วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำไงดี กลัวคิดไม่ดีก่อนตาย

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำไงดี กลัวคิดไม่ดีก่อนตาย?

วันที่ 24 ตุลาคม 2563

 

ดังตฤณ : สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านคืนวันเสาร์สามทุ่มเช่นเคยครับ

 

สำหรับคืนนี้ หัวข้อก็เรื่องตายๆ นิดหนึ่ง เพราะว่าผู้ถามมีปัญหาติดใจอยู่ตรงที่ว่า ตัวเอง ปกติเป็นคนชอบคิดไม่ดี อยู่ดีไม่ว่าดีชอบคิดอกุศล แล้วก็ พูดง่ายๆ ว่า ศรัทธามานานแล้วล่ะว่า ตายไปไม่ได้จบ แล้วจะต้องได้รับผลสิ่งที่ทำมา

 

ก็พยายามทำบุญ พยายามทำกุศล โน่นนี่นั่น แต่ก็อดไม่ได้ที่จะคิดไม่ดี ก็เลยเกิดความกลัวขึ้นมาว่า ถ้าคิดไม่ดีในจังหวะที่เข้าด้ายเข้าเข็มพอดี หรือว่ามีอุบัติเหตุกระทันหัน เกิดจะต้องตายไปขณะที่กำลังเกิดอกุศลธรรมครอบงำชีวิตนี่ แล้วจะทำอย่างไร จะมีวิธีไหนมาช่วยแก้ตรงนี้ได้

 

อย่างน้อย ให้ความกังวลหายไป เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังไม่สบายใจ คิดขึ้นมาทีไร ก็อดที่จะรู้สึกไม่ได้นะว่า ตัวเองนี่มีสิทธิ์ไปไม่ดี มากกว่าที่จะไปดี ถ้าหากว่าตัดสินกันตรงที่แค่ว่า ก่อนตายคิดอะไร บอกได้เลยว่าตัวเองนี่ คิดถึงเรื่องไม่ดี มากกว่าคิดถึงเรื่องดีนะ อันนี้ก็เป็นโจทย์ในใจของผู้ถามนะครับ

 

วิธีการ คือบางทีนะ หลักการแก้ไขจิต หรือว่าแก้ความรู้สึกไม่ดีของตัวเอง  ไม่ได้มีอยู่ในตำราเล่มไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าว่ากันด้วยเรื่องของจิตก่อนตาย หรือว่าชีวิตกำลังจะตาย จะไม่ค่อยมีใครเอามาตีแผ่ หรือว่าวิเคราะห์วิจัยกันมาก เพราะว่าไม่ได้เป็นธุรกิจที่ทำกำไรขึ้นมาได้ เหมือนกับที่แก้ไขปัญหาทางใจให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่

 

อย่างถ้าจะบอกว่า มีปัญหาทางใจ อยากจะมีความสุขในชีวิตมากขึ้น แบบนี้มีคนคิดกันเยอะ เทคนิควิธี แต่ประเภทที่ก่อนตาย จะทำอย่างไรให้จิตคิดดี ไม่ค่อยมีใครคิดกันเพราะว่าไม่มี demand ไม่ค่อยมีคนอยากจะมาแก้ไขปัญหา คนคิดมากก่อนตายนะ ส่วนใหญ่ก็แก้ปัญหาคนคิดมากตอนกำลังอยู่อีกนานๆ

 

วิธี หรือหลักการง่ายๆ ก็คืออย่ากลัวแค่เรื่องเดียว ให้กระจายความกลัวเหมือนกระจายความเสี่ยง คือถ้าจะรับประกันอะไรให้ตัวเองนี่นะ ให้อุ่นใจว่าก่อนตาย เราน่าจะมีสิทธิ์คิดดีมากกว่าคิดร้ายอะไรแบบนี้ ก็นึกถึงหลักการแบบประกันภัย กระจายความเสี่ยง โดยการแตกหัวข้อความเสี่ยงออกไปเยอะๆ นะ แล้วก็จะได้มีความเป็นไปได้น้อยลง ที่เราจะเสี่ยงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

 

การกระจายความกลัวทำอย่างไร

 

คือทำความเข้าใจ ... ที่คุณกำลังมีความกลัว มีความวิตกเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องคิดไม่ดีก่อนตายนี่ จะมีอยู่แค่ความกลัวเรื่องเดียว จะมีสิ่งที่ทำให้จิตจับอยู่แค่หนึ่งเดียวเท่านั้น ก็เลยจี้เข้าไป แล้วคิดเข้าไป กังวลเข้าไป เกี่ยวกับเรื่องนี้แค่เรื่องเดียว ใจก็เลยไม่ไปไหน ก็ออกจากกับดักทางความคิดไม่ได้ หรือว่าติดกับตรงนี้ อดไม่ได้ที่จะเพิ่มความกลัวให้ตัวเองทบทวีเข้าไปเรื่อยๆ

 

