วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เป็นคนขี้โกรธ หงุดหงิดง่าย ปฏิบัติธรรมแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น

ถาม : (00.59.47)  เป็นคนขี้โกรธ ขี้หงุดหงิด ปฏิบัติมาหลายปี แต่ไม่ดีขึ้น ขอคำแนะนำเพิ่ม

 

ดังตฤณ : จริงๆ แล้ว นิสัย คำว่านิสัย ก็คือความเคยชินที่เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ใจเราคลิก ใจเราชอบ ที่จะสะสมนิสัยแบบนั้น  นี่ก็เหมือนกัน บางทีเราพยายามจะแก้ สิ่งที่เราพยายามจะแก้ ถามตัวเองง่ายๆ นะครับ ว่าเป็นการไปสู้กับความเคยชินที่ผ่านๆ มา แบบเหมือนกับสู้เสือด้วยมือเปล่าหรือเปล่า

 

อันนี้คือโจทย์ที่สำคัญนะ เพราะคนส่วนใหญ่ นึกว่าความโกรธเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา ฉะนั้นเราสามารถควบคุมมันได้ เราควรจะชนะมันได้ นี่คือสิ่งที่ทุกคนนึก

 

แต่ความจริงนี่ ผมบอกเลยนะ ความโกรธ นิสัยที่เป็นพวกเจ้าอารมณ์ เจ้าโทสะ นี่ เหมือนเสือตัวใหญ่ๆ ตัวหนึ่ง เราไม่เคยนึกนะ เรานึกว่ามันเป็นของเรา ก็ควรจะเชื่อง ควรจะควบคุมได้ แล้วเราก็สู้มันด้วยมือเปล่า

 

คำว่าสู้ด้วยมือเปล่าคืออะไร คือตั้งใจเอาดื้อๆ ว่า อย่าโกรธสิ พอถึงจังหวะสถานการณ์แบบนี้ อย่าทำแบบเดิมสิ อย่าคิดแบบเดิมสิ คิดไม่ได้นะ ไปห้ามไม่ได้เพราะมันเป็นเสือที่ตัวใหญ่ แล้วก็มีเขี้ยวเล็บ ที่คมกว่าเล็บมือของเรามาก จะไปสู้มันด้วยมือเปล่า สู้อย่างไรก็แพ้ไปจนตาย

 

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า หลักการเจริญสติ หลักการที่จะเอาชนะกิเลส ต้องมีเครื่องทุ่นแรง อันนี้พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้นะ เคยตรัสไว้ชัดๆ มีหลักฐานที่ท่านบอกนะ อย่างภิกษุกลุ่มหนึ่งเคยเจริญสติ เพราะว่ามีราคะแรง ก็เลยพยายามเจริญสติด้วยวิธีเจริญอสุภกรรมฐาน เจริญด้วยใจแบบนี้แหละ ใจที่ยังมีราคะอยู่นี่ ไปห้ามมันเฉยๆ ไปพยายามที่จะพิจารณา ไปคิดเอาว่า ร่างกายนี้เต็มไปด้วย คูถมูตร มีขี้มีเยี่ยว อัดแน่นไปด้วยตับไตไส้พุง ที่สกปรกโสโครก คิดอย่างนั้นกันทั้งวัน

 

คนโบราณนี่ ทำจริงจังนะ เวลาเขาคิด เขาคิดกันทั้งวันจริงๆ จนกระทั่งเกิดความอิดหนาระอาใจ เบื่อหน่าย เกิดความคลาย ความยินดี ไม่ใช่คลายความยินดีเฉยๆ แต่รังเกียจร่างกายของตัวเอง จนกระทั่งอยากฆ่าตัวตาย แล้วก็วานกันฆ่า แล้วก็ต้องถึงขนาดจ้างคนอื่นมาฆ่า นี่มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เกิดมาแล้ว

 

พอพระพุทธเจ้ากลับมาเห็น เอ๊ะ! ภิกษุหายไปไหน จากในวัดเกือบครึ่งนะ ถามพระอานนท์ พระอานนท์บอกว่าฆ่าตัวตายกันหมด เพราะว่าสู้เสือด้วยมือเปล่า สู้กับราคะด้วยวิธีคิด คิดเอา จนกระทั่งทนตัวเองไม่ไหว พระพุทธเจ้าเลยต้องเรียกประชุมสงฆ์ แล้วบอกว่า ให้เจริญอานาปานสติ เอาความสุขก่อน

 

คืออย่างนี้ ถ้าเรามีต้นทุน ถ้าเรามีความสุขอยู่ในใจก่อน เราจะไม่อยากเสียความสุขนี้ไป แล้วความสุขที่อิ่มอยู่ในใจนี่นะ จะเหมือนกับเราได้เครื่องทุ่นแรงมาสู้กับเสือ มีอาวุธชิ้นสำคัญ ชิ้นหนัก ที่ต่อกรกับเสือได้ เวลาที่เสือมันอาละวาดขึ้นมา หรือจะเข้ามาขย้ำหัวเรา เราสามารถเอาอาวุธที่เราสร้างไว้นี่นะ ไปตีกับมันได้

 

