ขอพูดถึงโพลนี้สักนิดหนึ่ง
24% นี่เยอะมากนะ ที่บอกว่า เข้าใจแล้วว่าไม่มีบุคคล ที่เป็นผู้เห็นขันธ์อยู่
เพราะชั่วนาตาปี
อนันตชาติ ที่เวียนว่ายตายเกิดมา มีแต่ความรู้สึกแน่วแน่ เชื่อมั่นว่า
นี่มีกายอยู่ มีใจอยู่ ที่เป็นตัวตนของฉันแน่ๆ
แล้วพอกายนั้นใจนั้นแตกดับไปสู่ความเป็นชาติอื่น
ไปสู่ความเป็นกายใจใหม่ ก็ไปหลงยึดใหม่ว่า กายใจ เป็นตัวฉันแน่ๆ กายใจอื่นไม่มี ในอดีตชาติไม่มี
เรื่องเหลวไหล เรื่องงมงาย อนาคตชาติก็ไม่มี ตายแล้วสูญ
มีแต่กายใจที่กำลังครองอยู่ ณ ขณะนั้นๆ ในชาตินั้นๆ เป็นตัวเป็นตนของฉัน
หรือไม่ก็มีตัวตนอื่น
ที่ไม่รู้หรอกว่า หน้าตาจะเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าต้องมีตัวตนอยู่แน่ๆ
เป็นความหลงเข้าใจผิดของจิต
แต่พอมาได้ศึกษาธรรมะ
มาเจริญอานาปานสติแบบที่พระพุทธเจ้าสอน คือ 24% .. หนึ่งในสี่ ของคนที่ทำมาด้วยกัน
ได้เข้าใจแล้วว่า ไม่มีบุคคลผู้เห็นขันธ์ 5 อยู่ มีแต่ขันธ์ 5 ที่รู้ขันธ์ 5
อยู่นะครับ
ส่วนอีก
สามในสี่ บอกว่ายังรู้สึกว่ามีตัวตนเป็นผู้ดูขันธ์ 5 อยู่ ก็ไม่ใช่ว่าจะทิ้งห่าง
.. ไม่แน่นะ เพราะพวกนี้ ถ้าทำจริง เอาจริง วันสองวันก็อัพเกรดขึ้นมาได้
กลายเป็นพวกแรกขึ้นมาได้
แล้วถ้าอยู่ตรงทิศตรงทาง
ในแบบที่เราจะมีความเพียรเรื่อยๆ ไม่ทิ้งไปไหนเสียก่อน วันหนึ่ง
อย่างไรก็ต้องอัพเกรดขึ้นมาแน่นอน ไม่ช้าก็เร็วนะครับ
-
สวัสดีค่ะ อ.และทีมงานทุกท่านวันนี้ได้เรียนรู้จากที่ อ. สอนมากขึ้นค่ะ ตอนที่
อ.บอกว่า ให้เห็นว่าความสุขเป็นเพียงแค่สังขารขันธ์ ก็เกิดความสว่างมากขึ้น
เห็นความนิ่งโล่ง ว่าง อีกแบบจากที่เคยนั่งมาเข้าใจที่ อ. บอกทุกอย่าง
และรู้ว่าความสว่างก็ไม่เที่ยง ตอนนี้เป็นกลุ่ม 3 ค่ะ
แต่รู้ลมหายใจเพิ่มขึ้นระหว่างวัน มีความสุขในจะรู้ลมหายใจมากขึ้น ขอบพระคุณ อ.ค่ะ
ดังตฤณ : ความสุขเป็นเวทนาขันธ์นะ
แต่ความพอใจเป็นสังขารขันธ์
จริงๆ
แล้วนี่เป็นการแบ่งตามทฤษฎี ตามหลักวิชาการ แต่ถ้าเราเข้าใจให้ถูกต้อง
จะมีประโยชน์ในทิศทางการปฏิบัติด้วย
ยกตัวอย่างเช่น
เวลาเราหายใจแล้วรู้สึกว่า สบายจัง สบายเนื้อสบายตัว นี่เรียกว่า สุขเวทนาทางกาย
รู้สึกสบายใจโล่ง
ปลอดโปร่ง นี่เป็นสุขเวทนาทางจิต ทางใจ ที่จะทำให้เรามีสติรู้ว่า
แบบนี้เป็นปฏิกิริยาทางกายทางใจอันเป็นปกติธรรมดา ที่พอสบาย ก็รู้สึกว่าเป็นสุข
พออึดอัดก็รู้สึกว่าเป็นทุกข์
แต่ที่มาปรุงแต่งด้วยความคิดที่ว่า
อยากให้ความสุขแบบนี้ เกิดขึ้นนานๆ ไม่อยากเสียความสุขนี้ไป นี่แหละ