ทีนี้ ถ้าสำรวจใจของตัวเองจริงจัง คือสมมติขึ้นมาจริงจังว่า ถ้าไม่นับเอาความกลัวเรื่องคิดไม่ดี จริงๆ แล้ว หนึ่งนาทีข้างหน้า หรือหนึ่งชั่วโมงข้างหน้า ถ้ารู้ตัวว่าจะต้องตาย ใจของคุณยังติดค้างอยู่กับอะไรอีกบ้าง

 

ยกตัวอย่าง เช่น ความเจ็บ ความเจ็บนี่มีทั้งความเจ็บตัว แล้วก็มีทั้งความเจ็บใจ

เจ็บตัวนี่ก็อย่าง ป่วย ออดๆ แอดๆ กระเสาะกระแสะ สามวันดีสี่วันไข้ หรือว่าคุณรู้ตัวแล้วว่า ตอนนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีสิทธิ์ไปไหน

หรือความเจ็บใจ ยังเจ็บแบบติดค้างนะว่า ทำอย่างไรก็ถอนไม่ออก บอกว่า พยายามอภัยแล้ว แต่ก็วกไปวนมา กลับมามีให้เจ็บอยู่

 

นี่ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องน่าห่วงใช่ไหม ไม่ใช่ความคิดไม่ดีอย่างเดียวนะ ความรู้สึกเจ็บที่ติดค้างนี่ ทั้งเจ็บตัว แล้วก็เจ็บใจ ก็ยังมีให้เป็น ให้เกิดอกุศลธรรม เป็นตัวกระตุ้นให้รู้สึกว่าจิตใจของเราหม่นหมอง จิตใจของเรามีความเศร้า มีความหมองแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุคติเป็นที่หวังสำหรับคนที่มีจิตใจเศร้าหมอง

 

ถ้าสำรวจมาแล้ว เออ เรายังติดอยู่ ติดเรื่องความเจ็บ ต่อมา อาจมีเรื่องความหวง หวงนี่มีทั้ง หวงคน แล้วก็หวงสมบัติ

คนเราถ้าสมบัติน้อยๆ จะไม่ค่อยมีห่วงเรื่องสมบัติพัสถานเท่าไรนะ อยากจะหนีสภาพไม่มีสมบัติ ไปสู่ความมีสมบัติมากกว่า

 

แต่เรื่องห่วงคน เรื่องหวง หวงกับห่วงนี่ ก็ใกล้เคียงกันแหละนะ คืออย่างบอกว่า ตัวเองเป็นคนที่ใจกว้าง ไม่ค่อยจะหวง ไม่ค่อยจะอะไรใครเท่าไหร่ แต่เป็นห่วง ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิท มิตรสหาย พ่อแม่พี่น้อง ภรรยา หรือว่าบุตรธิดาอะไรแบบนี้ ก็อดห่วงไม่ได้

 

บางคนบอกว่าตัดได้หมดเลย ทรัพย์สมบัติ ยกให้เป็นสาธารณกุศลได้หมด แต่อดห่วงไม่ได้ นึกกังวลว่าเขาจะเป็นอย่างไรต่อ ลักษณะความห่วงก็คือการที่ใจ ยังยึดอยู่กับโลก เหมือนสมอ มันไม่ถูกถอน เรือก็ไปไหนไม่ได้ ก็ติดอยู่ตรงนี้แหละ ตำแหน่งที่มันลงสมอไว้ ปักสมอไว้

 

นอกจากความเจ็บ กับความหวง ยังมีความกลัว ความกลัวอย่างอื่น อย่างเช่น กลัวหนี้บาป อันนี้ไม่ใช่เกี่ยวกับเรื่องคิดไม่ดีนะ แต่เป็นบาปกรรม ที่เคยทำไว้ แล้วก็มีความรู้สึกว่า หนี้บาปชนิดนี้ ลบอย่างไรก็ลบออกไปจากใจไม่ได้ มันไม่ลืม

 

คือตอนทำ ไม่กลัวเลยนะ แต่พออยู่ไปอยู่มา รู้สึกผิด สำนึกขึ้นมา หรือว่า มาศึกษาธรรมะ แล้วเกิดความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาขึ้นมาว่า สงสัยที่บอกว่า ตายแล้วสูญ เป็นความงมงายชนิดหนึ่ง ตายแล้วไปไหนต่างหาก ที่เป็นโจทย์สำคัญ ที่เหนือกว่าการมีชีวิต มีลมหายใจนะ

 

เพราะว่า ชีวิตแบบมนุษย์นี่แป๊บเดียว แต่ชีวิตข้างหน้า พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่ายังอีกยึดยาว ถ้าทำไม่ดีอะไรไว้ ทำไปแล้ว มันลบล้างไม่ได้แล้ว กลับไปดีลีท (delete) ไม่ได้แล้ว ไม่เหมือนกับไฟล์คอมพิวเตอร์นะ ทำผิดคิดพลาดอะไรไปแล้ว ไปดีลีททิ้ง สบายใจ แต่ว่าเรื่องบาปเรื่องกรรม อยากจะแก้ตัว อยากจะย้อนเวลากลับไปอย่างไร ไม่มีทางที่จะทำได้ ก็เลยเกิดความกลัวหนี้บาป

