วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

การที่เราคิดอยากฆ่าตัวตาย คือการคิดไม่ดีอยู่แล้วใช่ไหม เป็นคนคิดมาก คิดเยอะ คิดวนเวียน?

 ดังตฤณ :  การที่เราอยากตายจริงๆแล้วเป็นเรื่องดีนะ เป็นเรื่องถูกต้องนะครับ แต่ต้องอยากตายแบบพุทธ ไม่ใช่อยากตายแบบตามใจฉัน ไม่ใช่ว่ามีความขัดเคืองอะไรกับชีวิตแล้วอยากทำลายชีวิตทิ้ง อันนั้นเป็นการทำลายในแบบที่จะทำให้จิตเศร้าหมองติดตามตัวเราไป

พระพุทธเจ้าตรัส อันนี้ย้ำนะครับ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ก่อนตายถ้ามีจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้ ทีนี้เราอย่ามองว่าความอยากตายเป็นการคิดที่ไม่ดีอย่างเดียว การอยากจบชีวิตแบบนี้ หรือว่าการจบชีวิตไปเลย ไม่ต้องกลับมาวนเวียนอีก อันนี้จริงๆแล้วเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพุทธศาสนาเลยทีเดียว แต่แบบนั้นจะไม่เรียก “ฆ่าตัวตาย” จะเรียกว่า “ฆ่าตัวตน”

ถ้าหากว่าทำจิตให้พ้นจากการมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นว่ากายนี้ใจนี้คือฉัน กายนี้ใจนี้เป็นของฉัน ถ้าทำได้นะ มันจะเป็นอิสระจากความรู้สึกว่ามีตัวมีตน

ถ้าหากว่าจิตพ้นจากอุปาทานได้ขาดเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็คือเป็นพระอรหันต์ แล้วก็ไม่ต้องมาเกิดอีก พอไม่เกิดอีกมันก็ไม่ต้องตายอีก ไม่ต้องอยากมาฆ่าตัวตายอีก เพราะว่าฆ่าตัวตนไปสมบูรณ์แบบแล้ว

การคิดเยอะ การคิดวน การคิดอยากฆ่าตัวตาย ทุกครั้งที่เกิดความอยากจะตายขึ้นมา ขอให้เป็นทุกครั้งที่ย้อนกลับเข้ามาว่า นี่เรายังมีตัวตนอยู่หรือเปล่า ที่อยากจบชีวิตนี้ จริงๆแล้วตัวตนนั้นมันอยากหนีตัวเองออกไปต่างหาก แล้วก็คาดหวังว่าทุกอย่างจะจบ ทุกอย่างจะสิ้น ซึ่งมันไม่สิ้น ตอนตายถ้าจิตยังมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นอยู่ว่าอยากตาย นี่ก็คือมีตัวของตนที่อยากพ้นไปจากสภาพของตัวเองแล้ว

แต่ถ้าหากว่าระหว่างมีชีวิตอยู่ แล้วสำรวจเข้ามา เออมันค่อยๆเบาลงเรื่อยๆนะว่าความอยากตายเห็นเข้ามา ทำให้เห็นเข้ามาว่ามันยังมีตัวที่อยากพ้นจากสภาพของตัวเองอยู่อย่างนี้ไปง่ายๆ แล้วมันยังไม่พ้นจริงนะครับ ยิ่งอยากเท่าไหร่ จำไว้ว่ายิ่งยึดเท่านั้น ยิ่งอยาก ยิ่งพิสูจน์ว่ายังมีตัณหา ยังมียางเหนียวผูกไว้กับภพกับชาติกับการเกิดใหม่อยู่ อันนี้เรียกว่าเป็น วิภวตัณหา ความอยากตายเนี่ยนะครับ

ตัณหามีอยู่ ๒ อย่าง ภวตัณหา คือ อยากมี อยากดี อยากเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง อยากมีเงินก็เรียกว่าเป็น ภวตัณหา อยากเป็นเทวดาก็เรียกว่า ภวตัณหา

