วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2564

04 มโนภาพตัวตน vs. นิมิตสังขารขันธ์ : แอนิเมชัน ทำสมาธิร่วมกัน บรรยายสังขารขันธ์

ดังตฤณ : เดี๋ยวเราจะเริ่มทำสมาธิกันนะครับ ผมจะแบ่งเป็นสองช่วง วันนี้ จะให้ทำสมาธิ 10 นาที แล้วก็จะชี้ให้ดูเลยว่า มโนภาพในตัวตน เปลี่ยนเป็นนิมิตสังขารขันธ์ได้อย่างไร

 

ถ้าหากว่าเรามีสมาธิมากพอ ที่จะรู้สึกถึงภาวะภายในได้ ภาวะนั้นแหละ ที่เราจะเอามาเป็นตัวตั้ง ในการศึกษาสังขารขันธ์กัน

 

เริ่มต้นขึ้นมา ทบทวนกันนะครับ

 

ฝ่าเท้า ฝ่ามือให้มีความรู้สึกผ่อนคลายสบาย

ถ้าผ่อนคลายฝ่าเท้า เราก็รู้สึกว่าส่วนล่างเบา พื้นจิตพื้นใจเบา

แล้วถ้าฝ่ามือเบา ไม่มีความเกร็ง ไม่มีความกำ ก็จะรู้สึกสบายขึ้นมาครึ่งตัว

 

ด้วยความรู้สึกสบายขึ้นมาครึ่งตัวนี้ เพียงเรารู้สึกถึงการจะต้องหายใจ เราก็ยกมือขึ้นมา โดยให้ใจนึกว่าฝ่ามือที่หงายขึ้นนี่ ดันลมเข้า

 

เป็นการสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ระหว่างฝ่ามือกับลมหายใจ

 

ถ้าหากว่าฝ่ามือกับลมหายใจ เชื่อมกันได้ด้วยจิต ความรู้สึกของคุณจะเหมือนกับว่า ลมหายใจปรากฏเป็นของง่าย ถูกดันด้วยฝ่ามือเข้า และก็ถูกลากด้วยฝ่ามือออกมา เป็นจังหวะจะโคนที่แน่ชัด

 

ทำ 5 นาทีนะให้เกิดวิตักกะ วิจาระ ซึ่งจะเกิดแบบที่แก่กล้า หรือว่าเกิดแบบอ่อนๆ ก็แล้วแต่คนนะครับ

 

(ทำสมาธิร่วมกันโดยใช้ฝ่ามือไกด์ลมหายใจ ท่าที่ 1 เป็นเวลา 5 นาที)

 

มาถึงจุดนี้ ถ้าหากว่าเรามีความเพียรมาต่อเนื่อง .. 5 นาที ก็จะเริ่มรู้สึกลมหายใจเข้า กับลมหายใจออกได้อย่างชัดเจน

 

ความชัดเจนของลมหายใจนี้แหละ ที่จะเริ่มทำให้เกิดนิมิตว่า มีท้องป่องขึ้นมาเมื่อไหร่ ท้องยุบลงไปเมื่อไหร่ แล้วก็มีสายลมหายใจที่ถูกลากเข้า มา ถูกปล่อยออกไป ไปถึงไหนแล้ว

 

ตรงนี้ ก็จะเริ่มมีความรู้สึกไปอีกแบบหนึ่งขึ้นมา เราเริ่มจะมีสมาธิขึ้นมาจากตรงนี้แหละ จากนั้น ทำท่าที่สอง อีก 5 นาที แล้วเราจะมาพูดถึงเรื่องสังขารขันธ์กัน

 

ท่าที่ 2 นี้ เราก็เริ่มขึ้นมา โดยการที่เอามือประสานกัน เอาเอานิ้วกลางของ สองฝ่ามือมาชนกันที่แนวท้อง แล้วก็รูดขึ้นมา ยกขึ้นมาตรงๆ ถึงแนวระดับอกนะครับ เพื่อให้มีจังหวะที่ท้องจะป่องออกได้ อย่างที่เรารู้นะว่า คล้ายกับว่าเอามือรูดขึ้นมา เพื่อสูบลมเข้าท้อง