 

หรือไม่ก็เป็นคนทำบุญ แต่กลัวว่าบุญที่ทำไว้ สะสมไว้ จะไม่พอให้ไปดี เพราะว่าได้ยิน เล่ากันหนาหูว่า สวรรค์ไม่ได้ไปกันง่ายๆ ไปดี ไม่ได้ไปกันง่ายๆ มีเยอะ ที่อุตส่าห์ทำบุญทำทาน แต่สุดท้าย กลายไปเป็นผีเปรตอะไรแบบนี้ ก็เนื่องจากธรรมชาตินี่ ปิดกั้นไม่ให้เรารู้ว่า ตกลงตายแล้วเรามีสิทธิ์ไปไหนกันแน่ จะรู้ก็นาทีนั้นเลยนะ แก้ไขไม่ได้แล้ว สายไปแล้ว

 

ก็เลยกังวล วิตกกังวล กลัวว่าบุญจะไม่พอ เห็นไหม คือไม่ได้มีเรื่องแค่ว่าเราจะคิดไม่ดีก่อนตายเป็นอสัญกรรม หรือกรรมใกล้ตายอย่างเดียว ให้น่าเป็นห่วง

 

มันมีความน่าห่วง มีความติดข้องอยู่ในโลกนี้อีกเยอะ ในชีวิตนี้อีกมากมายก่ายกอง มีความพิสดารของความติด ความห่วง ความหวง ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บ ความห่วง หรือความกลัว จะมาให้ยึด มาให้ติด มาให้ค้างคา ไปแบบไม่ปลอดโปร่งนะ

 

เพราะฉะนั้น เราพิจารณาแบบนี้ว่า มีเรื่องให้คิดได้อีกเยอะ ก่อนตายนี่ จิตมันประวัติถึงสิ่งที่น่ากังวลได้ไม่ใช่แค่เรื่องคิดไม่ดีเท่านั้น

 

พอสำรวจแบบนี้แล้วเกิดประโยชน์อะไร ไม่ยิ่งกลายไปเพิ่มความกังวลให้ตัวเองเหรอ

 

ไม่ใช่นะ คือถ้าเรากระจายความกลัวออกเป็นหัวข้อต่างๆ แล้วนี่ คุณลองดูได้เลย คิดดู แล้วจะเห็นเอาเดี๋ยวนี้เลยว่า พอความกลัวถูกกระจายเป็นข้อๆ  ให้ใจไม่ยึดข้อใดข้อหนึ่งเป็นพิเศษ มันจะไม่รู้ว่าเราควรไปจี้จุดข้อไหน ไปกังวลสุดๆ กับเรื่องไหน

ใจจะไม่มีอาการที่เรียกว่า มีที่ยืนที่เดียวให้ไปจับ ให้ไปเกาะนะ

 

พอมีหลายข้อ มีหลายจุดยืนให้คำนึง ให้กังวล ก็เลยกังวลน้อยลง ไม่รู้จะกังวลเรื่องไหนเป็นพิเศษ

 

ทุกข้อของความน่ากังวลเหล่านี้ที่ผมยกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความเจ็บ ความหวง หรือความกลัว ล้วนแล้วแต่ทำให้ไปไม่ดีได้ทั้งนั้น คือถ้าจิตไม่สะอาด ถ้าจิตไม่คลีน (Clean) ไม่ปลอดโปร่ง ก็ไม่เป็นกุศลเต็มที่ สุ่มเสี่ยงที่จะไปดีหรือไปร้าย พอๆ กัน

 

พอกระจายความกลัวเข้าไปแล้ว ก็จะมีแก่ใจสำรวจตัวเองทีละลำดับ ระหว่างมีชีวิต ไม่ว่าคุณจะยังเดินเหินได้เป็นปกติ หรือนอนติดเตียงแล้วก็ตาม ธรรมชาติจะเหลือเวลาไว้ให้คุณได้ค่อยๆ สำรวจใจ เข้ามาทีละเรื่อง เรื่องไหนเกิดก่อนสำรวจตรงนั้นก่อน

 

มรณานุสติ หรือว่า มรณสติ นี่นะ ท่านให้สำรวจใจบ่อยๆ ก็เพราะอย่างนี้ จะได้เตรียมหลายๆเรื่อง หลายๆประเด็น ค่อยๆ สำรวจตัวเองว่ายังมีอะไรที่ติดค้างคา ถ้าต้องตายตอนนี้ ยังเคลียร์ไม่หมด

 

อย่างเรื่องของความเจ็บ คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้นอนติดเตียงกันหรอก แต่จะติดอยู่กับความพยาบาท หรือความอาฆาต เวลามีใครมาทำให้เจ็บใจ ซึ่งมักจะมาแบบไม่บอกไม่กล่าวนะ รูปแบบของความเจ็บใจนี่

