วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปฏิบัติตามแนวทางหนึ่งแล้วติดเพ่ง โทสะเยอะ พยายามมาใช้อานาปานสติ แต่ยังไม่ดีขึ้น

ถาม : (01.48.00) เดิมเคยปฏิบัติตามแนวของสำนักหนึ่งมาก่อน พบว่าจิตเพ่ง คับแคบ มีโทสะง่าย แผ่เมตตาไม่ได้ ทุกข์มาก ก็เลยกลับมาที่อานาปานสติ แต่ระหว่างที่ทำก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าเท่าไหร่ เป็นเพราะวินัยของตัวเอง

 

ดังตฤณ : คนมักจะมองว่า อานาปานสติ คือการไปนั่งหลับตาแล้วก็อยู่กับที่เฉพาะ เพื่อที่จะทำให้เกิดความสงบ คือจุดที่ผิดพลาดมหันต์ข้อแรก ของนักปฏิบัติโดยเฉพาะในไทย

 

อานาปานสติ ที่พระพุทธเจ้าสอน ท่านไม่ได้สอนให้นั่งอยู่กับที่อย่างเดียว ท่านสอนให้อยู่กับทุกอิริยาบถ อันนี้ท่านเน้นมาก ไปดูในสติปัฏฐาน 4 ได้ ท่านเน้นว่า พอรู้จักที่จะหายใจเป็นแล้วนี่นะ ให้ดู ว่าอิริยาบถที่ใช้หายใจในแต่ละขณะ ยืน เดิน นั่งนอน เป็นอย่างไรด้วย ตรงนี้หมายความว่า เราฝึกอานาปานสติ อยู่ได้ทั้งวัน เพื่อให้เกิดความเคยชิน จะได้ทีละนิดทีละหน่อย อย่างน้อยก็ยังได้ ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะ อันนี้คือความเข้าใจที่ถูกต้องอันแรก

 

ถาม: (ต่อ) แล้วพอปฏิบัติพอกลับมาทำอานาปานสติ ใจก็แวบว่า อยากกลับไปภาวนาแบบเดิม แล้วก็อีกใจจะคิด ปรุงไปถึงขนาดว่า จะกลับเข้าไปตามคอร์สเดิมที่ไป คำถามคือจะตั้งจิตอย่างไรที่จะได้ตรงสักที

 

ดังตฤณ : ความยากของการปฏิบัติคือ บางทีอยู่ที่กับดักในหัวของเราเองนี่แหละ บางทีเนื่องจากเราไม่สามารถที่จะเอาผลสุดท้ายมาแบให้ดูว่าดีอย่างไร หรือว่า ทางไหนนำมาสู่จุดนั้นกันแน่ ทำให้เราเกิดความลังเลเป็นธรรมดา ประสามนุษย์ที่ไม่รู้อะไรทั้งหมด ไม่รู้จุดสุดท้าย รู้แต่จุดแรก

 

ฉะนั้น จะคิดอะไรแปลกประหลาดพิสดารแค่ไหน ไม่ต้องว่าตัวเอง เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เป็นธรรมดา ทีนี้สิ่งที่เราจะตั้งไว้เป็นไม้บรรทัด วัดตัวเองแบบที่พระพุทธเจ้าให้เป็นไม้บรรทัดไว้ ก็คือ ดู ว่า ทำๆ ไป แต่ละวันคืบหน้าไหม  คำว่าคืบหน้าในทางพุทธ ไม่ใช่คืบหน้าแบบตัวเราโตขึ้น ตรงกันข้าม ตัวเราต้องเล็กลง คืบหน้าแบบพุทธ ไม่ใช่ใจเราหนักขึ้นด้วยอัตตามานะ ว่าอยู่สำนักไหน มีความสำคัญอย่างไร แต่เบาลงด้วยความรู้จริง ว่าเราไม่ใช่อะไรสักอย่าง เราไม่ได้มีตำแหน่งอะไรจริงสักหน มีแต่ภาวะทางกายทางใจให้ดูว่า อะไรๆ ไหลลื่น หลุดจากมือไปหมด พ้นจากมือเราไปหมด ไม่ว่าจะเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นลมหายใจเข้า หรือลมหายใจออก

 

ดูอยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จนกระทั่งเกิดความกระจ่างขึ้นมา ว่า แนวทางที่ถูกต้อง คือแนวทางที่เราจะมีใจ ที่เบาลง มีตัวที่เล็กลง วันต่อวัน แต่ถ้าทำไปแล้วเกิดความเครียด เกิดความอึดอัด เกิดความรู้สึก โอ้โห โลกนี้เต็มไปด้วยความหนักอึ้งราวกับว่าแบกโลกอยู่ทั้งใบ แบบนี้ กายก็ไม่เบา ใจก็ไม่มีทางเบานะ

 

ดูอย่างนี้ ง่ายๆ ว่ามันเบาลงหรือหนักขึ้น!

________________

รายการดังตฤณวิสัชนา ณ ศูนย์เรียนรู้วรการ คลิปที่ 1

วันที่ 11 ตุลาคม 2563

ถอดคำ / เรียบเรียง : เอ้

รับชมคลิปเต็ม : https://www.facebook.com/watch/?v=682032666066316

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น