 

ถ้าปกติเราป่องท้องเอง จะรู้สึกเกร็ง จะรู้สึกว่าไม่มีจังหวะจะโคน

 

แต่ถ้าหากว่า เราอาศัยฝ่ามือเป็นตัวช่วยกำกับ ก็จะง่ายขึ้น แล้วเวลาที่เราวาดฝ่ามือออกไป ก็จะรู้สึกว่าใจไม่กระจุก อันนี้จะช่วยแก้ปัญหาสำหรับคนที่เอาแต่เพ่ง จะพยายามรู้ลมอย่างเดียว จนกระทั่งเสียวหน้าผากบ้างอะไรบ้าง

 

ถ้าอาศัยท่าประกอบนี้ ตัดแบ่งออกเป็นตอนๆ เริ่มต้นจากท้องป่องก่อน แล้วก็ให้ช่วงหน้าอกขยายออกเต็มที่ หายใจเข้าได้เต็มปอด ก็จะรู้สึกว่า ไม่มีอาการเพ่ง ไม่มีอาการเกร็งนะครับ

 

นี่คือที่มาที่ไป ว่าเราใช้ท่าที่สองอย่างไร

 

(ทำสมาธิร่วมกันโดยใช้ฝ่ามือไกด์ลมหายใจ ท่าที่ 2 เป็นเวลา 5 นาที)

 

พอมาถึงตรงนี้ คุณจะรู้สึกถึงความเป็นกาย ความเป็นใจ อย่างใดอย่าง หนึ่ง ที่แตกต่างไปจากเดิม

 

สำหรับบางคน อาจจะเห็นว่าท้องป่องขึ้นมา แล้วก็มีช่วงอกขยาย มีสายลมหายใจ ผ่านเข้าแล้วก็ผ่านออก

 

ถ้าเห็นอย่างนี้อย่างเดียว แล้วรู้สึกสบาย ในที่สุดจิตจะเลิกระวนกระวาย เลิกกระสับกระส่าย ไม่ดิ้นรนกลายเป็นจิตวิเวก ที่มีความรู้สึกว่า ปีติ เอ่อขึ้นมาเรื่อยๆ

 

หรือบางคนอาจจะเห็นว่า กายกำลังนั่งหายใจอยู่ คอตั้งหลังตรงมีความฟุ้งซ่านอยู่ในหัวประปราย แต่แยกได้เป็นชั้นๆ ว่า

 

กายที่นั่งอยู่ก็ส่วนกาย

ลมหายใจที่เป็นสายอยู่ ก็ส่วนสายลมหายใจ

หรือว่าความคิดนะที่คุกรุ่นอยู่ในหัวก็ส่วนความคิด

 

นี่มองเป็นเหมือนกับคลื่นไฟฟ้าในสมองได้ง่ายๆ เลย รู้สึกเหมือนกับว่า เรานี่คล้ายๆ หุ่นยนต์ ที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านชิพในหัว ผ่านมาแล้วผ่านไป เป็นกระแสไฟฟ้าที่มาเป็นห้วงๆ แล้วก็หายไปเป็นห้วงๆ ไม่ใช่อันเดียวกัน ไม่ใช่ตัวเดียวกัน

 

หรือบางคน อาจจะเห็นว่า กายนี้ที่แท้เป็นโครงกระดูกโครงหนึ่ง ที่มีลมหายใจผ่านเข้าผ่านออกอยู่ จะเห็นแบบใดก็ตาม เหล่านั้นเรียกว่านิมิต

 

จะปรากฏนิมิตอะไรขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ เมื่อเรานั่งสมาธิไป

 

คำว่านิมิต ไม่ใช่หมายความว่า เราไปรู้เห็นภาพอะไร ที่แตกต่างไปจากความเป็นตัวเรา

 

ตรงกันข้าม มโนภาพในตัวตนที่เราเคยจำไว้ ว่าปรากฏเป็นเงาในกระจก  จะแตกต่างไป จะกลายมาเป็นตัวจริงๆ ที่ร่างกายนี่กำลังนั่งอยู่

 