 

แต่พอเจ็บใจแล้ว อดผูกอยู่ตรงนั้นไม่ได้ ไปไหนไม่รอด ก็เกิดความเหมือนกับว่า ใช้ชีวิตแบบที่พ่วงเอาบุคคล อันเป็นต้นตอของความเจ็บนั้น ติดจิตติดวิญญาณไปด้วยตลอดเวลา ในระหว่างวันปกติ

 

เหมือนกัน เวลาก่อนตายนี่ ถ้าคุณยังผูกใจอยู่ ยังทิ้งไม่ได้ ก็เท่ากับเอาคู่กรณี ติดตัวข้ามภพข้ามชาติตามไปด้วย ถ้ามีเหตุเหวี่ยงมาให้เจอกันอีก ก็ต้องมาผูกพยาบาท ผูกเวรกันอีก

 

นี่คือหลักง่ายๆ เลยของธรรมชาตินะ คุณผูกใจในทางไม่ดีไว้กับใคร เจอกันใหม่ ก็ต้องมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นให้เขม่นกันอีก หรือว่ามีเรื่องมีราวกันอีก

 

รวมทั้งก่อนตาย ถ้าจับพลัดจับผลู เราเป็นพวกที่ว่าอดคิดถึงศัตรูไม่ได้ แล้วสมมตินะ สมมติ ว่าแค้นกันมาก แล้วสำรวจใจแล้ว แบบทำใจไม่ถูก แล้วนาทีสุดท้าย อ้าวตายแล้ว ทำไมมานึกถึงคนคนนี้ขึ้นมา แล้วจิตตอนที่ใกล้จะไป มันจะลนลาน ยิ่งกลัวอะไรมาก จะยิ่งยึดอันนั้นแน่น แน่นขึ้น

 

เสร็จแล้ว ก็ตายไปกับความคิดแบบนั้น อารมณ์แบบนั้นมีสิทธิ์กลายเป็นเปรต คอยตามล้างตามผลาญ ทั้งๆ ที่ใจบอกไม่ได้อยากแล้วนะ ไม่ได้อยากจะยุ่งด้วยแล้ว แต่ดันมาคิดถึง ช่วงสุดท้ายพอดี โอ๊ย ไม่รู้เวรกรรมอะไร ไม่รู้เคยไปผูกเวรกันนักกันหนา ทำไมถึงมาคิด

 

เรื่องดีๆ มีให้คิดมากมาย พระอรหันต์มีให้คิดถึง มีให้ระลึกถึงก็ไม่นึก มานึกถึงคู่เวรนี่ ที่ทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ โอ้โหแบบ ความรู้สึกนี่นะ ตอนที่จวนอยู่จวนไป แล้วเห็นตัวเองมาผูกใจอยู่กับคนคนนี้ ก็เกิดความเศร้าโศกนะ แล้วยิ่งมีความรู้สึกเลยว่า ประเภท ทำไงดีๆ นี่นะ จะทวีตัวขึ้นเป็นว่า จะทำไงได้ จะเอาดีตรงไหนได้ ไม่ทันแล้ว

 

ก็เลยกลายเป็นเหมือนกับ ตายแบบผิดวิธีทางใจ ตายไปพร้อมกับบ่วงความอาฆาตที่ผูกไว้

 

ทีนี้ระหว่างมีชีวิตนี่ พอเราเห็นอยู่ชัดๆ ในระหว่างวันว่า ใจยังวนกลับไปผูกอยู่ อันนี้มีเวลา คิดแบบที่พระพุทธเจ้าให้คิด บอกว่า ถ้ายังมีความพยาบาทอยู่ จะเหมือนมีอาการป่วย หายป่วยได้ก็กลับมามีกำลังวังชา กลายเป็นคนสดชื่น กลายเป็นคนดีๆ ขึ้นมา

 

เราก็คิดเข้าไปอีกว่า ถ้ายังผูกอยู่อย่างนี้ก่อนตาย จังหวะที่กำลังจะตายนี่ ซวยแสนซวยจริงๆ สุดเลยนะ ซวยสุดๆ ไม่รู้จะว่าอย่างไร เกิดไปผูกกับคนๆ นี้ ก็เท่ากับว่าเราจะต้องตายไป พร้อมกับเอาเขาไปด้วย

 

ความหมายก็คือไปเกิดในภพ หรืออยู่ในสภาพที่จะต้องจองกับเขาไป ถ้าคุณมีบุญมาน้อย ก็เสร็จเลยนะ คือความคิดหรือความผูกช่วงนั้น จะพาคุณไปเหมือนกับมีสาย .. คล้ายๆ กับ ขอโทษนะ .. คล้ายกับสายลากจูงสุนัข นึกแบบนี้เลยนะ เหมือนกับตัวเขานี่ ยังมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์ใช่ไหม แล้วก็จูงเราไป ตัวเขาไปไหน ก็จูงเราเหมือนสุนัขตามเขาไปด้วย

