วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมแล้วจะรู้ใจผู้อื่นไหม

ถาม : (13.25) ถ้าปฏิบัติธรรม จะทำให้เรารู้ได้ไหมว่า คนตรงหน้ามีเจตนาไม่ดีต่อเรา เพราะบางทีคนตรงหน้าดูดีมาก ภาพลักษณ์ดีมาก แต่จริงๆ แล้วมีเจตนาไม่ดี จะทำให้เราแยกออกได้อย่างไร

 

ดังตฤณ : พูดง่ายๆ ทำอย่างไรจะรู้ใจคนอื่น

 

ในทางการเจริญสติที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านบอกคำแรกออกมาคำหนึ่ง ว่า ถ้ารู้ตัวว่าเราไม่ฉลาดในจิตคนอื่น ก็ขอให้ฉลาดในจิตตัวเอง

 

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าฉลาดรู้เท่าทันตัวเองได้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะฉลาดรู้ของคนอื่นได้เองนะ อันนี้ที่ท่านตรัส ลำดับแรก

 

ทีนี้ถามว่า พระพุทธเจ้าสอนให้รู้คนอื่นด้วยหรือเปล่า ถ้าเอาหลักฐานที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกตอนนี้ คือท่านสอนให้รู้ทั้งใจตัวเอง และรู้ทั้งใจคนอื่นด้วย แต่ไม่ใช่ให้รู้ว่าเขาคิดอะไร

 

ให้รู้ก่อน ฝึกที่จะรู้ว่า ใจของเรานี่ มีสภาพเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติรู้ เป็นธรรมชาติที่คิดได้ เมื่อเราสามารถเห็นว่า ใจของเราเป็นธรรมชาติคิด เป็นธรรมชาติรู้ ก็จะสามารถเห็นว่า ในคนอื่นก็มีธรรมชาติแบบเดียวกันอยู่เช่นกัน

 

แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น ท่านให้ดูอะไรหยาบๆ ง่ายๆ ก่อน อย่างเช่น ลมหายใจ เมื่อรู้ว่า หายใจเข้า เมื่อรู้ว่าหายใจออก จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า ลมหายใจปรากฏชัด เหมือนกับเป็นสาย พระพุทธเจ้าก็ให้พิจารณาว่า สายความเป็นลมหายใจนั้น เป็นแค่ธาตุลม เป็นของไม่เที่ยง

 

ทีนี้พอไปถึงตรงนั้น ท่านสอนว่าของเราอย่างไรก็ให้ดูของคนอื่นอย่างนั้น ลมหายใจภายนอก คือลมหายใจของคนอื่น ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน เดี๋ยวมีหายใจเข้า เดี๋ยวมีหายใจออก เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น

 

พอเราสามารถรับรู้ได้ด้วยใจ ว่าลมหายใจของคนอื่นเป็นธาตุลม เหมือนกับลมหายใจของเรา นี่เรียกว่ารู้เขารู้เรา ทีนี้พอรู้เขารู้เรา ว่าของหยาบๆ อย่างลมหายใจเราสามารถดูได้ ก็จะ(มีอย่างอื่น) ตามมาอีก เช่น เรากำลังหายใจอย่างเป็นสุข หรือหายใจอย่างเป็นทุกข์ ก็จะเห็นว่า เออ หายใจอย่างเป็นสุข หายใจอย่างเป็นทุกข์ มีอยู่ในคนอื่นเช่นกัน

 

ตัวนี้นี่นะ ในที่สุด จะไปรู้ใจคนอื่นได้ แต่พอเรารู้ใจคนอื่น บนเส้นทางของการเจริญสตินี่ เราจะเลิกเอาถูกเอาผิดแล้ว เพราะอะไร เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ตั้งต้นเห็นว่าใครคิดอะไร ท่านให้ตั้งต้นเห็นว่า ลมหายใจของเรานี่ เป็นแค่ธาตุลม ไม่มีบุคคลในนี้ ความสุขความทุกข์ ที่มากับแต่ละลมหายใจ ก็ไม่ใช่บุคคล ไม่มีมโนภาพของตัวตนอยู่ในนี้

 

เช่นกัน ความคิดดี คิดร้าย เราก็คิดได้ คนอื่นก็คิดได้ มันเป็นแค่สภาวะที่ปรากฏให้พิจารณาว่า นั่นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ใช่บุคคล ตัวตนเราเขา

 

นี่ ตัวนี้นี่ พอจิตมีความใหญ่ มีความรู้ที่แก่กล้าขึ้นนะ จิตจะเลิกสนใจว่าใครคิดชั่ว ใครคิดดี แต่จะเห็นไปว่า ความชั่วที่คิดขึ้นมานี่ คิดซ้ำๆ นี่ น่าสงสาร เพราะในที่สุดแล้วก็ต้องไปรับผล

 

มันติดอยู่ในกรงความคิดชั่วร้ายของมันนั่นแหละ แล้วพอหลุดออกจากกรงความคิดอันชั่วร้ายในชาติปัจจุบัน ก็ต้องไปอยู่ในที่ๆ ลำบากขึ้น จะเห็นถึงขั้นนั้นเลย เห็นเป็นนิมิตเลยนะ ว่า ความคิดที่ชั่วร้าย มันเป็นราก เป็นจุดเริ่มต้นของกายอีกแบบหนึ่ง อัตภาพอีกแบบหนึ่ง ที่ไม่น่าดู น่าเกลียด น่าชิงชัง น่าขยะแขยง หรือน่าสมเพช นี่! จะไปถึงขั้นนั้นที่เราจะเห็นได้

 

ตรงที่ว่าเรามาดูเจตนาดี เจตนาร้ายนี่นะ ก็เหมือนกับที่เราเห็น บางทีตัวเองก็ตั้งใจกับคนอื่นดี บริสุทธิ์ แต่บางทีก็มีอะไรแฝงๆ เราก็เห็นอย่างนั้นได้เหมือนกัน พูดง่ายๆ จะฉลาดในจิตคนอื่น ให้ฉลาดในจิตของตัวเองเป็นจุดเริ่มต้น

________________

รายการดังตฤณวิสัชนา ณ ศูนย์เรียนรู้วรการ คลิปที่ 2

วันที่ 11 ตุลาคม 2563

ถอดคำ / เรียบเรียง : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.facebook.com/watch/?v=434789157611672

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น