วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ดูว่าร่างกายไม่มีไม่ใช่เรา โดยสมมติใช้ไฟเผาหรือแยกเป็นส่วน ทำถูกหรือไม่

ถาม : (01.59.34) ปกติ ปฏิบัติสมาธิจะ อธิษฐานขอถวายชีวิตให้พระพุทธเจ้า ขณะที่เรานั่ง แล้วผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ได้ แต่จะคิดแค่เรื่องใจเท่านั้น และตอนที่ปฏิบัติสมาธิ จะทำให้ใจสงบก่อน พอสงบเสร็จ ก็จะถอน พิจารณาทางร่างกาย บางทีก็พิจารณาแบบให้ไฟเผาจนกลายเป็นธุลี ให้ขึ้นอืดบ้าง แยกเป็นส่วนๆ บ้าง แยกขนผมเล็บฟันหนัง ออกไปจนไม่เหลืออะไรเลย แรกๆ ก็จะเห็นว่า ไม่มีตัวเรา แต่สุดท้ายแล้ว มีความรู้หนึ่งผุดขึ้นมาว่า ของทุกอย่างไม่ใช่ว่าเขาดี หรือไม่ดี สวยหรือไม่สวย แต่ตัวการอยู่ที่ใจที่ผุดขึ้นมา แล้วเราไปหลงอารมณ์สังขารที่ผุดขึ้นมา แล้วเรามีสติรู้ไม่ทัน แล้วไปหลงยึดก็เลยเกิดเรื่องราวขึ้นมา ทำแบบนี้ถูกไหม

 

ดังตฤณ : ที่เห็นนะ บางทีทำได้ถึงจุดหนึ่งที่ มีความปีติ เบิกบาน เหมือนยิ้มออกมาตอนที่เห็นว่าภาวะทั้งหลายเป็นของว่าง เป็นของเปล่า ซึ่งตรงนั้น จิตใจ(พอง)ขึ้น และที่เห็น บางทีเห็นจริง แต่ตอนที่สมมติอย่างเช่น ไฟเผาร่าง อย่างนั้นเห็นไม่จริง คือเป็นการสมมติเอา จินตนาการเอา

 

ฉะนั้น อยากให้เอาอย่างนี้ก่อน จำได้ใช่ไหม อย่างพอเราพิจารณากายไปแล้วตามจริง ตามที่กำลังปรากฎ แล้วมีความรู้สึกเบา มีความรู้สึกว่าเบิกบาน เหมือนยิ้มออกมา เอง เบิกบานออกมาเอง แล้วจิตเหมือนกับเข้าสู่ภาวะเรียบง่าย มีแค่หนึ่งเดียว ที่จะขยายออกมาจากเดิม

 

อย่างตอนนี้ จิตตอนเริ่มต้นถามนี่ จะแคบกว่านี้ ตอนนี้กว้างขึ้น แต่ตอนที่ปฏิบัตินี่ จะมีบางช่วงที่เหมือนกับเบ่งบานออกมามากกว่านี้ เนี่ย ที่ขยายใหญ่ออกมาด้วยปีติ ตรงนั้น เป็นโอกาสเหมาะที่เราจะพิจารณาเข้ามา ในฝั่งของนามธรรมบ้าง

 

คือที่ผ่านมา เราเอากายอย่างเดียว คือเน้นกาย อาจมาดูความคิดบ้างอะไรบ้าง แต่นั่นเล็กน้อยเกินไป คือเราต้องแบ่งให้ได้ครึ่งๆ นะ

 

กายนี่ พิจารณามาถูก ตอนที่เราพิจารณาตามจริง ผม ขนเล็บฟันหนัง ไล่ไป แล้วจะมีจังหวะที่เราเห็นทั้งกายขึ้นมา แล้วจิตมีปีติ แล้วเบ่งบานออกมา อันนั้นน่ะ ดี แต่ถัดจากนั้น ลองพิจารณาบ้างว่า ปีติ คำว่าปีติ คือขยายออกมา แล้วอยากยิ้มขึ้นมา พิจารณาว่า เป็นของชั่วคราว ตอนนั้นน่ะ เราไม่ได้พิจารณา นึกออกไหม ใจเบ่งบานขึ้นมาเฉยๆ มีปีติ แล้วก็รู้สึกดีใจที่เราทำได้ ที่เราสามารถเห็นกาย แล้วปล่อยวางกายได้ แต่ไม่ได้พิจารณาปีติ ใช่ไหม

 

ทีนี้พอต่อไปเราฝึกใหม่ เอาเหมือนเดิม แต่พอมาถึงขั้นที่เริ่มมีปีติขึ้นมา เริ่มเบ่งบานขึ้นมา เรามองว่า นั่นเรียกว่า ปีติ พระพุทธเจ้าให้พิจารณาโดยความเป็นขันธ์ หนึ่งในขันธ์ห้า อันนี้คือเรียกว่า สังขารขันธ์ ตัวปีติ นะ ไม่ใช่เวทนานะ

 

เวทนานี่คือมีความสุข สบาย แต่ปีติ จะเบ่งบานออกมา จะรู้สึกกระหยิ่มใจ จะรู้สึกดีใจที่เราทำได้ พอเราดีใจที่ทำได้นี่ เรามาถึงด่านกักตัวของการปฏิบัติ จะกลายเป็นมีตัวใหม่ขึ้นมา เป็นผู้ปฏิบัติที่ทำได้ เข้าใจไหม จะมีความกระหยิ่มใจ มีอัตตาแบบใหม่ขึ้นมาว่า เราทำได้

 

