จะรู้สึกสบายขึ้นมาครึ่งตัว มีความรู้สึกเบา มีความรู้สึกถึงอาการนั่ง คอตั้งหลังตรงได้แบบง่ายๆ

 

อันนี้คือฐานของอานาปานสติที่สำคัญนะครับ

 

คอตั้งหลังตรง ตัวเบา ใจเบา

 

จากนั้น เราเริ่มกันที่ท่าแรก ถ้าหากว่าใครมีความเชี่ยวชาญ ชำนาญแล้วที่จะรู้ลมหายใจ อาจไม่ต้องอาศัยมือไกด์ก็ได้นะ ก็หายใจไปเลย ตามสะดวก ตามอัธยาศัย

 

แต่ถ้าหากว่าใครยังรู้สึกหายใจติดขัด หายใจยาก หายใจแล้วไม่รู้สึกถึงลมหายใจ เรามาอาศัยมือช่วยไกด์กันนะครับ

 

เริ่มต้นขึ้นมาก็เอามือขวา ยกขึ้นมาในแนวท้อง ยกขึ้นเหมือนกับให้เป็นตัวผลักดันลมหายใจ เข้าสู่ปอดนะครับ พอเต็มที่ เรายกมือเป็นท่าพนมครึ่งซึก พอลมหายใจถึงจังหวะที่จะออกจริงๆ เราก็ค่อยคว่ำมือลง แล้วลากมือลงมาจนกระทั่งถึงหน้าตัก

 

ก็ให้พร้อมกันพอดีกับที่ลมหายใจออกหมด ง่ายๆ แค่นี้ เราก็จะสามารถรู้สึกถึงลมหายใจได้ แบบที่ไม่ต้องมีความฝืนนะครับ มีแต่ความรู้สึกง่ายๆ สบายๆ ตามรู้ได้ง่ายๆ

 

แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่ฝ่ามือวางลงมาถึงหน้าตัก อันนี้สำคัญมาก ให้รับรู้ถึงฝ่ามือที่วางราบ สบายๆ ผ่อนคลาย จนรู้สึกถึงท่านั่งคอตั้งหลังตรง ไม่ลืม ก็จะคอย refresh ให้อาการคอตั้งหลังตรง ได้เป็นฐานของสมาธินะครับ

 

เรามาทำท่านี้กัน 5 นาทีนะ ถ้าใครที่ชำนาญแล้วก็รู้ไป 5 นาที เพื่อให้จิตมีความย้อมติดกับลมหายใจนะครับ อยู่กับความเข้า ความออก ความยาว ความสั้นตามจริงของลมหายใจ เริ่มกันเลยนะ

 

(ทำสมาธิร่วมกันโดยใช้ฝ่ามือช่วยไกด้ ท่าที่ 1 : ให้เกิด วิตักกะ)

 

เนื่องจากคืนนี้ เดี๋ยวเราจะทำความรู้จักกับสังขารขันธ์ ในแบบที่มีความละเอียดลึกซึ้งนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็จะมาทำท่าที่สองกันต่ออีกหน่อยนะครับ

 

สำหรับใครที่ทำเป็นแล้วก็ทำไปเลย เพื่อที่จะให้จิตมีความละเอียดประณีต พอที่จะรองรับกับสิ่งที่ผมจะไกด์ในระดับต่อไป

 

แต่ถ้าใครยังไม่เข้าใจ ก็ลองฟังดูนะครับ ท่าที่สอง เริ่มต้นขึ้นมา เอามือชนกัน (ปลายนิ้วกลางชนกัน) แล้วยกขึ้น เพื่อที่จะให้เกิดความคุ้นเคยนะ

 

จากเดิม อยู่แล้วสะดือ ยกขึ้นมาถึงระดับอก ลองซ้อมดู

 

จากนั้น พอเริ่มคุ้นเคยแล้ว ตอนยกขึ้นมาจากแนวสะดือขึ้นมา ถึงแนวอก ให้ท้องป่องออกมา เพื่อที่จะหายใจเข้า

 

เห็นไหม พอเราป่องท้องออกมา จะมีลมหายใจเข้ามาในปอด อันนี้ก็ basic เบื้องต้นนะครับ

 

พอเราทำอย่างนี้เป็น ชัวร์ว่าเข้าใจหลักการ ยกมือขึ้นมาแบบนี้ จากสะดือ ขึ้นมาถึงแนวอก เพื่อให้ท้องป่องนะครับ ก็จะมาทำต่อ ให้ท่าครบบริบูรณ์

 

คือหายใจเข้าจะมีสองระลอก ขึ้นมาหายใจเข้าด้วยท้องก่อน ป่องท้องขึ้นมา แล้ววาดมือออกไปสบายๆ เลย แหงนหน้าด้วยก็ได้ แหงนหน้าตอนผายมือออกไปสบายๆ แล้วเอาไปจบกันที่บนหัว เหนือศีรษะ

 

คุณจะรู้สึกถึงลมหายใจที่เข้าสู่ปอดเต็มที่ ดังนั้น พอค้างไว้แป๊บหนึ่ง เหนือศีรษะ ถึงเวลาที่ลมจะออกมาจริงๆ เราก็ค่อยผ่อนลมออกมา ให้มีความสัมพันธ์กับฝ่ามือ

 

ถ้าหากว่าลมมีความสัมพันธ์กับฝ่ามือได้ ฝ่ามือก็จะเป็นตัวไกด์สติ ให้รู้สึกถึงลมได้อย่างแจ่มชัด ต่อเนื่อง

 

อันนี้ หลักการง่ายๆ นะ

 

เรามาทำท่าที่สองกันอีก 5 นาที บอกนิดหนึ่ง สำหรับท่านที่ยังไม่เข้าใจว่า ผายมือออกไปทำไม

 

ถ้าเรารู้สึกถึงฝ่ามือที่ผายออกไป แผ่กว้างออกไปเต็มที่ ยืดไหล่นิดหนึ่งก็ได้ แอ่นไหล่นิดหนึ่ง เพื่อให้รับลมเต็มที่ คุณจะรู้สึกถึงความแผ่กว้างออกไปของรัศมีของจิต

 

จากเดิมที่อุดอู้อยู่ในตัวแคบๆ แล้วทำให้เกิดอาการเครียด เกิดอาการหน่วงที่หน้าผากบ้างอะไรบ้าง ถ้าหากว่ามีมือตรงนี้ผายออกไป จะช่วยได้ชัดเจนเลยนะ คุณจะไม่มีความเครียดเกิดขึ้นตามเนื้อตัวอีกต่อไป จะไม่มีอาการเสียวหว่างคิ้วอีกต่อไป

 

สำหรับท่าที่ 2 เราจะใช้เวลา 5 นาที เพื่อปรับจิตให้ละเอียดประณีตขึ้นอีกนิดหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงของการทำความรู้จักกับขันธ์ 5 ในลำดับต่อไปนะ

(ทำสมาธิร่วมกันโดยใช้ฝ่ามือช่วยไกด้ ท่าที่ 2 : ให้เกิด วิจาระ)

______________________

รายการปฏบัติธรรมที่บ้าน ตอน ให้ขันธ์ 5 รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ 5

ช่วงทำสมาธิร่วมกัน

วันที่ 11 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป :

https://www.youtube.com/watch?v=ckjs9tO4l4g&t=613s

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น