วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2564

01 มโนภาพตัวตน vs. นิมิตสังขารขันธ์ : เกริ่นนำ

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านนะครับ คืนวันเสาร์สามทุ่ม สำหรับคืนนี้ก็จะมาว่ากันต่อในเรื่องของขันธ์ 5

 

โดยที่สำหรับคืนนี้ จะแสดงให้เห็นว่า

อานาปานสติ ที่สามารถรู้ลมหายใจยาวได้ดังใจ

จะช่วยให้รู้จักสังขารขันธ์ได้อย่างไรนะครับ

 

เริ่มต้นขึ้นมา เราจะมาทำความเข้าใจ

ทำความรู้จักกับ มโนภาพตัวตน กันก่อน

 

ผมแค่อยากรู้ แล้วก็เสิร์ชดู ว่ามีใครที่คิดไหมว่า

ไม่อยากจะส่องกระจก ไม่อยากจะดูหน้าตัวเองในเงากระจก

 

เสิร์ชดูก็มีจริงๆ แล้วก็เยอะเกินคาดด้วย

 

คือคนเรา ถ้าไม่ได้มองเห็นเงาของตัวเองในกระจก จะเกิดอะไรขึ้น

คุณเคยสงสัยไหม เคยนึกอยากรู้ไหม เคยนึกอยากทดลองกับตัวเองไหม

อยากทราบไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับจิตใจตัวเอง?

 

อย่างถ้าเสิร์ชหาดูด้วยคำประมาณว่า ไม่มองเงาตัวเองในกระจก อย่างเช่น

‘What happened when I didn’t look in a mirror for a week’ หรือว่า ‘What I gained after 30 days of not looking in the mirror’

 

ก็มีคนที่ทดลองทำแล้วก็เอามาเล่าสู่กันฟัง เยอะพอสมควรนะครับ

 

พวกเขาสนใจในเชิงจิตวิทยานะ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับความรู้สึกนึกคิด

ความคิดบวกความคิดลบอะไรต่างๆนี่ จะเปลี่ยนแปลงไปไหม

 

อันนี้ก็มีคนที่เรียกว่าอยากรู้อยากเห็น แล้วก็ทดลองทำกันจริงจัง

แล้วก็กลายเป็นเหมือนกับกระแสในกลุ่มเล็กๆนะ ที่มีความสนใจตรงกัน

มีความอยากรู้อยากเห็นตรงกัน แล้วเอามาเล่าสู่กันฟัง

มีการทดลองมีการนำมาจาระไนนะครับ

 

ซึ่งสำหรับบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

คนที่รู้สึกไม่ดีกับเงาในกระจกของตัวเองมาทั้งชีวิต

เห็นทีไร รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ

 

ถ้าเชื่อเรื่องพระเจ้าก็น้อยใจพระเจ้า

ถ้าเชื่อเรื่องพรหมลิขิตก็น้อยใจพระพรหม

ถ้าเชื่อเรื่องกรรมวิบากก็น้อยใจตัวเองในชาติก่อน

สงสัยทำกรรมไว้ไม่ดี หรือว่ามีบาปอะไร

ทำให้หน้าตาไม่ถูกใจตัวเองในชาตินี้

 

ประเภทนี้นี่พอเลิกส่องกระจกไปได้ 3 วัน 7 วัน หรือ 30 วัน

ปรากฏว่ามีทัศนคติ หรือว่ามีความรู้สึกออกมาจากข้างในของตัวเอง แตกต่างไปได้

 

โดยเฉพาะถ้าหากว่า ตอนที่ไม่มองเงาตัวเองในกระจก

แล้วก็มาฝึกคิดอะไรที่ดีๆ ที่สร้างสรรค์

ที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง และคนอื่น มีแต่พฤติกรรมภายในล้วนๆ

 