แต่ไม่อยากเป็นอย่างนี้ อยากหนีไป อยากกลั้นใจตายไปเดี๋ยวนี้ หรือเอามีดมาแทงตัวให้ตายไปเลย อย่างนี้เรียกว่า วิภวตัณหา คืออยากดิ้น อยากหนี ความอยากดิ้นอยากหนีมันก็คือลักษณะหนึ่งของความยึดว่าตัวนี้เป็นตัวเป็นตน แล้วเราจะเอาตัวรอดให้พ้นจากความเป็นสภาพแบบนี้ตัวตนแบบนี้ มันก็กระโดดไปเกาะตัวตนแบบอื่น ตัวตนที่มันสบายกว่า หรือว่าไปนึกถึงความว่างชนิดที่ไม่เหลืออะไรเลย ไม่มีอะไรเลย จบสูญจบสิ้นขาดสิ้น แบบนี้ก็เป็นการยึดภาวะ หรือว่าภพของความขาดสิ้นขาดสูญ เป็นวิภวตัณหาชนิดหนึ่งนะครับ

แต่ถ้าสำรวจเข้ามา มันยังมีความอยากเพื่อตัวตน อยากพ้นเพื่อให้ตัวนี้มันได้ดิบได้ดีขึ้นมากว่าที่เป็นอยู่ เห็นเรื่อยๆจนกระทั่งพบขึ้นมาว่า ตอนที่จิตเกิดอุปาทานว่ามีตัวฉันกำลังเป็นทุกข์ มันเกิดความเบา มันเกิดความสุขกว่าที่เป็นอยู่ขึ้นมาได้ทันที คือพอพบว่ามันมีก้อนตัวก้อนตนอะไรอยู่ตัวหนึ่งที่มันเหมือนเป็นขยุ้มๆอยู่ เป็นก้อนอัดแน่นอยู่ด้วยความรู้สึกว่าอยากจะเอาอะไรเพื่อตัวตน หรือว่าอยากจะหนีพ้น เพื่อให้ตัวตนนี้มันรอด มันปลอดภัย มันดีขึ้น ตัวนี้ถ้าจับได้มั่นคั้นได้ตาย จับได้คาหนังคาเขาว่ามันเกิดขึ้นในใจเรา ณ บัดนี้เนี่ย มันจะเบาลงทันที เพราะว่าสติมันเกิดขึ้น เห็นว่าสภาพความยึดมั่นถือมั่นที่มันเป็นก้อน ที่มันผูกเป็นปมเหนียวแน่นนั้น เป็นแค่ภาวะสูญเปล่าภาวะหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ ณ ลมหายใจหนึ่งๆ

พอลมหายใจที่มีสติก่อตัวขึ้นมา แล้วรู้ว่านั่นเป็นก้อนความสูญเปล่าก้อนหนึ่ง เป็นสภาวธรรมที่มันไม่มีใครอยู่จริงที่ตรงนั้น พอความอัดแน่นมันหายไปมันคลายออก เหลือแต่ใจที่เป็นอิสระเผยตัวออกมา ใจที่ไม่ยึดนั้นมันมีความรู้สึกเบา มันมีความรู้สึกว่าง มีความรู้สึกกว้างโล่ง มันจะฉลาดขึ้นเรื่อยๆทีละครั้งทีละหน

พูดง่ายๆว่า ทุกครั้งที่คิดอยากตาย จะเป็นทุกครั้งที่ปัญญาค่อยๆสว่างขึ้น ค่อยๆเรืองแสงขึ้น จิตจะค่อยๆเบา จิตจะค่อยๆคลาย แล้วจิตจะเลิกอยากตายแบบผิดๆ แต่มีความพึงพอใจที่ได้เห็นตัวตนมันฝ่อลง แล้วก็จากตายหายสูญไปจากจิตใจทีละน้อยนะครับ เปลี่ยนจากอยากฆ่าตัวตายมาเป็นพอใจในการฆ่าตัวตน นี่แหละคือที่สุดของความเป็นพุทธ!

--------------------------------------

๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๓
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำไงดี กลัวคิดไม่ดีก่อนตาย

คำถาม : การที่เราคิดอยากฆ่าตัวตาย คือการคิดไม่ดีอยู่แล้วใช่ไหม เป็นคนคิดมาก คิดเยอะ คิดวนเวียน?

ระยะเวลาคลิป        ๖.๔๑ นาที
รับชมทางยูทูบ    https://www.youtube.com/watch?v=oVWYFqF65PA&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=6

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น