 

แต่ไม่ใช่สุนัขที่อยู่กันดีๆ เป็นสุนัขที่คอยจ้องว่า เมื่อไรเผลอ เมื่อไรพลาด จะกระโดดเข้างับน่องอะไรแบบนี้

 

น่ากลัวนะ เรื่องของจิตนี่ คือถ้ามาเล็งกันแบบพุทธศาสนานะ พระพุทธเจ้าให้เล็งว่า ก่อนตาย เราอะไรไปด้วย ท่านให้ดูอย่างนั้น

 

อุตส่าห์ได้พบพระพุทธศาสนาแล้ว จะเอาเวรติดตัวไปด้วย หรือว่าจะเอาบุญ หรือจะเอานิพพาน เลือกได้ ตอนระหว่างมีชีวิตนี่

 

ทีนี้ พอมีการระลึกแบบนี้ได้เป็นปกติอยู่เรื่อยๆ ว่า ก่อนตาย เราไม่เอาคนนี้ไปด้วยนะ ก็มีกำลังใจ มีกำลังที่จะตัด กำลังที่จะวางลง คือมีความรู้สึกว่า เห็นโทษเห็นภัย ของสายลากจูงสุนัขทางวิญญาณนี่

 

ความพยาบาทเป็นอย่างนั้นจริงๆนะ ไม่ได้พูดด้วยจะให้เป็นสภาพน่าสังเวช แต่มีลักษณะอย่างนี้จริงๆ จะคล้ายๆ กับตัวสายโซ่ที่จูงนักโทษ อะไรแบบนั้นนะ ที่ไปไหนไม่ได้ ก็ต้องไปตาม

 

ทีนี้ พอเราเห็นว่า ยังมีสายโซ่อยู่ วนคิดขึ้นมาทีไร จะเกิดสติว่า อย่าคิดมาก อย่าถลำลึกลงไป ค่อยๆ ตัด ค่อยๆ วาง ตัดวางนี่ ไม่ใช่เรื่องยากถ้าเรามีกำลังใจที่จะตัด ถ้ามีทิศทางที่อยากจะตัด ไม่ยากเลยนะ พอเห็นโผล่ขึ้นมา เราก็รู้ แล้วเราก็ไม่คิดต่อ แค่นี้ก็จะค่อยๆ จางหายไป

 

หรือต่อให้ต้องเจอเขาอีกบ่อยๆ ยิ่งเจอ ก็จะยิ่งเตือนว่า นี่ยังมี นี่ยังผูกอยู่ นี่ยังมีสิทธิ์ว่าก่อนตาย จะยังมีสายโซ่ล่ามสุนัขให้ไปตามเขา ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่นี่ เราเสียเปรียบเลยนะ เราไปอยู่ในภพเปรต แต่เขายังอยู่ในภพมนุษย์

 

เห็นไหม ประโยชน์ของมรณสติ เห็นง่ายๆ เลย คือทำให้เราสำรวจใจตัวเองว่า ยังผูกพยาบาทอยู่ มีแก่ใจที่จะปล่อยวางลง ณ ขณะมีชีวิต กำลังมีชีวิตทำอะไรได้ รีบทำ

 

แล้วทีนี้ถ้าสำรวจเข้ามา ไม่มีเรื่องความผูกใจแล้ว แล้วก็อาการเจ็บ อาการป่วยทางกายก็ เอ้า ดูไป ว่า ร่างกายสังขารไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ก็ปล่อยๆ มัน ตอนเราจะตาย เราก็ไม่เอาร่างกาย

แค่นี้ ความเจ็บตัว กับความเจ็บใจก็จะคลายลง ไม่มารบกวนจิตใจเรา ไม่มายึด ไม่มาหน่วงรั้งเราไว้จากการไปดี

 

ทีนี้ ไม่มีความเจ็บตัว ไม่มีความเจ็บใจแล้ว ยังมีความหวง ยังมีความห่วงคนข้างหลัง หรือว่า สมบัติที่อุตส่าห์สะสมมาทั้งชีวิต ยิ่งรวยยิ่งหวง ยิ่งรวยยิ่งเสียดายว่า โอ้โห สะสมมา บางคนหลายสิบปี สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยตัวเองจากศูนย์ เสร็จแล้วหายไปเฉยๆ อยู่ๆ เหมือนโดนริบคืน

ตอนใกล้ตายนี่ แล้วตอนขยับแขนขยับขา มาคว้าสมบัติอะไรไปไม่ได้ จะรู้เลยว่า ที่นึกว่ามี จริงๆ ไม่มีอะไรเลยสักอย่าง เอาติดตัวไปไม่ได้เลย

 