มีแต่ประสบการณ์เห็นออร่า ออกมาจากข้างในว่า

คิดดีมีออร่าแบบหนึ่ง คิดไม่ดีมีออร่าอีกแบบหนึ่ง

โดยไม่สนใจ เอาออร่าตรงนั้นไปประกบ

ไปเชื่อมโยงเข้ากับหน้าตาตัวตน หรือมโนภาพของตัวเองในเงากระจก

 

บางคนรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น จะรู้สึกดีมากหรือน้อย

ขึ้นอยู่กับว่าในหัวผลิตความคิดดีๆ หรือว่าร้ายๆ ออกมาแค่ไหน

 

แล้วที่สำคัญที่สุด บางคนรายงานว่า

สามารถสร้างมโนภาพตัวตน หรือจินตนาการตัวเองให้เป็นอย่างไรก็ได้

ซึ่งอันนี้ สำหรับคนทั่วไปที่ยังมองเงาตัวเองในกระจกอยู่

ก็จะนึกไม่ถึง คาดไม่ถึง หรือว่าไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าจะเป็นไปได้

 

จินตนาการ เกิดจากอะไร

 

จินตนาการ เกิดจากการที่เราจำภาพอะไรไว้ในใจภาพหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเอง

หน้าตาของตัวเอง รูปร่างบุคลิกของตัวเอง

 

ตัวนี้ ที่จะเป็นรากเหง้า หรือว่าเป็นจุดเริ่มต้น

ที่จะจุดชนวนจินตนาการเกี่ยวกับตัวเองขึ้นมา

 

ทีนี้ ถ้าเราใช้ชีวิตในแบบที่มีความเคยชินแบบใหม่

ไม่มองเงาตัวเองในกระจก ไม่สนใจว่าหน้าตาดีหรือไม่ดีอย่างไร

สนใจแค่ว่า ใจของเรานี่ คิดดีหรือคิดร้ายแค่ไหน

ตลอดช่วงระยะเวลา 3 วัน 7 วัน 30 วัน

 

มีคนทดลองแล้ว แล้วก็พบว่าต่างไปนะ ต่างกันจริงๆ

พอลืมๆ หน้าตาแบบเดิมๆ ที่กระจกสะท้อนออกมา ว่าหน้าตาบุคลิกประมาณนี้นี่

ลืมๆ มัน แล้วเหลือแต่ความรู้สึก อันเกิดจากการคิดดีคิดร้าย

ในช่วงหนึ่ง ที่ยาวนานพอ

 

เขามีการจาระไนกันไว้มากมาย จดเป็น short note

และเอามาขยายความ หรือว่ามีการปรุงแต่งเพิ่มเติม

ด้วยคำอธิบาย คำวิเคราะห์ต่างๆนานา ลองไปหาดูได้

 

ด้วยด้วยคำประมาณว่า What happened when I didn’t look in a mirror for a week. หรือว่าเป็นเดือนเลยนะ 30 วันอะไรแบบนี้

 

ถ้าหากว่าค้นหาดู ก็จะพบคำตอบมากมาย

 

ทีนี้ วันนี้เราไม่ได้มาพูดกันในเชิงจิตวิทยา

เรามาพูดกันในแง่ของ สังขารขันธ์นะครับ

 

ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมา .. คราวนี้พูดกันภาษาพุทธ พูดกันแบบพุทธนะ

 

เงาในกระจก ถ้ามองตามความเชื่อแบบพุทธ เอาความจริงที่พระพุทธเจ้ามาเปิดเผยให้ชาวโลกทราบ ก็คือว่า

 

รูปกาย รูปร่างหน้าตา หรือว่าผิวพรรณ

จะประณีตหรือว่าหยาบก็ตาม

เป็นสิ่งที่วิบากกรรมเก่า ดลบันดาลให้เกิดขึ้น

 

