วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ทุกข์ซ้อนทุกข์ เพราะอยากหายทุกข์ ควรทำอย่างไร

ถาม : (01.41.40) มีบางครั้งที่เวลามีความทุกข์ แล้วเห็นว่าเราทุกข์เพราะว่าเราโกรธ หรือทุกข์เพราะว่าผิดหวังกับตัวเอง แล้วรู้สึกทุกข์ซ้อนเข้าไปว่ามีความอยากให้หายทุกข์เร็วๆ ควรทำอย่างไร

 

ดังตฤณ : ของเรานี่ ให้ดูตัวเองนะ เป็นคนเอาถูกเอาผิด เป็นอันดับแรกเลยคือสำคัญว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดี อะไรไม่ดี แล้วเราก็คาดหวังให้มันดี เข้าใจพอยต์นี้ไหม คือสิ่งที่เป็นความคาดหวังของเรา เราจะเอาความถูกต้อง เราจะเอาอะไรที่ใช่ เราจะเอาอะไรที่ใจเรานี่รู้สึกว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นอย่างนี้ เข้าใจอารมณ์นี้ใช่ไหม

 

คือทีนี้ ถามว่าอารมณ์คาดหวังแบบนั้นนี่ มาจากไหน ก็มาจากการที่เราได้พยายามทำให้คนอื่นเห็นว่า เราทำสิ่งที่ดี และสมควรแล้ว เราก็ควรจะได้รับการตอบแทนที่ดีเช่นกัน เข้าใจพอยต์นี้นะ เอ้า นี่คุยกันไปเป็นขั้นๆ พอเราเห็นพอยต์นี้ปุ๊บ เราก็จะได้มองว่า เราพยายามทำต่อโลกแบบหนึ่ง ด้วยความคาดหวังว่า โลกจะทำแบบเดียวกันกับที่เราทำ ตรงนี้เห็นไหม เริ่มคลายใช่ไหม เพราะว่าเราเริ่มเห็นภาพของต้นตอความผิดหวัง คือเราเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐานของโลก เสร็จแล้วโลกไม่ตามใจเรา มันก็เลยเกิดความรู้สึกว่าโลกเป็นศัตรูกับเรา เข้าใจนะ

 

ทีนี้ เราลองใหม่ เอาใจแบบนี้เป็นที่ตั้ง ใจที่รู้สึกดี ใจที่รู้สึกสบาย รู้สึกเหมือนกับว่าลดระดับความคาดหวังลง จำไว้ว่า ใจที่ลดระดับความคาดหวังลง เป็นใจที่สบาย เป็นใจที่ว่างขึ้น แล้วก็เปรียบเทียบ เทียบเขาเทียบเราน้อยลง เราทำดีเพื่อให้ตัวเองดี เพื่อให้จิตตัวเองมีคุณภาพ ไม่ใช่ทำดี เพื่อให้โลกมาทำดีตอบเรา ด้วยความคาดหวังที่ต่างไป เห็นความสว่างที่เกิดขึ้นไหม จิตที่เป็นกุศล นี่ แค่คิดนะ แค่คิดเฉยๆ แล้วก็สว่างขึ้นได้ เป็นกุศลขึ้นได้ นี่คือตัวอย่างหนัง

 

แต่เดี๋ยวหนังจริง จะต้องผ่านด่าน จะต้องเจออุปสรรค จะต้องเจอแรงดันที่ยันเรากลับออกไป เข้าที่เดิม คือความคาดหวังว่า เราทำอย่างไรโลกก็ควรทำอย่างนั้นกับเรา ทีนี้พอเราเจออุปสรรค แล้วย้อนกลับไปเป็นตัวเดิม ตัวที่อดไม่ได้ที่จะคิดมาก คิดแล้วคิดแบบแรง คิดแบบว่า ทำไมไม่อย่างนั้น ทำไมไม่อย่างนี้ นี่ จำอาการนี้ได้ใช่ไหม

 

แล้วเปรียบเทียบกับใจที่ไม่คาดหวัง ลดระดับความคาดหวัง เราอยากเป็นตัวไหน ถามตัวเองบ่อยๆ ถามตัวเองบ่อยๆ ว่าเราอยากเป็นตัวไหน ระหว่างตัวที่เรียกร้องสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อย่างรุนแรงไปเรื่อยๆ ทั้งชีวิต กับตัวที่เรียกร้องเอาจากความรู้สึกข้างในของตัวเอง คุณภาพชีวิตที่เกิดขึ้นกับจิตของเราข้างในอย่างเดียว แล้วมันสบาย มีความรู้สึกว่า มีความสุข มีความรู้สึกว่าชอบตัวเองมากขึ้น

 

เปรียบเทียบบ่อยๆ ถามตัวเองบ่อยๆ ในที่สุดจะได้คำตอบถาวรขึ้นมา เห็นไหม ต่างไปเป็นคนละเรื่องเลยนะ พอแค่เราเหมือนกับนึก ตั้งจิตว่าจะเอาตัวใหม่ ที่เอาจากข้างในอย่างเดียว ไม่เอาจากข้างนอกนี่ ข้างนอกจะเป็นอย่างไร คือบททดสอบ ไม่ใช่ช่างมัน มันคือบดทดสอบ คือด่าน ที่จะมาพิสูจน์ใจเราว่า เราจะเปลี่ยนหรือเปล่า เราจะเอาตัวใหม่ที่เน้นความสว่าง มาเป็นความสำคัญอันดับหนึ่งหรือเปล่า

 

คือถ้าเรียกร้องแบบเรานะ ตัวเดิมนี่ เท่ากับเรียกร้องความมืด ทั้งข้างในและข้างนอก จะมืดข้างในก่อนเพราะรู้ รู้อยู่ลึกๆ มาตลอดว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะไปเรียกร้องจากข้างนอก ก็มืดอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วโลกก็ยังถาโถมความมืดแบบเดิมๆ มาซ้ำๆ กระหน่ำเข้ามา เหมือนจะแกล้ง

 

ทีนี้เราจะพบว่าพอจิตของเราสว่างขึ้น สบายขึ้น โลกจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน อภัยให้โลกได้ทั้งใบ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคืออะไรรู้ไหม โลกจะดีขึ้น เพราะว่า เหมือนพระพุทธเจ้าบอกนะ โลกนี่ นิยามของโลกจริงๆ กายยาววาหนาคืบ แล้วก็จิต ที่อยู่ข้างในกายนี้แหละ นี่แหละคือโลกที่แท้จริง

 

ถ้าโลกภายในของเราแตกต่าง จากจะต้องคาดคั้นเอาผิดเอาถูกให้ได้ กลายเป็น เอาคุณภาพของจิตให้ได้เป็นอันดับแรก โลกภายนอกจะต่างไปด้วย แต่ต้องใช้เวลานะ ไม่ใช่ภายในวันสองวัน!

________________

รายการดังตฤณวิสัชนา ณ ศูนย์เรียนรู้วรการ คลิปที่ 1

วันที่ 11 ตุลาคม 2563

ถอดคำ / เรียบเรียง : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.facebook.com/watch/?v=682032666066316

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น