วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

พิจารณากับลมหายใจยังไงคะ พอเอามาเทียบแล้วมันจมกับความคิดตลอดเลย?

 ดังตฤณ :  คุณจับจุดสังเกตเวลามาเริ่มฝึกจิตเจริญสติมันก็เหมือนกับเราฝึกทำอะไรใหม่ๆ ที่มันยากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกีฬา การเทคนิคคอมพิวเตอร์ หรือว่าการเล่นเกม การมาออกกำลังยกน้ำหนักอะไรทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เวลาที่เรามาทำความรู้จักกับมันใหม่ๆ มันจะไม่คุ้น มันจะไม่ชิน มันจะรู้สึกว่าไม่ชำนาญ ไม่เชี่ยวชาญ แล้วก็ไม่เข้าใจถึงที่มาที่ไปอะไรต่างๆ

ก็เหมือนกันกับจิต ถ้าเราเริ่มมาสังเกตมันใหม่ๆ แต่เดิมตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีใครสอนให้สังเกตเลย พอมาพบพระพุทธศาสนาถึงเพิ่งรู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนให้สังเกตจิต ถ้ามองจิตเป็นวัตถุ มันก็เป็นวัตถุที่เรายังไม่เข้าใจอะไรเกี่ยวกับมันเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไกในการที่ความคิดมันย้อนกลับมาวกไปวนมา เราไม่เข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ อยากแล้วก็ไปอยากให้มันหายไป ตัวความอยากนี่แหละ เป็นรายละเอียดส่วนหนึ่งของจิตที่เรายังไม่เข้าใจมัน แล้วเราก็ตามไปแล่นตามมัน

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเกิดความอยากจบความคิด ไม่อยากให้มันวกวนกลับมาอีก ให้บอกตัวเองว่าความอยากนี้แหละ เกิดจากความไม่เข้าใจว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปห้าม ความคิดมันจะย้อนกลับมามันไม่ใช่ตัวเรานะความคิดเนี่ย ถ้าเราค่อยๆทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งมันจะสวนทางกับสัญชาตญาณของเรา

สัญชาตญาณของเราตั้งแต่เกิดมา เรานึกว่าความคิดเป็นตัวเราแน่ๆ เป็นของเราที่เราน่าจะควบคุมมันได้ แต่กลับทำอะไรกับมันไม่ได้เลย ก็แปลกใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพอมาเริ่มฝึกเนี่ย บอกห้ามอย่ามา ยิ่งมา เพราะอะไร? เพราะว่าความอยากมันไปกระตุ้นให้มันวนเวียนมาบ่อยขึ้น หรือว่าหนักหน่วงขึ้น ถี่ขึ้น

แล้วเวลาที่มันเกิดความคิดซ้ำๆวนเวียนกลับมา แล้วเราเห็นว่ามีความอยากจะไม่ให้มันกลับมาอีก อย่าไปดูความคิด ให้ทิ้งความคิดไป มาดูตัวความอยาก ดูว่าความอยากหน้าตามันเป็นยังไง มันจะมีอาการกระวนกระวาย งุ่นง่าน มันจะมีลักษณะของความยึดว่า จงอย่ามา อย่ามาอีกเลยพ่อคุณ แต่มันก็ยังมา แล้วก็เกิดความทุกข์ขึ้นมาอีก เกิดความกระสับกระส่ายขึ้นมาอีก ณ จุดนี้เราก็จะได้เห็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตัณหาคือต้นเหตุของความกระสับกระส่ายทางใจ หรือความทุกข์ทางใจนั่นเอง นี่เราได้เห็นสิ่งที่ดีที่สุดที่พึงจะได้เห็น ณ ขณะนั้นแล้ว คือเห็นว่าความอยากเป็นต้นเหตุของความกระสับกระส่ายทางใจ

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีความอยาก แม้กระทั่งอยากจะไม่ให้คิด อยากจะสงบ อยากจะให้จิตมันเป็นแต่กุศล เป็นความอยากอันเป็นต้นเหตุของความกระสับกระส่ายทางจิตวิญญาณทั้งสิ้น มันทำให้จิตวิญญาณกระเพื่อม มันทำให้ความรู้สึกของเรามันร้อน หันไปดูตรงนี้ อย่าไปดูความคิด ลืมไปเลยความคิด มาดูตัวตัณหาแทน

ทุกครั้งที่เราเห็นตัณหาว่ามันเป็นต้นเหตุของความกระสับกระส่าย จะเป็นทุกครั้งที่ปัญญาค่อยๆเกิดขึ้น เกิดขึ้น เกิดขึ้น จนได้ข้อสรุป กลายเป็นจิตที่ฉลาด ฉลาดทางธรรม ฉลาดแบบพุทธ รู้ว่า ตัวความอยากยิ่งเราไปแล่นตามมันมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทุกข์มากขึ้นเท่านั้น

ยิ่งเรามีความรู้ทันความอยากมากขึ้นเท่าไหร่ ความอยากยิ่งทำอะไรจิตเราไม่ได้มากขึ้นเท่านั้นนะครับในทางกลับกัน เห็นให้ได้แค่นี้ อย่าไปจัดการอะไรกับความคิด ความคิดมันไม่ใช่ตัวเรา มันอยากแวะเวียนกลับมา ก็ให้มันมา พอมาแล้วเราก็ดูว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดทุกข์ทางใจแบบไหน เกิดความอยากแบบไหนขึ้น

-------------------------------------------------

๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำไงดี กลัวคิดไม่ดีก่อนตาย

คำถาม : พิจารณากับลมหายใจยังไงคะ พอเอามาเทียบแล้วมันจมกับความคิดตลอดเลย?

ระยะเวลาคลิป    ๕.๒๗ นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=KlgQcdyiILA&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=4

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น