คือตอนที่เราจะตายในชาติก่อน จะมีกองบุญกองบาปตัดสินไว้แล้ว

งัดข้อกันเรียบร้อย ว่าจะส่งเราไปอยู่ภพที่ดีหรือไม่ดี

และในภพนั้นๆ ก็จะมีรายละเอียดของกรรม ที่ทำไว้ในอดีตชาติ

มาปรุงแต่งมาตกแต่งให้รูปร่างหน้าตา มาขึ้นรูป

ให้รูปร่างหน้าตาประมาณไหน

 



ซึ่งโดยธรรมดา คนเราก็จะใช้กระจกเงาในการดูตัวเอง

 

ในมุมมองแบบพุทธก็คือ เงาในกระจก

ทำให้เรายึดติดอยู่กับกรรมเก่าของตัวเอง

ด้วยวิธีล็อคติดอยู่กับมโนภาพตัวตนแบบหนึ่งตายตัว

บอกว่านี่ฉันหน้าตาแบบนี้

 

ตอนเด็กคุณก็ล็อคไว้ว่า หน้าตาของตัวเองเป็นอย่างหนึ่ง

โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น วัยหนุ่มวัยสาววัยทำงานก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

 

เงาในกระจกในวันนั้น ในวันปัจจุบันที่เรากำลังมีชีวิตมีลมหายใจอยู่

เป็นตัวปรุงแต่งใจให้ยึดไปว่า ตัวเราเป็นอย่างนี้ หน้าตาอย่างนี้

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่เรามองตาตัวเองในกระจก

เล็งตามองเงาในกระจกได้นี่

คุณจะรู้สึกถึงความเป็นตัวเป็นตน เด่นชัดที่สุด

 

เพราะอะไร เพราะว่าการเล็งตามอง แล้วเห็นลูกตากรอกมา

ก็คือการสามารถควบคุมบังคับให้ร่างกายเคลื่อนไหว ตามที่ต้องการได้

 

เคลื่อนไหวอย่างไร เคลื่อนไหวด้วยการกรอกตา มามองเงาตัวเอง

พอมองเห็น ก็ล็อคติดว่านี่ตัวฉัน หรือหยาบหน่อยก็คือ นี่กู

 

ความรู้สึกดิบๆ ว่า นี่กู .. ตัวกู นี่จะมีความชัดเด่นมาก

แล้วก็ไม่มีทางที่เราจะเอาชนะความรู้สึกยึดติดแบบนั้นได้เลย

 

ตอนที่จงใจเล็งตามองตัวเองในกระจก เป็นตอนที่เรารู้สึกว่า

เราสั่งให้ร่างกายของตัวเองนี่ มองตัวเองอยู่อย่างนี้

แล้วเงาในกระจกนี่ จะชัดเหลือเกิน

มีสีสันมีรูปพรรณสัณฐาน ว่าหน้าตาอย่างนี้ ประมาณนี้

ไม่เปลี่ยนเป็นอื่น ไม่แปรรูปเป็นอื่นภายใน 2-3 วินาที

 

ยกเว้นแต่ใครจะเคยลองเล่นว่า มาทำสมาธิต่อหน้ากระจก

เปลี่ยนจากหน้าหมองๆ ให้กลายเป็นหน้าผ่องๆ ขึ้นมาได้ทันตาเห็นอะไรแบบนี้

ก็จะพบว่ามโนภาพตัวตน ที่เราล็อคอยู่ด้วยเงาในกระจกนี้

จริงๆแล้วสามารถแปรปรวน สามารถแตกต่างไปได้ ด้วยสภาพจิตใจภายใน

 

ทีนี้ จริงๆ แล้ว ถ้าเราสังเกต ตอนที่ออกจากเงาตัวเองในกระจกไป

มโนภาพที่ติดค้างอยู่ในใจ ที่นึกว่า นี่ตัวฉัน หรือว่าตัวกูนี่

ก็คือรูปร่างหน้าตาแบบที่เห็นในกระจก

 