นึกไล่เรียงขึ้นมานี่ว่า ตัวเองมีอะไรบ้าง หรือว่าตัวเอง มีกี่หมื่นบาท กี่แสนบาท กี่ล้านบาท กี่ร้อยล้านบาท กี่พันล้านบาท มีค่าเท่ากันเลย คือ ต้องทิ้งไว้ในโลกนี้ เอาติดตัวไปไม่ได้แม้แต่แดงเดียว

 

หรือ ไม่ห่วงสมบัติแล้ว ทำใจไว้ตั้งนานแล้ว บางคนนี่รวยแล้ว ก็ตั้งมูลนิธิ บอกว่า ฉันทำสาธารณประโยชน์ตั้งแต่ยังมีชีวิต ฉะนั้น ความรู้สึกให้ออก สละออก มีมานานแล้ว ซ้อมมานานแล้ว แต่ยังอดห่วงคนไม่ได้

มนุษย์เรา ถ้าทำตัวดีๆ ก็ต้องมีบุคคลอันเป็นที่รัก เราต้องทำตัวให้เป็นที่รักกับเขา แล้วเขาก็ต้องดีตอบ มาทำให้เราเกิดความห่วง เกิดความพิสวาส เกิดความรักกลับ รักตอบ

 

หลายคนก็เลย อดห่วงไม่ได้ อดกังวลถึงไม่ได้ เดี๋ยวจะไม่เจอหน้ากันแล้ว แล้วเขาจะอยู่อย่างไรในโลกนี้

 

บางคนนี่นะ อย่างนี้นะ ทำบุญมาจนมั่นใจว่าตัวเองนี่ไปดีแน่ จิตผ่องแผ้วอยู่ตลอดเวลา เวลาคิดอะไรขึ้นมา คิดถึงคนอื่นก่อนตัวเอง เวลาที่จะอยู่ว่างๆ สวดมนต์ มานึกท่องคำพุทโธ นึกถึงลมหายใจ นึกถึงการเจริญสติ โน่นนี่นั่น จนกระทั่งไม่กังวลแล้ว ตัวเองไปดีแน่

 

แต่พอมองกลับมาที่คนใกล้ตัว บุคคลอันเป็นที่รัก ยังไม่ดีนะ ยังไม่เข้าใจเลยธรรมะคืออะไร ยังไม่เชื่อ ยังไม่รู้เลยว่า จะต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไร ต่างๆ ช่วงจวนตาย จวนอยู่ ไม่มีอยู่ในหัวเลย ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ถ้าเราช่วยให้เขามาศรัทธาธรรมะไม่ทัน สงสัยเขาคงต้องเสี่ยงบุญเสี่ยงบาปเอาเอง อดเป็นห่วงไม่ได้

 

หรือ บางคน ไม่มีบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่ได้ห่วงใคร แล้วก็ไม่มีใครห่วง อยู่ๆ อดนึกกังวลขึ้นมาไม่ได้ว่า นี่ มีจริงๆนะ พ่อแม่ที่ไม่ได้เจอกันมานานแล้ว เกิดอยู่ๆ นึกถึงขึ้นมา ที่โกรธๆ กันตอนที่โตๆ แก่ๆ กันนี่ ไม่ได้คุยกัน นึกว่าจิตใจจะชาด้านไปแล้ว ไม่รู้สึกอะไรแล้ว แต่อยู่ๆ ความคิดของคนใกล้ตาย ก็นึกทบทวนย้อนกลับไป ตอนเป็นเด็ก จริงๆ แล้วก็ดีต่อกัน รักกัน ก็เกิดความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจขึ้นมา เราลุกไปหาไม่ได้แล้ว

 

แบบนี้ ก็เป็นความห่วงอีกรูปแบบหนึ่ง คือเสียดาย ไม่ได้อโหสิกรรมกันก่อนจาก ก็จากกันไปทั้งที่รู้สึกไม่ดีอะไรแบบนี้

 

เพราะฉะนั้น ระหว่างมีชีวิตนะ เคลียร์ให้หมด คือถ้าเราอยากขอโทษใคร อย่าไปนึกอยากเอาตอนใกล้ตาย หรือว่าอย่าไปคิดว่า เราจะไม่มานึกอยากขอโทษ มีสิทธิ์นะ มันหวนกลับมา เรื่องเก่าๆ มันกลับมาตอนใกล้ตาย ผมบอกเลยนะ อันนี้จริงๆ บางเรื่องคุณลืมไปแล้ว บุคคลที่คุณนึกว่าคุณจะไม่คิดถึงอีกแล้ว มันกลับมา เหตุการณ์เก่าๆ ดีๆ ทำให้เสียดายว่า จะไม่ได้มาคืนดีกันอีก ก็ย้อนกลับมาได้

 