นี่ก็เหมือนกันคือ ให้เลือกเอา ระหว่างทำอานาปานสติ คือ นึกถึงลมหายใจ หายใจยาวให้เป็น เวลาหายใจยาว พองท้องขึ้นมานิดหนึ่ง รู้จักเอาความสุข ความสดชื่น เข้าสู่จิตใจ จนกระทั่งใจมีความเคยชินที่จะมีความสุข มากกว่าความทุกข์ ตรงนี้นี่จะเริ่มที่จะมีกำลังต่อกรกับเสือ อันนี้เป็นตัวเลือกแรก

 

ตัวเลือกที่สองคือ พยายามเจริญพรหมวิหารสี่ โดยมีการแผ่เมตตาเป็นตัวนำ เป็นบันไดขั้นแรก การแผ่เมตตาวิธีง่ายๆ เวลาที่เรากำลังนึกโกรธใครขึ้นมาอ่อนๆ เอาโกรธแบบอ่อนๆ อย่าเอาโกรธแบบแรงนะ เพราะโกรธแบบแรง เราสู้กับมันไม่ไหว

 

ถ้าเรานึกเคืองใครขึ้นมา รู้สึกหงุดหงิดตัวเอง รู้สึกว่าทำไมฝนฟ้าวันนี้ไม่เป็นใจ ความหงุดหงิดอ่อนๆ แบบนั้นแหละ เหมาะที่จะเอามาฝึกแผ่เมตตา แผ่เมตตาทำอย่างไร ที่พระพุทธเจ้าสอนนะ เวลาเกิดความหงุดหงิดขัดเคืองขึ้นมา ให้เห็นทุกครั้งว่านั่นคืออาการป่วยทางจิต พระพุทธเจ้าท่านใช้คำนี้นะ เหมือนเป็นไข้ เหมือนคนเป็นไข้

 

พอเราเห็น ณ ขณะที่กำลังขัดเคืองเต็มที่ กำลังรู้สึกว่าหงุดหงิดงุ่นง่าน แล้วรู้ว่าใจ หรือว่าจิตของเรานี่ ณ ขณะนั้นกำลังมีอาการป่วย ก็จะรู้สึกว่าเราเป็นคนไข้ ทีนี้ ข้อดีของการหงุดหงิดอ่อนๆ มีโทสะอ่อนๆ ก็คือว่า เราสามารถที่จะคิดว่า เออ อาการป่วยแบบนี้ ป่วยทางใจแบบนี้ ถ้าหายได้ ก็คงดี แล้วเราก็มีแก่ใจที่จะละความคิด ที่ทำให้เกิดความหงุดหงิดนั้นขึ้นมานะ ก็จะเกิดความเบา

 

ลองดู เห็นไหม มันเกิดความเบาใช่ไหม คือพอเรามีความรู้สึกว่าเราได้จุด ที่จะดูเข้ามาตอนจิตป่วย ทำอย่างไรให้หายป่วย แค่ละเหตุของความป่วย ละเชื้อโรคตัวนั้นออกไป เรามีแก่ใจทิ้ง ก็หายไปได้ทันที หายออกจากใจได้ทันที ณ เวลาที่ใจเราเบา หงุดหงิดอ่อนๆ แล้วใจเราเบาลงได้ ให้อาศัยจังหวะนั้นแหละ ในการฝึกแผ่เมตตา

 

พระพุทธเจ้าสอนว่า เมื่อใจเบา เมื่อใจมีความสุข แล้วลักษณะของมันมีความแผ่กว้างออกไปนี่ ให้เราอยู่กับความเป็นเช่นนั้น ให้เราอยู่กับความสุขเช่นนั้น อยู่กับความสุขของการที่ไม่มีความโกรธ ไม่มีความอาฆาต เกาะกุมจิตใจเรา  อยู่ไปจนกระทั่งความสุขนั้น มีกำลังขึ้นมา มีกำลังมากพอที่เราจะเห็นขึ้นมาอย่างชัดเจนเวลาที่ถูกกระทบนะ แล้วเดิมนี่ เราจะเคยชินที่จะอาละวาดอยู่ข้างใน แล้วก็ไปอาละวาดข้างนอก พอมีความเยือกเย็นมาเป็นข้อเปรียบเทียบ เราจะเลือกความเย็น

 

แต่ที่ผ่านมา ไม่มีข้อเปรียบเทียบ ไม่มีตัวเลือก มีทางอย่างเดียวคือดิ้นไป ตามความเคยชินที่เราสะสมมา

 

เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนให้สร้างตัวเลือกด้วยการแผ่เมตตา เอามาเปรียบเทียบกันบ่อยๆ ระหว่างสุขสงบเย็นจากการไม่เบียดเบียน ไม่คิดอาฆาตแค้น ไม่คิดเล็กคิดน้อย  กับข้างที่ยังคิดเล็กคิดน้อยอยู่ ข้างที่ยังจุกจิกอยู่ ข้างที่พร้อมจะอาละวาดอยู่ข้างใน เทียบกันบ่อยๆ จนกระทั่งจิตเกิดความฉลาดขึ้น แล้วก็เลือกเอาข้างเย็นโดยตัวของมันเอง ไม่ใช่โดยความคิดของเรา อันนี้ที่พูดยาวเพราะว่าหลายคนมีปัญหานี้กัน ติดปัญหานี้กัน

________________

รายการดังตฤณวิสัชนา ณ ศูนย์เรียนรู้วรการ คลิปที่ 1

วันที่ 11 ตุลาคม 2563

ถอดคำ / เรียบเรียง : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.facebook.com/watch/?v=682032666066316

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น