พอมาอยู่ตามลำพัง ไม่มีกระจกเงาช่วงส่อง

เราจะรู้สึกถึงมโนภาพตัวตน ที่แตกต่างไปได้เรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น

 


ถ้าตอนที่เรากำลังฟุ้งซ่าน หรือกำลังรู้สึกเคว้งคว้าง หาตัวเองไม่เจอ

ถามตัวเองว่า ชีวิตนี้มีเป้าหมายอะไร เมื่อไหร่จะไปให้ถึง

หรือว่ามีความรู้สึกประมาณว่า วันนี้ไม่รู้จะทำอะไรดี

จิตใจเคว้งคว้างเลื่อนลอย แล้วก็เหมือนกับบิดไปเบี้ยวมา

 

มโนภาพของเราจะบิดเบี้ยวตามไปด้วย หรือว่าเลือนรางตามไปด้วย

 

บางที ตอนเราคิดจะพูดขำๆ คิดจะพูดอะไรตลกๆ กับเพื่อน

จะมีหน้าตาแบบหนึ่ง ที่อยู่ในใจก่อน ปรากฏอยู่ในใจก่อนว่า

จะทำหน้าทำตาประมาณนี้ ทำหูแหก ตาฉีก ปากเบี้ยว เพื่อให้เพื่อนขำ

 

ภาพเหล่านั้น ก็จะยืนพื้นอยู่จากเงาในกระจกที่เราเห็นตอนแรก ที่ดีๆอยู่

แต่บิดเบี้ยวไป แล้วก็สะท้อนออกมา

โดยที่เราทำหน้าทำตาบิดเบี้ยว ตามที่รู้สึกในมโนภาพจริงๆ

 

ถ้าพูดขำๆ พูดตลกๆ อะไรนี่อาจจะแป๊บเดียว

เป็นมโนภาพที่ก่อตัวขึ้นมาแป๊บหนึ่ง พอทำหน้าทำตาเสร็จ

ก็คืนกลับสู่สภาพปกติ

 

แต่ถ้าหากว่าคุณมีประสบการณ์บ่อยๆ ที่จะคุยไปเรื่อยๆ กับเพื่อน

เม้าไปเรื่อยๆ เป็นชั่วโมงๆ .. ชั่วโมงหนึ่งก็แล้ว สองชั่วโมงก็แล้ว

แล้วหาหาฝั่งไม่เจอ ออกอ่าวไปเรื่อยๆ เรียกว่า พูดเพ้อเจ้อ เยิ่นเย้อ

จะมีมโนภาพอีกแบบหนึ่งขึ้นมา ก็แบบเดียวกันนี้ คือจะโย้ไปเย้มา

 

นี่คือตัวอย่างว่า มโนภาพเกี่ยวกับตัวตน

จะแปรปรวนไปเรื่อยๆ ตามวิธีคิดวิธีพูด หรือวิธีทำ

 


อย่างถ้าเรากำลังมีจิตใจเศร้าหมอง กำลังจ๋อย กำลังรู้สึกหน้ามืด ใกล้จะหมดตัว มโนภาพตัวตนที่เราจำไว้จากกระจก ก็จะออกแนวแบบว่าหน้ามืดๆ

 

เพราะอะไร เพราะว่าจิตที่เป็นอกุศล มีความดำมืด

จะปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกมืดขึ้นมาจริงๆ

มืดขึ้นมาที่ใบหน้า มองไม่เห็นตาตัวเอง

มองไม่เห็นความหล่อเหลา หรือว่าสวยงามอะไร

ที่เราเคยติดใจจากเงาในกระจก

 

แต่จะมีความรู้สึกหมองๆ มีความรู้สึกหน้ามืดๆ อยู่

 

อันนี้เป็นตัวอย่างนะว่า เงาในกระจกของเรา

ติดตามมาเป็นมโนภาพในตัวตนของเราได้อย่างไร

 