หรืออย่างถ้า คนที่คุณห่วงเขาว่า เขาคงจะเอาดีทางธรรมะไม่ได้ เอาตัวรอดทางจิตวิญญาณไม่ได้ แล้วก็เป็นบุคคลที่รัก ที่คุณห่วง คุณก็พิจารณาว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม พิจารณาบ่อยๆ ทุกครั้งที่เกิดความห่วง ความหวง ความตัดไม่ได้ขึ้นมา ต่อให้คุณช่วยเข้าให้เกิดความสนใจธรรมะได้ ก็ไม่แน่ว่าเขาจะไปสนใจธรรมะในแบบที่ถูกหรือผิด

 

คนนี่นะ ถ้าไปบีบเขามากๆ แล้วเขาสนใจธรรมะในทางที่ผิด หรือว่าไปนับถือคนที่ให้คำแนะนำอะไรแบบที่ ไม่ใช่ทางสว่าง แทนที่จะดี กลับร้ายเข้าไปอีก เพราะฉะนั้น ทำใจไว้ว่า ระหว่างมีชีวิตอยู่ คุณพยายามเกื้อกูลทางธรรมไปแค่ไหน นั่นคือดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว

 

ถึงคุณจะห่วงอย่างไร ก็ไม่ได้ช่วยให้เขาเข้าที่เข้าทางไปได้ ตามกระแสความห่วงของคุณ จิตใจคนนี่ บังคับไม่ได้ สะกดกันตลอดเวลาไม่ได้

 

ถ้าคณอยู่กับเขา เอาความเย็นทางธรรมะ เอาความสว่างทางธรรมะ เผื่อแผ่ให้เขาเต็มที่แล้วก่อนตาย นั่นคือที่สุดที่คุณจะทำได้ คุณอย่าไปทำตอนก่อนตาย

 

เพราะฉะนั้น เวลาที่เราระลึกขึ้นมา ถ้าก่อนตายเรายังห่วงเขาอยู่อย่างนี้ไหม ห่วงอย่างสูญเปล่า ห่วงอย่างไม่ได้อะไรดีกับใครเลย ทั้งตัวเองและตัวเขา นี่ ใจก็จะค่อยๆ ตัด ใจก็จะค่อยๆ ถอด ค่อยๆ ถอน ค่อยๆ คลายความกังวลออกไป แล้วเห็นธรรมดาของสังสารวัฏขึ้นมาจริงๆ ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

 

ขนาดพระพุทธเจ้า ยังช่วยพระญาติของพระองค์ไม่ได้ทั้งหมดเลย มีแค่บางส่วนที่ติดตามพระองค์มาในทางธรรม ที่สามารถบรรลุธรรม ตามที่พระองค์มาช่วยได้ พระญาติของพระองค์นี่ บางกลุ่ม ลงนรกเลยก็มี มีเยอะด้วย เพราะว่าตามไม่ถึง ตามไปไม่ทัน ธรรมะที่พระพุทธองค์มาเผยแผ่ให้ มาเผื่อแผ่ให้นี่เป็นของสูง แล้วบางคนไปไม่ถึง

 

เพราะฉะนั้น อันนี้ พอเราคิด แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านยังช่วยพระญาติ หอบหิ้วไปนิพพานได้ไม่ทั้งหมด ช่วยส่งให้ไปสวรรค์ได้ไม่ทั่วถึงนะ บางคนต้องเป็นไปตามกรรมของเขา อย่างพระญาติบางองค์ที่เชื้อพระวงศ์ด้วยกัน พระองค์ ดูจากประวัติแล้ว เอ็นดู เมตตามาก แต่ว่าด้วยความแค้น ด้วยความอาฆาต ก็ฆ่ากันเอง ฆ่ากันเองระหว่างพระญาติของพระองค์

 

เห็นไหม เป็นไปตามกรรมจริงๆ เป็นไปตามอำนาจ ความยึดความอยากของแต่ละคนนะ เราจะรักเขาแค่ไหน สุดท้ายเราก็เอาชนะกรรมของเขาไม่ได้

 

นี่ก็จะค่อยๆ ถอดไปทุกครั้ง ที่เราสามารถระลึกขึ้นมาได้ว่า เออ เรายังติดห่วง ติดหวงอยู่

 

ทีนี้ สุดท้ายคือ กลัวหนี้บาป หรือกลัวบุญไม่พอ ความกลัวนี่ก็เกิดจากการที่เราไม่รู้จริง

คนนี่นะ ถ้าใจไม่สบายอยู่ตลอดเวลา จะมีความรู้สึกว่า ไม่ชัวร์ (sure) ตรงนี้พระพุทธเจ้าถึงตรัสบอกว่า ศาสนาของพระองค์สอนเรื่องการละบาป เรื่องการเพิ่มบุญ แล้วก็เรื่องการทำใจให้ผ่องแผ้ว

 

ละบาป ก็คือว่า เราตีกรอบไว้เลยว่า ไม่เอา แม้ว่าจะมีเรื่องยั่วยุแค่ไหนเราก็จะไม่เอาบาปทั้งห้า รักษาศีลห้าให้สะอาดนั่นเอง

 