เริ่มกลายเป็นสังขารขันธ์แล้ว
แล้วสังขารขันธ์นี้มาได้อย่างไร
มาจากการจำได้ว่า นี่เป็นความสุข และสามารถที่จะตั้งอยู่ได้นานๆ หมายใจว่า
สำคัญมั่นหมายว่า จะให้ความสุขแบบนี้ อยู่นานๆ ได้
ความสำคัญมั่นหมายแบบนั้น
ที่รู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นของๆ ฉัน นั่นคือสัญญาขันธ์
พอเราอธิบายได้อย่างชัดเจน
จะไม่มีปรากฏการณ์ทางจิตอันใด ที่เราสงสัย เกิดข้อสงสัยว่า แบบนี้เขาเรียกอะไร
แบบนี้ต้องทำอย่างไรต่อ
จะเห็นว่าอะไรๆ
เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องของขันธ์ 5 ล้วนๆ ไม่อยู่นอกเหนือไปจากขอบเขตของขันธ์ 5
ไปได้
แล้วก็ไม่สงสัยว่าจะดูมันอย่างไร
ก็ดูโดยความเป็นของไม่เที่ยงนั่นแหละ
ตอนนี้พออยู่ในหมวดของขันธ์
5 นี่ เอาตามที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ท่านตรัสว่า เห็นขันธ์ 5
ไปเพื่อที่จะให้เกิดอนิจจสัญญา จะได้รู้สึกว่ามันไม่เที่ยง มันจะไม่เหมือนเดิม
แล้วถ้าคุณแยกแยะเป็นประเภทได้อย่างแม่นยำ
ข้อสงสัย ข้อติดขัดที่จะก่อให้เกิดวิจิกิจฉา ก็จะไม่ได้ที่เกิดด้วยนะ
ผมสรุปให้ว่า
คุณเห็นเวทนาขันธ์ชัดขึ้น แล้วจิตมีความประณีตมากขึ้น สังเกตนะ เรื่องว้าวุ่นต่างๆ
ที่คุณเคยมี ที่แบบว่าคุณติดพันกับความว้าวุ่นของโลกภายนอกง่ายๆ
ตอนนี้จะมีส่วนที่ไปเชื่อมต่อกับเขาได้อยู่ แต่ว่าโอกาสที่จะยืดเยื้อ จะสั้นลงมาก โอกาสที่จะไปติดใจอะไรกับความวุ่นวายภายนอก
จะน้อยลงมากๆ
เพราะอะไร
เพราะเกิดการค้นพบบ่อน้ำขึ้นมาภายใน เวลาหิว แต่ก่อนเราไม่รู้จะไปกินที่ไหน
น้ำที่ข้างนอกนี่ แต่พอเกิดบ่อน้ำที่ข้างใน จะเหมือนน้ำทิพย์ของจริง
คือดื่มกินได้อยู่ตลอดเวลา จะไม่ต้องไปยื้อแย่งกับใครเขา
ไม่ต้องไปชิงดีชิงเด่นกับใครเขา ไม่ต้องไปอิจฉาริษยาใครเขา
นี่แหละ
ต้นเหตุของความว้าวุ่นของใจถึงสงบระงับลง แล้วเกิดความพอใจที่จะได้มาเห็นอะไรๆ
อันเป็นของภายในมากขึ้นเรื่อยๆ ขอให้ตั้งข้อสังเกตตรงนี้
นี่เป็นกลุ่มที่สาม
แต่เห็นไหม อย่างที่ผมบอก กลุ่มที่สามไม่ใช่กลุ่มที่เป็นไก่รองบ่อน
หรือเป็นคนที่ด้อยกว่า
จริงๆ
ที่เลือกข้อนี้
อาจด้วยการตัดสินจากข้อเท็จจริงที่ว่าเรายังไม่ค่อยรู้ลมหายใจได้บ่อยๆ แต่ว่า
เริ่มมีความประณีตของจิตขึ้นมา แล้วถ้าหากว่าต่อไป
เราเห็นว่ามีคนกลุ่มที่สามารถรู้ลมหายใจได้บ่อยๆ แล้วก็ถึงขนาดที่ว่า
รู้ในระหว่างวัน เทียบเท่ากับตอนหลับตาทำสมาธิ ก็จะเกิดกำลังใจ