ท่านั่งเป็นอย่างไร เรารู้อย่างนั้น

ลมหายใจเข้าอย่างไร เรารู้อย่างนั้น

ความคิดในหัว เป็นกลุ่มคลื่นความแปรปรวนอย่างไร เราก็รู้ตามนั้น

อันนี้เรียกว่า นิมิตของขันธ์ 5

 

การที่เรารู้สึกถึงลมหายใจได้อย่างชัดเจน หรือว่าสามารถรู้สึกถึงความเป็นกายนั่ง ที่ท้องป่องบ้าง ท้องยุบบ้างสบายๆ อย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีกำลังเหลือเฟือ พอที่จะเห็นได้เรื่อยๆ

 

ไม่ได้อยากหยุดพัก แต่อยากรู้ไปเรื่อยๆ

 

ตรงนี้เป็นความสำคัญของปีติ และสุข

 

ถ้าหากว่ามีใครถาม ว่าจะเกิดปีติ เกิดสุขไปทำไม

เกิดขึ้นเพื่อความพอใจเฉพาะหน้าหรือ?

เราสามารถตอบได้ว่า ไม่ใช่

 

ไม่ใช่เพื่อที่จะให้เราได้มาเสพสุข ไม่ใช่เพื่อที่เราจะได้อิ่มหนำ กับน้ำพุแห่งปีติ แต่เพื่อให้ปีติและสุขนั้น หล่อเลี้ยงความเห็นว่า นี่เรียกว่านิมิตสังขารขันธ์

 

สังขารขันธ์เป็นอย่างไร?

 

มีภาพปรากฏของลมหายใจบ้าง ภาพปรากฏของท้องป่อง แล้วก็ท้องยุบบ้าง

 

นิมิตภาพที่ปรากฏต่อใจ ที่ปรุงแต่งใจให้เห็นความจริง ว่า

ท่านั่งนี้ เนื้อหาที่แท้เป็นอย่างไร โดยไม่มีมโนภาพในตัวตนจากเงากระจกมาห่อหุ้ม มาแทรกเจืออยู่

 

ตัวนี่แหละที่เรียกว่า เราทำสมาธิอานาปานสติไป เพื่อเห็นความต่างของสังขารขันธ์

 

สังขารขันธ์แรก เป็นมโนภาพในตัวตน ที่เราจำเอาจากตาเปล่า

แต่นิมิตสังขารขันธ์ที่กำลังปรากฏอยู่ ณ บัดนี้ ที่เรากำลังเห็นเป็นนิมิตอยู่นี่

อันนี้คืออ้างอิงจากความรู้สึกจริงๆ ที่กำลังปรากฏจากร่าง ที่นั่งคอตั้งหลังตรง หายใจเข้าหายใจออกอยู่

 

คือถ้าเราเปรียบเทียบว่า ตอนมีมโนภาพในตัวตนปรุงแต่งใจอยู่ จะให้เชื่อไหม ว่านั่นเป็นสังขารขันธ์

 

เราจะตอบตัวเองทันทีเลยว่าไม่เชื่อ มันเป็นตัวเราอยู่ชัดๆ

 

ต่อเมื่อเกิดสมาธิอย่างนี้ แล้วเห็นสักว่า

ลมหายใจ เป็นรูปขันธ์

กายที่นั่งอยู่ เป็นรูปขันธ์

ความรู้สึก สบายแสนสบายอยู่ คือเวทนาขันธ์

 

เห็นไหม แยกเป็นชั้นๆ ต่างหากจากกัน

รูปขันธ์ก็ส่วนหนึ่ง ความรู้สึกสบาย แสนสบาย แสนสุข ก็อีกเลเยอร์หนึ่ง

 

ความปรุงแต่งจิตให้มีความนิ่ง มีความเป็นวิตักกะ คือนึกถึงลมหายใจ

มีความเป็นหนึ่งกับลมหายใจคือ วิจาระ อันนี้ก็เรียกว่า สังขารขันธ์

 

เราสามารถรู้สึกได้ว่า จิตจะเป็นสมาธิได้ ก็ต่อเมื่อมีวิตักกะ และวิจาระนี้เกิดเต็ม

 

