วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปฏิบัติด้วยการเดินจงกรม ขอคำแนะนำ

ถาม : ปฏิบัติด้วยการเดินจงกรม แนวทางปฏิบัติจะต้องเป็นอย่างไรต่อ

 

ดังตฤณ : ของเราตอนเดิน ถ้าเงยหน้าขึ้นจะดีกว่านี้ จิตจะเปิดขึ้นกว่านี้ อันนี้บางทีจิตนิ่งลง เพราะว่าเรามีสมาธิกับการเดิน แต่ว่าสมาธิที่เกิดขึ้น ลองสังเกตนะ จะไม่ใช่สมาธิที่ตื่นรู้ทั่วพร้อม แต่เป็นสมาธิเฉพาะตอนที่กำลังเดินอยู่ แต่พอออกมาจากการเดินนี่ จะเหมือนกับ ก็ยังคิดฟุ้งซ่านอยู่ สังเกตตรงนี้นะ สังเกตรงนี้ให้ออก

 

ถ้าสังเกตตรงนี้ออก เราจะเข้าใจว่าสมาธิ มีสองแบบ

สมาธิ แบบจดจ่ออยู่กับอารมณ์ที่เราเคยชินอารมณ์เดียว พอหลุดจากอารมณ์นั้น ฟุ้งซ่านเหมือนเดิม

กับสมาธิอีกแบบหนึ่ง สมาธิที่มีความตื่นรู้ คำว่าตื่นรู้ทั่วพร้อมนี่นะ ไม่ใช่หมายความว่า เรารู้ละเอียดยิบเลยตั้งแต่หัวจรดเท้า แต่ความรู้ที่มาจากสติทั่วพร้อมนี่ เป็นสติที่พร้อมจะไปรู้อะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่อารมณ์เคยชิน ทั้งที่เป็นอารมณ์เคยชิน และที่ไม่เคยชิน เข้าใจคำนี้ไหม

 

เหมือนอย่างเดินจงกรมนี่ ถ้าเรามีการเดินแบบที่สติ มีความพร้อมรู้ มีความตื่นพร้อม พอออกจากการเดินจงกรม ก็จะไปรู้สิ่งอื่นด้วย จะรู้เลยว่า นี่ร่างกายของเรากำลังขยับเคลื่อนไหวอย่างไรอยู่ แล้วก็สิ่งที่เข้ามากระทบ จะมารบกวนจิตใจเราไม่ได้ จะมาทำให้จิตใจของเราไขว้เขวจากสติ ที่มีในกายใจไม่ได้

 

อย่างของเรานะ พอออกจากทางเดินจงกรมปุ๊บนี่ มีอะไรมากระทบปุ๊บ จะเข้าไปเลยที่ตรงนั้น ลืมสภาพทางกาย สภาพทางใจที่เป็นอิริยาบถปัจจุบัน

 

แต่ถ้าเราเดินจงกรมในแบบที่จะทำให้มีความตื่นรู้ทั่วพร้อม พอไปเจออะไรก็ตามนี่ จะเหมือนกับท่าทาง หรือรูปหุ่น ในการเดินจงกรม จะตามตัวเราไปด้วย

 

วิธีคือ ตอนเราเดิน อย่าดูแค่อาการเดิน เริ่มต้นขึ้นมา อย่าดูเหมือนกับจะเอาเข้าที่ ที่ผ่านมาพอเริ่มต้น นึกออกใช่ไหมเราพยายามจะเอาจิตเข้าที่

 

ทีนี้เอาใหม่ เริ่มต้นขึ้นมา เราทำเหมือนกับนับหนึ่งใหม่เลยทุกครั้ง เดินเอามือไพล่หลัง แล้วก็เชิดหน้า มองขนานกับพื้น เพื่อให้จิตเปิด สังเกตดูว่าจิตจะเปิดมากขึ้น แล้วดูเท้ากระทบก่อน กระทบแป๊ะๆ ไป อย่าเพิ่งไปดูท่าเดิน  

 

ที่ให้ดูเท้ากระทบก่อนเพื่ออะไร เพื่อให้แน่ใจว่าเรารู้จริงๆ ว่าปัจจุบัน ผัสสะอันเป็นปัจจุบันหน้าตาเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาเรานึกเอา ใช้จินตนาการเอาเป็นตัวนำ เพื่อให้เข้าจุด เพื่อให้เข้าที่ เห็นไหม เห็นความต่างนะ

 

แต่ถ้าเราเริ่มต้นขึ้นมาด้วยการรู้เท้ากระทบก่อน แบบนี้ไม่ต้องใช้จินตนาการ แต่ใช้ผัสสะอันเป็นปัจจุบัน เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงสติ เข้าใจนะ แล้วสติแบบที่เกิดขึ้น จากการที่เห็นผัสสะตามจริง รู้ผัสสะตามจริงนี่แหละ ที่จะทำให้รู้ทั่วพร้อม

 

พอออกจากทางเดินจงกรม เราจะเห็นข้อแตกต่างเลย เวลามีอะไรมารบกวนจิตใจ เราจะไม่ไปตามนั้น แต่จะมีน้ำหนักอยู่กับภาวะทางกายทางใจของตัวเองต่อนะ

 

 

ถาม : (04.04) (ต่อ) อาการที่พี่อธิบายเคยมีตอนที่ไปวิ่ง แต่ว่าพอช่วงหลัง วิ่งแล้วไม่ได้อย่างนั้นก็เลยหยุด หรือว่าควรจะกลับไปวิ่งดี

 

ดังตฤณ : คือบางทีพอเราเคยชินที่จะอยู่กับอะไร คือเราดูความเคยชินน่ะ พอเริ่มแบบออโตไพล็อต (Auto pilot) แบบว่าไม่ได้ใส่ใจเข้าไป อะไรๆ ก็จะไม่ค่อยเข้าที่เข้าทางเท่าไหร่

 

ถ้าลองกลับไปวิ่ง ไปวิ่งแบบที่เราลืมให้หมดเลยนะ ว่าเราเคยทำอะไรอย่างไรได้มา แล้วเอากระทบจริงๆ เอากระทบในแต่ละขณะ พอจะเริ่มเข้าสู่โหมดออโตไพล็อต เราต้องรู้ตัว อาจหยุดก็ได้ แล้วไปทำอย่างอื่น อย่างเช่นนั่งสมาธิ

 

คืออย่าให้เข้าโหมดออโตไพล็อต ให้อยู่ในโหมดที่ มีสติรู้อยู่ตลอดเวลาว่า เกิดอะไรขึ้นนะ

 

ตัวนี้แหละที่พูดง่ายๆ ความต่างระหว่าง ออโตไพล็อต กับความพร้อมจะรู้ตัว อยู่ตรงที่ว่าเรารู้ตัวหรือเปล่า ว่ากำลังเข้าโหมดเคยชิน จิตแบบไม่ใส่ใจ

________________

รายการดังตฤณวิสัชนา ณ ศูนย์เรียนรู้วรการ คลิปที่ 2

วันที่ 11 ตุลาคม 2563

ถอดคำ / เรียบเรียง : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.facebook.com/watch/?v=434789157611672

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น