แล้วเกิดทิศทางให้ตัวเองว่า เราก็ต้องทำแบบนั้นได้เหมือนกัน
แค่มีความพยายาม
แค่มีความเพียร มีฉันทะ มีความพึงพอใจ ที่จะรู้เข้ามาดู เข้ามาอยู่ข้างในนี่นะ
นี่เป็นเรื่องดีของการที่เรามาอยู่กับกัลยาณมิตรนะ
จะได้เห็นว่า ทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อ แล้วไม่ไกลเกินเอื้อมนะครับ
-
ท่าที่2 ตอนค่อยๆเอาแขนลงไม่รู้สึกว่าเป็นแขนแต่เป็นอะไรก็ไม่รู้ค่ะ
พอทำอีกครั้งก็รู้สึกว่าอะไรไม่รู้เหมือนเดิม รู้สึกแว้ปเดียวค่ะพอครั้งที่3
ไป
ตั้งใจดูก็รู้สึกว่าเป็นแขนเราแล้วค่ะ
ดังตฤณ : ตอนที่ไม่ได้ตั้งใจดู ตอนที่จิตเป็นสมาธิ
ตอนนั้น เราเห็นแขนโดยความเป็นรูปขันธ์ คือสักแต่เป็นธาตุดิน มีความแข็ง
มีรูปมีร่าง มีรูปพรรณสัณฐาน แต่จะรู้ขึ้นมาด้วยจิต ที่มือมีห้านิ้วอยู่
มีรูปร่างหน้าตาอยู่อย่างนี้ มีรูปพรรณสัณฐาน มีสองตา หนึ่งจมูก เราไม่ได้เป็นคนออกแบบเลย
ไม่ได้เคยเป็นคนสร้างเลย ธรรมชาติจัดการหมด
แต่เราอยู่ๆ
มาอยู่ในร่างแบบนี้ก็มาตู่เอาว่านี่ของเรา นี่ตัวเรา นี่สำนวนพระพุทธเจ้านะ
เราไม่เคยทำอะไรเลย
ไม่เคยสร้างอะไรเลย แต่ก็ร้องว่า นั่นของเราๆ .. นี่พุทธพจน์นะ
แล้วตรงที่คุณบอกว่า
พอจ้องดู ตั้งใจดู ก็รู้สึกว่ากลายเป็นแขนเรา
มีความรู้สึกเป็นเรามาตั้งแต่คุณตั้งใจจะจ้องดูแล้ว
เพราะว่าเมื่อมีเจตนา
มีความตั้งใจจะดู จะเกิดอัตโนมัติแบบหนึ่งตามธรรมชาติของจิตขึ้นมา
มีความปรุงแต่งว่า เราเป็นคนสั่งให้ดู
จะรู้สึกว่า
มี master mind มีตัวผู้บงการ มีตัวผู้ที่สามารถคิดอะไรทำอะไร ตั้งใจอะไรได้อย่างหนึ่ง ที่จะบัญชาให้แขนขา
หรือสภาวะทางใจ เกิดสภาพอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง เกิดความเคลื่อนไหว
เกิดการจ้องดูอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง
สภาวะของตัวตน
จะตั้งต้นมาตั้งแต่อยู่ในมุ้ง ตั้งแต่คุณมีเจตนาดู
ถึงได้ย้ำนะว่า
มีความสำคัญขนาดไหนที่เราจะทำสมาธิให้เกิดขึ้น เพื่อให้การรับรู้
เป็นไปโดยอัตโนมัติ ไม่มีผู้เจตนา ไม่มีผู้จ้องดู
พอคุณได้ถึงจุดที่จิตไม่มีเจตนาที่จะจ้องดู
จิตมีแต่ธรรมชาติ รู้เอง เห็นเอง โดยไม่ต้องไปเค้นคอ บังคับให้เห็น ตรงนั้นแหละ
ที่เราเริ่มต้นจากจุดที่ไม่มีตัวตนของใคร เราเริ่มต้นจากจุดที่วิญญาณขันธ์
มีความสามารถรับรู้อาการทางหูตา อาการทางใจ
ตรงนี้
เป็นความเข้าใจที่สำคัญ เห็นไหม ที่คุณบอกว่าแขนเคลื่อนไป เหมือนแขนใครก็ไม่รู้
ตรงแขนใครก็ไม่รู้
อะไรก็ไม่รู้ ตรงนั้นแหละ คือรูปขันธ์ จะตั้งต้นจากใจที่เป็นอัตโนมัติ เป็นสมาธิ