คนที่รู้สึกว่าจิตรวมลงได้ เป็นสมาธิตั้งเด่นอยู่ได้ ก็เพราะว่ามีวิตักกะ กับวิจาระนี่แหละ ปรุงแต่งจิต เหนี่ยวนำจิตให้เกิดการรวมเป็นสมาธิขึ้นมา

 

ถ้าไม่มีวิตักกะ ไม่มีวิจาระ ก็ไม่เกิดสมาธิ นี่เรียกว่าเราเห็นสังขารขันธ์

 

แล้วพอเห็นเป็นภาพแบบนี้

ว่ารูปขันธ์ก็อย่างหนึ่ง เวทนาขันธ์ก็อย่างหนึ่ง สังขารขันธ์ก็อย่างหนึ่ง

จิตจะยอมรับทันที โดยไม่มีเงื่อนไขว่า เรากำลังเห็นขันธ์ 5

 

ไม่มีความจำเป็น ที่เราจะต้องพยายามทิ้งตัวตน

ไม่มีความจำเป็น ที่เราจะต้องพยายามพิจารณาว่าตัวตนไม่มีมโนภาพ

เงาในกระจก ที่ติดอยู่ในความทรงจำ ที่เป็นส่วนของสัญญาขันธ์ จะหายไป

 

เราจะเห็นเลยว่า สัญญาขันธ์ในแบบที่มีตัวตน เป็นหน้าตา เป็นตัวใครชื่ออะไร นามสกุลอะไร จะหายไป กลายเป็นสัญญาแบบใหม่

 

ถ้าจิตกำลังมีโฟกัสอยู่กับความไม่เที่ยง อันนั้นก็เรียกว่าเกิดอนิจจสัญญา

 

แต่ถ้าหากว่าจิตกำลังรับรู้ว่า กายนี้ไม่ใช่ตัวตน ลมหายใจไม่ใช่ตัวเรา ความสุขที่เกิดขึ้นไม่ใช่ของของเรา

 

อันนี้เรียกว่าจิตกำลังโฟกัสอยู่กับอนัตตา

ความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรานี่แหละ ที่เรียกว่าอนัตตสัญญา

 

เห็นไหม เราก็เห็นตัวสัญญาขันธ์อยู่ โดยไม่ต้องพยายามอะไรเลย แล้วก็ไม่ต้องฝืนใจ ไม่ต้องเถียงกับตัวเอง ไม่ต้องเถียงกับใครว่าจริง หรือไม่จริง

 

จิตที่เป็นสมาธิ สามารถยอมรับได้ทันที รับรู้ตามจริง ตรงตามที่ปรากฏได้ทันที ว่านี่แหละ ที่เรียกว่าสัญญาขันธ์

 

พอมีกลุ่มความคิดปรากฏขึ้น แล้วเรารู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนกลับมา ก็แค่ยอมรับไปตามจริงว่า มันเกิดอัตตสัญญาคืนมา จากการที่ความคิดเข้ามา แล้วสติไม่เท่าทัน

 

แต่ถ้ากลุ่มความคิดปรากฏขึ้นในหัว แล้วเราสามารถมีสติรู้เท่าทันในขณะที่กำลังมีสมาธิอยู่อย่างนี้ จะไม่ยากที่จะมีสติเท่าทัน

 

เพราะเดิม ในหัวจะว่างๆ อยู่ แต่พอว่างๆ ไปสักพัก มีรอบการกลับมาของกลุ่มความคิด

 

ซึ่งพอมันกลับมาในหัว แล้วเรามีสติเท่าทัน ก็จะเกิดความรู้สึกว่า กลุ่มความคิดนี้ จริงๆ แล้วเป็นของแปลกปลอมเข้ามา เดิมไม่มีอยู่ในหัว อยู่ๆ ก็ผุดขึ้นมาจากความว่าง

 

ผุดขึ้นมากระทบอะไร กระทบใจกระทบการรับรู้ กระทบกับจิตของเราที่รู้อยู่ดูอยู่ สังเกตการณ์อยู่

 