แต่ถ้าเรามองใหม่ ตั้งมุมมองว่า ปีติ หรือความรู้สึกว่า จิตมันขยายออกมานี่นะ หรือมีความเบ่งบานออกมานี่ เป็นความปรุงแต่งจิตชั่วคราว ชั่วขณะหนึ่ง แล้วเราดู คือไม่ใช่ไปเร่งร้อนให้มันหายไปให้ดูนะ เราดูเฉยๆ ว่ามันจะอยู่นานแค่ไหน ตั้งอยู่ห้านาทีก็ให้อยู่ห้านาที ปล่อยไป แต่พอห้านาทีผ่านไปแล้ว ปีติค่อยๆ เสื่อมลง จิตค่อยๆ ยุบลงมา ตรงนั้นเราก็เห็นแล้วว่า ภาวะจะต่างไป นี่เรียกว่าเราเริ่มเห็นเข้ามาทางฝั่งของนามธรรมแล้ว เข้าใจนะ ตรงนี้แหละที่จะก้าวหน้า ที่ไปเอาไฟเผาอะไรต่อมิอะไร อย่างนี้ เป็นแค่จินตนาการ

 

คือท่านที่พิจารณาแบบ เอาไฟเผาร่างนะ เป็นพวกที่ต้องได้ฌาน แล้วจินตภาพต้องชัด นี่ยังอยู่ในระดับที่แบบว่า พอนึกแล้วแทนที่จะดีขึ้น คุณภาพจิตกลับเสื่อมลง ลองทบทวนดูนะ ตอนที่เราเห็นกายตามปกตินี่ ยังดีกว่าอีก จิตยังใหญ่กว่าอีก แต่พอเรานึกถึงไฟเผาร่างปุ๊บ ดูเหมือนมีไฟ แต่มันไม่ชัด คือถ้าชัดขนาดเป็นอุปจารสมาธิ เห็นเป็นไฟได้เลย อย่างนั้นก็จะอีกแบบหนึ่ง

 

จริงๆ แล้วถ้าเอาตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านให้ทำ นวสีวถิกา (หมายเหตุ: นวสีวถิกาบรรพ - พิจารณาศพในสภาพต่างๆ เพื่อให้คลายความยึดมั่น) พิจารณากายโดยความเป็นของเปล่า โดยความเป็นของเน่าเปื่อยผุพัง คือให้กายแสดงความเน่าเปื่อยผุพังให้เราดูเอง แต่นี่ไม่ใช่ จะใช้กระบวนการเร่งรัด

 

อย่างคำว่าไฟเผา ก็ไม่เป็นธรรมชาติ เห็นมั้ย แต่ถ้าเป็นไปตามธรรมชาติ คือเราเห็นตับไตไส้พุงแบบเห็นชัดแบบ จิตเหมือนเป็นกล้อง x-ray เลยนะ เห็นชัดเหมือนดูด้วยตาเปล่าอย่างนี้เลย แล้วให้เน่าเปื่อย แสดงอาการเน่าเปื่อยผุพังให้เราดูเอง อันนั้นแหละคือการเห็นธรรมชาติของกายที่แท้จริง การเห็นอย่างนี้เป็นนิมิตก็จริง แต่เป็นธรรมชาติของกายจริงๆ

 

การเอาไฟไปเผานั้นน่ะ คือเป็นอุปเท่ห์วิธี อย่างสมัยที่รจนา (คัมภีร์) วิสุทธิมรรค ก็มักจะมีใช้อุปเท่ห์ แบบนี้ อย่างเอามีดกรีด จินตนาการเอามีดกรีดให้เลือดไหล แล้วก็เห็น ... นี่เคยมาแล้ว รู้ ตอนที่ทำได้ จะช็อคตาย เห็นแบบว่า ตับไตไส้พุงนี่ ร่วงออกมาทั้งกระบิแบบนี้นะ ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ

 

แล้วก็ไปไม่ถึงจุดที่ร่างกายแสดงความเน่าเปื่อยผุพังที่แท้จริงออกมา ดังนั้น ต่อไปพอไปถึงตรงจุดที่เรารู้สึกว่า เห็นกายได้ชัดแล้วไม่รู้จะทำอะไรต่อ ให้สำรวจดูใจ ถ้าใจใหญ่ ถ้ามีปีติ ดูตัวนั้น จะได้ข้ามพรมแดนของกาย เข้ามาสู่ฝั่งของนามธรรมคือจิต แล้วก็ความปรุงแต่งจิต จะได้ความก้าวหน้ามากขึ้น


ถาม : (02.07.47) แล้วถ้าผ่านไปแล้วเราไปนั่งใหม่ คือเราต้องเริ่มจากกายทุกครั้งหรือเปล่า

 

ดังตฤณ : หลักการภาวนาที่ฉลาด คือ อะไรเด่นก่อน ให้ดูอันนั้นก่อน อย่างตอนที่ไม่มีอะไรเด่นสักอย่าง พระพุทธเจ้าให้ดูลมหายใจ เพราะหายใจนี่ทุกคนรู้ได้หมด เด็กก็รู้ได้  ผู้ใหญ่ก็รู้ได้ คนที่เชี่ยวชาญแล้วก็รู้ได้ คนที่ยังไม่เชี่ยวชาญก็รู้ได้ ท่านถึงให้เริ่มจากลมหายใจ แต่ถ้าวันไหน เรารู้สึกว่า เออ จิตมันอยู่ตัว มีความอิ่มตัว อยากดูภาวะของจิตเลยก็ดูได้ อะไรเด่นก่อนให้ดูอันนั้นก่อน 

________________

รายการดังตฤณวิสัชนา ณ ศูนย์เรียนรู้วรการ คลิปที่ 1

วันที่ 11 ตุลาคม 2563

ถอดคำ / เรียบเรียง : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.facebook.com/watch/?v=682032666066316

  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น