ไม่ได้จงใจที่จะดู แต่รู้ของมันเอง
แต่พอคุณจงใจที่จะดูปุ๊บ
นั่นมีเจตนามาปรุงแต่งจิตแล้วว่า นี่ฉันเป็นผู้ตั้งใจดู นี่คือฉันจงใจดู
คุณไม่ได้ไปสั่งให้มีตัวฉันนะ แต่ธรรมชาติของจิตที่ถูกปรุงแต่งด้วยเจตนา
ตั้งใจจงใจดูนั่นแหละ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวเราเป็นผู้ดูขึ้นมา
-
ขอบคุณอาจารย์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่เตือนเกี่ยวกับการฝึกครับ
การตั้งคำถามและเป้าหมายผิด การฝึกก็ผิดไปคนละแบบเลยการฝึกทั้งสัปดาห์
ทำให้รู้สึกตัวมาตลอด ถึงจะไม่ตลอดเวลา แต่ก็แทบทุกครั้งที่รู้สึกตัว
ช่วงเวลาฝึกจะมองเห็นกายกับลมกายใจแยกกันอยู่ จะมีความคิดเกิดมาชวนหรือชักนำ
พอตั้งใจแค่รู้ว่าอะไรจะเกิดก็แค่ดู ทำให้รู้สึกเข้าใจมากกว่าเดิมครับ
ดังตฤณ : เรื่องความเข้าใจ ไม่ได้เข้าใจทันที
บางทีฟัง
บางทีเข้าใจในหลักการปฏิบัติแต่ว่า ตัวสภาวะ ยังไม่เกิดตามนั้น ตามที่เข้าใจ
จนกระทั่งเราฝึกอานาปานสติ เราอยู่กับกายใจได้เรื่อยๆ ด้วยฉันทะ ไม่ใช่ด้วยความฝืน
จนกระทั่ง
จะเริ่มเกิดอัตโนมัตขึ้นมา จิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง ก็เกิดพัฒนาการ
มีความเข้าใจมากขึ้นๆ ตามลำดับ
สัปดาห์เดียว
จะอัพเกรด ยกระดับจากที่ตั้งโจทย์ผิด กลายเป็นตั้งโจทย์ถูก ตั้งทิศตั้งทางถูก
อย่างโพล
แต่ละโพล ก็คือการตั้งทิศตั้งทาง ช่วยให้คุณค่อยๆ อยู่ในลู่ อยู่ในทางร่วมกัน
พอคนมาเจริญสติร่วมกันเยอะๆ เกิดกระแส เกิดแรง เกิดพลัง
มาผลักดันให้เข้าลู่เข้าทางไปในทิศเดียวกันได้ นี่เป็นธรรมชาติธรรมดานะ
- วันนี้เห็นเส้นใยในการยึดขันธ์ค่ะ
ดังตฤณ : ดีนะ ถ้าเรามาศึกษาแค่ทางทฤษฎี
หรือในหน้ากระดาษ จะไม่เข้าใจว่าเขาพูดถึงอะไร
แต่ถ้าหากว่าเราผ่านการประสบกับภาวะแบบเดียวกัน
มีประสบการณ์ตรงกัน จะเข้าใจทันที ว่าตัวเส้นใย หมายถึงอะไร
มีความรู้สึกถึงสายใยอยู่จริง
เพราะฉะนั้น
เราก็จะเข้าใจด้วยเวลาที่ อ่านในพระไตรปิฎกบอกว่า
สังโยชน์เปรียบเหมือนกับโซ่ที่ร้อยรัดไว้ เปรียบเหมือนกับอะไรที่หน่วง ยึด
เกี่ยวพันไว้
ไม่ใช่แค่เป็นอุปมาอุปไมย
แต่เห็นเหมือนอย่างนั้นจริงๆ ว่ามีสายโยงสายใยอยู่นะครับ
______________________
รายการปฏบัติธรรมที่บ้าน ตอน ให้ขันธ์ 5
รู้ตัวว่าเป็นขันธ์ 5
ช่วงรวมฟีดแบคหลังทำโพลครั้งที่ 2
วันที่ 11 กันยายน 2564
ถอดคำ : เอ้
รับชมคลิป :
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น