พอเห็นว่ากลุ่มความคิดเข้ามากระทบจิต แล้วรู้ คือรู้ชื่อเรียกของมัน ว่าเป็นสังขารขันธ์ชนิดหนึ่ง เป็นธรรมารมณ์กระทบใจ เป็นภาวะสภาวะหนึ่งชั่วคราว ที่มากระทบใจ

 

สตินั้น เห็นอย่างชัดเจนว่ามาจากไหน .. มาจากความว่างเปล่า

 

เดิมเป็นความว่างเปล่าในหัว พอผุดขึ้นมากระทบใจ แล้วก็หายไป แล้วมันจะเป็นเราตรงไหน

 

พอเห็นอย่างแจ่มชัดอย่างนั้น จากเดิมที่มีอัตตสัญญาอยู่กับความคิด ที่กระทบใจ ก็กลายเป็นว่า พอความคิดกระทบใจปุ๊บ อนัตตสัญญา เกิดขึ้นทันที

 

เกิดขึ้น รู้ว่านี่ไม่ใช่ตัวเราแล้ว ไม่ใช่แน่ๆ เพราะผ่านมาแล้วผ่านไป ไม่ได้มีหน้าตาใครอยู่ในนั้น ไม่ได้มีความรู้สึกว่าเป็นเราอยู่ในนั้น

 

การเห็นอย่างนี้ นอกจากจะทำให้เรารับรู้ ว่านั่นเป็นสังขารขันธ์ชั่วคราว ยังทำให้ย้อนกลับมารู้ได้ด้วยว่า สิ่งที่กำลังรู้อยู่นี้ ก็คือจิต

 

จิตก็คือวิญญาณขันธ์ พอวิญญาณขันธ์ รู้ว่าสังขารขันธ์เกิดขึ้น แล้วหายไปเป็นธรรมดา

 

ตัววิญญาณขันธ์นั้น ก็เป็นวิญญาณขันธ์ที่รู้บริสุทธิ์ รู้เพียวๆ รู้แบบไม่เก็บเกี่ยวไว้เป็นของตัวเอง ไม่เกิดอาการปรุงแต่ง ที่เป็นสังขารขันธ์แบบใหม่ ให้มีหน้าตาตัวใครขึ้นมา

 

การรู้ว่า ณ ขณะแห่งการเห็นว่ามีการปรุงแต่งทางใจเกิดขึ้น เอาง่ายๆ จากเดิมมีมโนภาพในตัวตน กลายมาเป็นนิมิตของ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ แล้วก็ สังขารขันธ์

 

ตัวนี้แหละ ที่จะได้ข้อสรุปว่า ขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวเรา ที่ผ่านมาถูกหลอกทั้งเพ ที่เป็นมโนภาพตัวตน

 

วันนี้ก็ถือว่าได้ทำความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องของการใช้สมาธิ ในการเห็นสังขารขันธ์

 

คุณจะเปรียบเทียบได้เลยว่า ตอนแรกเวลาเราทำสมาธิ จะมีมโนภาพแบบหนึ่ง ผุดขึ้นมาในใจผู้นั่งสมาธิ แบบที่ยังนั่งไม่ได้ ยังหายใจไม่เป็น ไม่ยาวไม่รู้สึกว่าร่างกายสบาย ไม่รู้สึกว่าจิตใจผ่อนคลาย

 

จะมีอาการกำเกร็ง จะมีความรู้สึกว่า มโนภาพในตัวตน เปลี่ยนจากมโนภาพในกระจก เป็นมโนภาพของคนที่อัดอั้นตันใจ หรือว่าฝืนทรมานในการนั่งสมาธิ

 

ต่อเมื่อเราเริ่มมีวิตักกะ กับวิจาระ ขึ้นมา ช่วงนี้จะยังได้อยู่นะ คือมีมโนภาพในตัวตนตามมา เป็นความรู้สึกว่า ตัวฉัน หรือตัวเรานี่ กำลังนั่งสมาธิอย่างสบาย ยิ้มแย้ม ผ่องใส มีหน้าตาแบบหนึ่ง คล้ายๆ พ่อพระแม่พระ ที่กำลังมีภาพลักษณ์สูงส่ง กำลังมีตัวตนที่ถูกอัพเกรดขึ้นไปสว่างไสวมากมาย

