ถาม : (01.35.15) ดูแลเรื่องยอดขายของบริษัท ชอบสอนให้ลูกน้องปล่อยวาง แต่ก็เป็นคนดันยอด เลยขัดแย้ง เช่น ตั้งยอดไว้สูง แต่เจอสถานการณ์โควิด ก็ต้องดูแลทีม แต่ก็รู้ว่าบางครั้งโหดร้าย ทำถึงสามสี่ทุ่มก็ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ หลายครั้งบอกให้ลูกน้องปล่อยวาง แต่ตัวเองปล่อยไม่ลง ลักษณะนี้ควรจัดการอย่างไร ทั้งตัวเองและทีมงาน
ดังตฤณ : ก่อนอื่น
เราพูดตามเนื้อผ้าว่าทางโลกกับทางธรรมนี่ ไม่ได้เดินไปด้วยกันเสมอไป เพราะว่าในทางธรรมนี่
เอาความหลุดพ้นทางใจ ในขณะที่ทางโลกเอาความยึดติดทางใจให้เหนียวแน่น
อันนี้เรามองแบบตามเนื้อผ้าก่อน
ทีนี้ ถ้าอย่างนั้นเราก็พูดธรรมะกันไม่ได้เลยสิ
จริงๆ แล้วพูดได้ พูดได้ตอนนี้แหละ ตอนที่เกิดปัญหาทางใจ ว่าเอ๊ะ เกิดความขัดแย้ง ทำอย่างไรจะเจอจุดที่เขาเรียกว่า
จุดพบกันครึ่งทาง ระหว่างโลกกับธรรมที่พอดี แล้วรู้สึกว่าใจของเราบาลานซ์
ประการแรก จำไว้นะ ผมพูดไม่ผิดนะ
เราเอาสิ่งที่เราต้องทำในฐานะฆราวาสก่อน เป็นตัวตั้ง คืออย่าเอาธรรมเป็นตัวตั้งนะ
ธรรมะเป็นตัวตั้งนี่ หน้าที่ของพระ ไม่ใช่หน้าที่ของฆราวาส ย้ำนะ ว่าผมไม่ได้พูดผิดนะ
เราเอาหน้าที่ของฆราวาสเป็นตัวตั้ง เสร็จแล้วใช้ชีวิตแบบฆราวาส รับผิดชอบแบบฆราวาส
อย่างเช่น ของเราหน้าที่คือคุมเป้า ไม่ให้เสียหาย ไม่ว่าจะจากสถานการณ์หรือปัจจัยแวดล้อมอะไรก็ตาม
นี่คือสิ่งที่เราต้องทำ
ทีนี้พอมาถึงจุดที่บอกว่า เราพยายามเต็มที่แล้ว
ในฐานะของคนที่รับผิดชอบ มีความรับผิดชอบต่ออาชีพการงาน แต่มันฝืดเหลือเกิน
ตรงนี้แหละ ที่เราเริ่มเข้าธรรมะแล้ว เราไม่ได้ละเลยนะ
เราไม่ได้ผิดในฐานะของฆราวาส ผู้ที่จะต้องเลี้ยงชีพตัวเองนะ
เราทำทุกอย่างมาถูกต้องแล้ว แต่มาถึงทางตัน เจอใจที่ไม่ปล่อยวาง
สิ่งที่เราบอกน้องๆ
ไปคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เราจะทำให้ได้กับใจตัวเอง อันนั้น คือสิ่งที่สมบูรณ์
ถูกต้องอย่างสมบูรณ์
ที่เราพูดไปไม่ได้ผิด แล้วเราก็ไม่ได้แกล้งทำเป็นแบบว่า
มือถือสากปากถือศีล เราแค่พูดในสิ่งที่ควรจะพูด
ถึงแม้ว่าเรายังทำไม่ได้เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์
คราวนี้มาถึงส่วนของธรรมะ
ธรรมะตามมาทีหลังก็จริง แต่ไม่ใช่ยิ่งหย่อนกว่าทางโลก
และไม่ใช่สิ่งที่เราจะปฏิบัติต่อธรรมะ เหมือนกับเป็นของที่ไม่มีความสำคัญ หรือว่ามีความสำคัญน้อยกว่า
เราควรจะปฏิบัติต่อธรรมะโดยความเป็นของที่เสมอภาค ได้น้ำหนักเท่ากันกับทางโลก
หมายความว่าอะไร หมายความว่า ทางโลก
พูดง่ายๆ ให้เห็นภาพ เราทำด้วยกายเคลื่อนไหวเต็มที่ พอมาถึงฝั่งของธรรมะที่จะต้องปล่อยวาง
หรืออุเบกขา เราต้องทำด้วยใจที่ใหญ่พอกับร่างกาย นั่นก็คือว่า อันดับแรก
ยอมรับตามจริงว่าใจของเรายังยึด ยังปล่อยไม่ได้
พอยอมรับว่าใจยังยึด มันลดเรื่องภาพลักษณ์ออกไปแล้ว ว่าอุ๊ยนี่
จะต้องเป็นคนที่เจ๋ง จะต้องเป็นคนที่ปล่อยวางได้ทุกสถานการณ์ พอยอมรับขึ้นมาว่า
มันยังยึด สติมันเกิดขึ้นทันที
สติ แปลว่า รู้ตามจริง ตามสิ่งที่เกิดขึ้น
ไม่ใช่รู้ตามที่อยากให้เกิดขึ้น นี่ ตัวที่เห็นนะว่าใจยังไม่ปล่อยวาง จะมีสติ
แล้วจิตที่ประกอบด้วยสติ
จะมีความเป็นกุศลมากพอที่จะขับไล่สิ่งที่เป็นอกุศลออกไปทันที
พูดง่ายๆ นะ
ในนาทีที่เรายอมรับว่าเรายังยึดติดอยู่ จะปล่อยวางลงได้ทันที เผละเลย
ปล่อยเผละลงพื้นได้ทันที ณ ขณะที่เรายอมรับ ถามว่าเพราะอะไร เพราะว่า จะเกิดสติ
เห็นมโนภาพของใจที่ยึดอย่างชัดเจน แต่เดิมนี่ จะไม่เห็น เพราะจิตเป็นตัวยึด
มีแต่ตัวที่เป็นผู้กระทำ แต่พอมีสติ ยอมรับตามจริงว่ากำลังยึดอยู่ นี่อย่างตอนนี้ จะเบาโล่งเลย
เพราะว่าเห็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เห็นภาพทางใจ ที่มีอาการยึด นี่ตอนที่คุณมีสติ
ตอนที่คุณเห็นว่าใจมีอาการกำอยู่ ตรงนั้นแหละ ที่ธรรมะ มาแทนที่อาการกำนั้นแล้ว
มันคืออาการแบ โดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องฝืน!
________________
รายการดังตฤณวิสัชนา ณ
ศูนย์เรียนรู้วรการ คลิปที่ 1
วันที่ 11 ตุลาคม 2563
ถอดคำ / เรียบเรียง
:
เอ้
รับชมคลิปเต็ม : https://www.facebook.com/watch/?v=682032666066316
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น