เพิ่มบุญ คือสำรวจตัวเองไปเลยว่า ทั้งชีวิตที่ผ่านมานี่ นึกถึงกรรม(ดี) ข้อใดของตัวเอง สิ่งที่ตัวเองทำไปแล้ว เกิดความปลื้ม เกิดความเป็นสุข เกิดความชื่นใจ เกิดความภูมิใจไม่หาย แม้แค่ออกแรงช่วยมดให้รอดตาย ก็ให้นึกถึงซ้ำๆ

คือถ้าคนเรานึกถึงกรรมแบบไหนซ้ำๆ ก็มักจะมีโอกาส ให้ย้อนกลับไปทำกรรมแบบนั้นๆ ต่างกรรม ต่างวาระ ต่างบุคคล ต่างสถานที่ ต่างเวลาอีกเรื่อยๆ

 

ใจจดจ่ออยู่กับกรรมดีข้อไหน ให้นึกถึงบ่อยๆ หรือถ้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว ทำอยู่แล้วทุกวัน ก็หมั่นสำรวจ วิธีสำรวจง่ายๆ ก็ทำครั้งนี้เรามีความสุขแค่ไหน เรามีความสามารถที่จะช่วยให้คนๆ หนึ่ง มีชีวิตที่ดีขึ้นเพียงใด จากกำลังของเรา จากน้ำพักน้ำแรงของเรา

 

เพราะว่าการช่วยด้วยกำลัง การออกแรง เวลาที่ทำสำเร็จ จะเกิดความปลื้ม จะเกิดความภาคภูมิทุกครั้ง

 

ประเภททำบุญแบบง่ายๆ เอาของไปใส่บาตร บางทีจะชิน จะชา เพราะว่าเรามองไม่เห็นว่า ชีวิตคนหรือชีวิตพระที่เราไปถวายภัตตาหารให้ ท่านดีขึ้นอย่างไร

 

แต่ถ้าเราเล็งว่า อย่างมีบางคนที่รู้จักเล็งเลยว่า สิ่งใดในชีวิตของบุคคลผู้ทรงศีล เกิดความพร่องไป หรือหายไป ก็จะเอาตัวเข้าไป เอาของไปถวาย เอาของชิ้นนั้นๆ ไป นี่ จะเห็นว่าทำประโยชน์อะไรให้ท่าน จะแตกต่างจากการที่สมมติว่า เอาภัตตาหารไปถวายเฉยๆ แล้วไม่รู้ว่าท่านจะฉันหรือไม่ฉันอะไรแบบนี้

 

เรื่องกลัวบุญไม่พอ ก็บอกตัวเองว่า ให้นึกถึงสิ่งที่ทำให้เราปลาบปลื้ม ทำให้เราเกิดความชุ่มชื่นใจ เกิดความรู้สึกไม่ลืม นึกถึงทีไรแล้วมีความสุขขึ้นมา ย้ำเข้าไป แล้วหาทางทำเพิ่มให้มากๆ ทำด้วยแรง ทำด้วยการออกแรง ออกกำลัง ออกทุน

 

คือทุนทรัพย์จริงๆ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งนะ ให้ไปก็มีส่วนทำให้ชุ่มชื่น แต่ถ้าออกแรงด้วย ออกกำลังสมองด้วย จะยิ่งทวีนะ เพราะสิ่งที่เป็นมหาทานอย่างแท้จริง ไม่ใช่เงิน แต่เป็นใจที่คิดให้ คิดอนุเคราะห์

 

อย่าไปจำคำสอนประเภทว่า ให้เงินมากเท่าไหร่บุญยิ่งมากเท่านั้น นี่คือความโลภ สำรวจเข้าไปเลย เวลาปลื้ม จะปลื้มแปบเดียว แต่นึกถึงแล้ว นึกไม่ออกว่า ไปทำประโยชน์ ให้เกิดประโยชน์จริงๆ กับชีวิตของใคร หน้าตาเป็นอย่างไร

 

แล้วก็ลักษณะของใจที่โลภแบบลงทุน จะให้ได้ลงเงินมากๆ เท่านั้นเท่านี้ แล้วจะปรารถนาเอาสมบัติ ทิพยวิมาน หรือทิพยสมบัติอะไร ที่โอ่อ่าโอฬารกว่าเป็นร้อยๆ ล้านๆ เท่า ใจแบบนั้น แคบ ไม่กว้าง สังเกตนะ จะแตกต่างจากตอนที่เราคิดอนุเคราะห์ แตกต่างจากตอนที่เราอยากให้ความช่วยเหลือกับใคร ที่เขากำลังลำบากจริงๆ หรือเขากำลังมีความติดขัดติดข้อง แล้วเราไปช่วยทะลุทะลวงให้ แบบนั้นจะปลื้มกว่า

 

จิตที่คิดอนุเคราะห์ มีค่ามากกว่าเงินนะครับ!

____________

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทำไงดี กลัวคิดไม่ดีก่อนตาย?

วันที่ 24 ตุลาคม 2563

 

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=1J0OEyIIyGc

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น