 

ทีนี้ หน้าตาตัวตนจะหายไปจริงๆ ก็เมื่อเกิดตัวความรู้สึก ว่าร่างกายสงบระงับ ไม่อยากกวัดแกว่ง ไม่อยากเคลื่อนไหว แล้วก็รู้สึกถึงท่านั่งตามจริงว่า คอตั้งหลังตรงกำลังปรากฏโดยความเป็นอย่างนี้ ลมหายใจเข้า มีความยาวประมาณนี้ อัตราเร็วเท่านี้ ลมหายใจออกมีความยาวเท่านี้ อัตราเร็วเท่านี้ เห็นตามจริง

 

ตัวนี้ พอมีความสุขเอ่อขึ้นมามากขึ้นๆ มโนภาพเดิมๆ ว่าเป็นผู้ชาย หรือเป็นผู้หญิง ที่กำลังนั่งคอตั้งหลังตรงอย่างสง่างาม จะหายไป

 

อาจจะกลายเป็น อย่างใดอย่างหนึ่ง อาจนั่งคอตั้งหลังตรง มีนิมิตสายลมหายใจ แล้วก็นิมิตความคิดในหัวผุดอยู่

 

หรือไม่ก็อาจจะมีนิมิตโครงกระดูก ที่หายใจเข้าหายใจออก อย่างใดอย่าง หนึ่ง

 

แต่ถ้าฝึกมาจนรู้ อย่างถ้าสำหรับคนที่อาศัยท่าทั้งสามมา จะมาสรุปที่ตรงนี้คือ ถึงแม้ว่ากำลังวาดมืออยู่ก็ตาม จะเห็นอยู่แค่นี้เน้นๆ .. ในช่วงท้องป่อง หน้าอกขยาย แล้วก็ท้องยุบ หน้าอกยุบ โดยมีสายลมหายใจเข้าออก ปรากฏชัดอยู่

 

มโนภาพในตัวตน เมื่อแปรมาเป็นสายลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนี้พิจารณาได้ง่ายๆ เลย ว่า

 

กำลังมีความสบาย เรียกว่าเห็นเวทนาขันธ์

กำลังมีความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตน เรียกว่าเป็นอนัตตสัญญา

หรือว่าเป็นอนิจจสัญญา

 

แล้วก็มีความแนบเป็นหนึ่ง กับลมหายใจ จิตตั้งเด่น มีความรู้สึกว่าตั้งมั่นอยู่ รู้อยู่ แนบเป็นหนึ่งเดียว เป็นอันหนึ่งอันเดียว กับกายที่หายใจสบายๆนี้ อันนี้ก็เรียกว่ามีวิตักกะ วิจาระ

 

ก็เรียกว่าเราได้เห็นสังขารขันธ์อย่างแจ่มชัด

 

รู้ว่าเพราะนึกอยู่ถึงลมหายใจ ถึงมีวิตักกะ

และเพราะจิตแนบอยู่กับลมหายใจ ถึงมีวิจาระ

 

นี่ตัวนี้แหละที่ปรากฏชัดกับจิตว่า

เราไม่ได้มีมโนภาพในตัวตน อย่างที่คิด อย่างที่จำไว้จากเงากระจก

 

ขอรบกวนช่วยทำโพลนะว่า

 

ประสบการณ์ในการทำสมาธิครั้งนี้

- คุณได้เข้าใจ แล้วก็จิตเห็นสังขารขันธ์อย่างชัดเจน

- เข้าใจ แต่จิตเห็นสังขารขันธ์ แค่แวบๆ เห็น เสร็จแล้วก็หลุดไป

- ยังไม่เข้าใจเลย ไม่เห็นสังขารขันธ์เลย

 

ตอบข้อใดข้อหนึ่ง ตามจริงนะครับตามประสบการณ์ที่เกิดขึ้น

 

____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน มโนภาพตัวตน vs. นิมิตสังขารขันธ์

ช่วง แอนิเมชัน ทำสมาธิร่วมกัน บรรยายสังขารขันธ์

วันที่ 18 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=W14sIZpEIrM

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น