คือต้องมีความปรุงแต่ง ในลักษณะที่จิตจดจำว่าตัวเอง

มีบุคลิกหน้าตาลักษณะรูปร่างแบบหนึ่งเอาไว้

แล้วก็พอมีการปรุงแต่งทางกายนี้ ให้คิดให้พูดให้ทำอะไรออกไป

หน้าตาตรงนั้น มโนภาพตรงนั้น ก็จะเปลี่ยนแปรไปเรื่อยๆ

 

นี่คือยังไม่พูดถึงสมาธิ ยังไม่พูดถึงความรู้ทางธรรมอะไรทั้งสิ้น

แต่นี่คือความจริงเกี่ยวกับมโนภาพตัวตน ที่ใครๆ ทั้งโลกก็ประสบกัน

ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งบัดนี้ แล้วก็จะเป็นต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตาย

ถ้าหากว่าไม่มาศึกษาธรรมะ

 

มีอยู่แค่นี้ มโนภาพนี้ พิจารณาแล้วเป็นของหลอกทั้งเพ

 

มโนภาพตัวตนที่ปรากฏอยู่ในใจของเรา

ไม่เคยตรงกับความเป็นจริงเลย

 

อย่างขึ้นต้นมา มองเงาตัวเองในกระจกแค่นี้ก็เบี้ยวแล้ว กลับซ้ายเป็นขวากลับขวาเป็นซ้าย รู้กันชัดๆ เห็นกันชัดๆแต่ก็ยังจำ จดจำว่านี่ตัวเราจริงๆ เป็นตัวเราแน่ๆ เป็นตัวเราชัดๆ

 

ยิ่ง ณ ขณะที่เห็นเงาตัวเองในกระจก

ไม่มีทางไหน ไม่มีทางที่จิต จะหลบหนีจากอุปาทานนั้นไปได้

มีแต่ความรู้สึกว่า นี่เงาฉันชัดๆ ทั้งๆ ที่มันกลับด้านกัน

 

หรือแม้กระทั่งตอนที่ เราเซลฟี่ตัวเอง ใช้มือถือมาถ่าย

มาทำหน้าทำตาให้ดูน่ารัก ให้ดูแบบว่า น่าดู น่าชม

น่ากดไลค์ให้อะไรแบบนี้

 

บางคนนี่มโนภาพในตัวตน รู้อยู่ชัดว่าไม่ตรงนะ

ไม่คิกขุ ไม่ได้น่ารักแบบนั้น

มีความแอบจะร้ายอยู่ พร้อมจะร้ายอยู่ พร้อมจะแยกเขี้ยวยิงฟันอยู่

 

เห็นไหม พอแค่เราพิจารณาด้วยประสบการณ์ตรงล้วนๆ

ยังไม่ได้พิจารณาเข้าเรื่องธรรมะอะไรเลย

ก็เห็นแล้วว่า เราอยู่กับโลกใบที่เป็นของหลอก เป็นของไม่จริง

 

ทีนี้ ถ้าเรามองว่ามโนภาพในใจที่ปรากฏ เป็นมืดบ้างสว่างบ้าง

ในทางธรรมะ ก็เรียกว่า สังขารขันธ์

 

สังขารขันธ์นี้ เป็นธรรมชาติปรุงแต่งจิต

คือมีภาวะอะไรอย่างหนึ่ง เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง

แล้วปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศลหรืออกุศล

แล้วก็มีความผูกโยงกับ มโนภาพตัวตนในคนธรรมดาเราๆ ท่านๆ นี่

 

แต่สังขารขันธ์ จะปรากฏเป็นนิมิตธรรมก็ได้

ถ้าเราเจริญสติถูก .. ตัวนี้ คือสิ่งที่เราจะคุยกันวันนี้

____________________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน มโนภาพตัวตน vs. นิมิตสังขารขันธ์

ช่วง เกริ่นนำ

วันที่ 18 กันยายน 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=mh3Tta02PJ0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น